
“มะเร็งคือข้อสอบ…
ที่เราบอกตัวเองซ้ำๆ ว่า
เราต้องทำให้ได้
เราต้องพยายามผ่านข้อสอบนี้
ไปให้ได้ด้วยตัวเอง”
.
ธนัญชญา จอมพิพัฒพงศ์ หรือ ‘ครูพี่หนิง’ ของเด็กๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนวัดศรีวิเทศสังฆาราม จังหวัดสงขลา อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ ‘มะเร็ง’ ไม่อาจพรากจิตวิญญาณความเป็นครูไปได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้แม้เธอจะอยู่ระหว่างการให้คีโม แต่ก็ยังไม่วายดั้นด้นไปสอนเด็กๆ ยิ่งไปกว่านั้น ‘คุณแม่’ (ครูจริยา จอมพิพัฒพงศ์) ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการครูก็ยังตามมาช่วยสอนด้วย เพราะความเป็นห่วงลูกสาว กลายเป็นคลิปไวรัลน่ารักๆ ‘สอนแทนลูก’ ที่สร้างความประทับใจและรอยยิ้มไปทั่วโลกโซเชียลอยู่ช่วงหนึ่ง
“ระหว่างที่เรารักษาตัวอยู่นั้น เด็กๆ ก็มักจะวิดีโอคอลมาถามไถ่และให้กำลังใจเราเสมอ ไม่ว่าจะเป็น คิดถึงครูพี่หนิงนะ, สู้ๆ นะครู, กลับมาสอนเร็วๆ นะครู ฯลฯ เหล่านี้มันทำให้เราฮึดสู้ พอผ่านการให้คีโมเข็มที่ 2 เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ก่อนจะให้คีโมเข็มต่อไป ด้วยความที่ร่างกายของเราเริ่มฟื้นตัวจากยาเคมี เดินเหินได้เกือบปกติบวกกับความคิดถึงเด็กๆ จึงบอกแม่ว่า ‘จะกลับไปสอนแล้วนะ’ จากที่แม่จะปรามตลอดว่า อย่าไป! เพราะภูมิคุ้มกันของเรายังไม่ปกติ กลัวว่าพอไปเจอคนเยอะๆ แล้วจะติดเชื้อกลับมา แต่วันนั้นแม่คงเห็นถึงความตั้งใจของเราจริงๆ นอกจากจะไม่ห้ามแล้วยังตามไปช่วยสอนเด็กๆ ด้วย (ยิ้ม) และทางผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของแม่มาก่อนก็ใจดีมาก อนุญาตให้แม่มาช่วยสอน ทำให้เราได้กลับมาสอนเด็กๆ อีกครั้ง

“จำได้เลยว่า พอเด็กๆ เห็นเราครั้งแรกต่างตะโกนเรียก ‘ครูพี่หนิงงงง…’ ดังเจี๊ยวจ๊าวพร้อมวิ่งกรูกันเข้ามาจะกอดเรา แต่ถูกแม่ห้ามไว้เสียก่อน (หัวเราะ) เพราะภูมิคุ้มกันตอนนั้นก็ยังไม่ดีพอ แต่ด้วยความไร้เดียงสาของเด็กๆ ก็พยายามคะยั้นคะยอแม่ว่า ถ้าไม่ให้กอด งั้นหนูขอจับมือครูได้ไหม? ตอนนั้นเราแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ และบอกตัวเองเสมอว่า…

“เรายอมแพ้ไม่ได้
ต้องสู้กับมะเร็งครั้งนี้ให้ถึงที่สุด
อย่างน้อยก็เพื่อเด็กๆ
ที่กำลังรอเราอยู่”
.
