
“ณ วินาทีที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง
ความรู้สึกบางอย่างผุดขึ้นมาในหัว
ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกอย่างนี้
นั่นคือความรู้สึกว่า ฉันยังไม่อยากตาย”
ใหม่-ทิตติกาญจน์ วังมี อินฟลูเอนเซอร์วัย 28 ปี เจ้าของช่อง www.tiktok.com/@maiicw และรีเซฟชั่นของรีสอร์ตแห่งหนึ่งในเกาะหลีเป๊ะ ผู้หญิงที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้ามาหลายปี จนกระทั่งชีวิตนำพาให้เธอได้สบตากับ ‘มะเร็ง’ เป็นครั้งแรกในวัยเบญจเพส จากคนที่เรียกร้องหาความตายและเคยมีประวัติทำร้ายตัวเองหลายครั้ง แต่วินาทีนั้นเองเธอกลับหวงแหนชีวิตขึ้นมาอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของเธอเลยก็ว่าได้
“ก่อนหน้าที่จะเป็นมะเร็ง เชื่อไหมว่าในหัวเราจะมีแค่คำว่า อยากตายๆๆๆ ไม่เอาแล้ว ไม่อยากอยู่แล้ว เราเรียกร้องหาความตายมาตลอด รู้สึกว่าชีวิตเราไม่มีค่า ถ้าพรุ่งนี้จะตายก็ไม่เสียดายเลย เราจึงใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ทำงานได้เงินมาเยอะแค่ไหน ก็ใช้ให้หมดๆ ไป ไม่เก็บ ไม่เคยนึกถึงอนาคต คิดแค่ว่าใช้ๆ ไปเหอะ เดี๋ยวตายไปก็ไม่ได้ใช้แล้ว
“แต่พอวันที่รู้ตัวเองว่าเป็นมะเร็ง ณ วินาทีนั้นเหมือนความตายกำลังมาอยู่ตรงหน้า เราลืมความรู้สึกอยากตายไปหมด เฝ้าแต่บอกตัวเองซ้ำๆ ว่า ฉันอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ฉันยังไม่อยากตาย สภาพตอนนั้นไม่ต่างอะไรจากเด็กดื้อคนหนึ่งที่ไม่รักชีวิตตัวเอง เอาแต่ร้องตะโกนบอกใครๆ ว่า อยากตายๆๆๆ จนวันหนึ่งพระเจ้าจึงลงโทษด้วยการให้เผชิญหน้ากับความตายสักครั้ง แต่ท่านก็ยังเมตตาที่ให้โอกาสเราได้มีชีวิตอยู่ต่อเพื่อแก้ไขความผิดพลาด”

สัญญาณชีวิต
“ย้อนหลังไปราวเดือนมิถุนายน 2566 เราคลำพบก้อนเท่าเมล็ดถั่วเขียวที่ฐานหัวนมด้านขวา ด้วยความที่เราเพิ่งอายุ 25 ปี และคนในครอบครัวก็ไม่เคยมีประวัติการเป็นมะเร็งมาก่อน เราจึงคิดว่าน่าจะเป็นก้อนไขมันที่ไม่ได้อันตรายอะไร จึงไม่ได้ใส่ใจ แต่พอเวลาผ่านไปไม่นาน สังเกตเห็นว่าก้อนเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและเริ่มแข็ง แต่ก็ยังไม่คิดอะไร
