“ต่อให้มะเร็งจะร้ายแค่ไหน
แต่ถ้าใจเราไม่อ่อนแอ อย่างไรซะเราก็ไม่ทุกข์
ฉะนั้น ถึงทุกข์กาย ก็อย่าปล่อยให้ใจทุกข์
เพราะเมื่อไรที่เราทุกข์กายแล้วยังทุกข์ใจด้วย
นั่นคือที่สุดของความทรมานแล้ว”
พี่ดาว-ดาวรัชช์ ปรีชาธรรม ที่ปรึกษา เทรนเนอร์ และโค้ชทางธุรกิจ (Business Coach) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 60 กะรัต อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะ 2 เจ้าของผลงาน ‘มะเร็งไม่ร้าย (เท่าใจที่อ่อนแอ)’ หนังสือพ็อกเกตบุ๊กที่ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากการเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแบบไม่ทันตั้งตัวของเธอเอง เพื่อส่งต่อกำลังใจให้กับผู้ป่วยทั่วไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ใครอยากได้ เธอส่งให้ฟรี โดยมีเงื่อนไขเดียวคือหลังจากอ่านจบให้นำไปบริจาคหรือส่งต่อให้ผู้ที่สนใจ และทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
“หลังจบกระบวนการรักษา มันมีคำถามเกี่ยวกับมะเร็งเข้ามามากมายจากคนใกล้ชิด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคำถามเดิมๆ นั่นจุดประกายให้พี่คิดอยากเขียนหนังสือขึ้น ด้วยในปีนั้นพี่เองก็อยู่ในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารด้านอุตสาหกรรม 3 ฉบับ ทำให้เรารู้ว่าการทำหนังสือไม่ใช่เรื่องยาก
“ในเดือนสิงหาคม ปี 2554 พี่เปิดตัวพ็อกเกตบุ๊กชื่อ ‘มะเร็งไม่ร้าย (เท่าใจที่อ่อนแอ)’ ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรก จำนวน 5,000 เล่ม โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งต่อกำลังใจและช่วยแก้ไข ‘ความไม่รู้’ ให้กับผู้ป่วยมะเร็งโดยทั่วไป เพราะพี่เชื่อว่าความไม่รู้นี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยมากมายกลัวมะเร็ง และปฏิเสธการรักษาไปอย่างน่าเสียดาย เราจึงอยากให้ทุกคนรู้ว่า มะเร็งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
“และเพื่อให้หนังสือเล่มนี้กระจายไปสู่ผู้คนให้มากที่สุด พี่ตัดสินใจพิมพ์หนังสือเล่มขึ้นเพื่อแจกฟรี โดยมีเงื่อนไขเดียวคืออ่านจบต้องส่งต่อให้ผู้อื่น ซึ่งหนังสือได้รับความสนใจอย่างมาก และหมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนหนึ่งพี่อยากให้ความใจดีของเรากลายเป็นโรคติดต่อและระบาดไปทั่ว พี่เชื่อว่าการให้และการแบ่งปันจะทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ”
กว่าจะรู้ผลตรวจ
“ย้อนหลังกลับไปเมื่อราวเดือนพฤษภาคม 2553 ปีนั้นพี่ยังทำงานประจำและกำลังอยู่ระหว่างไป Business Trip ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ไปถึงได้แค่ 2 วัน จำได้ว่าขณะที่กำลังอาบน้ำอยู่ จู่ๆ มือก็ไปคลำเจอก้อนที่บริเวณใต้ราวนมข้างซ้าย ตกใจมาก พออาบน้ำเสร็จก็ลองนอนหงายและใช้วิธีตรวจหน้าอกด้วยตัวเองที่เคยอ่านเจอมา ปรากฏว่าพบก้อนจริงๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคลำเจอเลย วันนั้นเป็นครั้งแรกที่พบ
