กุลธิดา​ วิโรจนธาดา​พงศ์​ : เรื่องเล่าของนางฟ้า

“ส้มแค่อยากให้คนเห็นว่า
มันมีนะ! ผู้ป่วยมะเร็งที่รอดชีวิต
อย่างน้อยก็ เรานี่ไง! ผู้ป่วยมะเร็ง
ที่ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ถึงเป็นมะเร็ง ก็ไม่จำเป็น
ต้องใช้ชีวิตแบบเศร้าๆ
เอาแต่นั่งนับวันรอความตาย…” 

ส้ม-กุลธิดา​ วิโรจนธาดา​พงศ์ แอร์โฮสเตสและอินฟลูเอนเซอร์สาวสวยวัย 31 ปี เจ้าของเพจ Som Som และช่อง khun_sommm พื้นที่ที่เธอสร้างขึ้นระหว่างเผชิญกับโรคมะเร็งเต้านม ชนิด Triple Negative ระยะ 2B เพื่อหวังส่งต่อพลังบวกและแรงบันดาลใจไปยังผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะ 

“ยอมรับว่าแรกเริ่มที่สร้างช่อง khun_sommm ขึ้นมา ส้มไม่ได้คาดหวังหรือตั้งเป้าหมายใดๆ ไว้กับช่องนี้เลย แค่อยากแชร์ประสบการณ์การรักษามะเร็งของเราเพื่อเป็นวิทยาทานให้คนทั่วไป และส่วนหนึ่งก็เป็นพื้นที่ในการค้นหาคำตอบต่อคำถามที่ตัวเองสงสัยระหว่างทางการรักษา เพราะก่อนหน้านั้นเราก็คือผู้ป่วยมะเร็งมือใหม่ที่ไม่รู้อะไรเลย เราไม่รู้ว่าหลังผ่าตัดแล้วต้องทำอะไรต่อ หรือระหว่างให้คีโมจะมีอาการข้างเคียงอะไรบ้าง ฯลฯ เมื่อเราได้คำตอบจากประสบการณ์ตรงแล้ว เราก็แค่แบ่งปันคำตอบเหล่านั้นไปถึงคนที่อยากรู้หรือผู้ป่วยมะเร็งมือใหม่ได้รู้ไปพร้อมๆ กับเรา ภายใต้คอนเทนต์ที่เราในสถานะผู้ป่วยอยากเห็น 

“อย่างที่รู้ๆ กันดีว่า ภาพของ ‘ผู้ป่วยมะเร็ง’ ในสื่อส่วนใหญ่ ไม่มีใครรอดจากมะเร็งไปได้เลยนะ แม้ว่าจะเป็นนางเอกก็ตาม เมื่อเป็นมะเร็ง ปากต้องซีด ต้องนอนหมดเรี่ยวแรง ทำอะไรไม่ไหว และเสียชีวิตไปในที่สุด ทำให้ตอนเรารู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เรากลัวมาก และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะกลัวมะเร็งไม่ต่างกัน เราจึงอยากจะแชร์เนื้อหาเพื่อให้ทุกคนรู้ว่า ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรักษาได้และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับมะเร็งส่วนใหญ่ในสื่อทุกวันนี้ มักจะถ่ายทอดออกมาในเชิงเศร้า ในฐานะที่เราเคยเป็นผู้ป่วยมาก่อน เรารู้ว่าผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังอยู่ระหว่างการรักษาหรือแม้จะรักษาหายแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเห็นอะไรแบบนั้น ส้มเองก็เคยเป็นผู้ป่วยมะเร็ง แน่นอนว่าบางครั้งเราก็ไม่ได้ยิ้มได้ตลอดเวลาเหมือนในคลิปที่แชร์ออกไป แต่ส้มรู้ว่าผู้ป่วยมะเร็งต้องการอะไร — พวกเราแค่ต้องการพลังบวก ยิ่งช่วงที่ให้คีโมและร่างกายกำลังแย่ๆ ผู้ป่วยมะเร็งต้องการเห็นคนที่เคยเป็นมะเร็งแล้วยังมีชีวิตรอด ยิ้มได้ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ 

“นี่เป็นเหตุผลให้ช่องนี้ถ่ายทอดเนื้อหาในมุมนั้นออกมา และปรากฏว่ายอดคนเข้ามาดูแต่ละคลิป รวมถึงคอมเมนต์และข้อความที่ส่งเข้ามาหาเรา ทำให้เรารู้เลยว่า พลังที่เราส่งผ่านคอนเทนต์ออกไปนั้นไม่ได้สูญเปล่า ทุกวันนี้ทำให้เรามีเพื่อนจากโซเชียลเยอะมาก และเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยมะเร็ง”

