อัญชนา ชัยยะคะ : มะเร็งตัวร้ายกับสะใภ้เกาหลี 

“การต่อสู้กับมะเร็งครั้งนี้ 
มี ‘เวลา’ ที่จะได้อยู่กับลูก
และคนที่เรารักเป็นเดิมพัน
ถ้าสู้ชนะ เราก็จะได้อยู่กับพวกเขานานขึ้น 
เราได้กอดลูกนานขึ้น
ได้เห็นรอยยิ้มของเขานานขึ้น 
ได้เฝ้าดูการเติบโตของเขานานขึ้น ฯลฯ 
ฉะนั้น ทางเดียวคือเราต้องสู้สุดใจ”

ฝ้าย-อัญชนา ชัยยะคะ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2 ระยะ 2-3 วัย 38 ปี เจ้าของธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้าออนไลน์ในเกาหลี ผู้ก่อตั้งเพจ เขยเจียงใหม่ ลูกสะใภ้เกาหลี by minju family สาวเชียงใหม่ที่เดินทางจากบ้านเกิดและครอบครัว เพื่อไขว่คว้าหาโอกาสที่มีมากกว่าในต่างแดน หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการบัญชี เธอเข้าทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งที่บ้านเกิดได้เพียงสองปี ก็พบว่างานที่ทำอยู่นั้นไม่อาจจะนำพาความมั่นคงมาให้ครอบครัวได้ ด้วยสถานะลูกสาวคนเดียวของบ้านที่พ่อและแม่กำลังก้าวสู่วัยชราทุกวัน เธอจึงตัดสินใจลาออกและติดตาม ‘น้าสาว’ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับสามีที่มาเลเซีย เพื่อไปทำงานในศูนย์สอนภาษาอังกฤษที่นั่น แม้รายได้จะไม่เป็นอย่างที่หวังไว้ แต่อย่างน้อยเธอก็ได้ ‘ภาษา’ ติดตัวกลับมา และนั่นเองทำให้เธอกล้ามองหาโอกาสที่ไกลกว่าเดิม

“หลังกลับมาจากมาเลเซีย เพื่อนก็มาชวนไปทำงานที่กรุงเทพฯ เขาบอกว่าทำงานได้เงินเยอะ เราก็ตามเขามาและได้เข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นแถวสีลม เงินเดือน 2.5 หมื่นบาท ถามว่าเยอะไหม ก็เยอะนะ แต่ค่าครองชีพก็สูงพอๆ กับรายได้ ทั้งกินใช้ เช่าห้อง ผ่อนรถ และส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่ด้วย แน่นอนว่ารายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำเท่าไรก็ไม่มีเงินเก็บสักที เริ่มท้อ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับเพื่อนอีกคนมาชวนไปทำงานที่เกาหลี โดยเขาบอกว่าที่นั่นเงินเดือนอย่างต่ำๆ ก็ประมาณ 5 หมื่นบาท”

พบรักกับ ‘โอปป้า’

“ตอนนั้นไม่คิดอะไรเลย (หัวเราะ) ตัดสินใจลาออก เดินทางไปทำงานที่เกาหลีทันที ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะไปเก็บเงินสักก้อนแล้วค่อยกลับมา นั่นเป็นเหตุผลที่เมื่อไปถึงเราก็เดินหน้าไม่ถอย ทำงานทุกอย่างที่ได้เงิน ไม่ว่าจะเป็นงานโรงงาน งานสวน ฯลฯ งานหนักแค่ไหนก็สู้ เป้าหมายเดียวคือเก็บเงินให้ได้แล้วกลับบ้าน แต่ทำงานจนเข้าสู่ปีที่ 3 อายุย่างเข้า 31 ปีแล้ว วันหนึ่งเพื่อนก็ชวนไปไหว้พระที่วัดเกาหลี ด้วยความที่เรายังไม่มีแฟน จึงอธิษฐานไปว่า ถ้ามีเนื้อคู่ก็ขอให้เจอสักที (หัวเราะ) 