“ตั้งแต่นั้นมาหนิงกับแม่ก็จะมาสอนเด็กๆ ในสัปดาห์ที่ 3 ของการให้คีโมทุกเข็ม จนกลายเป็นที่โจษจันไปทั่วและทำให้นักข่าวไทยรัฐมาขอสัมภาษณ์และถ่ายทำ จากข่าวสั้นๆ กลายเป็นคลิปไวรัลที่ถูกแชร์สนั่นไปบนโลกโซเชียล เรียกได้ว่าเป็นคนดังอยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว (หัวเราะ)”
เมื่อมะเร็งเข้ามาทักทาย
“ย้อนหลังกลับไปราววันที่ 25 ธันวาคม 2563 บังเอิญมือสามีไปคลำโดนก้อนขนาดราว 2 เซนติเมตร บริเวณหน้าอกด้านซ้ายของเรา ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งๆ ไม่ขยับ ตอนนั้นสามีตกใจมาก ด้วยความที่คุณแม่ของเขาเคยเป็นมะเร็งปากมดลูกมาก่อน และเขาเห็นถึงความทรมานในการรักษาโรคนี้มาตลอด จึงไม่อยากให้เราต้องมาทรมานอีกคน ก็ขอร้องให้เราไปตรวจให้หายคาใจ
“ยอมรับว่าเราเองไม่มีความคิดเลยว่าเราจะเป็นมะเร็ง ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ชอบออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ เลือกอาหารกิน ปฏิบัติธรรม สวดมนต์เป็นประจำ และไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งมาก่อน รวมถึงงานที่ทำก็เป็นงานที่เรารักและมีความสุขที่ได้ทำ ที่สำคัญนิสัยส่วนตัวเราก็เป็นคนที่ไม่ค่อยเครียด แต่จะใช้เสียงหัวเราะในการดำเนินชีวิต ฉะนั้น ไม่มีปัจจัยใดๆ เลยที่จะทำให้ตัวเองเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง
“แต่เพื่อความสบายใจของสามี วันรุ่งขึ้นเราก็ขอลางานแล้วไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งคุณหมอก็ตรวจอัลตราซาวนด์ แมมโมแกรม และแนะนำให้ผ่าตัดก้อนเนื้อเพื่อนำไปตรวจในวันนั้นเลย ก่อนจะให้กลับมารอฟังผลที่บ้าน”

วันเกิดพ่อปีนั้น
“ระหว่างนั้นก็รักษาแผลผ่าตัดและยังคงใช้ชีวิตตามปกติ จนกระทั่งวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ซึ่งทุกๆ ปีน้องชาย หลานๆ และญาติๆ ที่ไปทำงานต่างถิ่นก็จะกลับบ้านมารวมตัวกัน เพื่อจะฉลองวันเกิดให้พ่อและฉลองปีใหม่ไปด้วย เดิมทีวันนี้จะเป็นวันที่ทุกคนสนุกสนานเฮฮากันอย่างเต็มที่ ต่างจากปีนั้นที่งานฉลองเต็มไปด้วยความเงียบสงัดและคราบน้ำตา เมื่อคุณหมอโทรมาแจ้งผลว่า เราเป็นมะเร็ง
“จำได้ว่าตอนนั้นพวกเรากำลังนั่งเรือกลับจากหลีเป๊ะ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะหายไปแทบจะทันทีที่เราวางสายจากคุณหมอ ทุกคนเงียบกันหมด ในขณะที่เราเองก็ไม่รู้จะพูดอะไร มีเพียงน้ำตาที่เอ่อขึ้นมา แต่ก็ยังไม่กล้าร้องไห้เพราะกลัวพ่อและแม่จะไม่สบายใจ

คุณพ่อ อีกหนึ่งกำลังใจสำคัญ
