HOW TO : 4 วิธีหม่ำ ‘โปรตีน’ อย่างไร…ห่างไกลโรค

…… อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย 
…… ง่วงนอนทั้งวันแม้จะนอนเต็มอิ่ม
…… ผมร่วง ผมแห้งเสีย
…… เล็บเปราะ ฉีกง่าย ไม่แข็งแรง
…… ผิวหนังแห้งแตกง่าย ไม่แข็งแรง
…… ใบหน้า ฝ่ามือ เท้า มีอาการบวมน้ำ
…… มีภาวะสูญเสียกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อเล็กลง  
…… ทรงตัวไม่ดี เซง่าย  
…… หิวบ่อยขึ้น น้ำหนักเพิ่ม ลดน้ำหนักยาก
…… ติดเชื้อง่าย 
…… มีภาวะไขมันพอกตับ 
…… กระดูกไม่แข็งแรง

เพราะโปรตีนไม่ได้จำเป็นเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับคีโมเท่านั้น แต่เป็นสารอาหารสำคัญสำหรับเราทุกคน และหากคุณกำลังมีอาการดังกล่าวข้างต้น อาจจะเป็นไปได้ว่าร่างกายของคุณกำลังขาด ‘โปรตีน’ สารอาหารที่นอกเหนือจากการสร้างพลังงานให้แก่ร่างกายแล้ว ยังมีประโยชน์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงเส้นผม ดูแลเซลล์สืบพันธุ์ รักษาสมดุลปริมาณในเลือดและสมดุลของค่ากรดต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงช่วยควบคุมอวัยวะในร่างกายให้ปกติ และยังช่วยให้เราห่างไกลจากโรคมากมาย เช่น โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น

1) หม่ำโปรตีนต่อวันให้เพียงพอ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การกินโปรตีนในปริมาณเพียงพอนั้นสามารถช่วยลดความอยากอาหารได้ทางหนึ่ง เนื่องจากโปรตีนทำให้เราอิ่มท้องได้นานกว่าคาร์โบไฮเดรต สามารถระงับความหิวได้นาน และกินอาหารน้อยลง 

นอกจากนี้ การกินโปรตีนยังช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้มากถึง 20-35 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนช่วยลดการสะสมไขมัน รวมถึงป้องกันไม่ให้น้ำหนักกลับขึ้นมาอีก นั่นหมายความว่าหากเรากินโปรตีนให้เพียงพอต่อวัน และออกกำลังกายพร้อมดูแลจัดการอาหารอย่างพอเหมาะร่วมด้วย นี่คืออีกหนึ่งหนทางที่นำเราไปสู่การลดน้ำหนักได้อย่างยั่งยืน โดยเกณฑ์ในการกินโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายของคนทั่วไปนั้น คือ 

*ควรบริโภคโปรตีน 1 กรัม หรือไม่น้อยกว่า 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ยกตัวอย่าง หากน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนจากอาหารแหล่งต่างๆ รวมกันให้ได้ 48-50 กรัมต่อวัน หรือเพื่อง่ายต่อการคำนวณอาจจะใช้สูตร 2 : 1 : 1 คือ อาหาร 1 จาน ควรมีผัก 2 ส่วน  คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนอย่างละ 1 ส่วน 

แต่ในกลุ่มผู้ที่ต้องการโปรตีนมากเป็นพิเศษ เช่น คนเล่นกล้าม ฯลฯ แน่นอนว่าจะต้องการโปรตีนมากเป็นพิเศษ เพราะการเล่นกล้ามทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ จึงจำเป็นต้องให้โปรตีนเข้าไปซ่อมแซมและสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่และใหญ่ขึ้น ฉะนั้น คนกลุ่มนี้ก็จะต้องการปริมาณโปรตีน 1-1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น หากน้ำหนักตัว 80 กิโลกรัม ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับคือ 80-120 กรัมต่อวัน เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายแสง หรือการรับยาเคมีบำบัด ร่างกายจำเป็นต้องได้รับปริมาณโปรตีนมากกว่าปกติถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมนั่นเอง  เช่น หากน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับคือ 60-90 กรัมต่อวัน เป็นต้น

หลายคนอาจจะสงสัย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยมะเร็งได้รับโปรตีนเพียงพอหรือไม่ สังเกตง่ายๆ จากน้ำหนักตัวของเราเอง หากระหว่างการรักษา น้ำหนักของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่ายังรับสารอาหารไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งต้องรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน เช่น การปรึกษานักโภชนาการ หรือรับอาหารทางการแพทย์เสริม ซึ่งประกอบด้วยโปรตีน ไขมันจำเป็น คาร์โบไฮเดรต และพลังงานที่เพียงพอ เพราะหากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อฝ่อลง ภูมิต้านทานลดลง ซึ่งเพิ่มโอกาสให้โรคมะเร็งดื้อยาได้ และอาจจะทำให้โรคกลับมาเป็นซ้ำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ยืนยันด้วยงานวิจัยที่พบว่า หากคนที่มีน้ำหนักตัวลดลงระหว่างการรักษานั้น ผลการรักษาจะไม่ดี เมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักตัวไม่ลดลง ดังนั้น การรับโปรตีนให้เพียงพอและการรักษาน้ำหนักตัวระหว่างการรักษานั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ป่วยมะเร็งซึ่งอยู่ระหว่างการรักษาตัวไม่ควรละเลยเด็ดขาด    