“ช่วงนั้นเราเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลให้กับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ซึ่งงานค่อนข้างเยอะและเครียด เพราะต้องทำงานต่อเนื่อง แม้จะเลิกงานแล้วแต่ก็ยังวางงานไม่ได้ ต้องคิดงานตลอดเวลา จนเราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองพักผ่อนไม่เพียงพอ แม้จะนอนหลับก็หลับได้ไม่สนิท
“กระทั่งเดือนสิงหาคม 2566 ก้อนมีขนาดโตขึ้นเท่าเมล็ดถั่วแดง รัศมีขนาด 1-2 เซนติเมตร และเริ่มมีอาการเจ็บจี๊ดๆ ที่ก้อนทุกครั้งที่เราเครียดจากงาน โดยที่เรายังไม่ไปสัมผัส ตอนนั้นก็เริ่มรู้แล้วว่า ก้อนนี้คงไม่ใช่ก้อนไขมันหรือก้อนซีสต์ธรรมดาแล้ว จึงตัดสินใจโทรหาเพื่อนสนิทสมัยมัธยม ซึ่งตอนนั้นเป็นแพทย์ฝึกหัด (intern) อยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
“โชคดีที่วันนั้นเพื่อนมากินข้าวกลางวันแถวๆ บ้านเราพอดี จึงแวะเข้ามาตรวจคลำให้ และด้วยความที่สนิทกันตั้งแต่เด็ก เห็นไลฟ์สไตล์กันมาตลอด รวมถึงรู้ประวัติครอบครัวเราพอสมควร ซึ่งไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ ทั้งยังเป็นคนที่เล่นกีฬา ออกกำลังกายเป็นประจำ และเพิ่งเรียนจบมาแค่ 2 ปี ทำให้เพื่อนก็ยังคิดว่าเราไม่น่าจะเป็นโรคร้ายแรงได้ จึงบอกว่า น่าจะเป็นแค่ก้อนซีสต์ธรรมดา แต่ก่อนกลับเพื่อนก็ทิ้งท้ายว่า ‘แต่ถ้าใหม่ไม่สบายใจ เดี๋ยวเราส่งเคสต่อให้’ ซึ่งเราก็บอกเพื่อนไปตรงๆ ว่า ไม่สบายใจเพราะก้อนมีขนาดใหญ่และแข็งขึ้น ที่สำคัญยังมีอาการเจ็บ ยิ่งช่วงประจำเดือนกำลังจะมา เรารู้สึกได้ว่าเต้านมข้างที่มีก้อนจะขยายขนาดจนใหญ่กว่าเต้านมอีกข้างอย่างเห็นได้ชัด และมีอาการเจ็บมากเหมือนจะระเบิด เวลาอาบน้ำต้องค่อยๆ ลูบ เพราะถ้าลูบปกติจะเจ็บมาก เพื่อนจึงทำเรื่องส่งต่อเคสเราไป ‘อัลตราซาวนด์’ ที่ศูนย์ถันยเวชช์ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในวันต่อมา”



สบตากับ ‘มะเร็ง’
“พอแพทย์รังสีทำการตรวจโดยการอัลตราซาวนด์แล้ว ก็แนะนำให้ทำแมมโมแกรมต่อเลย เพราะก้อนที่เห็นคล้ายหินปูน จำได้เลยว่าวันนั้นเจ็บมาก…. เพราะเป็นช่วงที่ใกล้ประจำเดือนมา หน้าอกจึงเริ่มตึง พอทำแมมโมแกรมเสร็จ ทิ้งระยะไปราว 1 สัปดาห์ ก็มีเจ้าหน้าที่ของ ‘ศูนย์ถันยเวชช์’ โทรมาสอบถามว่า ทางคุณหมอจะแจ้งผลหรือยังคะ หลังจากวางหูจากเจ้าหน้าที่ก็โทรกลับไปหาเพื่อนทันที ‘แกได้ดูผลแมมโมแกรมของฉันหรือยัง’ เพื่อนก็ตอบกลับมาว่า ‘เอ้อ…ยังเลย แป๊บนะ เดี๋ยวดูให้เลย’ หลังจากนั้น 5 นาที เพื่อนก็โทรกลับมาแจ้งเราว่า ‘แก…ฉันว่าผลมันไม่ดีเลย’ หลังจากนั้นเพื่อนก็ทำเรื่องส่งต่อเราไป ‘เจาะชิ้นเนื้อ’ กับคลินิกเฉพาะทางด้านมะเร็งของทางโรงพยาบาลทันที
