ณิชปัทม์ พันธุรัตน์ : วิถีป่วยให้เปี่ยมสุข

“เชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งเกือบทุกคน 
ไม่ได้ต้องการให้ใครมองพวกเรา
ด้วยความสงสารหรือสังเวชใจ
แต่พวกเราอยากได้รับพลังบวก
จากทุกคนมากกว่า”  

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ปอ-ณิชปัทม์ พันธุรัตน์ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 42 ปี ผู้ก่อร่างสร้างช่อง TikTok : beyondcancer6 พื้นที่แห่งพลังบวกเพื่อผู้ป่วยมะเร็งขึ้น ซึ่งนอกจากการแบ่งปันความสุขและรอยยิ้มแล้ว เธอยังหวังว่าพื้นที่นี้จะช่วยเปลี่ยนมุมมองของผู้คนที่มีต่อผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4

ปัจจุบันนอกจากสถานะของการเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2 ระยะ 4 ที่ยังอยู่ระหว่างการรักษามะเร็งรอบที่ 2 แล้ว เธอยังทำหน้าที่คุณครูสอนภาษาอังกฤษในระดับชั้นมัธยมศึกษาและหัวหน้าฝ่ายบริหารกิจการนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปพร้อมๆ กับการดูแลลูกๆ วัย 8  และ 9 ขวบ ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง 

“ปอมองว่าความเข้าใจในตัวโรคมะเร็งของคนรอบข้างเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเขาไม่เข้าใจ ผู้ป่วยอย่างเราก็จะถูกบั่นทอนได้ง่าย แต่แน่นอนว่าจะไปเปลี่ยนมุมมองหรือความคิดของทุกคนก็คงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือเปลี่ยนที่ตัวเราเอง เปลี่ยนที่ใจของเราเอง

“ด้วยความที่เราเคยเห็นผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาส่วนใหญ่ ร่างกายก็มักจะทรุดโทรม หน้าตาเศร้าหมอง ผิวพรรณเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม เราจึงตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่วันแรกที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งว่า ‘ฉันจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ทุกคนไม่รู้ว่าฉันเป็นมะเร็ง’ หลังจากนั้นก็เริ่มดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องอาหาร การนอนหลับพักผ่อน และการออกกำลังกาย หันมาดื่มน้ำให้มากขึ้น และเน้นรับประทานอาหารในกลุ่มโปรตีน ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ร่างกายพร้อมกับการรักษาและมีอาการข้างเคียงจากเคมีบำบัดให้น้อยที่สุด ซึ่งก็ได้ผล เพราะนอกจากอาการอ่อนเพลียและผมร่วงแล้ว ในการรักษามะเร็งครั้งแรกนั้นแทบจะไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ ให้กังวลเลย เรากลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่สนุกกับการเอฟวิกผม แต่งหน้า แต่งตัวให้มีสีสันสดใส จนใครๆ ก็ไม่เชื่อว่ากำลังป่วยเป็นมะเร็ง”

เริ่มศึกษาวิชามะเร็ง

“ย้อนหลังกลับไปราวปี 2564 เรามีอาการเจ็บจี๊ดๆ และร้อนผ่าวๆ บริเวณข้างเต้านมด้านซ้ายใกล้รักแร้ แต่อาการนี้จะเกิดขึ้นเป็นพักๆ แล้วก็หายไป ด้วยความที่ยุ่งเรื่องงานและภารกิจต่างๆ จึงปล่อยผ่านไปเกือบปี จนราวเดือนพฤษภาคม 2565 เริ่มมีก้อนนูนขึ้นมาตรงบริเวณเต้านม ขนาดรัศมีเท่าๆ กับเหรียญบาท ตอนนั้นเริ่มกังวลใจ จึงไปปรึกษาน้องสะใภ้ที่เป็นพยาบาล พอเขาเห็นก็รีบพาเราไปตรวจแมมโมแกรมที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

“ด้วยรูปร่างของก้อนที่ดูไม่ค่อยสวย คุณหมอก็ค่อนข้างแน่ใจว่าเป็นมะเร็ง ในหัวเราตอนนั้นมีแต่คำว่า ‘ทำไมๆๆๆๆ ทำไมต้องเป็นฉัน ฉันพลาดตรงไหน…’ ยิ่งเจาะชิ้นเนื้อแล้วรู้ผลว่าเป็นมะเร็งเต้านมพันธุ์ดุ HER2 ชนิดตัวรับฮอร์โมนเป็นบวกอีก ความรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบกำลังพังทลายลง มองไปทางไหนก็เห็นแต่หน้าลูกๆ เริ่มคิดฟุ้งซ่านว่า ถ้าลูกไม่มีเรา…ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร 