“ลักษณะก้อนที่พบนั้นค่อนข้างใหญ่ประมาณนิ้วหัวแม่มือของเรา รู้สึกเหมือนมีรากยึดติดอยู่กับตัว เพราะก้อนนั้นโยกได้ตามแรกที่เราขยับ แต่ฐานมันตรึงไม่ขยับตาม วันนั้นยอมรับว่ากังวลใจมาก จึงรีบทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จและตรงกลับเมืองไทยทันที แต่โชคร้ายที่ช่วงนั้นสถานการณ์ทางการเมืองกำลังคุกรุ่น มีเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง และด้วยสิทธิ์ประกันสังคมของเราอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ทำให้เราเข้าไปรับการตรวจคัดกรองที่นั่นไม่ได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยง สุดท้ายจึงต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลสุขุมวิทก่อน เพื่อให้คลายกังวล
“จากผลตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ลักษณะก้อนที่พบเป็นวงรี ผิวโดยรอบไม่เรียบแต่เป็นริ้วๆ คล้ายเปลือกเงาะรอบก้อน หลังจากได้คุยกับคุณหมอที่ทำการตรวจ ท่านก็แจ้งว่า จากสถิติก้อนที่มีลักษณะคล้ายๆ แบบนี้ ส่วนใหญ่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูง แต่คุณหมอไม่ได้ฟันธง เพียงแต่แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน ยิ่งเร็ว ยิ่งดี
“ด้วยเหตุบ้านการเมืองที่ยังไม่สงบและโรงพยาบาลก็อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ทำให้เราทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากนั่งกอดฟิล์มผลตรวจไปด้วยความกังวล และสงสัยว่าก้อนที่อยู่ในตัวเราจะเป็นมะเร็งไหม ซึ่งเจ็บปวดเหมือนกันที่ต้องนั่งกอดความสงสัยอยู่กว่า 3 สัปดาห์
“หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเบาลง เราก็รีบไปหาหมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที พอคุณหมอเห็นฟิล์มผลตรวจก็สั่งเจาะชิ้นเนื้อ (Biopsy) ทันที และเราก็ยอมจ่ายเพิ่มเพื่อขอผลชิ้นเนื้อเร็วที่สุด คุณหมอก็กรุณาเร่งให้และสามารถรู้ผลได้ในอีก 2 วันถัดมา”
จับพลัดจับผลูเป็น ‘ผู้ป่วยมะเร็ง’
“ปรากฏว่าผลแล็บออกมาว่า ก้อนนี้ไม่ใช่มะเร็ง คุณหมอจึงนัดตรวจติดตามอาการในอีก 3 เดือนข้างหน้า เพื่อให้เรากลับไปสังเกตว่า ก้อนโตขึ้นไหมหรือมีอาการเจ็บไหม เราจึงถามคุณหมอตรงๆ ว่า ‘เราต้องแบกก้อนนี้ไปกับเราอีก 3 เดือนเลยเหรอ’ คุณหมอก็บอกว่า ‘ใช่’
“ตอนนั้นเราก็นึกถึงคำของคุณหมอที่โรงพยาบาลสุขุมวิทที่บอกไว้ว่า ‘ก้อนนี้ไม่ใช่ธรรมดาและมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเป็นมะเร็ง’ เราจึงถามความแม่นยำของการตรวจชิ้นเนื้อ คุณหมอก็แจ้งว่าประมาณ 96.4 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงเราอาจจะเป็นหนึ่งใน 3.6 เปอร์เซ็นต์ที่ผลคลาดเคลื่อนได้ แม้คุณหมอจะบอกว่าโอกาสมีน้อยมากที่จะคลาดเคลื่อน แต่ก็เรายังไม่มั่นใจจึงปฏิเสธการติดตามอาการ แต่ขอผ่าตัดก้อนนี้ออกเลย เพราะเราไม่สบายใจที่จะแบกก้อนนี้ไปไหนมาไหนกับเราอีก 3 เดือน คุณหมอก็นัดคิวผ่าตัดให้เลยในสัปดาห์ถัดมา
“ในการผ่าตัดครั้งนั้น คุณหมอก็ส่งก้อนที่ผ่าออกมาไปตรวจให้อีกครั้ง พอวันรุ่งขึ้นผลแล็บออกมา คุณหมอก็มาแจ้งผล จำได้ว่าประโยคแรกที่คุณหมอถามเราคือ ‘อยากฟังข่าวดีหรือข่าวร้ายก่อน’ ตอนนั้นเราก็บอกว่า ‘ข่าวดีค่ะ’ คุณหมอจึงบอกว่า ‘คุณตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ผ่าตัดก้อนนี้ออก’ เราก็ถามว่า ‘แล้วข่าวร้ายล่ะคะ’ คุณหมอตอบว่า ‘เพราะมันคือมะเร็ง’
