มนัสรินทร์ ตระกูลเงิน : ของขวัญจากมะเร็ง 

“จงใช้เวลาที่เหลือ…
ไม่ว่าจะ 10 ปี 1 ปี 1 เดือน 1 วัน
หรือแม้แต่ 1 นาที ให้มีความสุข
อย่าปล่อยมะเร็งเข้ามา
ทำลายความสุขของเราเลย”

เป้-มนัสรินทร์ ตระกูลเงิน ข้าราชการบำนาญ อดีตพยาบาลวิชาชีพประจำห้องผ่าตัด แผนกสูติ-นรีเวชกรรมที่สั่งสมประสบการณ์มากว่า 25 ปี ปัจจุบันนอกจากบทบาทของแม่บ้านฟูลไทม์ที่ทำหน้าที่ดูแลคุณสามีและลูกชายวัย 19 ปีแล้ว เธอยังเป็นมือวางอันดับต้นๆ ด้านการดูแลสุขภาพกาย และยังเยียวยาใจตัวเองผ่านงานอดิเรกหลากหลาย ทำให้ในวัย 49 กะรัตของเธอนั้นเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม ที่สำคัญคือเธอดูสตรองล้ำหน้าคนวัยเดียวกันไปมากทีเดียว

“ก่อนจะนิ่งก็เคยซิ่งมาก่อน (หัวเราะ) ด้วยความที่งานในห้องผ่าตัดนั้นเป็นงานที่ค่อนข้างเครียดและกดดัน ทำให้พยาบาลห้องผ่าตัดนั้นก็จะมีรีแล็กที่แตกต่างกันออกไป สำหรับเราก็คือการดริงก์ เห็นเป็นพยาบาลอย่างนี้ ก็เต็มที่ทุกปาร์ตี้เหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่ไม่ว่าจะดื่มหนัก เที่ยวดึกขนาดไหน สิ่งที่เราไม่เคยพลาดก็คือการตรวจสุขภาพและออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ไม่วายมาเจอมะเร็งอยู่ดี แรกๆ ก็เฟลเหมือนกันนะ

“แต่โชคดีที่ยังมีความรักความเอาใจใส่จากคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสามี ลูกชาย ญาติพี่น้องที่พร้อมจะซัปพอร์ตกันในทุกเรื่อง นับเป็นสิ่งที่ช่วยฮีลใจเราได้เป็นอย่างดี และที่ลืมไม่ได้เลยก็คือคัลแลนและพี่จอง จากช่อง Cullen Hateberry (ยิ้ม) ที่เป็นอีกหนึ่งยาใจสำคัญ ทำให้เราได้หัวเราะ ยิ้มดีในวันที่แย่ๆ รวมถึงยังได้ข้อคิดในการใช้ชีวิตมุมบวก กล้าเผชิญและยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าดีก็เป็นเหมือนรางวัลและของขวัญ แต่ถ้าไม่ดี…ก็ไม่เป็นไร เพราะทุกอย่างเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ”

สัญญาณเตือนใจ

“ย้อนหลังกลับไปราวเดือนมีนาคม 2565 เรายังเป็นพยาบาลประจำห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลตากสิน ตอนนั้นคลำเจอก้อนเล็กๆ ที่เต้านมด้านซ้าย แต่ด้วยความเป็นพยาบาลไง (หัวเราะ) รู้เยอะ คิดว่าคงเป็นถุงน้ำธรรมดาจึงนิ่งนอนใจ กอปรกับช่วงนั้นงานก็เยอะ เครียดหลายอย่าง ทำให้เราละเลยจนลืมไปเลย และปรากฏว่าราวเดือนพฤษภาคมปีนั้นเอง ก้อนเล็กๆ กลับขยายขนาดใหญ่ขึ้น จนสังเกตเห็นหัวนมเริ่มบุ๋มลงไป เรารู้ได้ทันทีว่านั่นไม่ใช่ก้อนธรรมดาแล้ว เพราะมันโตเร็วมาก

“ด้วยความที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลอยู่แล้ว วันรุ่งขึ้นจึงตัดสินใจไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลที่เราทำงานอยู่ หลังผลแมมโมแกรมออกมาช่วงเช้า ช่วงบ่ายคุณหมอก็ให้เจาะชิ้นเนื้อตรวจทันที ก่อนจะนัดให้ไปคุยกับคุณหมอมะเร็งในวันถัดไป ผลชิ้นเนื้อออกมาก็พบว่า เราเป็นมะเร็งชนิดที่มีฮอร์โมนเป็นบวกและก้อนค่อนข้างมีขนาดใหญ่แล้ว ราว 5 เซนติเมตรได้ คุณหมอจึงแนะนำให้คีโมก่อน เพื่อลดขนาดก้อนก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด

“วันนั้นคุณหมอส่งเราไปทำ Bone scan เพื่อเช็กว่ามะเร็งกระจายไปที่กระดูกหรือยัง โชคดีมากที่ยังไม่พบว่ามีการกระจายของมะเร็งไปที่กระดูก จากนั้นก็นัดให้คีโมเข็มแรกในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นสูตรน้ำแดง หรือ AC โดยจะให้ทั้งหมด 4 เข็ม ก่อนจะผ่าตัด

“ระหว่างที่ให้คีโม 4 เข็มแรกนั้น แทบไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ เลย นอกจากมือชา เนื่องจากคุณหมอสั่งยาบรรเทาอาการข้างเคียงที่พบบ่อยมาให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน ยาแก้เบื่ออาหาร ฯลฯ นั่นทำให้คีโม 4 เข็มแรกไม่ยากอย่างที่คิด จะมีแค่ 1 เข็มเท่านั้นที่ค่าเลือดไม่ผ่าน คุณหมอก็จะให้กลับมากินเพิ่ม หลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ค่อยกลับไปให้คีโมใหม่ ซึ่งก็ผ่านมาด้วยดี”

เต้าใหม่ไฉไลกว่า

“พอให้คีโมครบ 4 เข็มแล้ว วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ก็เข้าสู่กระบวนการผ่าตัดก้อนที่เต้านม โดยเป็นการผ่าตัดยกเต้า (Total Mastectomy) ที่เต้านมด้านซ้าย จากนั้นก็ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมในคราวเดียวกันเลย โดยเราเลือกซิลิโคนชนิดที่ไม่ต้องนวด และให้คุณหมอเสริมที่เต้านมทั้งสองข้างเลย เพื่อความสมดุล หลังผ่าตัดเราจึงได้เต้านมใหม่ในทันที โดยไม่รู้สึกว่าเต้านมขาดหายไปหลังผ่าตัด

“การผ่าตัดครั้งนี้ คุณหมอยังเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ด้านซ้ายไป 22 ต่อม ซึ่งตรวจพบเชื้อมะเร็งเพียง 6 ต่อม คุณหมอจึงวินิจฉัยว่า เราเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะ 3 และหลังพักฟื้นจากการผ่าตัดประมาณ 1 เดือน ก็เข้าสู่กระบวนการให้คีโมต่ออีก 4 เข็ม ระหว่างนั้นเราก็จะเริ่มออกกำลังกายไปด้วย โดยพยายามยืด เหยียดแขน ข้อ ไหล่ เพราะกลัวจะเกิดอาการแขนติด  

“หลังให้คีโม 4 เข็มหลังจบลง ก็มาถึงขั้นตอนการฉายแสง ซึ่งต้องฉายแสงทั้งหมด 25 แสง โดยต้องเดินทางไปฉายแสงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยทุกวัน ยอมรับเหนื่อยทีเดียว แต่ก็ต้องสู้ รวมถึงมีความกังวลใจบ้าง เนื่องจากหลังผ่าตัด คุณหมอแจ้งว่าอาจจะมีโอกาสที่ก้อนซิลิโคนแข็งขึ้นได้หลังการฉายแสง โชคดีที่หลังจบการฉายแสง ซิลิโคนด้านซ้ายแข็งขึ้นกว่าข้างที่ไม่ได้ฉายแสงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ไม่ต้องเจ็บตัวผ่าตัดเปลี่ยนซิลิโคนรอบสอง”

ของขวัญจากมะเร็ง

“ปัจจุบันนี้ หากไม่นับเรื่องการฟอลโลอัปและต้องฉีดยายับยั้งการทำงานของรังไข่ทุก 3 เดือน รวมถึงต้องกินยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ทุกวันแล้ว เราก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไปเลย ข้อดีของการเป็นมะเร็งก็คือเราเปลี่ยนเป็นคนใหม่ มีวิถีชีวิตใหม่ จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนมาดริงก์น้ำผักเพื่อสุขภาพหรือนมทางการแพทย์แทน (หัวเราะ) จากเดิมที่เป็นคนไม่กินผัก ก็หันมากินผักมากขึ้น และเปลี่ยนจากคนขี้หงุดหงิด ติดเหวี่ยง ติดวีน เดี๋ยวนี้เราเปลี่ยนเป็นคนที่ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น หัวเราะง่ายขึ้น ยิ้มง่ายขึ้น สุขง่ายขึ้น

“ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณมะเร็งที่เป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้เราได้เห็นถึงความผิดพลาดในการใช้ชีวิตที่ผ่านมา มะเร็งก็ไม่ต่างอะไรกับผลประกอบการชีวิต ซึ่งอะไรที่ผิดพลาดไป เราก็แค่แก้ไขและปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ ทุกวันนี้เราจึงพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ตื่นเช้ามาใส่บาตร เข้าฟิตเนส ออกกำลังกาย เล่นพิลาทิส (Pilates) กินอาหารที่มีประโยชน์ จากนั้นก็จะเปิดธรรมะฟัง และหากิจกรรมฝึกสมาธิจดจ่อให้ใจเรานิ่ง สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เช่น การระบายสีตามตัวเลข ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ที่ได้รับมาจากรุ่นพี่ที่ทำงานคนหนึ่ง พอได้มาลงมือทำก็รู้สึกชอบเลย นอกจากได้ฝึกสมาธิแล้ว เรายังได้ผลงานสวยๆ เก็บไว้ดูเล่นด้วย หรืองานปักผ้า ซึ่งจริงๆ เป็นงานที่เราไม่คิดจะทำมาก่อนเลยในชีวิต แต่ด้วยความที่เราอยากลองท้าทายตัวเองดูสักครั้ง จึงลองหาซื้อมาปักดูเล่นๆ ปรากฏว่ากลายเป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกที่ทำให้เรามีความสุขและได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง    

“เพราะมะเร็งสอนให้เรารู้ว่า ชีวิตคนเรานั้นไม่แน่นอน แค่วันนี้เรายังหายใจและได้มีโอกาสตื่นขึ้นมา ได้อยู่กับคนที่เรารักและรักเรา แค่นี้ก็โอเคที่สุดแล้ว สำคัญที่สุดคืออย่าคิดว่ามะเร็งคือทุกอย่างในชีวิต อย่าให้มะเร็งมาจำกัดหรือบั่นทอนความสุขในชีวิตเราเด็ดขาด เพราะมะเร็งไม่ได้มีค่าขนาดนั้น และเราก็ไม่ควรให้ค่ากับมะเร็งด้วย

“ไม่แปลกหรอกที่เราจะกลัว ท้อแท้ หมดหวังในบางเวลา แค่เราอย่าจมกับความรู้สึกเหล่านี้นาน เพราะมันจะทำให้เราเสียโอกาสและเสียเวลาที่ควรจะมีความสุข อย่าปล่อยให้มะเร็งมาทำลายความสุขของเราโดยไม่จำเป็น”

สู้ดิ! กลัวทำไม

“ในฐานะของอดีตพยาบาลที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงทางการแพทย์ บอกได้เลยว่า ทุกวันนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกลมาก มะเร็งในวันนี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เดี๋ยวนี้มีสารพัดตัวช่วยที่จะทำให้ผู้ป่วยสู้กับมะเร็งได้ รวมถึงอาการข้างเคียงจากเคมีบำบัดก็มียาช่วยทุกอย่าง เช่น กินข้าวไม่ได้ก็มีนมทางการแพทย์ มียาช่วยให้กินข้าวได้ กลัวอาเจียนก็มียาแก้อาเจียน แก้คลื่นไส้ กลัวผมร่วง เดี๋ยวนี้ก็วิกหลากสี หลายทรงให้เลือก แม้แต่ความกังวลว่าผลค่าเลือดไม่ผ่าน ปัจจุบันก็ยังมียาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดให้ และต่อให้เราเป็นมะเร็งในระยะที่ 4 แต่หากแพทย์ยังมีแนวทางการรักษาและวางแผนการรักษาให้เราได้ นั่นแสดงว่าโรคที่เราเป็นอยู่นั้นยังไปต่อได้ มีโอกาสรักษาได้ ฉะนั้น หน้าที่เดียวของเราคือเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อมกับการรักษาเท่านั้น

“ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ อุปสรรค หรือโรคร้ายใดๆ ก็ตาม หากใจเราไม่สู้…ก็จบ! ฉะนั้น เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อันดับแรกคือเราต้องเปลี่ยน Mindset ก่อนว่า มะเร็งไม่ใช่เจ้าของร่างกายของเรา มะเร็งเป็นแค่ผู้อาศัยร่างกายเรา ฉะนั้น อย่าปล่อยให้มะเร็งเข้ามาขโมยความสุขเรา อย่ายอมให้มะเร็งเข้ามาขโมยชีวิตของเราไป  

“ผู้ป่วยมะเร็งในวันนี้ไม่ต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงต่างๆ มากมายเหมือนในอดีต ยิ่งหากเป็นผู้ป่วยที่พบมะเร็งในระยะเริ่มต้น การรักษาก็จะยิ่งง่ายขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมทุกวันนี้เมืองไทยจึงรณรงค์ให้คนไทยทุกคนตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ก็เพราะจะทำให้เราตรวจพบโรคได้เร็ว เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ไว ย่นระยะเวลาการรักษาให้สั้นลง เพราะยิ่งเราพบโรคในระยะเริ่มต้นมากเท่าไร การรักษาก็ไม่ซับซ้อนและไม่ยืดเยื้อ กินเวลาในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของเรานั่นเอง”

#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top