พญ.กมลพร พูลพุฒ : อย่างน้อยก็แค่ ‘มะเร็ง’

“มะเร็งไม่ได้ทำให้เราตายวันนี้ พรุ่งนี้ซะเมื่อไร
อย่างน้อย ‘มะเร็ง’ ก็ยังให้เวลาเรา
เตรียมตัว เตรียมใจ ทำสิ่งที่เราอยากทำ
ให้โอกาสเราได้แก้ไขในสิ่งที่เคยผิดพลาด
เหลือเวลาพอที่จะบอกลาคนที่เรารัก”

พญ.กมลพร พูลพุฒ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและ Anti-Aging ประจำศูนย์ลดน้ำหนัก โรงพยาบาลยันฮี วัย 43 ปี อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้านขวา ชนิด Luminal A ระยะที่ 1 และมะเร็งเต้านมด้านซ้าย ระยะ 0 (Ductal Carcinoma In Situ : DCIS) คุณหมอที่ใครๆ รู้จักในนาม #แอดมินหมอก้อย แอดมินคนเก่งแห่งเพจ เมื่อหมอเป็นมะเร็งพื้นที่แบ่งปันข้อมูลข่าวสาร กระทั่งกำลังใจไปสู่ผู้ป่วยมะเร็ง ผ่านเรื่องราวเรื่องเล่าจากเหล่าคุณหมอที่เปลี่ยนสถานะจากผู้รักษามาเป็นผู้ป่วยมะเร็ง อีกทั้งคุณหมอยังเป็น ‘โค้ช’ ด้านสุขภาพและความงามในเพจ มนุษย์หมอขอบอกอีกหนึ่งพื้นที่แบ่งปันเรื่องราวการดูแลสุขภาพและความงาม ทั้งเรื่องอาหาร การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง  

เมื่อหมอเป็นมะเร็ง

หลังจากที่เราทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เราก็เริ่มค้นหาความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมที่เราเป็นอยู่ โดยใช้วิธีการเสิร์ชหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนมาสะดุดกับชื่อเพจ ‘เมื่อหมอเป็นมะเร็ง’ จึงลองกดติดตาม และส่งข้อความทักทาย แนะนำตัวเอง พร้อมอาสาที่แชร์เรื่องราวของตัวเอง รวมถึงข้อมูลที่เรารับรู้มาจากแหล่งต่างๆ ทั้งข้อมูลทางการแพทย์ งานวิจัย ข่าวสารต่างๆ ฯลฯ ให้ คุณหมอดาว-พญ.ภัทราภรณ์ พุ่มเรือง แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ผู้ก่อตั้งเพจและทำหน้าที่เป็นแอดมินฟัง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปแบ่งปันให้แฟนเพจอีกที 

แต่ปรากฏว่าคุณหมอดาวให้เกียรติเรามาก บอกว่า “พี่เล่าเองเลย เดี๋ยวหนูให้พี่เป็นแอดมินด้วย” ตั้งแต่วันนั้นจนถึงบัดนี้ก็ 4 ปีมาแล้วที่เข้ามาทำหน้าที่แอดมินของเพจนี้ และเชื่อไหมว่าหมอกับคุณหมอดาวยังไม่เคยเจอตัวจริงกันสักครั้ง (หัวเราะ) เราจะติดต่อกันผ่านโซเชียลเท่านั้น เพราะต่างคนก็ต่างยุ่งกับภารกิจ อีกทั้งคุณหมอดาวก็ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดด้วย แต่อย่างน้อยก็ต้องขอบคุณมะเร็งที่ทำให้เราได้มาเจอกัน และร่วมทำสิ่งดีๆ ให้กับผู้ป่วยมะเร็ง