2) หม่ำโปรตีนจากหลากหลายแหล่งช่วยห่างไกลโรคได้

โปรตีนนับเป็นสารอาหารที่สามารถพบได้จากหลากหลายแหล่งที่มา ทั้งจากพืชหรือสัตว์ เช่น เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ นม ไข่ เต้าหู้ ถั่วเหลือง ฯลฯ มีการศึกษาพบว่า การเลือกกินโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เนื้อเป็ด ไก่ และถั่วต่างๆ แทนโปรตีนจากเนื้อหมูหรือเนื้อวัว ดูเหมือนจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคอื่นๆ ได้ทางหนึ่ง 

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งงานวิจัยซึ่งทำการศึกษาในกลุ่มอาสาสมัครชาย-หญิงกว่า 120,000 คน โดยให้ทำแบบสอบถามเพื่อประเมินทุก 4 ปี จนครบเวลากว่า 20 ปี ซึ่งผลสรุปพบว่า การกินเนื้อสัตว์ใหญ่ที่มีการแปรรูปทุก 85 กรัม ในแต่ละวัน ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 13 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า การกินเนื้อไก่ ถั่วเปลือกแข็ง ปลา นมพร่องมันเนย หรือแม้แต่นมที่มีไขมันเต็มส่วน ล้วนส่งผลให้มีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองลดต่ำลง เมื่อเทียบกับการกินเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ แม้จะยังไม่มีผลสรุปอย่างเป็นทางการ แต่หลายงานวิจัยก็ทำให้เราตระหนักได้ว่า การกินโปรตีนไม่ควรคำนึงถึงเพียงปริมาณเท่านั้น แต่คุณภาพของแหล่งที่มาของโปรตีนก็เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นเราควรเลือกกินโปรตีนที่มาจากหลากหลายแหล่งที่มา น่าจะปลอดภัยกว่าการกินโปรตีนจากแหล่งเดิมซ้ำๆ

3) โปรตีนต้องห้ามจากอาหารแปรรูป

อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า เนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน แฮม ไส้กรอก ซาลามี่ เนื้อกระป๋อง เป็นอาหารที่ก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงการกินอาหารแปรรูปจากเนื้อเพิ่มขึ้น 50 กรัมต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ และการกินเนื้อแดงเพิ่มขึ้น 100 กรัมต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ขึ้นอีก 17 เปอร์เซ็นต์  

จะเห็นได้ว่า อาหารแปรรูปนั้นเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง รวมถึงโรคอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เบาหวาน ซึ่งมีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น หมู วัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านกระบวนการแปรรูป จะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าผู้ที่แทบจะไม่รับประทานอาหารดังกล่าว และการกินเนื้อสัตว์ใหญ่ทุกๆ หนึ่งส่วนส่งผลให้ความเสี่ยงของโรคเบาหวานสูงขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ และส่วนผู้ที่กินเนื้อแปรรูปจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นถึง 32 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ผู้ที่เริ่มรับประทานเนื้อแดงมากกว่าปกติ มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในอีก 4 ปีต่อมา ในขณะที่ผู้ที่ลดการบริโภคเนื้อแดงลง จะมีความเสี่ยงลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 10 ปีถัดมา แม้จะยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่า การกินเนื้อสัตว์ใหญ่จะสัมพันธ์กับโรคต่างๆ แน่หรือไม่ แต่เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพ การเลือกสรรแหล่งโปรตีนที่หลากหลายน่าจะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคได้ทางหนึ่ง  

4) กินโปรตีนมากไป…ระวังไตพัง

แม้โปรตีนจะเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่การกินโปรตีนในปริมาณที่มากเกินไปก็ไม่ใช่ผลดีต่อสุขภาพสักเท่าไร ตรงกันข้ามอาจจะเป็นการทำร้ายสุขภาพโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมกินอาหารเสริม รวมถึงเวย์โปรตีน (Whey protein) ซึ่งอาจจะทำให้ได้รับโปรตีนเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ และหากร่างกายได้รับโปรตีนเกินความต้องการเป็นประจำ ก็มีผลทำให้ตับและไตต้องทำงานหนัก เพราะต้องขับเอาโปรตีนส่วนเกินออกจากร่างกาย และหากขับโปรตีนออกไม่ทันก็อาจจะทำให้ตับและไตเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และยังเสี่ยงภาวะเลือดเป็นกรด มีภาวะซึม ชัก หมดสติ สมองเสื่อม รวมถึงตัว/ตาเหลืองและเป็นดีซ่านได้ในที่สุด

นอกจากนี้ อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำจำนวนมาก เสี่ยงต่อการเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ โดยเฉพาะเมื่อมีการออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งอาการที่พบได้ เช่น วิงเวียน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และไตทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกายหนักขึ้น จนส่งผลให้เกิดอันตรายต่อไตและหัวใจตามมา และยังอาจมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและแคลเซียมกระดูกร่วมด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น โปรตีนยังเป็นสารอาหารที่ผู้ป่วยไตเสื่อมควรระมัดระวังในการกิน โดยเฉพาะในระยะก่อนฟอกไต ผู้ป่วยควรกินโปรตีนในแต่ละวันให้น้อยกว่าคนปกติเล็กน้อย คือ ประมาณ 0.6-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไตแล้ว ควรรับประทานโปรตีนในแต่ละวันเพิ่มมากกว่าคนปกติ คือ ประมาณ 1.0-1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เนื่องจากร่างกายสูญเสียโปรตีนไปบางส่วนจากกระบวนการฟอกไตนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.samitivejhospitals.com
https://www.bangkokbiznews.com
https://tbcc-community.com

แชร์ไปยัง
Scroll to Top