“โดยการเจาะชิ้นเนื้อครั้งนั้น เราต้องเจาะชิ้นเนื้อโดยใช้เครื่องแมมโมแกรม 1 ครั้ง และเจาะชิ้นเนื้อโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์อีก 1 ครั้ง หลังจากนั้นเราก็ต้องรอผลการย้อมชิ้นเนื้อประมาณ 7 วัน คุณหมอก็จะนัดแจ้งผลชิ้นเนื้อ จำได้ว่าวันที่แจ้งผล คุณหมอคงพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า ‘มะเร็ง’ เพื่อไม่ให้เราตกใจ เพราะประโยคแรกที่ท่านแจ้งก็คือ ‘ผลชิ้นเนื้อออกมาแล้วนะครับ มันเป็นเนื้อไม่ดี’ ตอนนั้นเราก็สตันต์ไปนิดหนึ่งและถามคุณหมอกลับไปว่า ‘เนื้อไม่ดีคือมะเร็งใช่ไหมคะ’ คุณหมอก็บอกว่า ‘ใช่ครับ เป็นมะเร็ง แต่เป็นมะเร็งระยะ 0 นะครับ’
“ด้วยวิธีการพูดของคุณหมอที่พยายามไม่ให้เราตกใจ บวกกับคำว่า ระยะ 0 ซึ่งเป็นมะเร็งที่เพิ่งเริ่มก่อตัว ยังไม่เข้าไปในท่อน้ำนม ทำให้ความรู้สึกของเราอยู่ก้ำกึ่งระหว่างดีใจและเสียใจ เพราะย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะเป็นมะเร็ง ใหม่มีประวัติทำร้ายตัวเองจากภาวะซึมเศร้าและกำลังอยู่ระหว่างรักษากับจิตแพทย์
“หลังจากคุณหมอแจ้งผลชิ้นเนื้อและวางแผนการรักษาจบ สิ่งแรกที่เราทำก็คือโทรไปนัดหมายกับจิตแพทย์ประจำตัวเพื่อบอกคุณหมอว่า ‘ใหม่คิดว่าตัวเองน่าจะหายจากอาการซึมเศร้าแล้ว อยากเลิกยาแล้วค่ะ’ คุณหมอก็ทำหน้างงๆ และถามกลับมาว่า ‘ทำไมล่ะ’ เราก็ตอบกลับไปว่า ‘ตอนนี้ใหม่เป็นมะเร็ง’ คุณหมอก็สงสัยหนักกว่าเดิม ‘อ้าว! เป็นมะเร็งแล้วทำไมถึงคิดว่าตัวเองหายจากซึมเศร้าและจะเลิกยาได้ล่ะ’ เราจึงบอกกับคุณหมอไปตรงๆ ว่า ‘ตอนนี้ใหม่ไม่อยากตายแล้วค่ะหมอ’ ตอนนั้นคุณหมอจึงลองให้ลดยาลงและติดตามผลห่างขึ้นจากทุกเดือน เป็น 3 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ”



เต้านมที่กำลังจะหายไป
“หลังจากรู้ผลเจาะชิ้นเนื้อแล้ว คุณหมอก็เสนอแนวทางการรักษามา 3 ทาง คือ 1) ผ่าตัดสงวนเต้า ตัดเฉพาะก้อนเนื้อร้ายออก 2) ผ่าตัดยกเต้า และ 3) รักษาด้วยการฉายแสง อย่างที่รู้กันดีกว่าการตัดก้อนเนื้อร้ายนั้น ไม่ใช่แค่การเลาะก้อนออกแล้วจบ แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยจำเป็นต้องเลาะเนื้อรอบๆ ก้อนไปด้วยทั้งความกว้างและความลึก ด้วยความที่เราเป็นสาวตัวเล็กและเนื้อนมค่อนข้างน้อย การเลาะก้อนออกให้ได้ระยะปลอดภัยนั้นไม่ต่างกับการผ่าตัดยกเต้าหรือเอาหน้าอกออกทั้งหมด หรือหากจะเลือกการฉายแสงก็ยังเป็นวิธีที่ปลอดภัยน้อยกว่าการตัดหน้าอกออกทั้งหมด ฉะนั้นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดก็คือการผ่าตัดยกเต้า
