“ใจเราสำคัญที่สุด หากใจเราไม่ยอมแพ้ เราก็จะไม่แพ้…
ไม่ใช่แค่มะเร็ง แต่ทุกๆ อุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”
โบ-ธนพร แผ่สุวรรณ อดีตแอร์โฮสเตสสายการบินดัง เจ้าของธุรกิจจำหน่ายเสื้อให้นมออนไลน์วัย 41 ปี ที่หายขาดจากมะเร็งเต้านมมากว่า 14 ปี ด้วยหัวใจนักสู้ไม่ถอย โดยก่อนหน้าที่เธอจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ‘ป๊า’ หรือคุณพ่อของเธอป่วยหนักด้วยโรค มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) เกือบเอาชีวิตไม่รอด เธอต้องเปลี่ยนบทบาทจากลูกสาวคนโตของบ้านมาเป็นเสาหลักครอบครัวโดยฉับพลัน
“สิ่งแรกที่โบทำคือบอกกับตัวเองและทุกๆ คนในครอบครัวว่า เราจะสู้ ป๊าต้องไม่ตาย เราจะไม่มีวันท้อหรือถอดใจเด็ดขาด จากนั้นโบก็เดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อให้ป๊ามีชีวิตรอด ซึ่งในที่สุดก็ทำสำเร็จ จากที่ท่านนอนติดเตียง เดินไม่ได้ แขนข้างขวาหัก โดนเจาะคอถึง 2 ครั้ง เวลาจะพูดแต่ละทีก็ทรมานมาก ทั้งยังเข้าห้องไอซียูอยู่บ่อยครั้ง ป๊านอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกว่า 4 เดือนเต็ม ก็ค่อยๆ ดีขึ้นจนสามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ มันยิ่งกว่าปาฏิหาริย์”
มัจจุราชที่ชื่อว่า ‘มะเร็ง’
หลังการต่อสู้เพื่อยื้อแย่งชีวิตคนที่เธอรักที่สุดคนหนึ่งจากมัจจุราชที่ชื่อว่า ‘มะเร็ง’ สิ้นสุดลงได้เพียง 3 เดือน เธอก็พบว่าตัวเองกลับกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 2A ในวันที่เธอกำลังจะได้รับการเลื่อนขั้นเป็น Supervisor ของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines)
“ระหว่างที่เรากำลังบินจากญี่ปุ่นไปฮาวาย หลังจากเสร็จภารกิจต่างๆ แล้วเราก็มานอนพักอยู่บน Crew Bunk ซึ่งเป็นที่พักสำหรับลูกเรือตามปกติ จู่ๆ ก็ถูกปลุกขึ้นมาด้วยอาการรู้สึกเจ็บจึก! คล้ายมีอะไรแหลมๆ มาตอกลงไปที่หน้าอกด้านซ้ายของเรา แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงมะเร็งเลย แค่เก็บความสงสัยไว้ พอกลับมาเมืองไทยก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษารุ่นพี่ที่ทำงานด้วยกัน เพราะลังเลที่จะขอลาหยุดเพื่อไปตรวจร่างกาย ด้วยเหตุผลว่าช่วงนั้นกำลังจะได้รับการโปรโมตเลื่อนตำแหน่ง และเราก็รอเวลานี้มานาน ตั้งใจทำงานไม่เคยขาด ลา มาสายมาก่อนเลย จนพี่ท่านนั้นต้องเตือนสติว่า ‘อย่าห่วงเรื่องโปรโมต จำไว้นะ ในทุกอาชีพ สุขภาพสำคัญกว่าทุกสิ่ง จะสำเร็จไม่สำเร็จอยู่ที่ตัวเรา ดูแลตัวเราก่อน’ นั่นจึงทำให้เรายอมไปตรวจร่างกายแต่โดยดี“
เธอตัดสินใจไปตรวจร่างกายหลังจากนั้นไม่นาน โดยในครั้งแรกทางแพทย์ใช้วิธีเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจและนัดกลับมาฟังผลในอีก 4 วันถัดมา แต่ยังไม่ทันถึงวันนัด ทางโรงพยาบาลก็โทรมาแจ้งว่าผลออกแล้วและอยากให้เธอไปฟังผลพร้อมกับใครสักคน โดยกำชับว่า ‘อย่ามาคนเดียว’
