
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่เรื่อยๆ สำหรับ ‘เต้าหู้’ กับ ‘มะเร็งเต้านม’ เพราะมีหลายกระแสเชื่อว่า น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรือแม้แต่เต้าหู้เอง หากรับประทานมากๆ บ่อยๆ อาจจะทำให้เราเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ เนื่องจากมีสารที่คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า ‘ไฟโตอีสโทรเจน’ (Phytoestrogen) สารประกอบจากธรรมชาติที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนอีสโทรเจนที่สามารถพบได้ในพืชหลากหลายชนิด เช่น มะพร้าว รวมถึง ‘ถั่วเหลือง’ ที่นำมาทำเป็นเต้าหู น้ำเต้าหู้ และนมถั่วเหลือง ทำให้มีผู้คนไม่น้อยเชื่อว่า เต้าหู้อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นนั่นเอง
แต่! จากการศึกษาพบว่า สารดังกล่าวใน ‘น้ำมะพร้าว’ และ ‘ถั่วเหลือง’ นั้นไม่มีความแรงถึงขั้นทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงเหมือนฮอร์โมนที่ร่างกายเราผลิตขึ้นมาเอง รวมถึงยังมีการยืนยันโดยงานวิจัยอีกหลายสำนักที่ ‘ไม่พบ’ ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มน้ำเต้าหู้กับการเกิดมะเร็ง เช่น
#งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งทำการศึกษาผู้หญิงเอเชียกว่า 2 แสนคน พบว่าการดื่มน้ำเต้าหู้ไม่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
#งานวิจัยจากประเทศจีน ซึ่งทำการศึกษาผู้ชายและผู้หญิงกว่า 6 แสนคน พบว่าการดื่มน้ำเต้าหู้ไม่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก
และ #งานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำการศึกษาผู้หญิงกว่า 4 หมื่นคน พบว่าการดื่มน้ำเต้าหู้ไม่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งรังไข่

นั่นจึงเป็นการลบคำสบประมาทว่า การรับประทานเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง แล้วเสี่ยงมะเร็งเต้านม — จึงไม่เป็นความจริง และในทางตรงกันข้าม เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ และนมถั่วเหลืองนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการ อุดมไปด้วยโปรตีน ไฟเบอร์ สารต้านอนุมูลอิสระ และยังมีสาร ‘เลซิติน’ (Lecithin) ซึ่งช่วยในการลดไขมันและช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวกับความทรงจำ อีกทั้งยังมีการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การบริโภคถั่วเหลืองหรือเต้าหู้นั้นมีผลดีต่อสุขภาพหัวใจ ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดอีกด้วย รวมถึงเต้าหู้ยังเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีคอเลสเตอรอล ที่สำคัญคือราคาถูก หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป และเพื่อเป็นการต้อนรับ ‘วันเต้าหู้โลก’ (World Tofu Day) ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ TBCC จึงขอรวบรวมเคล็ดลับ ‘หม่ำ ‘เต้าหู้’ ให้เป็น! เน้นปลอดโรค’ มาฝาก
- ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองธรรมชาติ
- คัดสรรถั่วเหลืองจากเเหล่งที่ดี ไม่ดัดแปลงพันธุกรรม non-GMOs
- กระบวนการผลิตสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
- เลือกเต้าหู้ที่มีความสด ใหม่
- เนื้อเต้าหู้ไม่มีเหงื่อหรือน้ำขุ่นขาวซึมออกมา
- เนื้อสัมผัสควรแน่น ยืดหยุ่น
- ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นเปรี้ยว
- สีโทนเดียวกันทั้งก้อน ไม่คล้ำ และไม่มีจุดด่างดำ
- เลือกเต้าหู้ที่แช่ในน้ำสะอาด และตรวจสอบให้แน่ใจว่าน้ำดูสดและไม่มีกลิ่น
- ในกรณีที่ซื้อเต้าหู้บรรจุหีบห่อ ควรตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ปิดผนึกอย่างถูกต้อง และไม่มีการรั่วไหล
- เต้าหู้ที่ไม่มีโซเดียมหรือมีโซเดียมต่ำ
- ไม่ใส่วัตถุกันเสียหรือสารกันบูด