โดยทุกๆ ข้อมูลที่เราแชร์ผ่านเพจเมื่อหมอเป็นมะเร็งนี้ เราหวังเพียงว่ามันจะช่วยคลายความกังวลใจให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่มากก็น้อย เพราะขนาดเราเป็นหมอ พอรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง เรายังอยากรู้ข้อมูลเลย เชื่อว่าผู้ป่วยทั่วไปก็คงอยากจะรู้ข้อมูลเหมือนกัน เราจึงอาสาส่งต่อข้อมูลต่างๆ ทั้งข่าวสาร งานวิจัย ข้อมูลทางการแพทย์ ฯลฯ โดยแปลงทุกอย่างให้เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ไปสู่ผู้คนที่สนใจ  

นอกจากนี้ เราก็อยากเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ผู้หญิงทุกคนที่กำลังเผชิญมะเร็งเต้านมอยู่ เพราะเราเข้าใจดีว่าแค่การเป็นมะเร็งก็แย่อยู่แล้ว แต่การเป็นมะเร็งเต้านม ทำให้ผู้หญิงมากมายต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ไม่สมบูรณ์ เพราะต้องสูญเสียเต้านมไปหลังการรักษา มันบั่นทอนความมั่นใจในการใช้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งไปเลยก็ว่าได้ ฉะนั้น กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมาก

มะเร็ง = ตาย ?

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปลายปี 2560 หมอเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปีตามปกติที่โรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ โดยทุกครั้งที่ตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ เราก็จะพบว่ามีก้อนเล็กๆ หลายๆ ขนาดในเต้านมทั้งสองข้างอยู่แล้ว และเมื่อเทียบกับผลการตรวจครั้งก่อนๆ ก็ไม่มีก้อนไหนที่โตเร็วผิดปกติ ต่างจากครั้งนี้ที่พบว่ามีก้อนที่โตเร็วผิดปกติ จาก 0.5 เซนติเมตร ขยายขนาดเป็น 1.6 เซนติเมตร ภายในเวลาเพียง 6 เดือน 

‘พี่หมอ’ ศัลยแพทย์รุ่นพี่ที่ตรวจก็แนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ หลังจากเจาะเสร็จก็ต้องรอผลตรวจประมาณ 2 สัปดาห์ ระหว่างนั้นเราก็ไม่ได้กังวลอะไร ด้วยความที่ก่อนหน้านี้เรามีประวัติพบก้อนที่เต้านมอยู่แล้ว และเคยได้รับการผ่าตัดมา 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี จำได้ว่าขณะที่อาบน้ำอยู่แล้วเราคลำไปสะดุดก้อนที่เต้านมข้างซ้าย คุณแม่ก็พาไปตรวจทันที คุณหมอตรวจดูแล้วก็นัดผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน และผลออกมาเป็นเนื้องอกปกติ หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตตามปกติ กระทั่งเข้ามาเป็นนักศึกษาแพทย์ ปี 2  ตอนนั้นก็เริ่มรู้จักมะเร็งเต้านมมากขึ้นแล้ว ก็เริ่มสังเกตตัวเอง ตรวจเต้านมด้วยตัวเองบ้าง และนั่นก็ทำให้เราคลำไปเจอก้อนที่หน้าอกข้างขวา ตอนนั้นเราก็ปรึกษาอาจารย์แพทย์ทันที ท่านก็แนะนำให้ผ่าตัดออก ผลออกมาก็เป็นเนื้องอกปกติ

โดยสถิติแล้ว 1 ใน 4 ของผู้หญิงนั้นสามารถพบเนื้องอกที่เต้านมได้ หมอจึงไม่ค่อยกังวลเมื่อพบว่าตัวเองมีก้อนที่เต้านมในครั้งนี้ ยังใช้ชีวิตตามปกติ หยุดยาวไปเที่ยว จนกระทั่งกลับมาทำงานหลังปีใหม่ จำได้ว่าด้วยความเป็นหมอ เราก็สามารถเรียกแฟ้มประวัติผู้ป่วยของตัวหมอเองมาเปิดดูได้ 