“ย้อนหลังกลับไปช่วงที่อยู่มาเลเซีย เคยมีหมอดูทักว่า เราจะได้เนื้อคู่เป็นคนตัวอ้วนๆ ขาวๆ และอยู่เมืองหนาว ตอนนั้นก็คิดค้านในใจว่า มาเลเซียร้อนจะตาย จะไปหาผู้ชายที่อยู่เมืองหนาวได้ที่ไหนกัน (หัวเราะ) อีกอย่างตัวเราเองก็ไม่ใช่ไทป์ผู้หญิงที่ฝรั่งชอบด้วย ก็คิดไปว่าหมอดูคนนี้…คงไม่แม่นแน่ๆ 

“แต่ไม่นานหลังจากขอพรที่วัดนั้นก็ได้เจอ ‘สามี’ นี่แหละ จากเดิมที่ไม่เคยคิดมีคู่เป็นคนเกาหลีมาก่อน ไม่อยู่ในสมองเลยยยย…(หัวเราะ) เพราะเราไม่ชอบผู้ชายตาตี่ ไม่ดูซีรีส์และไม่อินกับโอปป้าเท่าไร หนุ่มเกาหลีจึงไม่ใช่สเปกเลย และไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือโชคชะตาที่เราไม่เก่งภาษาเกาหลี ทำให้ต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่หนุ่มเกาหลีน้อยคนที่เราเจอจะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ แต่สามีเป็นคนหนึ่งที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ ทำให้เราคุยกันเข้าใจ และยิ่งคุยกันนานไปก็ยิ่งถูกคอ จนในที่สุดก็ตัดสินใจจดทะเบียนสมรสและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน” 

ข่าวร้ายสะใภ้กิมจิ

“หลังจดทะเบียนที่เกาหลีแล้ว เราก็กลับมาจดทะเบียนที่เมืองไทยและถือโอกาสเที่ยวพักผ่อนที่เมืองไทยต่ออีก 3 เดือน ตอนนั้นเองก็เริ่มมีอาการแพ้ท้อง (ยิ้ม) พอถึงกำหนดกลับเกาหลีก็ชวนแม่มาเที่ยวและอยากให้มาช่วยดูแลหลานสักพัก เพราะความเป็นคุณแม่มือใหม่ เราเลยกลัวว่าจะทำอะไรไม่ถูก

“พอลูกชายอายุเกือบ 3 ขวบ ตอนนั้นเราก็มีอาการเจ็บจี๊ดที่หน้าอกขึ้นมา จนบางครั้งถึงขั้นสะดุ้งตื่นกลางดึก โดยก่อนหน้านั้นเราก็พบว่าหน้าอกด้านซ้ายมีก้อน แต่เข้าใจไปเองว่าน่าจะเป็นอาการของเต้านมคัด น้ำนมค้าง จึงไม่ได้ใส่ใจอะไร แต่พอมีอาการเจ็บก็เริ่มกังวลใจ จึงปรึกษาสามีและสามีก็พาไปตรวจ

“หลังจากซักประวัติแล้ว คำถามที่คุณหมอถามกลับมาก็คือ ‘ทำไมไม่ตรวจมะเร็งเต้านมบ้างเลย’ เพราะปกติคนเกาหลีจะได้รับสิทธิ์ตรวจมะเร็งเต้านมฟรีทุกๆ สองปี ซึ่งแม้เราจะยังไม่ได้สัญชาติเกาหลี แต่ด้วยความที่เราจดทะเบียนกับสามีมากว่า 4 ปีแล้วและมีวีซ่าคู่สมรส ทำให้ได้รับสิทธิ์นั้นด้วย ซึ่งคุณหมอคงรู้สึกเสียดายโอกาสแทนเรา

“หลังจากแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์แล้ว คุณหมอก็นัดมาเจาะชิ้นเนื้ออีก 2-3 วันถัดมา และให้กลับมารอฟังผลใน 1 สัปดาห์ โดยระหว่างที่รอฟังนั้น ยอมรับว่าเราไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งเลยยย… คิดแค่ว่าคงจะเป็นซีสต์เท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้น้าสาวก็เคยเป็นซีสต์ที่หน้าอก หลังจากผ่าตัดคว้านก้อนซีสต์ออกก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ อีกอย่างในครอบครัวก็ไม่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อน ทำให้เราไม่มีความคิดหรือกังวลใจเลยว่าตัวเองจะเป็นมะเร็ง

“พอถึงวันนัดฟังผล วันนั้นคุณหมอเรียกแค่สามีเข้าไปคุยด้วย ระหว่างที่นั่งรออยู่ข้างนอก เราก็เริ่มเห็นสามีมีสีหน้าเคร่งเครียด ตอนนั้นก็เริ่มเอะใจแล้วว่า หรือว่าเราจะเป็นมะเร็ง’ หลังจากคุยกับคุณหมอเสร็จ สามีก็เดินออกจากห้องของคุณหมอมาพร้อมน้ำตา เราก็รู้แล้วว่า คงไม่ผิดแล้วละ ณ นาทีนั้น หน้าลูกชายก็ลอยขึ้นมาทันที” 

สู้มะเร็งร้ายสไตล์เกาหลี

“หลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์ คุณหมอก็นัดมาฝังพอร์ต (Port-A-Cath) อุปกรณ์ที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านซ้าย เพื่อใช้ในการให้ยาคีโมบำบัดเข้าสู่หลอดเลือดดำ จากนั้นก็ให้ข้อมูลอย่างละเอียดว่า ระหว่างการรักษาเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง และผลข้างเคียงจากการให้คีโมมีอะไรบ้าง เช่น ผมร่วง ท้องเสีย อาเจียน ฯลฯ เพื่อให้เราเตรียมตัวเตรียมใจ โดยหลังจากให้คีโมไปแล้ว 1 สัปดาห์ คุณหมอก็จะนัดมาติดตามอาการ แต่หากมีอาการรุนแรงก่อนวันนัด คุณหมอกำชับว่าให้กลับมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เช่น หากกินอะไรไม่ได้เลย อาเจียนออกหมด ก็ต้องกลับมาแอดมิตเติมสารอาหารที่โรงพยาบาล เป็นต้น 

“ด้วยความที่ก้อนมะเร็งมีขนาดกว่า 5 เซนติเมตรแล้ว คุณหมอจึงวางแผนการรักษาไว้ว่า จะต้องให้คีโม 6 ครั้งก่อน เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแบบสงวนเต้าเพราะเห็นว่าเราอายุยังน้อย ก่อนจะเข้าสู่การฉายแสงอีก 31 ครั้ง และให้ยามุ่งเป้าต่ออีก 18 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์ 

“ทุกครั้งที่พบคุณหมอ คุณหมอก็จะพยายามพูดให้กำลังใจเสมอว่า โรคมะเร็งรักษาได้และมีโอกาสหายถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งพอได้คุยกับคนรอบข้าง ทั้งเพื่อนๆ และคนรู้จักก็ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โรคมะเร็งในปัจจุบันนี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งคนรอบข้างของพวกเขาก็เคยเป็นมะเร็งเต้านม และหลังจากรักษาแล้วก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงทำให้ความกลัวของเรากลายเป็นแรงฮึดสู้ขึ้นมา” 

ฝ่าด่าน ‘คีโม’ 

“ก่อนหน้านั้นยอมรับว่ากลัวนะ เพราะภาพจากหนังและละครทำให้เรารู้สึกว่ามะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัว แต่พอผ่านคีโมเข็มแรกไป เราก็รู้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่เหมือนภาพที่เราจำมาเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ เลย เพียงแต่อาการที่เราพบนั้นเป็นอาการที่พอทนได้ ทนไหว เช่น ท้องเสีย อ่อนเพลีย แต่พอเติมสารอาหารผ่านทางน้ำเกลือ ร่างกายก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา หรือนอนไม่ค่อยหลับในตอนกลางคืนจากอาการร้อนผ่าวไปทั่วทั้งตัว ทั้งปาก ฯลฯ เราก็ลองใช้วิธีงีบหลับในตอนกลางวันแทนซึ่งก็ผ่านไปได้ ส่วนอาการอื่นๆ คุณหมอก็จะให้ยามาเผื่อไว้อยู่แล้ว เช่น ยากันอาเจียน ฯลฯ ซึ่งอาการข้างเคียงเหล่านี้จะเกิดขึ้นแค่ช่วงสัปดาห์แรกหลังจากให้คีโม แต่พอสัปดาห์ที่สองร่างกายเริ่มฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติ 

