
#หัวเราะสร้างสุข
#หัวเราะปลุกผิวสวย
#หัวเราะลดซึมเศร้า
#หัวเราะลดความเครียด
#หัวเราะเพิ่มภูมิคุ้มกัน
#หัวเราะช่วยย่อยอาหาร
#หัวเราะช่วยการขับถ่าย
#หัวเราะบรรเทาอาการปวด
#หัวเราะช่วยคลายกล้ามเนื้อ
#หัวเราะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
#หัวเราะช่วยกระตุ้นหัวใจและหลอดเลือด
#หัวเราะช่วยป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
#หัวเราะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทสมอง
ฯลฯ
สารพัดสรรพคุณของการหัวเราะที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้ว เดือนนี้ TBCC จึงขอชวนทุกคนมาร่วมต้อนรับ ‘วันหัวเราะโลก’ (World Laughter Day) ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤษภาคม ด้วย 10 เทคนิคเปลี่ยน ‘เสียงหัวเราะ’ เป็นเกราะป้องกันโรคไปด้วยกัน
‘หัวเราะบำบัด’ (Laughing Therapy) คือ ใช้การหัวเราะเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูสุขภาพทางกายและจิตใจ ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายภายใน โดยจะเน้นให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานขับเคลื่อนไปได้ตามปกติ เริ่มจากการฝึกหายใจให้ถูกต้องไปพร้อมการเคลื่อนไหวของร่างกาย จากนั้นฝึกหัวเราะด้วยการเปล่งเสียงต่างๆ กัน คือ โอ-อา-อู-เอ นอกจากนี้ยังมีท่าหัวเราะบำบัดอื่นๆ ที่ให้ประโยชน์ในการบำบัดที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. ท้องหัวเราะ ‘โอ..โอะๆๆๆ’
- ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย
- กางแขนออกไปข้างลำตัว งอแขนเล็กน้อย
- กำมือทั้งสองข้างโดยชู ‘นิ้วหัวแม่มือ’ ขึ้น
- ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ และกักลมไว้
- จากนั้นค่อยๆ เปล่งเสียง ‘โอ…โอะๆๆๆ’ ดังๆ
- ปล่อยลมหายใจออกช้าๆ พร้อมขยับแขนขึ้นลง
ประโยชน์ :
ท่านี้จะช่วยให้กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ และไตเคลื่อนไหว ส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารทำงานดีขึ้น ช่วยบำบัดโรคลำไส้อักเสบ โรคกระเพาะอาหาร รวมถึงท้องผูกและท้องเสีย อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ที่มีภาวะเบื่ออาหารและอ้วนมีพุงอีกด้วย

2. อกหัวเราะ ‘อา…อะๆๆๆ’
- ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย
- กางแขนออกไปข้างลำตัวคล้ายนกกำลังกระพือปีก
- หงายมือขึ้น ปล่อยมือตามสบาย
- ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าลึกๆ กักลมไว้
- จากนั้นค่อยๆ เปล่งเสียง ‘อา…อะๆๆๆ’ ดังๆ
- พร้อมกับปล่อยลมหายใจออกช้าๆ และกระพือแขนขึ้นลง
ประโยชน์ :
ท่านี้ช่วยทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หัวใจ ปอด และไหล่ได้ขยับเขยื้อน ช่วยบำบัดโรคความดัน โรคหัวใจ โรคปอด และอาการเจ็บแน่นหน้าอก เส้นเลือดหัวใจตีบ รวมถึงโรคหัวใจขาดเลือด อีกทั้งยังช่วยให้การเต้นของหัวใจทำงานปกติ การสูบฉีดและการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น

3. คอหัวเราะ ‘อู…อุๆๆๆ’
- ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย
- ยกแขนตั้งฉาก โดยศอกแนบลำตัว มือชี้ไปข้างหน้า
- งอนิ้วนางกับนิ้วก้อยเข้าหาตัว ยกนิ้วหัวแม่มือขึ้น
- ส่วนนิ้วชี้กับนิ้วกลางชี้ไปข้างหน้า ลักษณะชิดกันเหมือนท่ายิงปืน
- ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วกักลมไว้
- ค่อยๆ เปล่งเสียง ‘อู…อุๆๆๆ’ ดังๆ
- จากนั้นค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออกช้าๆ
- พร้อมกับพุ่งหรือแทงมือไปข้างหน้า


ประโยชน์ :
ท่านี้จะกระตุ้นให้บริเวณลำคอสั่น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ คออักเสบ และปวดคอ เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาจากการใช้เสียงเยอะ เช่น ครู อาจารย์ นักพูด นักร้อง นักแสดง ฯลฯ เพราะช่วยให้คอโล่งและเป็นการดูแลรักษาเสียงได้ทางหนึ่ง

