คือ การใช้เครื่องมือพิเศษที่สามารถปล่อยอนุภาครังสีที่มีพลังงานสูงเพื่อไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลมะเร็ง รังสีนี้จะไปทำลายทั้งเซลมะเร็งและเซลปกติที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากเซลมะเร็งเป็นเซลที่มีการแบ่งตัวเร็วมาก ดังนั้นจึงจะถูกทำลายมากกว่า และนอกจากนั้นเซลปกติยังมีคุณสมบัติที่จะสร้างเซลใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลที่ถูกทำลายไปแล้วได้ จึงทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ยังคงรูปร่างและทำงานได้ตามปกติ
ในการรักษามะเร็งเต้านม เรามักจะใช้การฉายแสงร่วมกับการผ่าตัดในผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน (Breast conserving surgery) นอกจากนั้นอาจใช้เป็นวิธีการรักษาร่วมในผู้ป่วยบางรายที่ถึงแม้จะตัดเต้านมออกหมด (Total mastectomy) แต่ก็ต้องได้รับการฉายแสงร่วมด้วย เช่นในผู้ป่วยที่ขนาดของก้อนมะเร็งมากกว่า 5 ซม. มะเร็งลุกลามมาที่ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อหน้าอกซึ่งอยู่ในชั้นลึกหรือมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้จำนวนมาก เป็นต้น
โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การรักษาจะใช้เวลาประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ หยุดเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้ร่างกายและผิวหนังได้มีเวลาพักผ่อนและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่ถูกทำลายไป เมื่อเริ่มรักษาแล้วก็ควรจะมารับการรักษาโดยต่อเนื่องจนครบกำหนดมิฉะนั้นจะได้จำนวนรังสีน้อยกว่าที่ควร ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร การฉายแสงในแต่ละวันจะกินเวลาเพียงไม่กี่นาที และในระหว่างฉายแสงท่านก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด
สำหรับการฉายแสงรักษามะเร็งเต้านมนั้น ก็มักจะเป็นการฉายเพียงตื้น ๆ รังสีไม่ลงไปถึงอวัยวะสำคัญๆ ที่อยู่ลึกลงไป ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบผลข้างเคียงที่รุนแรง
ระหว่างการฉายแสงผู้ป่วยบางรายอาจจะรู้สึกเหนื่อยและเพลีย ดังนั้นท่านจึงควรจะพักผ่อนให้มากที่สุดและวางแผนการออกกำลังกายแต่พอสมควร บางครั้งผิวหนังบริเวณที่ถูกรังสีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีสีแดง คล้ำ คัน หรือมีความรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ดังนั้นในระหว่างท่านกำลังฉายแสงอยู่ ท่านควรจะดูแลปฏิบัติต่อผิวหนังบริเวณนั้นอย่างระมัดระวัง ถ้าท่านไม่แน่ใจก็อย่าให้ถูกน้ำ แต่ถ้าถูกน้ำก็ควรจะใช้ผ้าเช็ดตัวนุ่ม ๆ ซับอย่างเบา ๆ อย่าเช็ดแรง เพราะว่าการเช็ดแรง ๆ จะทำให้ผิวหนังลอกออกแล้วจะกลายเป็นแผลได้ พยายามอย่าให้มีอะไรไปรบกวนถูกบริเวณผิวหนัง, อย่าใช้สบู่ เครื่องสำอางน้ำหอม ยาทาทั้งหลายและความร้อนทุกชนิด อย่าให้ถูกแสงแดดหรืออากาศที่เย็นมาก ๆ ถ้าจำเป็นจะต้องโกนขนบริเวณนั้น ก็ต้องโกนด้วยความระวังเป็นพิเศษ วิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือ การใช้เครื่องโกนไฟฟ้า ถ้ามีอาการคันพยายามอย่าเกาเพราะว่าการเกาอาจจะทำให้เกิดผิวหนังถลอกและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย และควรจะระวังรักษาให้ผิวหนังแห้งอยู่เสมอ
การฉายแสงที่รักแร้อาจจะทำให้เกิดข้อไหล่ติดและแขนบวม ดังนั้น ในระหว่างการฉายแสง ท่านควรจะต้องออกกายบริหารอย่างสม่ำเสมอ และจะต้องปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้แขนบวม เนื่องจากในปัจจุบันวิวัฒนาการในด้านการฉายแสงได้ก้าวหน้าไปมาก ทั้งในด้านเครื่องมือและความชำนาญของรังสีแพทย์ ผลของการรักษาด้วยการฉายแสงจึงดีกว่าสมัยก่อนมาก ผู้ป่วยจึงควรเปลี่ยนทัศนคติต่อการรักษาด้วยการฉายแสงเสียใหม่ว่า สามารถรักษาได้ผลดี และอาการแทรกซ้อนจากการรักษาก็น้อย อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถปฏิบัติภารกิจเหมือนคนปกติทุกประการ
ดังนั้น ถ้าแพทย์ผู้รักษาได้แนะนำให้ท่านรักษาโดยวิธีการฉายแสง ท่านก็ควรจะปฏิบัติตาม เพื่อที่จะให้ได้ผลของการรักษาที่ดีที่สุด