“เราค่อยๆ ปรับตัวรับมือกับอาการข้างเคียงไปทีละนิด สำคัญที่สุดคือพยายามกินให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่หลากหลาย เพื่อให้ผลเลือดผ่าน ไม่ต้องเลื่อนการรักษาออกไป เมนูไหนที่ชวนให้อาเจียนก็เปลี่ยนเป็นเมนูอื่นๆ ลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ และระหว่างวันก็จะกินพวกมะม่วงเปรี้ยว สับปะรด ซึ่งช่วยบรรเทาอาการอยากอาเจียนได้เป็นอย่างดี  

“พอให้คีโมจนครบ 6 ครั้ง ราวเดือนเมษายน 2566 คุณหมอก็นัดมาผ่าตัดก้อนมะเร็งพร้อมเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ด้านซ้ายออก เนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว หลังจากนั้นก็ส่งก้อนเนื้อที่ผ่าตัดออกมาไปตรวจแล็บอีกครั้ง ผลปรากฏว่าไม่พบเชื้อมะเร็งแล้ว แต่เพื่อเพิ่มโอกาสหายขาดจากมะเร็ง คุณหมอก็ให้ฉายแสงทุกวันจนครบ 31 ครั้ง  ก่อนเข้าสู่กระบวนการให้ยามุ่งเป้าต่อทุก 3 สัปดาห์ รวมทั้งหมด 18 ครั้ง ซึ่งจบการรักษาในเดือนธันวาคม 2566 จากนั้นคุณหมอก็นัดตรวจติดตามผลทุก 6 เดือน ไปจนกว่าจะครบ 5 ปี”  

โชคดีที่มี ‘โอปป้า’

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราโชคดีที่เจอมะเร็งหลังจากแต่งงานกับสามีเรียบร้อยแล้ว เพราะนั่นช่วยให้เราได้รับสิทธิการรักษาเสมือนเป็นประชากรคนหนึ่งของเกาหลี แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับมาตรฐานการรักษาที่ได้รับ โดยสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพียง 5 เปอร์เซ็นต์จากค่ารักษาทั้งหมด เนื่องจากโรคมะเร็งมีค่ารักษาที่สูง ในขณะที่หากเป็นโรคทั่วไป รัฐจะกำหนดให้เราจ่ายประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ของค่ารักษา 

“แม้จะจ่ายเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อคิดเป็นเงินแล้วก็สูงอยู่พอสมควร แค่ยามุ่งเป้า 18 เข็ม เราก็ต้องจ่ายไปแสนกว่าบาท โดยสามีเชียร์ให้เลือกยามุ่งเป้านำเข้าที่มีประสิทธิภาพดีกว่า เพื่อเพิ่มโอกาสหายขาดมากขึ้น และยังจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงระหว่างที่รักษาตัวเขาก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาดูแล รับส่ง และอยู่ข้างๆ เราตลอดเวลา

“เรารู้สึกโชคดีมากที่เลือกผู้ชายคนนี้มาเป็นคู่ชีวิต เพราะตั้งแต่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งจนถึงวันนี้ ไม่เคยมีคำไหนที่ทำให้เรารู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง หรือรู้สึกไม่ดีออกจากปากเขาเลย เขาพูดให้กำลังใจเราตลอดเวลา หรือหากกินอะไรไม่ได้ ก็พยายามสรรหาเมนูใหม่ๆ มาให้ลองกิน เพราะอยากให้เราฟื้นตัวเร็วๆ และพร้อมรับกับคีโมครั้งต่อไป

