ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่กิน ‘ยาต้านฮอร์โมน’ ได้ไหม

มะเร็งเต้านมนั้นมีหลายชนิด แต่ชนิดที่ต้องรับประทานยาต้านฮอร์โมนนั้นมีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งได้แก่ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดที่เรียกว่า มะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก (+) คือ มีตัวรับฮอร์โมน Estrogen receptor หรือ Progesterone receptor เป็นบวก 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก แปลว่า มะเร็งเต้านมนั้นจะเติบโตได้หากมีภาวะที่มี Estrogen หรือ Progesterone hormone ดังนั้น การรักษามะเร็งเต้านมชนิดนั้นจึงจำเป็นต้องรับประทานยาต้านฮอร์โมนร่วมด้วย โดยจะแบ่งยาต้านฮอร์โมนออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ 

1) ยาต้านฮอร์โมนในกลุ่มผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน ซึ่งจะต้องรับประทานยาต้านฮอร์โมนที่เรียกว่า Tamoxifen หรือ Raloxifene โดยในเมืองไทยจะใช้ Tamoxifen เท่านั้น ซึ่ง Tamoxifen จะทำงานโดยการจับกับตัวรับฮอร์โมน ทำให้ยับยั้งตัวรับฮอร์โมนนั้นๆ ทำให้มะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมนนั้นหยุดเติบโตและตายไปในที่สุด ฉะนั้น มะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมน Estrogen receptor และ Progesterone receptor เป็นบวก คุณหมอจึงให้ยาต้านฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งนั่นเอง 

ส่วนผลข้างเคียงของยา Tamoxifen ที่พบบ่อยๆ นั้น เช่น เกิดภาวะบวมน้ำเล็กน้อย ขณะที่บางคนอาจจะมีภาวะผมบางลง แต่ไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะจะไม่เกิดภาวะหัวล้านเหมือนตอนให้เคมีบำบัดแน่นอน และผลข้างเคียงสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มยา Tamoxifen คือ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุมดลูก ประมาณ 0.2 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ผู้ที่รับประทานยา Tamoxifen คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจภายในและทำอัลตราซาวด์ปีละ 1 ครั้ง และหากมีภาวะเลือดออกผิดปกติ ควรรีบพบคุณหมอทันที  

2)  ยาต้านฮอร์โมนในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แม้รังไข่ของผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนจะไม่ผลิตฮอร์โมน Estrogen และ Progesterone แล้ว แต่เซลล์ไขมันในร่างกายจะมีเอนไซม์ที่เรียกว่า Aromatase enzyme ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็น Estrogen hormone ได้ ดังนั้น คุณหมอจึงจำเป็นต้องให้ยาในกลุ่มที่เรียกว่า Aromatase inhibitor ที่จะไปยับยั้งเอนไซม์ของเซลล์ไขมันที่จะผลิต Estrogen hormone ทำให้ Estrogen hormone ในร่างกายมีระดับต่ำที่สุด 

ยาในกลุ่ม Aromatase inhibitor จะแบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ 1) Anastrozole 2) Letorzole และ 3) Exemestane โดยทั้งสามตัวนี้จะมีการทำงานที่เหมือนกัน ฉะนั้น ผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะรับประทานแตกต่างกันไป แต่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ หากพบผลข้างเคียงมากในผู้ป่วยกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ก็สามารถกลับไปให้ยา Tamoxifen ได้ ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีเช่นเดียวกัน 

ส่วนผลข้างเคียงของยาในกลุ่มยาต้านฮอร์โมนในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนทั้งสามตัวนี้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และมีความเสี่ยงทำให้กระดูกบางลง คนที่รับประทานยาในกลุ่มนี้ คุณหมอจะแนะนำให้รับประทานยาในกลุ่มแคลเซียมและวิตามินดีร่วมด้วย อีกทั้งแนะนำให้ตรวจมวลกระดูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่ามีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนหรือเปล่า เพื่อที่จะรักษาได้อย่างถูกต้อง 

ดังนั้น หมอขอสรุปว่า ยาต้านฮอร์โมนจะมีประโยชน์ในมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวกเท่านั้น ผลข้างเคียงก็ยังมีอยู่…แต่ไม่มาก ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวผลข้างเคียงจนไม่ยอมรับประทานยานะคะ และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเมื่อมีอาการผิดปกติ

พญ.รัตน์กวิน จิตตวัฒนรัตน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมมะเร็ง
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และจิตตะไลฟ์เซ็นเตอร์

แชร์ไปยัง
Scroll to Top