“วันนั้นก็พาแฟนไปด้วย พอเข้าไปฟังผลประโยคแรกที่คุณหมอบอกก็คือ ชิ้นเนื้อหน้าตาไม่ค่อยดีจึงต้องขอผ่าดูอีกครั้ง ตอนนั้นเป็นการผ่าตัดเล็ก โดยฉีดยาชาเฉพาะจุด แล้วผ่าคว้านเอาก้อนเนื้อก้อนนั้นไปตรวจ ใช้เวลาผ่าตัดประมาณครึ่งชั่วโมง พอผ่าเสร็จก็กลับบ้าน แล้วอีกวันถัดมาก็กลับมาฟังผล ซึ่งผลก็ออกมาแน่ชัดว่าเราเป็นมะเร็ง”
ขอบคุณเลือดนักสู้จาก ‘ป๊า’
ด้วยบทบาทของหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลแม่และน้องสาวสองคน รวมถึงคุณพ่อที่ยังนอนพักฟื้นอยู่ ทำให้เธออ่อนแอไม่ได้ หลังจากรู้ตัวว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เธอก็ไม่รอช้าที่จะส่งจดหมายลาพักจากงานที่เธอรัก ก่อนจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการรักษาตัวอย่างเต็มที่
“ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าโชคดีได้ไหม แต่รู้สึกว่าช่วงเวลาที่ป๊าเป็นมะเร็ง นั่นคือที่สุดในชีวิตเราแล้ว เราได้ผ่านช่วงที่แย่ที่สุดในชีวิต ร้องไห้หนักที่สุดในชีวิตมาแล้ว พอมารู้ว่าตัวเองเป็นบ้างจึงรู้สึกเบาไปเลย ที่สำคัญความเข้มแข็งของป๊าในการต่อสู้มะเร็งตลอด 4 เดือนเต็ม ที่นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล มันทำให้เราเห็นและเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ป๊าเป็นหนักมากยังหายได้เลย เราเป็นแค่นี้เอง ก็ต้องหายได้เหมือนกัน”
หลังผ่าตัดเล็กครั้งแรกผ่านไปไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ หมอก็นัดผ่าซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ ใช้วิธีการดมยาสลบก่อนผ่าคว้านเนื้อรอบๆ ก้อนเนื้อที่อาจจะมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ออกไป รวมถึงเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้มาตรวจ เพื่อให้แน่ใจว่ามะเร็งยังไม่ได้ลุกลามมาถึง ซึ่งการผ่าตัดก็ผ่านไปด้วยดี
“ระหว่างพักฟื้นให้แผลหายดี โบก็มีโอกาสได้พบกับคุณหมอที่รักษาคุณพ่อ พอท่านรู้ว่าเราเป็นมะเร็ง ก็พาเราไปทำความรู้จักกับ ผศ. พญ.จารุวรรณ เอกวัลลภ แพทย์อายุรศาสตร์โรคมะเร็งของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งท่านมีความเชี่ยวชาญด้านเคมีบำบัดเป็นพิเศษ และกรุณาจัดคอร์สเคมีบำบัดให้ 4 คอร์ส ก่อนจะส่งตัวเราไปฉายแสงต่ออีก 25 ครั้ง”
ผ่านไปได้…ถ้าเราเข้าใจ
8 เดือนเต็มในการรักษาตัว เธอค้นพบว่าสิ่งสำคัญและจำเป็นนอกเหนือจากการรักษาโรคที่รวดเร็วและตรงจุดแล้ว ‘ความเข้าใจ’ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยทุกคนผ่านมะเร็งไปได้อย่างไม่ทุกข์ทรมานใจนัก