อ่านผลเอง ช็อกเอง (หัวเราะ) เพราะในเอกสารผลตรวจชิ้นเนื้อพบคำว่า Dx : Invasive Ductal Carcinoma แปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ชิ้นเนื้อที่เจาะไปตรวจนั้นพบเซลล์มะเร็ง! ตอนนั้นคำถามเดียวที่วนเวียนอยู่ในหัวก็คือ “นี่เรากำลังจะตายเหรอ” จากนั้นก็ร้องไห้ น้ำตาไหลมาเป็นสาย นอกจากความช็อกแล้ว ลึกๆ เราก็น่าจะกลัว เพราะตอนนั้นหมอยังมีความรู้สึกเหมือนๆ คนทั่วไปว่า ‘มะเร็งเท่ากับตาย’  

‘เต้าใหม่’ ไฉไลกว่าเก่า

หลังจากจมอยู่กับน้ำตา 2-3 ชั่วโมง เราก็เริ่มตั้งสติได้ รีบโทรไปแจ้ง ‘พี่หมอ’ ศัลยแพทย์รุ่นพี่ที่เป็นเจ้าของไข้ จำได้ว่าเขาฟังแล้วก็เงียบไปพักหนึ่งทีเดียว ก่อนจะตอบกลับมาว่า “ไม่เป็นไร รักษาได้” ประโยคสั้นๆ นั้นช่วยทำให้เงามืดที่ครอบคลุมห้วงความคิดทั้งหลายของเราค่อยๆ เบาบางลง

จากนั้นพี่หมอก็นัดตรวจเพิ่มเติม ก่อนจะวางแผนการรักษา โดยเริ่มจาก ‘ผ่าตัด’ เป็นอย่างแรก ซึ่งในกรณีของหมอนั้น ไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ ด้วยตำแหน่งของก้อนมันอยู่ใกล้หัวนมข้างขวา หากผ่าตัดแบบสงวนเต้า อย่างไรก็ต้องตัดเอาหัวนมออก ซึ่งค่าก็ใกล้เคียงกับการตัดทั้งเต้า จึงตัดสินใจว่าตัดออกทั้งหมดเลยดีกว่า

ถามว่าตัดสินใจยากไหม คำตอบคือ ไม่เลย เพราะความคิดของเราตอนนั้นแค่อยากรักษาให้จบเร็วที่สุด และด้วยความโชคดีที่เราทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญเรื่องศัลยกรรมอยู่แล้ว กอปรกับเคสของหมอนั้นสามารถเสริมสร้างเต้านมใหม่ได้ทันทีหลังผ่าตัดเต้านมออก ยิ่งทำให้เราไม่ได้กังวลอะไรมาก

สำคัญกว่านั้น เคสของหมอสามารถเสริมด้วยซิลิโคนได้ ยิ่งทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น แต่หากต้องใช้เนื้อเยื่อตัวเอง ก็คงเลือกที่จะไม่เสริมสร้าง เพราะไม่อยากมีแผลเยอะ โดยการผ่าตัดครั้งนี้ใช้เวลายาวนานกว่า 7 ชั่วโมง เพราะนอกจากจะผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งพร้อมเนื้อนมด้านขวาออกทั้งเต้าและเสริมซิลิโคนแล้ว ก็ยังเสริมซิลิโคนที่หน้าอกด้านซ้ายด้วย เพื่อให้สมดุลทั้งสองข้าง เนื่องจากเต้านมปกติของคนเรากับเต้านมซิลิโคนทรงจะไม่เหมือนกัน ถ้าเสริมข้างเดียวก็อาจจะทำให้สองเต้าดูไม่เท่ากันได้ 

การผ่าตัดครั้งนี้ เราแทบไม่มีความรู้สึกถึงการสูญเสียอะไรเลย เพราะเหมือนหลับแล้วตื่นมา นมก็ยังอยู่ แถมสวยกว่าเดิม พูดง่ายๆ ว่า แทนที่จะเสียใจที่นมเก่าถูกตัดทิ้ง เรากลับตื่นเต้นกับนมใหม่ที่ได้มามากกว่า (หัวเราะ) ที่สำคัญ ไม่ได้เจ็บอย่างที่ใครๆ บอกว่า เหมือนรถทับหน้าอก แต่เจ็บแบบทนได้ กินยาแก้ปวดก็เอาอยู่