กาลครั้งหนึ่ง…ไม่นานมานี้

“ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2565 ส้มพบว่าบริเวณข้างรักแร้มีตุ่มนูนขึ้นมาคล้ายถูกมดตัวใหญ่ๆ กัด แต่ไม่มีอาการเจ็บใดๆ อีกทั้งตุ่มดังกล่าวก็ไม่ได้โตขึ้นมา เราจึงไม่ได้ใส่ใจอะไร จนผ่านมาราว 4-5 เดือน เราสังเกตเห็นว่า เวลาใส่เสื้อชั้นในจะเกิดเป็นรอยแดงๆ บริเวณตุ่มนั้นและมีอาการเจ็บร่วมด้วย เป็นอยู่ระยะสั้นๆ ก็หายไป ก่อนจะเริ่มมีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนจริงจัง และเริ่มกระทบกับการใส่เสื้อกล้ามหรือเสื้อสายเดี่ยว เพราะเห็นก้อนชัดเจน นั่นทำให้เราอยากเอาออก จึงไปปรึกษาคุณหมอ โดยไม่คิดว่าจะเป็นอะไรร้ายแรงเลย โดยเฉพาะมะเร็ง 

“ตอนนั้นเราคิดว่ามะเร็งเป็นเรื่องไกลตัวเรามาก ไม่เคยอยู่ในสมองมาก่อน ด้วยอายุแค่ 28 ปี บวกกับที่ผ่านมาร่างกายแข็งแรง ไม่ค่อยป่วย หรือไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไร จึงคิดแค่ว่า ไม่มีทางที่เราจะเป็นมะเร็งแน่ๆ คนที่เป็นมะเร็งได้น่าจะต้องมีอายุอย่างน้อย 40-50 ปีขึ้นไปสิ แต่ปรากฏว่า พอคุณหมอลองคลำก้อนแล้วจับขยับไปมา คุณหมอก็แนะนำว่าให้ตรวจอัลตราซาวนด์และแมมโมแกรม พอผลออกมา คุณหมอก็แจ้งว่า หน้าตาก้อนดูไม่ค่อยน่าไว้ใจเท่าไร อยากให้ลองเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อผลที่ชัดเจน 

“ด้วยความที่เราก็อยากเอาก้อนนั้นออกอยู่แล้ว เพราะดูไม่สวย (หัวเราะ) จึงปรึกษาคุณหมอว่า ไม่ต้องเจาะชิ้นเนื้อ แต่ตัดออกเลยได้ไหม เพราะตอนนั้นเราแค่รู้สึกว่า ถึงจะเป็นหรือไม่เป็นอะไรร้ายแรงก็อยากจะเอาก้อนนี้ออกอยู่แล้ว สุดท้ายคุณหมอก็ผ่าตัดออกให้ และก่อนส่งก้อนนั้นไปตรวจ โดยคุณหมอยังย้ำคำเดิมว่า หน้าตามันดูไม่ค่อยดีเลย มีโอกาสเป็นเนื้อร้ายได้ 50-50 นะ เพราะลักษณะก้อนที่ไม่เรียบและมีราก ฯลฯ ซึ่งเราก็ยังค้านในใจว่า ‘ไม่มีทางหรอก ไม่ใช่มะเร็งแน่ๆ’  

“หลังผ่านไปเพียง 1 สัปดาห ก็ถึงวันนัดฟังผลชิ้นเนื้อ จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ 28 มีนาคม 2566 เราไปหาคุณหมอด้วยอารมณ์ชิลล์มาก โดยมีภาพในหัวเพียงภาพเดียวคือคุณหมอคงบอกว่า ไม่มีอะไร แล้วก็ให้กลับบ้านแหละ วันนั้นเป็นวันนัดล้างแผลพอดี ระหว่างที่พยาบาลกำลังล้างแผลอยู่ คุณหมอก็เดินเข้ามาด้วยสีหน้าที่ไม่ดีเท่าไร ก่อนจะพูดขึ้นว่า ‘ผลออกมาไม่ค่อยดีนะ อย่างที่หมอบอกว่า หน้าตามันไม่ค่อยน่าไว้ใจ ซึ่งผลก็คือมะเร็งเต้านม’ พอสิ้นเสียงคุณหมอ ส้มก็ช็อกไปเลย”