การทดสอบว่า เต้าหู้นั้นใส่สารกันบูดหรือไม่ ทำได้ง่ายๆ โดยการนำเต้าหู้มาวางไว้ที่อุณหภูมิห้องหนึ่งวัน ถ้าเต้าหู้เสีย เช่น กลิ่นและสีเปลี่ยนไป มีจุดด่างดำ ฯลฯ แสดงว่าเต้าหู้นั้นไม่ใส่สารกันเสีย ปลอดภัยแน่นอน ที่สำคัญเพื่อความอร่อยและปลอดภัยแบบไร้กังวล เมื่อซื้อมาแล้วควรนำไปประกอบอาหารทันที เพราะเต้าหู้เป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างมีอายุสั้น บางชนิดเก็บรักษาได้ แต่ก็ทำให้ความอร่อยลดลง และเสี่ยงได้รับคุณค่าน้อยลงไปด้วย แนะนำว่า ไม่ควร! ซื้อเต้าหู้มากักตุนไว้มาก ควรซื้อมารับประทานวันต่อวัน เพราะเต้าหู้ที่ดีมีคุณภาพนั้นย่อมไม่ใส่วัตถุกันเสีย ซึ่งแน่นอนว่าเก็บอย่างดีแค่ไหนก็อยู่ได้เพียง 2-3 วัน หลังจากนั้นเต้าหู้ก็จะมีกลิ่น เสียรสชาติ บางชนิดกลายเป็นเมือก และเสียคุณประโยชน์ที่ควรจะได้รับไปอย่างน่าเสียดาย
และแม้ว่า ‘เต้าหู้’ จะถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับคนรักสุขภาพที่อุดมไปด้วยไขมันชั้นดีและโปรตีนสูงเหมือนเนื้อสัตว์ แต่ย่อยง่าย และยังเต็มไปด้วยเกลือแร่และวิตามิน แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่รับประทานซ้ำๆ และควรเลือกจากแหล่งที่ได้คุณภาพ เนื่องจากเต้าหู้มากมายในท้องตลาดนั้นอาจจะมีการเติมสารปรุงแต่งหรือวัตถุกันเสียต่างๆ รวมถึงอาจจะมาจาก ‘ถั่วเหลือง’ ที่ไม่ได้คุณภาพ การบริโภคเข้าไปย่อมเกิดผลเสียต่อร่างกายและอาจจะนำไปสู่โรคต่างๆ ในอนาคตได้ สำคัญที่สุดคือ เราต้องไม่ลืมรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารอื่นๆ ให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่

นอกจากนี้ ไม่ควรละเลยที่จะตรวจสุขภาพ รวมถึงตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้หญิงในวัย 35 ปีขึ้นไป หรือในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็ง หรือมีไลฟ์สไตล์เสี่ยง เช่น นอนดึก ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีความเครียดสะสม ฯลฯ สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการตรวจเจอในระยะเริ่มต้นนั้นจะช่วยให้รักษาได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และมีโอกาสหายขาดได้สูง
ทั้งนี้ ข้อควรระวัง สำหรับ ‘ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม’ ควรหลีกเลี่ยงอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากถั่วเหลืองที่มีความเข้มข้นสูงที่ใช้ทดแทนฮอร์โมน เพราะอาจกระตุ้นทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะชนิดที่เซลล์มะเร็งตอบสนองดีต่อฮอร์โมน (Estrogen Receptor [ER] positive) เพราะนั่นอาจจะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้รักษาหายได้ยาก หรือเพิ่มโอกาสมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.tnnthailand.com
https://nationaltoday.com
https://www.silpa-mag.com
https://he01.tci-thaijo.org
https://www.siphhospital.com
https://bangkokpattayahospital.com