“พอทุกคนกลับถึงบ้าน ต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันเข้าห้อง ตัวเราเองพอปิดห้องได้ก็ร้องไห้ทันที เพราะมะเร็งสำหรับเราตอนนั้นเท่ากับตาย ตาย และตาย ทำให้เราจิตตก กังวลไปหมด แต่ก็ยังพยายามดึงสติให้กลับมาเร็วที่สุด ก่อนจะโทรศัพท์ไปหารุ่นน้องที่ทำงานคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพื่อปรึกษาเรื่องการรักษา
“คืนนั้นหนิงโพสต์ข้อความสั้นๆ ลงในเฟซบุ๊กตัวเองว่า “เมื่อฉันเป็นมะเร็ง” เชื่อไหมว่านอกจากยอดกดไลก์ถล่มทลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนแล้ว เสียงโทรศัพท์ยังดังไม่หยุด ทั้งเพื่อน คนรู้จัก คนสนิท และคนที่ห่างหายกันไปนานต่างติดต่อกันเข้ามาถามข่าวคราว บ้างก็ให้กำลังใจ วางสายไป เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระหว่างที่คุยกับอีกสาย เสียงสายซ้อนก็จะดังเตือนอยู่ตลอดเวลา เป็นอย่างนั้นอยู่พักใหญ่
“นั่นทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ได้โดดเดี่ยว เราไม่ได้สู้ตามลำพัง ยิ่งคนในครอบครัวแล้ว ทุกคนต่างพร้อมใจที่จะอยู่เคียงข้างเรา บางคนช่วยติดต่อคุณหมอคนนั้นคนนี้ให้ บ้างก็สืบเสาะหาวิธีการรักษา อย่างคุณป้าซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ก็โทรมาให้กำลังใจพร้อมบอกว่า
“อย่ากังวล เดี๋ยวป้าจะติดต่อ
อาจารย์หมอที่เก่งที่สุดให้นะลูก
ขอให้หลานสู้นะ”
“จากนั้นคุณป้าก็เป็นธุระนัดหมายให้เข้าไปคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงศรีลา สำเภา คุณหมอก็กรุณาช่วยวางแผนการรักษาให้อย่างรวดเร็ว”
ผ่าตัดรอบสอง
“กระบวนการรักษาเริ่มด้วยการผ่าตัดอีกครั้งเพื่อคว้านเนื้อรอบๆ ก้อนมะเร็งออก เนื่องจากในครั้งแรกนั้นเป็นการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกไปตรวจเท่านั้น แต่ด้วยคิวผ่าตัดคุณหมอที่ยาวข้ามปี และเราเกรงว่ามะเร็งจะลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองจึงตัดสินใจขอย้ายไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสังคมของเราก่อน แล้วค่อยกลับมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์อย่างที่ตั้งใจไว้
“การผ่าตัดครั้งที่สองเริ่มขึ้นในวันที่ 18 มกราคม 2564 โดยคว้านเนื้อรอบๆ ก้อนออกและเลาะต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ 8 ต่อม โชคดีที่มะเร็งยังไม่ลามไปยังต่อมน้ำเหลือง และที่โชคดีกว่านั้นคือถึงแม้เราจะยังไม่ได้เป็นข้าราชการเต็มตัวและไม่มีสิทธิ์เบิกจ่ายตรง แต่สิทธิ์ประกันสังคมและประกันสุขภาพที่ทำไว้ครอบคลุมค่าผ่าตัดกว่า 3 แสนบาท อีกทั้งยังได้เงินชดเชยกลับมาอีก 1 หมื่นบาท จากประกันสุขภาพ และหลังจากแผลผ่าตัดเริ่มดีขึ้น เราก็ทำเรื่องขอส่งตัวเพื่อไปรักษาต่อกับคุณหมอศรีลา ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สรุปว่าเราต้องรับเคมีบำบัด 6 ครั้ง และฉายแสงต่ออีก 20 ครั้ง”