“ช็อกเลย! แต่คุณหมอก็แจ้งว่า ท่านได้ผ่าตัดแบบคว้านเนื้อรอบๆ ก้อนเผื่อไปให้แล้ว โดยขนาดก้อนดังกล่าวมีขนาดราว 1 นิ้วหัวแม่มือเรา นั่นจึงเป็นปฐมบทของการกลายผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแบบไม่ทันตั้งตัว”
3 วัน ผ่าตัด 2 ครั้ง
“วันนั้นก่อนจะจบการสนทนา คุณหมอแจ้งว่าอยากจะตรวจต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ดูว่า มีการลุกลามของเชื้อมะเร็งไหม โดยต้องผ่าตัดเพื่อเอาต่อมน้ำเหลืองบางต่อมที่ท้องแขนซ้ายไปสุ่มตรวจ เราก็ถามหมอว่า ‘ถ้าต่อมที่ผ่าตัดไปนั้นไม่มีเชื้อ แต่ต่อมอื่นมีเชื้อล่ะ จะทำอย่างไร’ คุณหมอจึงบอกว่า ‘งั้นก็ตัดออกทั้งยวงเลย’ แต่จะผ่าตัดหลังจากที่พักฟื้นจนแผลผ่าตัดครั้งนี้หายดีก่อน
“ด้วยความสงสัย เราก็ถามคุณหมอว่า ‘ถ้ารอแผลหายก็ใช้เวลาเป็นเดือน ถ้ามะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้วมะเร็งจะลุกลามไหม’ คุณหมอก็ตอบตามตรงว่า ‘ถ้าเป็นแล้ว ก็มีโอกาสลุกลามทุกวัน’ พอได้ยินดังนั้น เราก็ขอคุณหมอผ่าตัดเลย ถึงแม้คุณหมอจะค้านว่า ร่างกายเราจะไม่ไหว แต่ด้วยความที่กลัวมะเร็งจะลุกลามจึงขอให้คุณหมอผ่าตัดเลย โดยคุณหมอก็ประเมินร่างกายและหาคิวผ่าตัดให้จนได้คิวในวันรุ่งขึ้น นั่นทำให้เราผ่าตัด 2 ครั้ง ภายใน 3 วัน และโชคดีมากที่ผลการตรวจต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดไม่พบเชื้อมะเร็งเลย แสดงว่ามะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง จึงทำให้เราเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะ 2 เท่านั้น”
7 วันกับชีวิตที่จนตรอก
“ด้วยความที่ ‘มะเร็ง’ ไม่เคยอยู่ในสมองเรามาก่อนเลย 7 วันแรกหลังผ่าตัด ระหว่างที่พักฟื้นอยู่ที่บ้าน เราไม่กล้าส่องกระจกเลย เพราะคำพูดของคุณหมอยังวนเวียนอยู่ในหัวว่า ‘มันคือมะเร็ง…มันคือมะเร็ง…มันคือมะเร็ง’ เราหมกมุ่นอยู่กับคำว่ามะเร็งอยู่อย่างนั้น ตื่นมาน้ำตาไหลทุกวัน ความรู้สึกเหมือนยอมรับไม่ได้ มีแต่คำถามว่า ‘หมอพูดผิดหรือเปล่า’ ‘มันคือมะเร็งจริงหรือ’
“กระทั่งวันที่ 8 อาการเราจะคล้ายสุนัขจนตรอก เราเริ่มรู้สึกว่า 7 วันที่ผ่านมาที่เราร้องไห้ เสียใจ คิดมาก มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะยิ่งคิดก็ยิ่งไม่สบายใจ คิดไปก็ไม่ได้หายจากโรค แล้วจะคิดไปทำไม!? จากนั้นก็เริ่มคิดได้ว่า ความกลัว การไม่ยอมรับหรือรับไม่ได้ มันมีรากเหง้ามาจาก ‘ความไม่รู้’ คนเรามักจะกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ ยิ่งไม่รู้ ก็ยิ่งกลัว แต่ถ้าเรารู้ เราก็จะไม่กลัว จึงบอกกับตัวเองว่า ‘สักตั้งหนึ่งน่ะ’ ยังมีผู้ป่วยมะเร็งอีกมากมายที่รอดชีวิต เราก็น่าจะเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตแหละ จากนั้นก็เริ่มค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม กระบวนการรักษา ฯลฯ อย่างจริงจัง และพบว่ามะเร็งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
“วันนั้นเราลุกขึ้นมาอาบน้ำ สระผม แต่งตัว แล้วก็ขับรถไปทำงาน พอเพื่อนร่วมงานเห็น ทุกคนต่างตกใจ ‘เอ้า! พี่ดาว เพิ่งไปผ่าตัดมาไม่ใช่เหรอ’ ด้วยความที่หยุดงานมา 8 วัน จนเริ่มรู้สึกไร้ค่าในตัวเองแล้ว จึงตัดสินใจออกมาทำงานดีกว่า และก็ได้ผล เพราะความรู้สึกลบร้ายกับตัวเองหายไป และเราก็รู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น”
