ภญ.อโณทัย ลาภสุขสถิต : ความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่

“การเป็นจิตอาสาของเราเริ่มต้นอย่างจริงจัง
หลังจากมะเร็งผ่านเข้ามา…”

ข้อความสั้นๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังของ เปิ้ล-ภญ.อโณทัย ลาภสุขสถิต เภสัชกรและติ๊กตอกเกอร์วัย 51 ปี เจ้าของช่อง ‘เปิ้ลเตรียมเกษียณ’ ที่ค้นพบความสุขแท้จากการตื่นรู้และอยู่เพื่อผู้อื่นหลังมะเร็งเข้ามาทักทาย นอกเหนือจากบทบาทการเป็นติ๊กตอกเกอร์และนักการตลาดออนไลน์ของธุรกิจครอบครัว รวมถึงการทำหน้าที่ลูกสาวคนโตที่ดูแลแม่วัย 71 ปี และอาโกวสุดเฟี้ยวของหลานเล็กใหญ่ทั้ง 5 คนแล้ว เธอยังแบ่งเวลากว่าครึ่งเพื่อเป็นจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็นการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในโครงการ ‘พึ่งคาราวาน’ ของพระราชวิสุทธิประชานาถหรือหลวงพ่ออลงกต พลมุข เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ และเป็นหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครของมูลนิธินาถะ รวมถึงยังเป็นเครือข่ายที่ทำงานด้านการสื่อสารเพื่อการอยู่ดี-ตายดี และการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในนาม ‘ชีวมิตร’ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงลมหายใจสุดท้ายให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืน

“ก่อนเป็นมะเร็ง เราก็ทำงานจิตอาสาบ้างแต่ไม่บ่อย ปีหนึ่งก็จะทำสักครั้งหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ก็จะชวนเพื่อนๆ  มารวมกลุ่มกันทำอะไรสักอย่าง เช่น แพ็กถุงยังชีพไปบริจาค หรือบางครั้งก็ช่วยกันหาของมาขาย จากนั้นก็จะนำเงินที่ได้ไปบริจาค 

“จนกระทั่งเป็นมะเร็ง เราได้มีโอกาสไปเจอ ‘คุณหลิง’ (พีรดา พีรศิลป์) อดีตผู้ป่วยมะเร็งที่เผชิญมะเร็งกี่ครั้งก็ไม่เคยท้อ และเจอกับ ‘คุณออย’ (ไอรีล ไตรสารศรี) อดีตผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 ผู้ก่อตั้ง ART for CANCER เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย หรือเรื่องราวของ ‘พี่อ้อม’ (วรินทร์พร ณิชาภัทร์นารากุล) อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามที่ใช้ชีวิตตามปกติมากว่า 15 ปีแล้ว และปัจจุบันก็เป็นประธานชมรมรู้เท่าทันมัจจุราชสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ทำให้เราเรียนรู้ว่า มะเร็งไม่ได้เท่ากับตาย อย่างที่เคยเข้าใจ และมะเร็งระยะที่ 4 ก็ไม่เท่ากับคนไข้ระยะสุดท้าย แต่มีโอกาสรักษาได้และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ที่สำคัญศักยภาพของเราไม่ได้หายไปไหน นั่นจุดประกายให้เราตระหนักได้ว่า ถ้าป่วยเป็นมะเร็งแล้ว จะมานั่งจมจ่อมอยู่ไม่ได้ เพราะเรายังมีศักยภาพที่สามารถทำประโยชน์ได้อีกมากมาย จึงลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เรายังทำได้ ก็คือการเป็นจิตอาสา โดยหาจุดที่เราอยู่แล้วมีความสุข ท่ามกลางคนที่เคมีเข้ากัน และเรามีประโยชน์ ณ จุดนั้น” 

สิทธิในลมหายใจสุดท้าย

“ย้อนหลังกลับไปเมื่อราวสิบปีที่แล้ว สมัยที่ยังทำงานเป็นฝ่ายขายในบริษัทขายยาในกลุ่มยาโรคมะเร็ง ดูแลผลิตภัณฑ์ ‘แผ่นแปะแก้ปวด’ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เรามีโอกาสได้รู้จักคำว่า Palliative Care เป็นครั้งแรก เพียงแต่ตอนนั้นคำว่า Palliative Care หรือการดูแลแบบประคับประคองยังมีความหมายจำกัดในเชิงกายภาพคือการลดอาการเจ็บปวดให้ผู้ป่วย โดยอาการสุดท้ายที่ทรมานผู้ป่วยมากที่สุดก็คืออาการปวด ฉะนั้น ถ้าเราคุมความปวดได้ คนไข้ก็จะมีความสุขขึ้น เรารู้แค่นั้น