“สำหรับผู้หญิงในวัย 25 ปี ที่เพิ่งเรียนจบได้เพียง 2 ปี ยังไม่ได้แต่งงาน ยอมรับว่าตอนนั้นเครียดมาก มีแต่คำถามในหัวว่า ฉันจะไม่มีนมแล้วจริงๆ เหรอ ฉันจะใส่บิกินี่ไม่ได้แล้วเหรอ แฟน (ที่คบอยู่) จะรับสภาพเราได้ไหม เราต้องใส่หน้าอกปลอมไปทั้งชีวิตใช่ไหม และเราจะรับตัวเองได้ไหมทุกครั้งที่ส่องกระจกแล้วเห็นตัวเองมีนมข้างเดียว ฯลฯ สารพัดคำถามที่สะเทือนความรู้สึกถาโถมเข้ามา จนเราไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี จะฉายแสง เก็บเต้าไว้ แต่เพิ่มความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาดีไหม หรือจะตัดเต้าทิ้ง ลดความเสี่ยงไปเลยดี จนวันหนึ่งแม่ก็พูดเพื่อดึงสติเราว่า ‘ใหม่…มันไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าชีวิตเราแล้วนะลูก’ นั่นทำให้เราได้คำตอบในที่สุด
“กว่า 2 สัปดาห์ที่เราพยายามหาคำตอบมาให้คุณหมอก็จบลง ‘ตัดออกหมดเลยก็ได้ค่ะคุณหมอ’ ทันทีที่สิ้นเสียงเรา คุณหมอก็ถามสวนกลับมาว่า ‘เสริมเลยไหม’ ตอนนั้นเหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ‘หา!!!! เสริมได้เหรอคะคุณหมอ’ คุณหมอก็ทำหน้างงๆ แล้วตอบกลับมาว่า ‘ใช่…เสริมเลยไหม ถ้าเสริมเลยจะได้ส่งไปหาหมอศัลยกรรมตกแต่งเลย ตัดก้อนแล้วเสริมเลย จะได้ไม่ต้องผ่าหลายรอบ พอตื่นมามีนมสองข้างเหมือนเดิม’ ในใจเราตอนนั้นคือ โห…เครียดทำไมตั้งหลายวัน!?! ทั้งนอนไม่หลับ ร้องห่มร้องไห้ เดือดร้อนครอบครัว เพื่อนๆ แฟนเก่าก็ช่วยกันปลอบ (หัวเราะ) เพราะคิดว่าจะไม่มีหน้าอกแล้ว

คุณแม่…กำลังใจสำคัญ
“หลังจากคุณหมอศัลยกรรมประเมินแล้ว ก็นัดคิวผ่าตัดเลย ซึ่งกระบวนการรักษา ตั้งแต่ตรวจเจอก้อน เจาะชิ้นเนื้อ ผ่าตัดยกเต้าและเสริมสร้างเต้านมใหม่ด้วยซิลิโคนจากอเมริกา รวมถึงพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดราว 3 วัน และมีสายเดรนติดตัวอยู่อีก 1 สัปดาห์ รวมเวลาทั้งหมดเพียง 4 เดือน หลังจากนั้นก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ”

หัวนมกำลังจะตาย!?!
“หลังผ่าตัดมาในช่วงแรกๆ นั้นก็ต้องมานั่งลุ้นเหมือนกันว่า ‘หัวนม’ จะตายไหม เพราะการผ่าตัดนั้นต้องเลาะเนื้อนมของเราออกทั้งหมด จะเหลือแค่ผิวหนังที่หุ้มซิลิโคนเอาไว้ ส่วนหัวนมก็จะเป็นเหมือนเครื่องประดับที่แปะไว้บนผิวหนังเท่านั้น ซึ่งระหว่างที่รอแผลสมานนั้น เราก็ต้องคอยแง้มพลาสเตอร์ยาดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง
“จำได้ว่า ราว 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เราพบว่าหัวนมมีอาการดำขึ้นมา เหมือนมือคนที่โดนหิมะกัด แล้วเนื้อตาย ตอนนั้นกังวลใจมาก รีบไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลและพยายามถามคุณหมอว่า หัวนมกำลังตายหรือเปล่า ต้องตัดทิ้งไหมคะ แต่คุณหมอก็บอกให้ติดตามดูอาการไปก่อน หลังจากนั้นแค่ 2-3 วัน ผิวที่หัวนมก็เริ่มลอก และมีเลือดไหลออกมาจากหัวนม ตอนนั้นดีใจมากเพราะนั่นบ่งบอกว่า หัวนมเรายังไม่ตายเพราะยังมีเลือดไปหล่อเลี้ยงอยู่ ก็เริ่มสบายใจ หายนอยด์ และกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ทิ้งไว้แค่รอยแผลเป็นเล็กๆ ใกล้รักแร้ ซึ่งไม่มีปัญหากับการใส่บิกินี่แต่อย่างใด
“ยิ่งไปกว่านั้นการรักษามะเร็งของใหม่ครั้งนี้ เสียค่ารักษาไปไม่ถึง 3 หมื่นบาท เช่น ค่าห้องพิเศษ ซิลิโคน ฯลฯ ซึ่งต้องขอบคุณโครงการ Cancer Anywhere ณ ตอนนั้น ที่แม้สิทธิ์บัตรทองของเราจะอยู่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง แต่เมื่อตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คุณหมอก็ทำเรื่องขึ้นทะเบียนให้เราเป็นผู้ป่วยและรักษาที่นั่นได้เลย โดยไม่ต้องขอใบส่งตัวหรือทำเรื่องย้ายไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์บัตรทองให้ยุ่งยาก ทำให้เราเข้าสู่การรักษาได้รวดเร็ว ลดความเสี่ยงที่โรคจะลุกลามในภายหลัง”

แค่อย่ายอมแพ้
“หลังผ่าตัด คุณหมอก็เริ่มให้กินยาต้านฮอร์โมนต่อเนื่องไปอีก 5 ปี โดยปกติแล้วหากเป็นผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือนนั้นจะมียาต้านฮอร์โมนหลายตัวให้เลือก แต่สำหรับเคสเรานั้น ยังเป็นวัยที่ไม่หมดประจำเดือน ยาที่กินได้มีตัวเดียวก็คือยาต้านฮอร์โมนทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) แต่หลังกินไปได้แค่ 1 สัปดาห์ ก็มีอาการแพ้ ผื่นขึ้นเต็มตัว จึงกลับไปปรึกษาคุณหมอ
“ตอนนั้นคุณหมอแจ้งว่า หากแพ้มากๆ อาจจะต้องตัดมดลูกและรังไข่ออก เพื่อจะกินยาในกลุ่มของคนวัยหมดประจำเดือนแทน แต่คุณหมอก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า พอตัดมดลูก รังไข่ไปแล้ว กินยากลุ่มนั้นแล้วจะไม่แพ้ ก่อนจะถามเราว่า ‘จะลองสู้ดูก่อนไหม’ จากนั้นคุณหมอก็ให้กลับมาลองกินยาทาม็อกซิเฟนและตามด้วยยาแก้แพ้ดูก่อน
