OUR STORIES
ทำไมเราจึงให้ความสำคัญกับการก่อตั้งชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นตัวแทนในระดับประเทศ?
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยใหม่ปีละประมาณ 3,000 คน และมีผู้ป่วยที่ใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งเต้านมประมาณ 34,000 คน (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2556) เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีชีวิตอยู่ได้นานเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ในประเทศไทยจึงมีผู้ป่วยทั้งที่อยู่ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยที่จบการรักษาแล้ว และผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมรวมอยู่เป็นจำนวนมาก บางส่วนของบุคคลเหล่านี้ รวมทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้มีจิตอาสา ได้มีการรวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นที่ปรึกษา ให้กำลังใจ และให้ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้ป่วยใหม่ อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังขาดข้อมูล หรือความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยบางรายหันไปรักษาด้วยวิธีทางเลือกอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่การรักษามาตรฐานที่มีข้อมูลทางการแพทย์ ยังคงมีผู้ป่วยที่แยกตัวโดดเดี่ยว และหมดความหวังในชีวิต การที่กลุ่มช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่แยกกันทำงานในโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้มีทรัพยากรที่จำกัด ความสนใจและการช่วยเหลือจากสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชนยังมีไม่เพียงพอ ทำให้ศักยภาพในการทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยมีความจำกัดและไม่เติบโตดังเช่นกลุ่มช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศอื่นๆ ทั้งนี้เราจึงมีความมุ่งหวังว่าการมีชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ จะสามารถพัฒนาศักยภาพในการทำงานเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยต่อไป