ความฝันติดปีก

“ย้อนหลังกลับไปในวัยเด็ก ส้มฝันมาตลอดว่าอยากเป็นแอร์โฮสเตส แต่พอโตขึ้นมา เราก็เริ่มรู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นอะไรที่ไกลตัวเรามาก และคิดว่าตัวเองก็คงทำไม่ได้หรอก จึงตัดสินใจไปเรียนรัฐศาสตร์ เพราะตั้งใจว่า หากจบออกมาก็อยากทำงานราชการใกล้บ้านที่ต่างจังหวัด จะได้อยู่กับแม่ และด้วยครอบครัวเป็นสายข้าราชการอยู่แล้ว ลูกพี่ลูกน้องหลายคนก็ทำงานราชการ ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับงานราชการอยู่ 1 วัน และได้คำตอบกับตัวเองเลยว่า เราน่าจะไม่เหมาะกับงานราชการ จึงหันไปทำงานโรงแรม 

“ระหว่างที่ทำงานโรงแรมก็จะมีแต่คนทักเราตลอดว่า ‘ลูกเรือมากเลย’ ซึ่งน่าจะมาจากคาแรกเตอร์ส่วนตัว บางคนก็ถามว่า ‘ไม่อยากเป็นแอร์เหรอ ลุคเหมือนแอร์เลย’ พอถูกถามบ่อยครั้งเข้า เราก็เริ่มกลับมาถามตัวเองว่า เอ๊ะ! หรือนั่นอาจจะเป็นทางของเรา จึงตัดสินใจลาออกมาสู้ดูสักตั้ง สมัครเข้าเรียนภาษาอังกฤษอย่างหนักกว่า 1 ปีเต็ม และมุ่งมั่นไปสอบ TOEIC จนผ่าน ก่อนจะลองสอบสัมภาษณ์และทดสอบ ซึ่งเพียงครั้งแรกก็ได้เป็นแอร์โฮสเตสตามที่ตั้งใจ เพื่อนๆ หลายคนที่รู้เส้นทางกว่าจะมาเป็นแอร์ของเรา ก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Charisma มาก… 

“หลังจากเราได้เป็นแอร์ เราก็ซื้อบ้านและรบเร้าให้แม่เกษียณเพื่อออกมาอยู่บ้านเฉยๆ จนสำเร็จ โดยเราจะเป็นคนรับผิดชอบดูแลทุกอย่าง ซึ่งที่ผ่านมาก็ลงตัวมาก จนมารู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ในหัวเราไม่มีความกลัวตายอยู่เลย แม้ในวันนั้นมะเร็งในความคิดของเราจะเท่ากับตายก็เถอะ มีแต่คำถามว่า ถ้าแม่รู้ว่าเราเป็นมะเร็ง…แม่จะรู้สึกอย่างไร

“ด้วยความที่เราเป็นลูกสาวคนเดียว และแม่ก็เป็น Single Mom ที่ดูแลเราเพียงลำพัง จึงเหมือนว่าโลกทั้งใบของแม่ก็จะมีแค่เราเท่านั้น เราจึงเป็นห่วงแม่มาก กลัวแม่รู้แล้วจะเสียใจ กลัวแม่จะรู้สึกแย่ที่เราเป็นมะเร็ง อีกทั้งตอนนั้นบ้านก็ยังผ่อนไม่หมด แล้วถ้าเราเป็นอะไรไปสักคนแม่จะอยู่อย่างไร ฯลฯ ความคิดต่างๆ ถาโถมเข้ามาพร้อมกับคำถามที่ว่า นี่เรากำลังจะตายแล้วเหรอ? จนกระทั่งได้เสียงคุณหมอดังขึ้นและดึงสติเรากลับมาอีกครั้ง ‘ใจเย็นๆ จริงๆ ถ้าเราเป็นในระยะแรกๆ รักษาหายได้นะ ดูพยาบาลที่นั่งหน้าเคาน์เตอร์นั่นสิ เขาก็เป็นมะเร็งเต้านมเหมือนกัน ทุกวันนี้ก็ยังทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติเลย’ 