“จนกระทั่งมารู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง เราหันมาสนใจและศึกษาหาความรู้เรื่อง Palliative Care อีกครั้ง โดยเป้าหมายหลักๆ ก็คือเพื่อเตรียมตัวเอง ซึ่งเราพบว่าในปัจจุบัน Palliative Care มาไกลมาก การดูแลแบบประคับประคองไม่ได้มีแค่มิติเดียวแล้ว ไม่ใช่แค่แก้ปวดแล้วจบเหมือนเมื่อก่อน ยิ่งพอได้มารู้จัก ‘ชีวมิตร’ เราก็ได้เรียนรู้ว่า เราไม่ต้องรอให้ถึงปลายทางชีวิตแล้วค่อยมาคิดเรื่องประคับประคอง แต่เราสามารถวางแผนได้ตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ ในวันที่เรายังมีสุขภาพแข็งแรง เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ต้องเดินทางไปสู่จุดนั้นกันทุกคน 

“นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามักจะแบ่งปันเรื่องราว Palliative Care ผ่านทางโซเชียลออนไลน์อยู่เสมอๆ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘เยือนเย็น’ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองด้วยหลักการ ‘อยู่สบาย ตายสงบ’ กระทั่งวันหนึ่งหลังจากกลับจากงานเลี้ยงรุ่นก็มีข้อความจากเพื่อนเก่าส่งมาถึง สวัสดีจ้าเปิ้ล วันนี้เราว่าจะเดินไปคุย แต่ไม่ทัน คือเราอยากจะขอบคุณสิ่งที่เปิ้ลแชร์ใน Facebook เกี่ยวกับโครงการเยือนเย็น เราไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสได้ใช้บริการ แต่เมื่อต้นปี แม่เราป่วยหนัก ทำให้เรานึกถึงเรื่องการรักษาระยะสุดท้ายที่เปิ้ลเคยแชร์ ช่วยให้เราจัดการดูแลแม่และส่งแม่ไปอย่างมีความสุขและสงบ ขอบคุณนะ’

“ข้อความของเพื่อนในวันนั้น ทำให้เราตัดสินใจเป็นจิตอาสาของชีวมิตร เพื่อสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ไปสู่ผู้คน เพราะเราเชื่อว่าการจากไปโดยธรรมชาตินั้นก็สวยงามและสงบได้ จนเราไม่จำเป็นต้องยื้อชีวิตหากไม่ต้องการ ซึ่งคนจำนวนมากไม่รู้ในสิ่งนี้ เราจึงอยากสื่อสารให้ทุกคนได้รู้ถึงสิทธิ ทางเลือก และความสามารถในการตัดสินใจวางแผนดูแลสุขภาพ เพื่อชีวิตในระยะท้ายที่ดีด้วยตัวเอง 

“เพราะปลายทางนั้นไม่ได้มีแค่ความปวด แต่ยังมีสิ่งอื่นมากมายที่เราต้องจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตใจ การงาน ที่อยู่อาศัย ข้าวของ ทรัพย์สิน ผู้ดูแล รวมถึงเรื่องธรรมะที่ต้องค่อยๆ สะสมไป เพื่อการตายดี นี่เป็นสิ่งที่เราอยากสื่อสารให้สังคมและคนทั่วไปรับรู้และเห็นถึงความสำคัญ”

มรสุมที่เพิ่งเริ่มต้น

“ในปี 2561 ระหว่างกำลังอาบน้ำ เราบังเอิญคลำเจอก้อนขนาดไม่ถึง 1 เซนติเมตร ที่เต้านมด้านซ้าย วันรุ่งขึ้นก็รีบไปตรวจที่ ‘ศูนย์ถันยรักษ์’ คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ โรงพยาบาลศิริราช หลังจากอัลตราซาวนด์และแมมโมแกรม ก็พบก้อนเนื้อที่เต้านมทั้งสองข้าง คุณหมอก็แนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจทั้งสองข้าง

“ในวันที่ไปรับผลตรวจชิ้นเนื้อนั้น ยังไม่ถึงวันพบแพทย์ แต่พอได้เอกสารมาเราก็รู้ทันทีว่า ก้อนเนื้อที่เต้านมข้างซ้ายนั้นเป็นมะเร็ง ส่วนข้างขวานั้นเริ่มผิดปกติ แต่ยังไม่ใช่มะเร็ง จึงยกโทรศัพท์กดเบอร์คอลเซนเตอร์ของประกันสุขภาพที่ทำไว้ทันที เพื่อโทรถามรายละเอียดประกันสุขภาพว่าครอบคลุมการรักษามะเร็งอะไรบ้าง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง และวงเงินเท่าไร เพราะเราอยากให้การรักษาครั้งนี้ไม่เดือดร้อนตัวเองและคนอื่นในครอบครัว จึงตัดสินใจใช้สิทธิ์ในการักษาเท่าที่เรามี ก็คือประกันสุขภาพควบคู่กับประกันสังคม 

“จากนั้นก็โทรหาเพื่อนซึ่งเป็นอาจารย์หมอที่ศิริราช เพื่อขอคำแนะนำ เขาก็ให้ชื่ออาจารย์หมอมาท่านหนึ่งซึ่งประจำที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ วันนั้นเราจึงขอนัดคิวกับทางเจ้าหน้าที่ ทำให้รู้ว่านอกจากที่ศิริราชแล้ว ท่านยังลงตรวจที่โรงพยาบาลธนบุรี และคิวที่จะพบท่านเร็วที่สุดก็คือในวันพรุ่งนี้ ตอน 2 ทุ่ม ที่โรงพยาบาลธนบุรี   

“หลังจากพบกับคุณหมอ ท่านก็วางแผนการรักษาทันที โดยเคสของเรานั้นสามารถผ่าตัดได้ทั้งแบบสงวนเต้าหรือจะผ่าตัดยกเต้าก็ได้ เราเลือกผ่าตัดแบบสงวนเต้า โดยแจ้งกับทางคุณหมอว่าขอกลับไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะยังไม่มั่นใจว่าจะเคลมประกันสุขภาพได้ทันทีหรือต้องสำรองจ่ายไปก่อน ตอนนั้นรออยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ได้คิวผ่าตัด โดยคุณหมอผ่าตัดก้อนที่เต้านมออกทั้งสองข้าง ก่อนจะวินิจฉัยว่าเราเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 ชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมน หลังจากพักฟื้นจากการผ่าตัดอยู่ 2 สัปดาห์ ก็ต้องฉายแสงต่ออีก 25 แสง และกินยาต้านฮอร์โมนทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี” 

ผ่าตัดใหญ่ครั้งที่ 2 ในชีวิต

“หลังผ่าตัดมะเร็งไปแล้ว คุณหมอก็นัดตรวจติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งเข้าสู่ปีที่สองก็พบว่า ‘มดลูกโต’ น่าจะมีก้อนเนื้อในมดลูก หลังรู้ผลแล้ว เราก็เตรียมหา Second Opinion ทันที ก่อนจะจบที่ นพ.อรัณ ไตรตานนท์ สูตินรีแพทย์ด้านมะเร็งนรีเวชวิทยาโดยเฉพาะ ซึ่งท่านให้คำแนะนำว่า ส่วนใหญ่เนื้องอกในมดลูกมักจะไม่มีผลกระทบอะไรและมีอัตราเสี่ยงน้อยที่จะเป็นมะเร็ง แต่ด้วยประวัติที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน และมะเร็งเต้านมกับรังไข่นั้นเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว คุณหมอจึงแนะนำให้ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด นอกจากจะช่วยเคลีย์เรื่องก้อนเนื้องอกในมดลูกแล้ว ก็ยังช่วยให้การรักษามะเร็งเต้านมมีประสิทธิภาพดีขึ้น เนื่องจากเราเป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมน 

“หลังจากผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกแล้ว คุณหมอก็เปลี่ยนยาต้านฮอร์โมนให้ใหม่ เป็นยาต้านฮอร์โมนสำหรับคนวัยทองที่ไม่มีรังไข่โดยเฉพาะ แต่ผลข้างเคียงของยาตัวนี้ก็คือสารพัดอาการวัยทองเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งเราก็ถามคุณหมอว่า ควรทำอย่างไร คุณหมอตอบมาสั้นๆ ว่า ทำใจ (หัวเราะ) เพราะโดยปกติอาการของคนวัยทองนั้นสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการใช้ยาฮอร์โมนช่วย แต่ด้วยความที่เราเป็นมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมน ฉะนั้น การใช้ยาฮอร์โมนมารักษานั้นถือเป็นความเสี่ยงให้กลับมาเป็นซ้ำได้ วิธีเดียวที่ปลอดภัยที่สุด คือ ทำใจ ใช้ธรรมะ และออกกำลังกายช่วย เพราะปัญหาที่น่ากังวลใจกว่านั้นคือเรื่องกระดูก เนื่องจากฮอร์โมนอีสโทรเจนที่มีส่วนสำคัญป้องกันการสลายกระดูกในผู้หญิงนั้นถูกสร้างขึ้นจากรังไข่ ทำให้เมื่อไม่มีมดลูกและรังไข่นั้น แน่นอนว่าก็เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมากขึ้นนั่นเอง และสิ่งที่ช่วยได้ก็คือการรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอและหมั่นออกกำลังกาย นั่นจึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นออกกำลังกายเป็นครั้งแรกในชีวิตในวัย 49 ปี”

ผ่าตัดใหญ่ครั้งที่ 3 ในชีวิต

“การตรวจร่างกายเพิ่มติดตามผลยังคงทำอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดตามหมอสั่ง จนเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่คุณหมอมีเหตุต้องไปผ่าตัด และเราต้องตรวจร่างกายกับ แพทย์ประจำบ้าน (Resident) หรือแพทย์ที่กำลังอยู่ในช่วงฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทาง จำได้ว่าวันนั้นแมมโมแกรมตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ แต่คุณหมอก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ขอตรวจคลำด้วยมืออีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ซึ่งเป็นปกติของการตรวจติดตามผลทุกครั้งอยู่แล้ว และนั่นเองที่ทำให้คุณหมอคลำไปเจอก้อนที่เต้านมด้านขวา โดยบอกสั้นๆ ว่า ‘เหมือนจะมีนะคะ’ จากนั้นคุณหมอก็แนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อตรวจ

“วันนั้นเราถือผลตรวจไปที่โรงพยาบาลนมะรักษ์ เพื่อขอ Second Opinion เหมือนที่เคยทำ คุณหมอก็ขอแมมโมแกรมให้อีกครั้งจนพบก้อนต้องสงสัย และถึงกับเอ่ยปากว่า ก้อนดังกล่าวนั้นอยู่ในตำแหน่งที่ลึกจนไม่น่าเชื่อว่าจะคลำเจอได้ เรานึกขอบคุณคุณหมอ Resident ท่านนั้นจริงๆ ที่คลำเจอ เพราะถ้าวันนั้นไม่เจอ ก็ไม่อยากจะนึกเลยว่าจะเกิดอะไรกับชีวิตหลังจากนั้นบ้าง

“หลังจากตรวจแมมโมแกรมแล้ว คุณหมอก็ทำการเจาะชิ้นเนื้อทั้งที่เต้านมและไทรอยด์ที่พบ ซึ่งผลออกมาปกติทั้งคู่ แต่ด้วยความที่เราพอรู้ว่า ผลจากการเจาะชิ้นเนื้อนั้นไม่ได้แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ และเรามีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน จึงขอให้คุณหมอผ่าตัดทั้งก้อนที่เต้านมและไทรอยด์ออกทั้งหมด เพื่อความสบายใจ นั่นเป็นการผ่าตัดใหญ่ครั้งที่ 3 ในชีวิต” 

โรคเปลี่ยนโลก

“ทุกวันนี้ สิ่งที่เราพยายามบอกผู้ป่วยทุกคนก็คือ การมี Second Opinion และ Third Opinion นั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ข้อควรระวัง คือ อย่าชอปปิ้งนาน อย่าเสียเวลากับการเลือกหาโรงพยาบาลหรือคุณหมอนาน พูดง่ายๆ ว่า อย่าร่ำไร เพราะอาจจะทำให้เสียโอกาสในการรักษาได้ โดยเฉพาะโรคที่มีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วอย่างมะเร็ง

“ที่สำคัญคืออย่าเสียเวลากับอาการจิตตก ดราม่าเกินความจำเป็น เพราะมันไม่มีประโยชน์ เชื่อไหมว่าตั้งแต่วันที่เปิ้ลรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งจนถึงวันนี้ เราไม่มีคำถามว่า Why เลย และเราจะบอกกับผู้ป่วยทุกคนว่า เราไม่จำเป็นต้องมีคำถามว่า Why เช่น ทำไมถึงเป็นมะเร็ง, ทำไมต้องเป็นเรา, ทำไมคนนั้นคนนี้ไม่เป็น ฯลฯ เหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบเพราะมันไม่มีประโยชน์ คำถามเดียวที่เราต้องหาคำตอบคือ How เราจะรักษาโรคที่เป็นอยู่อย่างไร และเมื่อรักษาจบแล้วเราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรให้โรคไม่กลับมา 

“อย่างที่รู้กันดีว่า การรักษามะเร็งนั้นเป็นการรักษาแบบมาราธอน ฉะนั้น ผู้ป่วยทุกคนควรรู้ก่อนว่า ตัวเองมีเงินในกระเป๋าหรืองบประมาณในการรักษาเท่าไร เราจะใช้สิทธิ์การรักษาอย่างไรให้คุ้มค่าและไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน เช่น หากเรามีเงินพอที่จะผ่าตัด แต่ไม่พอสำหรับเคมีบำบัดและฉายแสง เราก็แค่ลดความสะดวกสบายลงมาฉายแสงตามสิทธิ์ประกันสังคมและบัตรทอง” 

“เพราะการรักษามะเร็งนั้นก็เหมือนการนั่งรถไฟเหาะตีลังกา ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่มักมีอารมณ์เหมือนนั่งอยู่บนรถไฟเหาะ เราจะมีอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งอารมณ์ปกติ อารมณ์สุข สนุก ตื่นเต้น และอารมณ์ดิ่งดาวน์ในช่วงที่ร่างกายเริ่มอ่อนแอ เช่น ช่วงให้เคมีบำบัด หรือช่วงฉายแสงที่ต้องทำซ้ำๆ ทุกวัน ซึ่งเราต้องรีบดึงตัวเองขึ้นมาให้เร็ว อย่าไปโฟกัสอยู่แต่กับโรค อาการ หรือการรักษามากเกินไป ยิ่งโฟกัส ความทุกข์ของเราก็จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น เอาตัวและความคิดออกจากโรค ไปโฟกัสกับสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้ความสุขของเรามีขนาดใหญ่ขึ้น

“คนส่วนใหญ่พอรู้ว่าตัวเองป่วยมะเร็ง สมองมักจะสั่งการว่าฉันป่วย ฉันทำอะไรไม่ได้ ฉันป่วย ฉันต้องนอน ฉันทำนั่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ เพราะฉันป่วย ฯลฯ ซึ่งเปิ้ลเองก็ผ่านจุดนั้นมาแล้ว จำได้ว่าก่อนฉายแสงครั้งแรก เรามีข้อมูลเกี่ยวกับอาการข้างเคียงจากการฉายแสงเยอะมาก พอฉายแสงแรกกลับมาก็รู้สึกว่าปวดเมื่อย เป็นไข้ ปวดร้อนถึงหลัง ฯลฯ พอวันต่อมาก็มาแจ้งกับพยาบาลว่า เรามีอาการต่างๆ นานา พยาบาลมองหน้าแล้วบอกสั้นๆ ว่า คนไข้คะ เพิ่งแสงแรก มันยังไม่ได้ส่งผลอะไรเลย ตอนนั้นก็กลับมาทบทวนว่า เอ๊ะ! หรือเราคิดไปเอง 

“หลังจากฉายแสงที่สองไปจึงลองย้ายโฟกัสไปอยู่กับสิ่งอื่นๆ ทำเฉยๆ ไม่คิดถึงมันดู ปรากฏว่าไม่มีอาการใดๆ เลย ทำอย่างนั้นจนถึงแสงที่ 20 ร่างกายก็ยังปกติ สามารถขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดกับครอบครัวได้อย่างสบายๆ แถมขับรถกลับมาฉายแสงต่อได้โดยไม่มีอาการใดๆ เลย นั่นทำให้เรียนรู้ว่าหลายๆ อาการที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษามาจากการปรุงแต่งของเราเองทั้งนั้น บางอาการก็ไม่ได้หนักหนา แต่เรากลับไปปรุงแต่งจนกลายเป็นอาการสาหัสสากรรจ์ ฉะนั้น เราควรสังเกตอาการข้างเคียงด้วยใจที่ไม่ปรุงแต่ง ก็จะทำให้เราสามารถผ่านการรักษาไปอย่างไม่ยากเย็นนัก” 

มะเร็ง (ไม่) เท่ากับตาย

“สารภาพตามตรงว่าเมื่อก่อนเราก็เข้าใจเหมือนคนอื่นแหละว่า มะเร็งเท่ากับตาย ด้วยความที่คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งปอดและจากไปหลังจากรู้ตัวเพียง 6 เดือน ตามมาด้วยคุณยายที่ป่วยเป็นมะเร็งในระยะแพร่กระจาย หลังจากรักษาตัวอยู่ราว 2 ปี ร่างกายท่านก็เริ่มทรุดลง มีอาการแทรกซ้อนมากมายและสุดท้ายก็จากไปเช่นกัน ยิ่งพอมาทำงานอยู่ในบริษัทขายยา และอยู่ในกลุ่มยาโรคมะเร็ง เราต้องคลุกคลีอยู่กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมากมาย นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ามะเร็งเท่ากับตาย

“จนเรามาป่วยเป็นมะเร็งเสียเอง และได้เห็นต้นแบบผู้ป่วยมะเร็งมากมายที่เขายังใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ได้ทำสิ่งที่เขารัก ได้ทำสิ่งต่างๆ เพื่อคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคุณหลิง, คุณออย และพี่อ้อม ฯลฯ เราจึงได้รู้ว่า มะเร็งไม่เท่ากับตาย อย่างที่เคยเข้าใจ และผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 ก็ไม่เท่ากับคนไข้ระยะสุดท้าย เพราะมีผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 มากมายที่โรคสงบและยังคงใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ” 

ความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่

“ทุกวันนี้กล้าพูดเลยว่า เรามีชีวิตใหม่เพราะมะเร็ง จากเมื่อก่อนทำแต่งาน เป้าหมายคือมีเงิน วิ่งร้อนอยู่นอกบ้านตลอด วิ่งไล่ล่าตามหาความสุขจากสิ่งภายนอก หวังความสุขในอนาคตและมักจะทุกข์กับอดีต แต่พอมะเร็งเข้ามา เราลาออกจากงานประจำ ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ใหม่ หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังคงยึดหลักทางสายกลาง ยังคงกินเนื้อสัตว์ แต่เลือกกินมากขึ้น และออกกำลังกายเป็นประจำ ที่สำคัญคือพยายามดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบันและหยุดปรุงแต่ง ก็ทำให้เราสุขง่ายขึ้น ทุกข์อยู่กับเราไม่นาน

“ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะวลีของ คุณแซม (ณัฐพล เสมสุวรรณ) เจ้าของแฟนเพจ Sam’s Story อดีตผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันตั้งแต่อายุ 20 ปี และกลายเป็นผู้คนไข้ติดเตียงเพื่อหาหนทางการรักษามากว่าสิบปี ก่อนจะได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการก้าวคนละก้าวของ คุณตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย จนทำให้เขาลุกขึ้นมาวิ่งสู้โรคมะเร็ง ทั้งยังได้ร่วมวิ่งกับโครงการก้าวคนละก้าว และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยมากมาย ก่อนจะพบว่าตัวเองกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้งที่โคนลิ้น ในเดือนมิถุนายน 2562 และจากไปในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563

“วลีหนึ่งที่กลายมาเป็นประโยคประจำใจเราจนถึงทุกวันนี้ก็คือ การมีความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่ ซึ่งได้มาจากชื่อหนังสือของ คุณหนุ่ม เมืองจันท์ ที่เขาได้รับมอบจาก คุณหมอสมวงศ์ วงศ์พระจันทร์ เขาหยิบมันขึ้นมาอ่านในวันที่เขากำลังนอนเบื่อหน่ายชีวิตบนเตียงคนไข้และแทบจะหมดหวังในการมีชีวิตอยู่ 

“ทันทีที่เราได้ยินวลีนี้จากคุณแซมก็ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาทันที เราเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ มีความสุขกับสิ่งตรงหน้า ไม่คิดฟุ้งไปไกล ไม่ผูกความสุขไว้กับอนาคต นั่นทำให้ทุกวันนี้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในอดีตมาก เราทำทุกอย่างได้อย่างมีความสุข สนุก และไม่กดดัน เราอยากมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อทำหน้าที่ลูกสาวที่พาคุณแม่วัย 75 ปี ไปออกกำลังกายที่ยิม อยากเป็นพี่สาวที่คอยซัปพอร์ตน้องๆ ได้ และอยากเป็นอาโกวที่เล่นกับหลานๆ ไปนานๆ ยิ่งไปกว่านั้นเราอยากแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ไปสู่ผู้คนให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนดูแลสุขภาพก่อนลมหายใจสุดท้ายจะมาถึง เพื่อวันหนึ่งเราทุกคนในสังคมไทยจะได้เข้าถึงการอยู่ดีและตายดีอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืนในที่สุด”

#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top