“มะเร็งเต้านมครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ เพราะคุณยายของโบเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม และโชคดีมากที่มะเร็งนั้นข้ามรุ่นแม่มาเกิดกับโบแทน เพราะโบเชื่อว่าตัวเองรับมือและผ่านมันไปได้ดีกว่าแม่ที่ยังมีความเชื่อว่า มะเร็ง = ตาย เพราะสำหรับโบแล้ว มะเร็ง = หายได้ แค่ต้องใช้ความเข้าใจและจัดการมันให้ตรงจุด เราก็จะชนะมะเร็งได้…ไม่ยาก
“นั่นทำให้ที่ผ่านมา โบไม่เคยกลัวมะเร็งเลยสักครั้ง ครั้งเดียวที่โบร้องไห้ให้กับมัน ก็คือตอนสิวเห่อขึ้นเต็มหลังเพราะอาการข้างเคียงจากการรักษาที่เราคาดไม่ถึง มันอาจจะฟังดูตลกนะ แต่มันคือเรื่องจริง นอกนั้นก็ไม่มีอะไรยากเลยในการก้าวข้ามมะเร็งในครั้งนี้ ตรงกันข้ามโบรู้สึกว่าธรรมดามากๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดซ้ำๆ หรืออาการข้างเคียงอย่างผมร่วง ท้องเสีย ท้องผูก หรืออารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว เราจัดการกับมันได้หมด เพราะเราหาข้อมูลจนรู้ว่าช่วงไหนของการรักษา เราจะต้องเผชิญกับอะไร พอรู้และเข้าใจแล้ว เราก็แค่เตรียมพร้อมรับมือ”
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามะเร็งไม่ใช่แค่โรคที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจผู้ป่วยเท่านั้น แต่มันยังลุกลามไปกัดกร่อนจิตใจของคนรอบข้าง ครอบครัว โดยเฉพาะ ‘แม่‘ ผู้หญิงที่เธอรักและรักเธอ
“ช่วงนั้นทุกคนในบ้านจิตใจบอบช้ำมาอย่างหนักจากช่วงที่ป๊าเป็นมะเร็ง พอมารู้ข่าวเราเป็นมะเร็งอีก มันเหมือนซ้ำรอยเดิม ทุกคนห่อเหี่ยวจนเรารู้สึกได้ โดยเฉพาะ ‘แม่’ ฉะนั้น สิ่งที่โบต้องทำไปพร้อมๆ กับการรักษาตัวเองก็คือ ทำทุกอย่างให้ทุกคนรู้สึกว่าเราปกติ แข็งแรง กินได้ ออกกำลังกาย ยิ้มแย้ม ร่าเริง สดใส ฯลฯ เพื่อดึงความเข้มแข็งของทุกคนกลับคืนมาอีกครั้ง และสร้างความมั่นใจให้เขารู้สึกว่า มะเร็งจะไม่พรากใครจากครอบครัวเราไปอย่างแน่นอน”
ของขวัญหลังพายุลูกใหญ่
พอรักษาตัวจนหายดี เธอกลับไปทำหน้าที่ ‘ลูกเรือ’ ให้กับสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ และได้เลื่อนตำแหน่งอย่างที่หวังไว้แทบจะทันที และสองปีหลังจากนั้นเธอตัดสินใจแต่งงานกับผู้ชายที่ยืนเคียงข้างเธอมาตลอด ก่อนจะตัดสินใจทิ้งบทบาทแอร์โฮสเตสมาทำหน้าที่ ‘แม่บ้าน’ เต็มตัวในปีที่ 8 ของการทำงาน
“ข้อดีของการเป็นมะเร็งอย่างหนึ่งคือมันทำให้เราเห็นว่าใครรักและปรารถนาดีกับเราบ้าง จำได้เลยว่าหลังจากคุณหมออนุญาตให้กลับไปทำงาน เราได้พบมิตรภาพดีๆ มากมาย ไม่ว่าจากเพื่อน หัวหน้า รุ่นพี่ รุ่นน้อง ทั้งที่รู้จักและไม่เคยรู้จัก บางคนนำหนังสือให้กำลังใจมาหย่อนไว้ในกล่องจดหมาย มีการ์ดใบเล็กๆ เขียนว่า สู้ๆ นะคะพี่โบ หลายคนแค่เดินผ่านก็ยกมือไหว้ ทักทายเรา ยิ้มให้เรา นี่คือของขวัญที่เราไม่เคยคิดฝัน