‘คีโม’ บททดสอบจิตใจ
“ยอมรับว่าตอนนั้นเราไม่รู้ว่า คีโมคืออะไร? แค่รู้คร่าวๆ ว่า คีโมทำให้ผมร่วง เราจึงไปเตรียมตัดผมบ๊อบสั้นรอไว้ก่อนเลย พอไปรับคีโมวันแรก คุณพยาบาลก็มาแจ้งว่า เราต้องรับคีโมสูตรน้ำแดง (Anthracycline) และแนะนำให้อมน้ำแข็งไว้ระหว่างที่ให้คีโม เพราะจะช่วยป้องกันเยื่อบุช่องปากอักเสบ
“สามชั่วโมงกว่าในการให้คีโมผ่านไปอย่างราบรื่น แต่พอกลับถึงบ้าน กินข้าวเย็นเสร็จปุ๊บ เอฟเฟ็กต์จากยาก็เริ่มขึ้นทันที ค่ำวันนั้นอาเจียนชนิดที่เรียกได้ว่า พุ่ง! กินอะไรเข้าไปพุ่งออกทันที ร่างกายก็ร้อนระอุ ทรมานมาก เส้นผมที่เคยแข็งแรง กลับร่วงกราวเต็มพื้น จนทนไม่ไหวต้องให้แฟนโกนทิ้งให้ คืนนั้นหมดแรงถึงขั้นต้องคลานเข้าห้องน้ำเพื่ออาเจียน อาเจียนไป ปากก็ร้องไป
“ไม่เอาอีกแล้ว…
ทรมานแบบนี้ ยอมตายดีกว่า”
“ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอาการท้องผูกชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต แถมยังมีแผลตรงก้นและในร่มผ้าคล้ายแผลร้อนในในปาก เป็นอย่างนั้นอยู่ 7 วันเต็มๆ สามีเอาอะไรมาให้กินก็ไม่ยอมกิน เอาแต่นอนซม น้ำตาไหล จนพ่อกับแม่ทุกข์มาก นอนกอดกันร้องไห้เพราะสงสารเรา ระหว่างนั้นสามีก็เห็นว่าไม่ได้การแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเราคงจะไม่รอด จึงไปปรึกษาพ่อแม่ว่าจะให้หนิงหยุดการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน และหันไปรักษาแพทย์ทางเลือกเหมือนที่คุณแม่ของเขาเคยรักษาและหายดีแล้ว นั่นนับเป็นคีโมเข็มแรกที่เข้ามาทดสอบจิตใจไม่ใช่แค่ตัวหนิงเอง แต่ทดสอบของคนทั้งครอบครัว”

ความฝันช่วยชีวิต
“รุ่งเช้าแม่จึงโทรไปปรึกษาทางคุณป้าที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ว่าให้เราหยุดการรักษา คุณป้าไม่อนุญาตและยืนยันเสียงแข็งกลับมาว่า “หยุดไม่ได้ ยังไงก็หยุดไม่ได้ ถ้าอยากให้หนิงมีชีวิตอยู่…ต้องสู้ต่อ เดี๋ยวจะบอกคุณหมอให้ช่วยปรับยาให้ใหม่” พ่อแม่และสามีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่มานั่งใกล้ๆ แล้วถามเราตรงๆ ว่า “หนิงไหวไหมลูก…”

“ตั้งแต่เล็กจนโต หนิงมีความฝันที่อยากจะเจริญตามรอยเท้าแม่ด้วยการเป็นข้าราชการครูมาตลอด และมุมานะพยายามทำฝันนั้นมามากกว่า 20 ปี แต่อย่างที่รู้กันดีว่าการเป็นข้าราชการครูนั้น ไม่ใช่ใครคิดอยากเป็น…แล้วจะเป็นได้เลย เพราะมันต้องผ่านขั้นตอนพอสมควร อย่างตัวหนิงเอง หลังจากจบปริญญาตรีก็เริ่มตามฝันด้วยตำแหน่งครูอัตราจ้าง, ลูกจ้างของเขตพื้นที่ และพนักงานราชการ แต่ยังไม่ทันได้สอบบรรจุเป็นข้าราชการครูเลย ก็มาเป็นมะเร็งเสียก่อน