4. ใบหน้าหัวเราะ ‘เอ…เอะๆๆๆ’
- ปล่อยตัวยืนตามสบาย
- ค่อยๆ ยกมือขึ้นมาตามถนัด
- ตามองตรง สูดลมหายใจลึกๆ
- พร้อมขยับทุกนิ้ว ทั้งหัวแม่มือ ชี้ กลาง นาง และก้อย
- จากนั้นเปล่งเสียง ‘เอ…เอะๆๆๆ’ ดังๆ
ประโยชน์ :
ท่านี้เมื่อเปล่งเสียง ‘เอ…’ ออกมา ใบหน้าจะดูคล้ายกำลังฉีกยิ้มโดยอัตโนมัติ ทำให้ช่วยคลายความเครียด ลดอาการปวดศีรษะและอาการปวดสมอง

5. จมูกหัวเราะ ‘ฮึๆๆๆ’
- เริ่มจากการย่นจมูกขึ้น
- ทำเสียง ‘ฮึๆๆๆ’ ในจมูกเหมือนม้า
ประโยชน์ :
ท่านี้ช่วยไล่สิ่งสกปรกในจมูกออกมา ช่วยบำบัดอาการเกี่ยวกับภูมิแพ้ โรคไซนัส และอาการเป็นหวัดได้เป็นอย่างดี

6. ตาหัวเราะ ‘อ่อยๆๆๆ’
- เริ่มจากกะพริบตาถี่ๆ
- กรอกตาขึ้นลงเป็นวงกลม
- พร้อมเปล่งเสียง ‘อ่อยๆๆๆ’
- เล่นหูเล่นตา มองซ้ายทีขวาที
ประโยชน์ :
ท่านี้ช่วยให้มีนํ้าหล่อเลี้ยงดวงตา นอกจากจะช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายดวงตาได้ทางหนึ่ง เหมาะกับผู้ที่ใช้ดวงตาหนัก เช่น คนที่จ้องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือต้องเพ่งตานานๆ ระหว่างวัน

7. ไหล่หัวเราะ ‘เอ…เอะๆๆๆ’
- ยืนตัวตรง แขนแนบลำตัว กางขาเล็กน้อย
- ส่ายไหล่ไปมา คล้ายกำลังว่ายนํ้าท่าฟรีสไตล์
- พร้อมเปล่งเสียง ‘เอ…เอะๆๆๆ’
ประโยชน์ :
ท่านี้จะช่วยบริหารช่วงไหล่ และลดปัญหาเกี่ยวกับไหล่โดยเฉพาะ

8. สมองหัวเราะ ‘อึๆๆๆ’
- เริ่มด้วยการนั่งหรือยืนตามสบาย
- จากนั้นปิดปากแล้วเปล่งเสียง ‘อึๆๆๆ’
ประโยชน์ :
โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อเกิดความเครียดเกือบทั้งหมดมักจะปิดปาก นั่นส่งผลให้เกิดความดันขึ้นสมอง ท่านี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะระหว่างที่เราเปล่งเสียง ‘อึๆๆๆ’ นั้นจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนขึ้นไปนวดสมอง เมื่อทำท่านี้เป็นประจำ นอกจากจะรู้สึกว่าสมองโล่ง โปร่งสบายแล้ว ยังช่วยให้สมองสดใส ห่างไกลจากความเครียดอีกด้วย

9. หัวเราะทั้งตัว
- นั่งยองๆ คล้ายท่ากบกระโดด
- จากนั้นกระโดดพร้อมส่งเสียงหัวเราะแบบสุดๆ ในสไตล์ของเราเองอย่างต่อเนื่อง 1 นาที
- เหมาะกับการทำพร้อมกับเพื่อนๆ
- โดยเอามือสองข้างของเราไปตบมือสองข้างของเพื่อนตามจังหวะ
ประโยชน์ :
เมื่อฝึกท่านี้อย่างต่อเนื่อง จะพบว่าทุกส่วนของร่างกายจะโล่ง โปร่ง เบา และสบายขึ้น ทั้งนี้ควรทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีแบบองค์รวม ทั้งการบริโภคที่ดี การนอนหลับพักผ่อนที่ได้คุณภาพ และออกกำลังกายที่เหมาะสมด้วย

10. ชวนเพื่อนหัวเราะ
เทคนิคนี้ก็สำคัญ เพราะการหัวเราะตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปได้ผลมากกว่าการหัวเราะคนเดียว นอกจากจะทำให้เราสนุก และยืดเวลาหัวเราะได้นานขึ้นแล้ว การหัวเราะกับคนอื่นยังช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขได้ดีกว่า เพราะไม่เป็นการฝืนหัวเราะคนเดียวนั่นเอง
.