“เรามองพยาบาลที่หน้าเคาน์เตอร์ด้วยใจที่เบาขึ้น ก่อนจะออกจากห้องคุณหมอและเริ่มแจ้งข่าวไปที่แม่และแฟน เย็นวันนั้นเราก็นั่งคุยกันในครอบครัวจนได้โซลูชั่นร่วมกัน ใจที่หนักอึ้งก็เริ่มเบาสบายขึ้น  50 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นเราก็แจ้งไปทางบริษัท และได้รับอนุญาตให้ ‘พักงาน’ จนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยเป็นการหยุดงานแบบ Leave without pay คือ หยุดงานนานเท่าไรก็ได้ แต่ไม่ได้รับเงินเดือน ยังคงสภาพพนักงานของบริษัท และมีประกันกลุ่มซึ่งเป็นประกันที่บริษัทจัดทำขึ้นเพื่อมอบเป็นสวัสดิการให้แก่พนักงาน”

ก้าวแรกสู่การรักษา  

“เนื่องจากการผ่าตัดในครั้งแรกเป็นเพียงการผ่าตัดศัลยกรรมธรรมดา พอผลออกมาว่าเราเป็นมะเร็ง จึงจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำในครั้งที่สอง เพื่อคว้านเนื้อรอบก้อนมะเร็งออก รวมถึงต้องเช็กว่ามะเร็งได้ลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองหรือยัง ซึ่งได้คิวผ่าตัดครั้งที่สองในวันที่ 30 เมษายน 2566 และด้วยความที่ก้อนมะเร็งนั้นอยู่บริเวณใกล้ต่อมน้ำเหลืองมาก ทำให้ฉีดสีเพื่อตรวจสอบว่ามะเร็งลุกลามไม่ได้ คุณหมอจึงต้องใช้วิธีการสังเกตแทน ซึ่งพบว่าต่อมน้ำเหลืองโตประมาณ 2 ต่อม คุณหมอจึงผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด ก่อนจะส่งไปย้อมที่แล็บ ผลก็เป็นไปตามที่คาดคือมะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว 2 ต่อม จึงจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 2B และเป็นมะเร็งพันธุ์ที่ดุที่สุด คือ Triple Negative ซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมที่เซลล์มะเร็งไม่มีตัวรับอีสโทรเจน (ER) ไม่มีตัวรับโพรเจสเทอโรน (PR) และไม่มี HER2 จึงรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนไม่ได้ และจำเป็นต้องให้คีโมและฉายแสงแบบเต็มลิมิต คือ คีโมทั้งหมด 16 เข็ม ตามด้วยฉายแสง 30 ครั้ง   

“หลังพักฟื้นจากผ่าตัดครบ 1 เดือน ก็เข้าสู่กระบวนการการให้คีโม โดยคุณหมอจะให้คีโม 2 สูตร สูตรแรกทั้งหมด 4 เข็ม ทุก 3 สัปดาห์ จากนั้นก็จะให้สูตร 2 ทั้งหมด 12 เข็ม ทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งกว่าจะจบคอร์สคีโม ยอมรับว่าเหนื่อยหนักมาก โดยเฉพาะช่วง 3-5 วันแรกหลังให้คีโม แต่คุณหมอก็จะมียาแก้อาการข้างเคียงมาให้หมด ไม่ว่าจะเป็นยาแก้คลื่นไส้ ยาระบาย ยานอนหลับ ฯลฯ คุณหมอกำชับว่า หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องกินยา นอกจากผมร่วง ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของการให้คีโมเข็มแรกแล้ว เราก็มีแค่อาการคลื่นไส้และเพลียหนักมาก จนรู้สึกเลยว่าเวลาในแต่ละวันช่างนานเหลือเกิน และเริ่มมีความคิดแวบเข้ามาให้หัวว่า อาจจะต้องทิ้งงานในฝันอย่างการเป็นลูกเรือแล้วละมั้ง แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้ กัดฟันดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ จนผลเลือดผ่านทุกครั้ง ไม่มีครั้งไหนที่ต้องเลื่อนการให้คีโมเลย”

กินให้หนัก หลับให้พอ

“กินไข่ขาววันละ 8 ฟอง ไม่ไหว เราก็หาโปรตีนจากอาหารอื่นๆ เสริมไปเรื่อย เช่น เนื้อสัตว์ ผงไข่ขาว โปรตีนจากพืชบ้าง หรือบางวันก็สลับกลับมากินไข่ขาวบ้าง ฯลฯ และพยายายามจะกินให้ครบ 3 มื้อ ถึงกินไม่ได้ก็พยายามฝืนกิน หรือถ้ากินไม่ลงจริงๆ ก็พึ่งอาหารทางการแพทย์ชงดื่มบ้าง เพราะตอนนั้นแค่จะกลืนน้ำเปล่ายังคลื่นไส้เลย แต่ก็จะไม่บ่อย เราจะเน้นอาหารจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด  