คู่ชีวิต…อีกหนึ่งกำลังใจสำคัญของคุณหมอก้อย

ข่าวดีในเรื่องร้าย

หลังฟื้นขึ้นมาจากการผ่าตัด คำถามแรกที่ถามสามีก็คือผลการตรวจต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้เป็นอย่างไร เพราะทางพี่หมอเลาะต่อมน้ำเหลืองไปตรวจด้วย และสามารถทราบผลได้ทันที ต่างจากก้อนที่เต้านมนั้นต้องรออีก 1 สัปดาห์ จึงจะทราบว่า เราเป็นมะเร็งชนิดไหนและระยะที่เท่าไร จากนั้นก็จะนำมาพิจารณาวางแผนการรักษาต่อไป ผลการตรวจต่อมน้ำเหลืองไม่พบเชื้อมะเร็งแต่อย่างไร นั่นทำให้เรารู้แล้วว่ามะเร็งที่เป็นอยู่ยังไม่ลุกลาม จึงกะประมาณได้คร่าวๆ ว่า มะเร็งที่เป็นอยู่นั้นน่าจะไม่เกินระยะที่ 2  

หนึ่งสัปดาห์หลังการผ่าตัด ผลตรวจชิ้นเนื้อก็ออกมาว่า ก้อน 1.6 เซนติเมตร ที่ผ่าตัดออกไปตรวจนั้น มันมีแคปซูลหุ้มไว้อีกชั้น ทำให้ก้อนมะเร็งจริงๆ มีขนาดเพียง 0.5 เซนติเมตรเท่านั้น นั่นทำให้เราเป็นมะเร็งเต้านมแค่ระยะที่ 1 ชนิด Luminal A (HER2 negative) ซึ่งนับเป็นชนิดที่เจอได้มากที่สุดและไม่ค่อยร้ายแรง

ข่าวดียิ่งกว่า ด้วยก้อนมะเร็งที่เล็กมาก คุณหมอคีโมจึงลงความเห็นว่า การทำหรือไม่ทำคีโมนั้นผลไม่แตกต่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องทำคีโมหรือฉายแสงใดๆ เลย เพียงแต่ต้องกินยาต้านฮอร์โมนให้ครบ 5 ปี

ขอบคุณซิลิโคน  

หลังผ่าตัดไปประมาณ 2 เดือน แผลเพิ่งเริ่มแห้ง เรามีเหตุที่ทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง เนื่องจากเราคลำไปเจอก้อนที่หน้าอกด้านซ้าย ซึ่งเดิมตรวจพบด้วย MRI ก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่อยู่ลึก ทำให้เราคลำไม่เจอ แต่พอเราเสริมสร้างเต้านม ทำให้เจ้าก้อนขนาด 0.6 เซนติเมตร นี้ถูกซิลิโคนดันขึ้นมา ทำให้เราคลำเจอ จึงตัดสินใจปรึกษาศัลยแพทย์และขอเจาะมาตรวจแล้วกัน 

ผลปรากฏว่าเจ้าก้อนนี้เป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวผิดปกติ แต่ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ นั่นทำให้เราตัดสินใจผ่าตัดทั้งก้อนออกมาตรวจเลยแล้วกัน และผลก็คือเป็นมะเร็งระยะ 0 หรือที่เรียกว่า ระยะ DCIS (Ductal Carcinoma In Situ) หรือมะเร็งเต้านมที่อยู่ภายในท่อน้ำนม ยังไม่พบการลุกลามออกมานอกท่อน้ำนมไปที่เนื้อเยื่อใกล้เคียง สรุปว่าหน้าอกด้านขวาเป็นมะเร็งระยะที่ 1 และหน้าอกด้านซ้ายเป็นมะเร็งระยะ 0