คุณแม่…กำลังใจสำคัญ
อุทิศตัวเป็นตำราหมอ
“หลังจากพักฟื้น 1 เดือน คุณหมอก็นัดตัดไหมและประเมินอาการ ก่อนจะวางแผนการรักษา และด้วยความที่เราเป็นหนึ่งใน 3.6 เปอร์เซ็นต์ คุณหมอจึงขอให้เราเป็นกรณีศึกษาให้กับนิสิตแพทย์ ทำให้ทุกครั้งที่พบคุณหมอก็จะมีนิสิตแพทย์มารายล้อมฟังอาจารย์หมออธิบายโดยเรียนรู้จากเคสเรา
“นอกจากเคสเราจะกลายเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ทางการแพทย์แล้ว ยังเป็นอุทาหรณ์ให้กับเพื่อนๆ หันมาสนใจการตรวจสุขภาพ และเท่าที่จำได้มีเพื่อน 2 คน ที่พอฟังเรื่องของเราแล้วก็ตัดสินใจผ่าตัด ‘ก้อน’ ที่หน้าอกทันที ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่คิดจะเอาออกและติดตามผลมานานพอสมควร ซึ่งก็พบว่าเป็นมะเร็งระยะ 1 และระยะ 0 ที่สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้จริงๆ
“เพื่อนบางคนก็ยอมรับว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดกับเขา เขาก็คงไม่ตัดสินใจผ่าตัด หมอบอกว่าไม่เป็นมะเร็งก็คงดีใจกลับบ้านนอนแล้ว เพราะเขากลัวการผ่าตัด เราก็บอกเพื่อนกลับไปว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่กลัวการผ่าตัดนะ แต่เรากลัวมะเร็งมากกว่า หากเราไปอยู่ในกลุ่ม 3.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เป็นไปตามคาดจริงๆ และถ้าวันนั้นตัดสินใจไม่ผ่าตัด ก็ไม่รู้เลยว่าวันนี้เราจะเป็นอย่างไร เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ชีวิตคนเรานั้นจะอยู่หรือไป จะหนักหรือเบา มันอยู่ที่การตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น”
ลูกชาย อีกหนึ่งกำลังใจในวันเหนื่อยล้า
เข้าสู่กระบวนการรักษา
“หนึ่งสัปดาห์ถัดมาคุณหมอก็ส่งไปตรวจร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็น CT Scan ตรวจหัวใจ ตับ ฯลฯ เพื่อจะนำมาประเมินว่าควรคีโมสูตรไหน และปริมาณเท่าไรที่ร่างกายเราจะรับไหว เพราะในการเลือกสูตรคีโมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งนั้น ต้องพิจารณาจากสภาพร่างกายเฉพาะบุคคล แม้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน ระยะเดียวกัน แต่ร่างกายแข็งแรงและอ่อนแอต่างกัน แน่นอนว่าสูตรคีโมก็จะแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกาย
“หลังจากนั้น 10 วัน ผลตรวจร่างกายก็ออกมา สรุปว่าจากเดิมคุณหมอจะให้คีโมสูตรทั่วไป 8-10 เข็ม ก็ต้องปรับสูตรใหม่และให้เพียง 6 เข็ม เพื่อไม่ให้มีผลข้างเคียงต่อ ‘หัวใจ’ ซึ่งสูตรนี้คุณหมอก็กรุณาทำเรื่องให้ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แถมสูตรนี้ก็ไม่มีผลข้างเคียงต่อเส้นผม ทำให้เราเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผมไม่ร่วง รวมถึงอาการข้างเคียงก็น้อย ทำให้เราผ่านคีโม 6 เข็ม มาอย่างราบรื่น สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
น้องสาวสุดที่รัก
อีกหนึ่งคนที่คอยดูแลใกล้ชิดระหว่างรักษาตัว