“พอสัปดาห์ที่ 2-3 ร่างกายฟื้นตัว เริ่มกินได้ตามปกติ เราก็จะกินทุกอย่าง กินเยอะมาก เน้นอาหารที่สุก สะอาด งดเว้นแต่ผลไม้เปลือกบางหรือของหมักดอง นอกนั้นกินหมด กินให้ได้มากที่สุดเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว เพราะส้มเคยอ่านบทความทางการแพทย์บทความหนึ่งบอกไว้ว่า การให้คีโมก็เหมือนการให้ยาพิษเข้าร่างกาย เพื่อไปทำลายทั้งเซลล์ร้ายและเซลล์ดี ฉะนั้น การกินและการนอนจึงสำคัญมาก เพราะจะช่วยฟื้นฟูเซลล์ที่ถูกคีโมทำลายไป นั่นเองที่ทำให้ส้มพยายามกินให้ได้มากที่สุด และนอนหลับให้เพียงพอ สำคัญที่สุดคือพยายามไม่กดดันตัวเองจนทำให้เกิดความเครียด 

“เพราะผู้ป่วยมะเร็งเกือบทั้งหมดกินอาหารไม่อร่อยหรอก แต่ต้องกินเพื่อสู้กับการรักษา แต่บางคนก็อาจจะกดดันตัวเองมากเกินไป เช่น ต้องกินผักและปลาเท่านั้น หรือต้องต้มและนึ่งเท่านั้น ฯลฯ ยิ่งมีเงื่อนไขกับการกินมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เรากินได้น้อยลง และอาจจะเพิ่มความเครียดให้ตัวเองเปล่าๆ ฉะนั้น ระหว่างการรักษากินอะไรได้ กินไปก่อน จะได้มีแรงไปสู้กับคีโม

“อย่างที่รู้ๆ กันดีกว่า ผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุที่เสียชีวิตระหว่างการรักษามะเร็งนั้น สาเหตุไม่ได้มาจากตัวโรค แต่มักจะมาจากร่างกายสู้กับคีโมไม่ไหว ถ้าเรากินอาหารไม่ถึง ได้สารอาหารไม่เพียงพอ แน่นอนว่าร่างกายก็ฟื้นฟูได้ไม่ทันกับการรักษา นั่นเป็นเหตุผลให้ส้มพยายามกินให้ได้มากที่สุด และนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อร่างกายจะได้ฟื้นฟูสู้กับคีโมไหว”

ถอดปีก (เกือบ) ทิ้งฝัน

“หลังจากให้คีโมจบ เราก็เข้าสู่กระบวนการฉายแสงต่อ จำได้ว่าฉายแสงไปได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ร่างกายก็ยังไม่ดีขึ้น และเหมือนจะเหนื่อยมากกว่าเดิม เพราะเราไม่รู้ว่าการฉายแสงก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้เช่นกัน คิดแค่ว่าจบคีโม ร่างกายต้องดีขึ้น แต่พอร่างกายไม่ดีขึ้นอย่างที่คิดไว้ ก็เริ่มท้อ บอกกับตัวเองว่า ร่างกายเราคงไม่เหมาะกับงานลูกเรือแล้วละ เพราะงานนี้เป็นงานหนัก ต้องใช้ร่างกายเยอะ อีกทั้งยังต้องแข่งกับเวลา กดดัน และบ่อยครั้งเราต้องอดนอน กินไม่เป็นเวลา แน่นอนว่าหากร่างกายยังไม่เต็มร้อย ก็คงกลับไปทำงานนี้ไม่ได้ จึงตัดสินใจไปลาออก

“ยอมรับว่าเสียใจมาก เพราะนี่คืออาชีพในฝัน และกว่าเราจะมายืนตรงนี้ได้ก็ไม่ใช่ง่ายเลย แต่ก็ยื้อไว้ไม่ไหว เพราะร่างกายของเราดูจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ตรวจค่าเลือดก็ปกติ แต่อาการเหนื่อยไม่หายไปไหน ทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็หน้ามืด น้ำหนักก็สวิงขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างนั้นเราก็เริ่มเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ทุกอย่าง เช่น ไม่ชอบผักก็หันมากินผัก ไม่เคยออกกำลังกายก็หันมาเดินออกกำลังกาย และนอนหลับให้เพียงพอ ที่สำคัญจากที่เคยเป็นคนจริงจังในทุกเรื่อง เครียดง่าย ปล่อยวางไม่เป็น ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ กระทั่งจบการฉายแสงได้ประมาณ 2 เดือน ร่างกายกลับมาเป็นปกติ จนรู้สึกได้เองว่า อ้าว! ก็กลับมาปกติได้นี่นา นั่นทำให้เรากลับไปสมัครเป็นลูกเรืออีกครั้ง”  

มะเร็งในมุมมองนางฟ้า 

“สำหรับส้ม มะเร็งก็เหมือนเป็นบทเรียนบทหนึ่งที่ทำให้เราหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับสุขภาพและร่างกายตัวเองมากขึ้น ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและความคิดของตัวเองหลายอย่าง จากเมื่อก่อนจะชะล่าใจกับเรื่องสุขภาพมาก คิดว่ายังแข็งแรง อายุน้อย ใช้ร่างกายหนัก พักผ่อนน้อย กินอาหารไม่ค่อยเลือก เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนใหม่หมด เพราะเราไม่อยากกลับไปเป็นซ้ำแล้ว เพราะแม้มะเร็งในวันนี้จะเป็นแค่โรคโรคหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับโรคเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ที่รักษาได้ แต่ต้องยอมรับว่า กระบวนการรักษานั้นค่อนข้างหนักและเหนื่อย 

“ไม่น่าแปลกหรอกที่ผู้ป่วยหลายคนท้อ ขอยอมแพ้ และปฏิเสธการรักษากลางคัน เพราะผู้ป่วยทุกคนไม่ได้ต้องการแค่ ‘ยา’ จากคุณหมอ แต่พวกเราล้วนต้องการ ‘กำลังใจ’ และ ‘พลังบวก’ จากคนรอบข้างด้วย เพราะมะเร็งไม่ได้ทำร้ายแค่ร่างกาย แต่บางครั้งก็มีผลทำให้ ‘ใจ’ ของผู้ป่วยอ่อนแอลงไปด้วย

“แม้จะรู้แล้วว่า ‘สุขภาพจิตดี’ ‘การคิดบวก’ หรือ ‘การทำใจให้ไม่เครียด’ จะดีต่อตัวเราแค่ไหน แต่หลายครั้งมันก็ยากจริงๆ สำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายกำลังอ่อนล้าลงเรื่อยๆ นี่ทำให้คนรอบข้างก็สำคัญ ส้มก็อยากเป็นหนึ่งในนั้นที่จะช่วยส่งต่อพลังบวกให้ผู้ป่วยผ่านช่วงเวลายากๆ ไปให้ได้

“ส้มเชื่อว่า มันไม่สำคัญหรอกว่าเราจะมีเวลาเหลืออยู่เท่าไร แต่มันสำคัญที่ว่า เราใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นได้อย่างมีคุณภาพแค่ไหน ถ้าเราใช้เวลาที่เหลืออยู่ไปกับความเศร้าหรือความคิดลบๆ จะเหลือเวลามากแค่ไหนก็คงไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเราใช้เวลาที่มีอยู่จำกัดอย่างมีความสุขไปกับคนที่เรารักและครอบครัว น่าจะดีกว่า อย่าให้ความเศร้า ความกลัว ความกังวล มากินเวลาของความสุขในชีวิตเราเลย 

“แต่ก็ไม่ได้ห้ามให้ผู้ป่วยเศร้านะ เศร้าได้ เศร้าให้พอ เศร้าให้สุด แต่อย่าลืมให้เวลากับความสุขด้วย ผู้ป่วยบางคนรักษาหายแล้วนะ แต่ใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวว่ามะเร็งจะกลับมาตลอดเวลา อย่างนี้ก็คงไม่ไหว เมื่อไรที่ใจเราดิ่ง ให้ดึงขึ้นมาให้เร็วที่สุด อย่าอยู่กับตรงนั้นนาน ท้อได้แต่อย่าถอย ท้อให้สั้น แล้วเดินหน้าต่อ และพยายามอย่าคิดล่วงหน้าไปไกล อยู่กับปัจจุบันให้มีความสุข และวันหนึ่งถ้ามะเร็งจะกลับมาจริงๆ ก็แค่รักษาไป เพราะถ้าเรายังอยากมีลมหายใจ ทางเลือกเดียวก็คือสู้กับมันให้ได้–ไม่มีทางอื่น

#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

เดือนนี้ TBCC ชวนทุกคนมาฟังเรื่องเล่าของนางฟ้าจาก '
แชร์ไปยัง
Scroll to Top