พอรู้ผล ตอนนั้นก็รู้สึกเฟลเหมือนกัน เพราะชีวิตมันกลับมาวนอยู่ในลูปเดิมๆ คือ เจอก้อน ตัดชิ้นเนื้อ ผลว่าเป็นมะเร็ง แล้วก็ต้องกลับไปผ่าตัดอีก พอทางคุณหมอเจ้าของไข้แนะนำให้เราตัดเนื้อรอบก้อนออกให้หมด จากนั้นก็ให้ฉายแสงต่อเพื่อลดความเสี่ยงการกลับมาเป็นอีก เราก็ตัดสินใจได้ทันทีว่า “ขอผ่าตัดเนื้อนมออกไปทั้งหมดเลยแล้วกัน”

ไหนๆ ก็ต้องผ่าตัดแล้วก็ตัดเต้าทิ้งไปเลยแล้วกัน จะได้เปลี่ยนไซส์ซิลิโคนให้เท่ากับด้านขวา และไม่ต้องมาฉายแสงหรือฟอลโลว์อัปอีก ที่สำคัญเราไม่อยากมานั่งระแวงอีกแล้ว เพราะถ้าเรายังมีเนื้อเต้านมอยู่ นั่นหมายถึงเราก็ยังมีความเสี่ยงที่จะกลับมาวนอยู่ในลูปเดิมๆ อีก ทั้งฟอลโลว์อัปทุก 6 เดือน เจอก้อน ตัดชิ้นเนื้อ รอลุ้นผล ฯลฯ ตัดต้นตอไปเลยดีกว่า 

วิถีที่เปลี่ยนไป

ด้วยความกลัวตาย (หัวเราะ) ทำให้เราพยายามหาข้อมูลและปรึกษาคุณหมอหลายๆ ท่านว่า มีอะไรอีกบ้างที่สามารถทำแล้วจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งที่เราเป็นได้ ก็พบคำตอบว่า ‘อาหาร’ และ ‘การออกกำลังกาย’ เป็นสิ่งสำคัญ 

ปกติหมอจะเลือกทานอาหารอยู่แล้ว และไม่ได้ชอบทานอาหารก่อมะเร็ง หรือทานฮอร์โมนอะไรเป็นประจำอยู่แล้ว เรื่องอาหารการกินจึงไม่ได้เปลี่ยนเท่าไร แค่หลีกเลี่ยงของทอด ของมัน พยายามกินไขมันให้น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของอาหารในแต่ละวัน 

แต่สิ่งที่เปลี่ยนวิถีไปเลย น่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย จากเมื่อก่อนไม่เคยออกกำลังกายจริงจัง พอหลังการรักษาจบ ก็เริ่มหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยกีฬาที่หมอเลือกก็มีตั้งแต่โยคะ พิลาทิส ว่ายน้ำ ฯลฯ แต่ที่ทำบ่อยที่สุดคือวิ่ง เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก มีแค่รองเท้าคู่เดียว จะไปวิ่งที่ไหนก็ได้ แรกๆ ก็เหนื่อยนะ แต่พอทำเป็นประจำ เราจะเริ่มรู้สึกว่า ถ้าวันไหนไม่ได้ออกกำลังกายจะไม่ค่อยสบายใจ (หัวเราะ) ยิ่งพอวิ่งบ่อยๆ เข้าก็อยากรู้ว่า ทำไมมีคนมากมายไปร่วมงานวิ่งกัน ก็เริ่มสมัครไปวิ่งระยะใกล้ๆ เท่าที่ร่างกายเราพอไหว 5 กิโลเมตรบ้าง 10 กิโลเมตรบ้าง ก็สนุกดี แถมยังได้รู้จักอดีตผู้ป่วยมะเร็งที่มาร่วมวิ่งหลายคน 

มะเร็งเตือนสติ

ทุกวันนี้เราหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่ยังรวมถึงดูแลจิตใจ เพราะเมื่อชีวิตเราเข้าใกล้ความตาย เราจะรับรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ และอะไรที่ไม่สำคัญหรือไม่จำเป็นกับชีวิต อะไรที่สำคัญเราจะทำเลย ไม่รีรอ ส่วนอะไรที่ไม่สำคัญ เช่น เรื่องที่ทำให้เรากังวลหรือไม่สบายใจ เราก็สามารถตัดได้ง่ายขึ้น 

ตั้งแต่วันแรกที่เรารู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง หมอไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่า มะเร็งครั้งนี้เกิดจากอะไร เพราะมะเร็งเป็นโรคที่ยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน หรือถึงจะรู้ชัดว่าจากสาเหตุอะไร เช่น มาจากกรรมพันธุ์ เราก็แก้ไขอะไรไม่ได้อยู่ดี เราจึงหันไปทำอะไรที่เราเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า เช่น เราจะรักษามะเร็งครั้งนี้ได้อย่างไร หรือจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรให้ห่างไกลจากมะเร็ง ฯลฯ   

หมอเชื่อว่า ณ วันที่เราแข็งแรงดี ไม่มีใครหรอกจะคิดว่า สักวันฉันจะต้องตาย ทั้งๆ ที่วันหนึ่งเราต้องตายกันทุกคนอยู่แล้ว หมอก็เหมือนกับคนทั่วไป…

ทั้งๆ ที่อาชีพของเราได้เห็นคนตายอยู่ทุกๆ วัน แต่เราก็ยังหลงลืมไป มะเร็งครั้งนี้จึงเหมือนมาเตือนให้เรารู้ว่า วันหนึ่งเราก็ต้องตายเหมือนกัน ความตายอยู่ใกล้เรานิดเดียว ฉะนั้น อยากทำอะไร รีบทำเลย 

นี่เป็นเหตุผลที่หลังจากว่างเว้นจากงานประจำ หมอก็ยังแวะเวียนเข้ามาทำหน้าที่แอดมินเพจ ‘เมื่อหมอเป็นมะเร็ง’ แชร์ประสบการณ์และให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงตอบคำถาม หรือข้อสงสัยอะไรจากแฟนเพจให้คลายกังวล แต่ก็ต้องยอมรับว่า หมอสามารถตอบคำถามได้เพียงข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น เพราะตัวโรคมะเร็งของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ฉะนั้น คำตอบที่ดีที่สุดควรมาจากคุณหมอที่ดูแลเราอยู่ ดังที่หมอเคยบอกไว้ในบทความหนึ่งว่า “You should listen to your surgeon.”  คุณควรฟังศัลยแพทย์ของคุณ ไม่ใช่ google หรือใครอื่นใดเลย เพราะเขาคือผู้เชี่ยวชาญในโรคที่คุณเป็นมากที่สุด 

ฝากถึงผู้ป่วยมะเร็งทุกคน

“ไม่เป็นไร รักษาได้…” นี่เป็นคำพูดที่พี่หมอเจ้าของไข้พูดกับหมอในวันแรกที่หมอรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ประโยคสั้นๆ ที่ฟังแล้วอุ่นใจ คลายกังวลไปได้มาก หมอจึงอยากบอกกับทุกคนที่กำลังเผชิญมะเร็งและรู้สึกกลัว สับสน เสียใจ ตกใจ ฯลฯ ว่า

ไม่เป็นไร รักษาได้…”

เพราะมะเร็งก็เป็นโรคโรคหนึ่งที่มีวิธีการรักษาและรักษาได้ ถึงแม้จะไม่ได้หายขาด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราสามารถอยู่กับมันได้ อย่างน้อยที่สุดมะเร็งก็ไม่ได้โหดร้ายอะไรกับเรามาก เป็นมะเร็งแล้วไม่ใช่ว่าเราจะตายวันนี้ พรุ่งนี้เมื่อไร ตรงกันข้ามมะเร็งยังใจดีที่ให้เวลาเราเตรียมตัว เตรียมใจจากลาโลกนี้ไปอย่างสง่างาม

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC

แชร์ไปยัง
Scroll to Top