“เขาพยายามจัดการทุกอย่างอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เรากังวลกับเรื่องอะไรเลย แม้แต่เรื่องค่ารักษาก็จัดการเป็นอย่างดี จนเราไม่รู้สึกว่าความเจ็บป่วยของเราเป็นภาระของเขา โดยเขาจะบอกเสมอว่า ‘ไม่ต้องกังวลอะไรเลย แค่ให้เราอดทนสู้กับการรักษาให้หายเท่านั้น’ หรือช่วงคีโมเข็มแรกๆ เราท้อจนเอ่ยปากกับเขาว่า ‘ปล่อยให้ฉันตายไปเหอะ ไม่อยากรักษาแล้ว’ เขาก็จะบอกเสมอว่า ‘อีกนิดเดียว อดทนหน่อย’ จากนั้นมาเขาก็จะคอยนับถอยหลังว่า เหลือคีโมอีกกี่เข็มและให้กำลังใจจนคีโมเข็มสุดท้าย นั่นทำให้เราสู้ทนแบบไม่ถอย”

ชีวิตหลังมรสุมมะเร็ง

“อย่างที่รู้กันดีว่า ในปัจจุบันมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาได้และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแค่ต้องใช้ความอดทนต่อสู้กับอาการข้างเคียงจากการรักษาหน่อย แต่เชื่อเถอะว่าเราทุกคนจะผ่านไปได้ พยายามให้กำลังใจตัวเองเยอะๆ และพาตัวเองออกห่างจากพวก Toxic Person ให้ไกล โดยเฉพาะช่วงรักษาตัว เพราะแม้เราจะเข้มแข็งแค่ไหน ให้กำลังใจตัวเองมากเพียงใด แต่ระหว่างการรักษา เราก็จะมีบ้างที่ท้อ อ่อนแอ จากผลข้างเคียง จากความกังวลต่างๆ นานา ซึ่งหากมีแต่พวก Toxic Person อยู่รอบข้าง เอาแต่พูดไม่ดี ไม่เคยให้กำลังใจ ฯลฯ ก็คงยากที่จะผ่านการรักษาไปได้อย่างราบรื่น เผลอๆ อาจจะกลายเป็นซึมเศร้าจาก Toxic Person เหล่านี้ได้ง่ายๆ ฉะนั้น ผู้ป่วยทุกคนควรอยู่ให้ไกล Toxic Person ไม่ใช่แค่ช่วงรักษาตัว แต่หากตีตัวออกห่างได้ ชีวิตเราก็จะมีความสุขขึ้นอีกเยอะ

“ทุกวันนี้ก็พยายามใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่เครียด มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน และดูแลตัวเองให้ดีที่สุด เพราะไม่อยากให้มะเร็งกลับมาอีกแล้ว เราอยากมีสุขภาพแข็งแรงและอยู่กับลูก สามี และคนที่เรารักให้นานที่สุด เพราะเรารู้แล้วว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพอีกแล้ว และไม่ว่าเจอใครที่รู้จัก เราจะเตือนทุกคนเสมอว่า ‘อย่าละเลยที่จะไปตรวจสุขภาพสักปีละครั้งก็ยังดี’ เพราะที่ผ่านมามะเร็งสอนให้เรารู้ว่า เราไม่ควรประมาทกับการใช้ชีวิต อย่าคิดว่าตัวเองอายุยังน้อย คงไม่เป็นไร ด้วยอาหารการกินในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบุฟเฟต์ ปิ้งย่าง แปรรูป ฯลฯ ล้วนทำให้เรามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายได้มากมายไม่เว้นแม้มะเร็ง จำไว้ว่า โรคร้ายเป็นได้…ไม่ได้จำกัดอายุ ฉะนั้น อย่าประมาทเด็ดขาด รู้ไว รักษาไว ยิ่งเพิ่มโอกาสหายขาดได้สูงขึ้น”
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
แชร์ไปยัง
Scroll to Top