“โดยเราจะขอคุณหมอนัดคีโมให้ตรงวันพฤหัสบดี จากนั้นเราก็จะลาป่วยวันศุกร์ 1 วัน และเสาร์อาทิตย์ก็จะพักผ่อนอย่างเต็มที่ พอวันจันทร์ก็ไปทำงานได้ตามปกติ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะยาฉีดบำรุงที่คุณหมอให้กลับมาฉีดต่อเนื่อง 3 วันหลังจากคีโม ทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดี ประกอบกับการดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัด จนช่วงคีโมหลังครั้งที่ 3 ไปแล้ว ไม่ได้ใช้ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาแก้อาเจียน ยาเจริญอาหาร ยาแก้ปวดท้อง และยานอนหลับ ซึ่งเป็นยาแก้ 6 อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยคีโมเลย
“จะมียาเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่กินเป็นประจำ คือ ‘ธาตุเหล็ก’ และ ‘โปรตีนเม็ด’ เพราะเราเลิกกินเนื้อสัตว์มาก่อนหน้าจะเป็นมะเร็ง 3 ปี แม้คุณหมอจะขอให้กลับไปกินเนื้อสัตว์อีกครั้งเพราะกลัวร่างกายจะขาดโปรตีนระหว่างรักษา แต่เราก็ไม่สามารถกินได้ แค่ได้กลิ่นก็อาเจียนแล้ว คุณหมอจึงให้เป็นโปรตีนเม็ดมาช่วยเสริม
“ขณะเราเองก็พยายามกินไข่ขาววันละ 6 ฟอง แต่จะกินไข่แดงแค่ 1 ฟอง นอกนั้นจะเป็นถั่วโปรตีนสูง ธัญพืช และผักผลไม้ออร์แกนิกวันละประมาณครึ่งกิโลกรัม โดยทำน้ำสลัดกินเอง ไม่ใส่น้ำตาล รวมถึงออกกำลังกาย รับแสงแดดยามเช้า สูดหายใจเอาออกซิเจนเข้าร่างกายวันละ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกายเราให้สูงขึ้น และหลังคีโม 6 เข็มผ่านไป ก็เข้าสู่การฉายแสงอีก 33 ครั้ง โดยระหว่างที่ฉายแสงนี้ เราจะเลือกฉายแสงรอบแรกตอน 7 โมงเช้า จากนั้นก็ขับรถไปทำงานตามปกติ รวมระยะเวลาในการรักษาตัวก็ประมาณ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงธันวาคม 2553 และต้องรับประทานยากดฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ออีก 5 ปี”
มะเร็งไม่ร้ายเท่า ‘ใจ’ เราเอง
“ผู้ป่วยส่วนใหญ่ หนึ่ง ทุกข์กาย จากโรคและการรักษา สอง ทุกข์ใจ จากการนั่งๆ นอนๆ ทำงานไม่ได้ ขาดรายได้ บางรายไม่มีระบบประกันสุขภาพที่ดีก็ยิ่งทุกข์หนัก เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมารักษา จึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยมากมายกลายเป็นโรคซึมเศร้า เพราะรู้สึกไร้ค่าและไม่อยากสู้ต่อ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจัดพิมพ์หนังสือ ‘มะเร็งไม่ร้าย (เท่าใจที่อ่อนแอ)’ เพื่อส่งต่อกำลังใจไปยังผู้ป่วยที่กำลังท้อแท้ให้เอาชนะ ‘ใจ’ ตัวเองให้ได้
“เพราะมะเร็งครั้งนี้สอนให้เรารู้ว่า จิตใจของคนเราสำคัญที่สุด หลายคนถามว่า การคิดบวกช่วยอะไรได้ ก็ป่วยอยู่จะให้มาคิดบวกหรือยิ้มอยู่ได้อย่างไร เราอยากจะบอกว่า มันยากที่จะบอกว่า การคิดบวกจะช่วยเราได้อย่างไร ต้องมีประสบการณ์ด้วยตัวเองจึงจะรู้ และเชื่อเถอะว่าการคิดบวกฝึกได้ และเมื่อคิดบวก คิดดี มีทัศนคติที่ดี เห็นคุณค่าในตัวเอง เมื่อนั้นเราก็จะพร้อมสู้กับทุกความกลัว
“นาทีแรกของทุกคนเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ไม่มีใครหรอกที่ไม่กลัว แต่จงรู้ไว้ว่าความกลัวมาจาก ‘ความไม่รู้’ ฉะนั้น สิ่งเดียวที่จะสู้กับความกลัวได้ก็คือความรู้ เมื่อกลัวก็ต้องยิ่งหาความรู้ใส่ตัว สำคัญที่สุดคือความรู้นั้นจะต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้