“แต่คนที่ทำให้เรารู้สึกว่าโชคดีที่สุด…ที่ชีวิตนี้เราได้เกิดมาเจอ นอกจากพ่อและแม่ก็คือ ‘สามี’ ผู้ชายที่เคียงข้างเรามาเสมอและไม่เคยปริปากบ่น ในวันที่เคมีบำบัดทำให้ผมเราร่วง สิ่งที่เขาทำก็คือเสิร์ซหาข้อมูลวิกผมว่าแบบไหนสวย แบบไหนดี จูงมือเราไปร้านวิกที่ดีที่สุด ช่วยเลือกทรงและจ่ายเงินให้เสร็จสรรพ ยิ่งไปกว่านั้นอีก 2 ปีถัดมา เขาก็ขอเราแต่งงานโดยไม่ลังเลหรือสนใจว่าเราจะหายขาดจากมะเร็งไหม หรือเราจะมีลูกให้เขาได้หรือเปล่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่เรารู้สึกขอบคุณจนถึงทุกวันนี้”
โจทย์ใหม่…ท้าทายชีวิต
แม้การรักษาจะสิ้นสุดลง แต่เธอก็ยังต้องกินยาต้านฮอร์โมน ‘ทามอกซิเฟน’ (Tamoxifen) ต่อเนื่องมาอีก 5 ปีเต็ม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำในอนาคต และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลังการแต่งงานเธอไม่มีความคิดที่อยากจะมีลูกเลย
“การมีลูก…นับเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิตแล้วสำหรับโบ เหตุผลแรกคือเราไม่อยากให้ลูกได้รับเอฟเฟกต์ใดๆ จากยา หลังจากกินยาต้านฮอร์โมนครบกำหนด 5 ปีแล้ว เราก็ยังรอ Washout period ต่ออีก 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่ายาต่างๆ ในร่างกายเรานั้นหมดฤทธิ์แล้วจริงๆ
“เหตุผลที่สอง อย่างที่รู้กันดีกว่าพอผู้หญิงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายเราจะผันผวน ทำให้เราค่อนข้างกังวลว่ามะเร็งจะกลับมาอีกไหม เพราะถ้ากลับมานั่นหมายถึงความเสี่ยงที่ลูกของเราจะไม่มีแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นที่สุด ทำให้ก่อนจะตัดสินใจมีลูก ทั้งโบและสามีจึงใช้เวลาหาข้อมูลนานเป็นปีๆ และปรึกษาหมอ 4 ท่าน เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจมีลูกของเราจะไม่ทำให้ลูกและเราเป็นอันตรายใดๆ ซึ่งในที่สุดมันก็ผ่านมาได้ด้วยดี”
บนเส้นทางนักสู้
ทุกวันนี้ โบใช้ชีวิตในฐานะคุณแม่ลูกสองอย่างมีความสุขกับผู้ชายที่รักและปรารถนาดีกับเธอเสมอ ทั้งยังไม่เคยละเลยการดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเอง รวมไปถึงคนรอบข้างอย่างที่เธอเคยทำมาเสมอ
“โบเชื่อว่ามะเร็งก็คือส่วนหนึ่งของร่างกายเรานี่แหละ เป็นเซลล์ที่เกิดความผิดปกติขึ้นมา เมื่อเราดูแลร่างกายไม่ดี เช่น ทำงานหนัก แต่กินอาหารไม่มีประโยชน์ พร่องโภชนาการ ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ มะเร็งก็จะส่งสัญญาณเตือนให้เราหันมาดูแลสุขภาพร่างกาย ฉะนั้น เมื่อเป็นมะเร็งอย่าไปกลัว แต่ให้ ‘สู้’ อย่าถอย ทุกอย่างมันอยู่ที่ ‘ใจ’ เราเอง ถ้าใจเราเข้มแข็งซะอย่าง รับรองว่าเราชนะได้ทุกเรื่อง เพราะไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือกว่าพลังจากใจของเราเอง Hope is much stronger than fear”
#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC