ทำไมการรับ ‘ฮอร์โมนเพศหญิง’ จึงก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมได้

เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนมากประมาณ 60-70เปอร์เซ็นต์ มีกลไกการเกิดจากการที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมที่มากกว่าปกติเป็นเวลานานจนเกิดมะเร็ง ฉะนั้น การรับฮอร์โมนเพศหญิงเป็นเวลานานเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ การหลีกเลี่ยงการได้รับฮอร์โมนเพศหญิงจึงช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้วิธีหนึ่ง

ฮอร์โมนเพศหญิงที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เอสโตรเจนจากสิ่งแวดล้อมจำพวก ‘ยา’ ที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน เช่น ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียว, ยากระตุ้นการตกไข่ในผู้ป่วยที่มีปัญหามีบุตรยาก และเอสโตรเจนจาก ‘อาหาร’ เช่น อาหารที่ทำจากสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวมาก ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแพะ เนื้อแกะ ถ้ารับประทานเป็นปริมาณมากจะทำให้เกิดการสะสมและเปลี่ยนไขมันดังกล่าวเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

แต่สำหรับน้ำมะพร้าว น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เหล่านี้มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนของพืช ซึ่งทำให้หลายคนกลัวว่าจะไปกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะในชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก ในความเป็นจริงแล้ว เอสโตรเจนจากพืชแตกต่างจากเอสโตนเจนจากสัตว์ จากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่ารับประทานถั่วเหลืองมากๆ แล้วดีต่อสุขภาพด้วย ดังนั้น ถั่วเหลือง มะพร้าว รับประทานได้เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันเรื่องการเกิดมะเร็งเต้านมนะคะ

รศ. พญ.นภา ปริญญานิติกูล
อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top