“หลังจากกินยาไปประมาณ 1 สัปดาห์ พอไม่มีอาการผื่นแล้ว เราก็เลิกกินยาแก้แพ้ ปรากฏว่า สามารถกินยาทาม็อกซิเฟนได้โดยไม่มีอาการแพ้ใดๆ เลย ทุกวันนี้ก็ยังกินอยู่ โดยไม่ต้องตัดรังไข่และมดลูกทิ้ง และต้องกินต่อไปอีก 2 ปี พออายุครบ 30 ปี ก็สามารถหยุดยาและมีโอกาสมีลูกได้เหมือนคนทั่วไปแล้ว”


ขอบคุณมะเร็ง
“บางทีคนเราก็ต้องโดนโชคชะตาเฆี่ยนตีแรงๆ สักครั้งในชีวิต จะได้มีสติรู้ว่า ชีวิตเรานั้นมีค่ามากแค่ไหน และ อะไรที่สำคัญที่สุดในการดำรงอยู่ เมื่อก่อนใหม่เคยคิดว่า ชีวิตนี้…อยู่ถึง 30 ปีก็คงพอแล้วละ แต่พอมาเจอมะเร็งตอนอายุ 25 ปี ทำให้เรารู้เลยว่า จริงๆ แล้วชีวิตคนเรานั้นสั้นนิดเดียว ชีวิตเรากำลังนับถอยหลังไปทุกๆ วินาที และความตายก็กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ
“จากที่เคยมองว่า เรายังเด็ก ยังสาว ยังอายุน้อย ไม่มีทางเป็นอะไรไปง่ายๆ หรอก ทุกครั้งที่เราไปไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนก็จะขอแค่ให้มีการงานที่ดี การเงินที่ดี ความรักที่ดี ชีวิตที่ก้าวหน้า ฯลฯ ขอสารพัด แต่เรื่องเดียวที่ไม่เคยขอก็คือเรื่องสุขภาพ จนเมื่อมะเร็งเข้ามา ทุกอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน เงินทอง หายไปหมด เราต้องลาออกจากงานที่เคยทุ่มเท ทิ้งเงินเดือนที่ใฝ่ฝัน และทิ้งเงินเก็บที่สะสมมาเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองไว้ สิ่งเดียวที่ไม่เคยหายไปก็คือ ‘ความรัก’ ทั้งจากครอบครัว เพื่อนฝูง รวมถึงอดีตคนรักที่คอยให้กำลังใจและซัพพอร์ตเราทุกอย่าง จนเราสามารถผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนั้นมาได้ และทำให้เราเชื่อมั่นว่า ในโลกนี้ยังมีผู้ชายที่มองเห็นคุณค่าจากภายในและรักในความเป็นเราจริงๆ ซึ่งนับว่าเรายังโชคดีกว่าอีกหลายๆ คนมาก เพราะมีผู้ป่วยมะเร็งอีกไม่น้อยที่ต้องสูญเสียคนรักไปเมื่อเป็นมะเร็ง
“ทุกวันนี้เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเราเข้าใจแล้วว่า ต่อให้มีเงินมากมาย หน้าที่การงานที่ดีแค่ไหน หากสุขภาพไม่ดี ทุกอย่างก็แทบไม่มีความหมายกับเราเลย มะเร็งเข้ามาทำให้เราเข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่ จากที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างประมาท และแม้ชีวิตจะรายล้อมไปด้วยครอบครัว คนรัก และเพื่อนๆ มากมาย ข้างในกลับรู้สึกว่างเปล่า แต่วันนี้ไม่ใช่อีกแล้ว เราสามารถเติมเต็มข้างในได้ด้วยตัวเอง ต่อให้ไม่เหลือใคร ชีวิตก็ไม่ได้รู้สึกว่างเปล่าอีกแล้ว ทุกวันนี้โสดสนิทและต้องมาทำงานต่างถิ่น บนเกาะที่ไม่มีคนรู้จัก เราก็ไม่ได้รู้สึกอ้างว้างเหมือนก่อน ตรงกันข้ามเรากลับสนุกและรู้สึกท้าทายที่ได้มาอยู่ไกลบ้านและทำอะไรคนเดียวบ้าง ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณมะเร็งที่เข้ามาในชีวิต นั่นกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เรากล้าออกจากเซฟโซนเพื่อทำทุกอย่างที่อยากทำ ทำทันที ทำเดี๋ยวนี้ ไม่มีคำว่าเดี๋ยว… เหมือนเมื่อก่อน”