“เรากลัวไปต่างๆ นานา ที่สำคัญคือไม่กล้าบอกใครในครอบครัว แม้แต่ ‘พ่อกับแม่’ เพราะกลัวท่านทั้งสองจะรับไม่ไหว แต่ไม่ว่าจะเลี่ยงอย่างไร สุดท้ายก็จำเป็นต้องบอก พอพ่อกับแม่รู้ว่าเราเป็นมะเร็ง ปรากฏว่านอกจากท่านทั้งสองจะเข้มแข็งกว่าที่เราคิดมาก ยังส่งกำลังใจกลับมาให้เราอย่างมากมาย ช่วยดึงสติของเราให้กลับคืนมาและบอกตัวเองว่า เราจะมามัวอ่อนแออยู่ไม่ได้แล้ว จากนั้นก็ลุกขึ้นดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน เพื่อให้ร่างกายพร้อมกับการรักษา รวมถึงทำตัวให้สดชื่น แจ่มใส มีรอยยิ้ม เพื่อให้คนรอบข้างสบายใจ” 

กระบวนการรักษา

“พอผลชิ้นเนื้อชี้ชัดว่าเราเป็นมะเร็งชนิด HER2 คุณหมอที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชก็วางแผนการรักษา โดยยังไม่ผ่าตัดในทันที แต่ส่งตัวไปทำคีโมที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งลงก่อน โดยท่านแนะนำให้ไปหา รศ. พญ. อรุณี เดชาพันธุ์กุล ซึ่งเป็นอายุรแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ซึ่งกว่าจะนัดคิวคุณหมอได้ก็ยากพอสมควร พอได้วันนัดมาแล้ว เราก็ดันป่วยเป็นโควิดและหายยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ ทำให้ต้องเลื่อนนัดกับคุณหมอไปก่อน แต่สุดท้ายก็ได้พบคุณหมอตามที่ตั้งใจ

“พอคุณหมอดูผลชิ้นเนื้อต่างๆ แล้ว ก็วางแผนให้คีโมสูตรน้ำแดงทุก 3 สัปดาห์ จนครบ 8 ครั้ง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดเต้านมด้านซ้ายยกเต้า และเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออกทั้งหมด ซึ่งหลังจากผ่าตัดก็พบว่า ก้อนมะเร็งนั้นมีขนาดใหญ่กว่าตอนแมมโมแกรมเกือบ 8 เซนติเมตร คุณหมอจึงวินิจฉัยให้เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ชนิด HER2 ระยะ 3a ทันที จำเป็นต้องฉีดยามุ่งเป้าต่ออีก 13 เข็ม และฉายแสงต่ออีก 25 แสง”  

ยิ้ม (ให้) ได้ แม้ใจพัง

“ระหว่างที่รักษาตัวอยู่นั้น ยอมรับว่าข้างในของเราก็ไม่ได้สดใสได้ตลอดเวลา แม้ภายนอกของเราจะดูมีความสุขดี แต่จิตใจเราพังจนต้องพบนักจิตบำบัดอยู่เป็นระยะๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผลข้างเคียงจากการรักษา แต่อีกส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความเป็น ‘แม่’ ที่เป็นห่วงลูกๆ มาก ทางคุณหมอจึงแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ แต่ด้วยความที่ร่างกายของเราได้รับยาจากการรักษามะเร็งเยอะแล้ว เราจึงหันไปใช้วิธีพบ ‘นักจิตบำบัด’ แทน โดยไม่ขอใช้ยา ซึ่งเขาก็แนะนำวิธีบำบัดคล้ายๆ หลักธรรมะ คือ เวลาที่เราจิตตก ให้พยายามดึงจิตตัวเองให้ขึ้นจากหลุมดำ มาอยู่กับปัจจุบันให้ได้ โดยอาจารย์นักจิตบำบัดนั้นกำชับไว้ว่า ถ้าเราไม่ดึงตัวเองขึ้นมาจากหลุมดำด้วยตัวเอง วันหนึ่งเมื่อเราตกลงไปในหลุมนั้น เราจะกลับขึ้นมาไม่ได้อีกเลย ซึ่งวิธีนี้ก็ยังใช้อยู่ทุกครั้งที่รู้สึกว่าเราจิตตก 

“ขณะเดียวกันเราก็พยายามดูแลตัวเองให้แข็งแรง แต่งหน้า แต่งตัว ใส่วิก และใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ เพราะเราเชื่อว่านอกจากสร้างความมั่นใจและรอยยิ้มให้ตัวเราเองแล้ว การทำตัวให้สดใสยังสร้างความสบายให้กับคนรอบข้างและคนที่รักเราได้ทางหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระหว่างการรักษานี้ก็มีบ้างที่ความคล่องแคล่วลดลงและความคิดอาจจะช้าลงบ้าง เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับคีโมมาอย่างต่อเนื่องนั้น มักจะมีภาวะที่เรียกว่า ‘คีโม เบรน’ (Chemo Brian) คือ มีอาการหลงลืม ความจำลดลง สมาธิลดลง ฯลฯ แต่ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจบการรักษา” 

มะเร็งกลับมาอีกครั้ง

“หลังใช้เวลาในการรักษาไปทั้งหมดกว่า 1 ปีเต็ม เราก็กลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ แต่คุณหมอยังให้รับประทานยาต้านฮอร์โมนต่อเนื่องอีก 5 ปี ซึ่งเราก็ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น ดูแลตัวเองมากขึ้น และออกกำลังแขนตามท่าต่างๆ ที่นักกายภาพบำบัดแนะนำมาวันละ 2-3 ครั้ง อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแขนบวมและแขนยึด  

“เวลาผ่านไปเพียง 7เดือน ปรากฏว่ามีก้อนนูนออกมาบริเวณคอเหนือไหปลาร้าด้านซ้าย จึงรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ก็พบว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและปอดแล้ว ช่วงนั้นกลับมาดิ่งอีกครั้ง เพราะเราได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยเต้านม HER2 ระยะ 4 แต่ครั้งนี้ไม่มีตัวรับฮอร์โมน คุณหมอจึงสั่งหยุดรับประทานยาต้านฮอร์โมนทันที และบอกว่า ‘ครั้งนี้เราจะรักษาโดยไม่หวังผลหายขาด แต่เป็นการควบคุมโรคให้อยู่’ จากนั้นคุณหมอก็วางแผนการรักษาด้วยการฉีดยามุ่งเป้า ตัวที่ดีที่สุดและแพงที่สุดเท่าที่สิทธิ์การรักษาจะทำได้ โดยจะฉีดทุก 3 สัปดาห์ไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด จนกว่าโรคจะสงบ

“แต่ฉีดไปได้เพียง 3 เข็ม หลังจาก CT Scan เพื่อตรวจดูการกระจายของมะเร็ง ผลปรากฏว่า การรักษาด้วยยามุ่งเป้าตัวแรกนี้ล้มเหลว เพราะยังมีการกระจายอย่างต่อเนื่อง ยาตัวนี้เอามะเร็งไม่อยู่ จึงต้องกลับมาตั้งหลักกันอีกครั้ง ช่วงนั้นเราก็เริ่มไอมากขึ้น เพราะปอดเริ่มแย่

“ตอนนั้นก็กลับมาปรึกษาที่บ้าน แม่ก็ถามเราว่า ลองไปการรักษาทางเลือกไหม แต่ด้วยความที่เรายังมั่นใจในการรักษาของคุณหมอจึงกลับไปขอลองอีกสักตั้ง ซึ่งคุณหมอก็ลองเปลี่ยนสูตรยามุ่งเป้าใหม่ โดยไปใช้สูตรยารองลงมาจากตัวแรก ซึ่งราคาถูกกว่า ทำเรื่องเบิกได้ง่ายกว่า และสำคัญที่สุดคือได้ผลมากกว่า เพราะหลังจากฉีดยาไปได้ 3 เข็ม อาการไอแทบไม่มีเลย จากที่ไอตลอดเวลา เรากลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง ทุกวันนี้ก็ยังต้องรับยามุ่งเป้าไปเรื่อยๆ จนกว่าโรคจะสงบลง ต้องขอบคุณตัวเองที่ดูแลร่างกายเป็นอย่างดี ทำให้รับมือกับยาได้ทุกตัว ทุกสูตร ไม่ถึงกับต้องแพ้จนล้มหมอนนอนเสื่อ และสำคัญที่สุดก็ต้องยกความดีงามให้คุณแม่ที่คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน และเตือนให้เรามีสติในการใช้ชีวิตอยู่เสมอ” 

ขุมพลังใจที่ยิ่งใหญ่

“นอกจากพ่อแม่ ครอบครัว เจ้านาย และกัลยาณมิตรทั้งหลายแล้ว กำลังใจสำคัญที่สุดในวันนี้ก็คือลูกๆ ทั้งสองคน ด้วยความที่เราไม่อยากให้ลูกๆ มารู้ทีหลัง…ปึ้งเดียว! แล้วโลกทั้งใบพังทลายเหมือนที่เราเคยรู้สึก เราจึงบอกเขาตั้งแต่วันแรกที่รู้ผลว่า แม่เป็นมะเร็งนะ และแม่อาจจะไม่ได้อยู่จนลูกโตนะ เพราะอยากให้เขาค่อยๆ ปรับตัว เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะไม่มีเรา แต่ปรากฏว่าเด็กๆ เข้มแข็งกว่าที่เราคิดไว้มาก 

“จำได้ว่าวันนั้น ลูกสาววัย 6 ขวบ หันมาพูดกับเราประโยคหนึ่งว่า แต่ตอนนี้แม่ก็ยังอยู่นี่… นั่นเหมือนดึงสติเรากลับมาคิดได้ว่า เออ…เรายังอยู่ตรงนี้นี่นา จะไปกังวลถึงอนาคตไปทำไม เรามัวแต่ไปนั่งคิดถึงอนาคต หมดอาลัยไปกับสิ่งที่มาไม่ถึง ปล่อยปัจจุบันให้สูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย พอคิดได้ดังนั้นก็พยายามดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบัน และทำเวลาที่มีในวันนี้ นาทีนี้ให้ดีที่สุด    

“นับตั้งแต่วันแรกที่พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งจนถึงวันนี้ก็เกือบ 3 ปีแล้ว จากที่เคยคิดว่าเป็นมะเร็งไม่ว่าจะเป็นระยะไหนก็เท่ากับตายเหมือนกัน วันนี้ก็รู้แล้วว่า ไม่ใช่เลย แม้แต่เป็นมะเร็งระยะ 4  ก็ไม่ใช่มะเร็งระยะสุดท้าย และไม่ได้หมายความว่าชีวิตเรามาสุดทาง อยากให้ผู้ป่วยทุกคนอยู่อย่างมีความหวัง อย่าหมดหวัง อย่าหมดกำลังใจ

“ครั้งล่าสุดที่ไปหาคุณหมอ ระหว่างที่นั่งรออยู่หน้าห้องก็ได้มีโอกาสคุยกับคุณป้าท่านหนึ่ง ท่านเป็นมะเร็งเต้านมมา 26 ปี ตรวจพบครั้งแรกตอนอายุ 40 กว่าปี ทุกวันนี้ก็ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเคล็ดลับเดียวที่ท่านทำก็คือ เชื่อฟังและปฏิบัติตัวตามคุณหมอแนะนำ นี่เป็นอีกกำลังใจเล็กๆ ที่เราพบได้เสมอที่หน้าห้องตรวจของคุณหมอ”

ระยะ 4 ก็แฮปปี้ได้นะ

“เมื่อก่อนเรามองว่า มะเร็งคือคำพิพากษา ตัดสินชีวิตคนเราว่าจะให้อยู่หรือไป โดยไม่สนใจเลยว่าเราเป็นใครหรือมีคนข้างหลังที่ต้องดูแลบ้างไหม แต่วันนี้มุมมองต่อมะเร็งของเราเปลี่ยนไปแล้ว มะเร็งเป็นเหมือนบททดสอบที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น 

“มะเร็งในวันนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน จนไม่อาจจะใช้ชีวิตอย่างประมาทได้อีกต่อไป หากยังพอมีโอกาส อย่าละเลยที่จะตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และจำไว้ว่าชีวิตคนเรานั้นสั้นเกินกว่าจะมาทุกข์กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องคนอื่น อย่ามัวแต่เสียเวลาโกรธ เกลียด เคียดแค้นใครอยู่เลย ให้อภัย ปล่อยวาง แล้วมองหาความสุขที่อยู่รอบๆ ตัวเรากันดีกว่า  “หากยังนึกไม่ออกว่าจะหาความสุขได้จากตรงไหน ง่ายๆ ลองเริ่มยิ้มกับตัวเองในกระจกดูสักที หรือหาลิปสติกสีโปรดมาเพิ่มสีสันให้ปากเราในวันที่เศร้าๆ ดูสักครั้ง เชื่อเถอะ มันช่วยเพิ่มพลังใจให้เราได้ไม่น้อยทีเดียว อย่าปล่อยให้ความป่วยมาพรากความสุขในชีวิตเราไป นี่เป็นเหตุผลให้ปอตัดสินใจเปิดช่อง TikTok : beyondcancer6 ขึ้น เพื่อต้องการลบภาพจำเก่าๆ ที่ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ต้องนั่งหน้าเศร้ามองพระอาทิตย์ตกดินออกให้หมด และบอกให้โลกรู้ว่า ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 ก็มีความสุขได้ ยิ้มได้ และหัวเราะเสียงดังเหมือนคนทั่วไปได้เช่นกัน”

#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
แชร์ไปยัง
Scroll to Top