แด่ลมหายใจที่ยังมี
“ณ วินาทีที่เราสบตากับมะเร็ง เราเหมือนได้เผชิญหน้ากับความตาย แต่โชคยังดีที่เรายังมีโอกาสได้สู้ ฉะนั้น ใหม่อยากให้ผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ว่าระยะไหนก็ตาม หากยังมีโอกาสรักษา รักษาให้เต็มที่ และเชื่อเถอะว่า การต่อสู้ที่ยากลำบาก ผลลัพธ์ย่อมคุ้มค่าเสมอ อย่ามัวโฟกัสว่าชีวิตเราจบแล้วเมื่อเป็นมะเร็ง เพราะแค่เรายังมีโอกาสได้ตื่นขึ้นมาอีกวัน ได้เห็นคนที่เรารัก ได้กอดกัน ได้คุยกัน ได้หัวเราะไปด้วยกัน ฯลฯ ก็นับเป็นของขวัญที่คุ้มค่าแล้ว
“ที่สำคัญคุณค่าของคนเราไม่ได้วัดกันที่จำนวนเต้า ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่มีเต้านมสองเต้า หรือเต้าเดียว หรือไม่มีเต้าแล้ว อย่าด้อยค่าตัวเอง อย่าคิดว่าตัวเองไม่สมบูรณ์ เพราะในโลกนี้มีคนที่พร้อมจะรักเราจริงๆ โดยที่ไม่สนใจว่าเราจะมีกี่เต้า หรือไม่มีสักเต้า และเราทุกคนมีโอกาสเจอคนคนนั้น แค่อย่าปิดโอกาสตัวเอง อย่าคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า
“สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญในวันที่ยังมีลมหายใจ คือ การใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกๆ วันและอย่าประมาทกับชีวิต อย่าละเลยสุขภาพกายและสุขภาพใจ อย่าคิดว่าความเครียดที่สะสมไว้ในแต่ละวันจะทำร้ายเราไม่ได้ และเลิกคิดไปได้เลยว่า ความเครียดจะหายไปได้ด้วยออกไปปาร์ตี้หรือแฮงก์เอาต์กับเพื่อน เพราะมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
“เมื่อสุขภาพใจเริ่มแย่ แน่นอนว่ามันก็จะส่งผลกระทบกับร่างกาย ทำให้เราเป็นโรคอะไรก็ได้ โชคดีที่ใหม่ยังเป็นแค่มะเร็งเต้านม ที่แม้ต้องตัดเต้านมทิ้งแต่ก็ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เพราะหากเป็นโรคอื่นที่ไม่มีโอกาสรักษา วันนี้เราอาจจะไม่ได้มานั่งแชร์ประสบการณ์นี้ และคงไม่มีโอกาสมาเตือนสาวๆ ทุกคนว่า อย่าประมาท อย่าคิดว่าตัวเองไม่มีโอกาสเป็นมะเร็ง เพราะปัจจุบันนี้ ทั้งอากาศ อาหาร และความเครียดนั้น รุมเร้าเรามากมาย นั่นทำให้ใครๆ ก็เป็นมะเร็งได้ ฉะนั้น อย่าละเลยการตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่ากลัวที่จะเจอโรค เพราะยิ่งเจอไว รักษาไว โอกาสหายขาดก็ยิ่งสูงขึ้น ที่สำคัญยังสูญเสียเวลาและค่ารักษาพยาบาลน้อยกว่าเยอะ…เชื่อใหม่เถอะ”
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