“ความรู้สึกของเราตอนนั้น มันเหมือนความฝันของเรายังไม่สำเร็จ รวมถึงหน้าที่ของลูกที่ต้องตอบแทนพระคุณพ่อแม่ก็ยังไปไม่ถึงไหน หนำซ้ำยังมาป่วยให้พ่อแม่ต้องมาดูแลอีก เราจึงคิดอย่างเดียวว่า เรายังตายไม่ได้ และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราฮึดสู้กับมะเร็งขึ้นมา ทำให้ทันทีที่พ่อกับแม่ถามเราว่า “หนิงไหวไหมลูก…” เราจึงตอบไปอย่างมั่นใจว่า
“หนิงจะสู้! ยังไงหนิงก็ต้องหาย”
มะเร็งสอนให้รู้ว่า…
“พอข่าวว่าแม่จะให้หนิงหยุดรักษากระจายออกไป ญาติพี่น้องทุกสารทิศต่างโทรมา บ้างก็วิดีโอคอลมา และแม้แม่จะงดให้เยี่ยมอย่างเด็ดขาด เนื่องจากร่างกายเรายังไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันก็ตก โควิดก็กำลังระบาดหนัก ญาติบางคนก็ยังอุตส่าห์ดั้นด้นเดินทางมาเพื่อได้มาเห็นหน้าเรา บ้างก็มาตะโกนเพื่อถามไถ่อาการและให้กำลังใจกันอยู่นอกรั้ว นั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องสู้
“นี่คือหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่เมื่อมะเร็งเข้ามา มันทำให้เราสัมผัสได้อย่างชัดเจนว่า คนแรกๆ ที่จะคอยซัปพอร์ตเรา ปกป้องเรา ดูแลเรา ในวันที่เราล้มป่วย ผิดพลาด ผิดหวัง ทุกข์หนัก ท้อแท้ ก็คือคนในครอบครัวนี่แหละ เชื่อว่าหลายๆ คน บ่อยครั้งอาจจะเผลอไปแคร์ความรู้สึกของคนข้างนอก มองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญกับครอบครัวไปชั่วขณะ หนิงเองก็เคยมีบางครั้งที่ดื้อกับแม่ไปบ้าง แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว สำหรับหนิง ครอบครัวคือที่หนึ่ง


สามี…กำลังใจข้างกาย

“หนิงพูดได้อย่างเต็มปากว่า นอกจากคุณหมอและยาแล้ว สิ่งที่ช่วยให้เรารอดจากมะเร็งครั้งนี้มาได้ก็คือกำลังใจจากครอบครัวนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ น้องชาย ญาติพี่น้อง และสำคัญที่สุดก็คือ ‘สามี’ (จรินทร์ เยาว์ด้วง) ที่อยู่เคียงข้างเราเสมอ ไม่ว่าจะไปรักษาตัวที่ไหน เดินทางไกลไป-กลับเกือบ 120 กิโลเมตร เขาก็จะคอยเป็นสารถี ดูแลเราเป็นอย่างดี ไม่เคยปริปากบ่น ความน่ารักของเขาทำให้เราบอกตัวเองว่า เราตายไม่ได้ และนั่นก็เป็นที่มาที่หนิงมักจะติดแฮชแท็กในโพสต์เฟซบุ๊กตัวเองเสมอว่า #ฉันตายไม่ได้เพราะสามียังเด็ก (หัวเราะ)”
เหตุเกิดเพราะห่วงสวย
“หลังจากอาการข้างเคียงจากคีโมเข็มแรกผ่านไป เราก็ปรึกษากับคุณหมอถึงอาการที่พบ คุณหมอก็ช่วยปรับสูตรยาคีโมให้ใหม่ นั่นทำให้คีโมเข็ม 2-6 แทบไม่มีอาการแพ้อีกเลย นอกจากร่างกายจะอ่อนเพลียบ้างเท่านั้น จนกระทั่งคีโมเข็ม 4 ด้วยความที่เราตั้งใจรักษา คุณหมอให้ทำอะไรก็ทำทุกอย่าง คุณหมอให้กินเยอะ เราก็กินทุกอย่างเพื่อให้ค่าเลือดผ่านและร่างกายพร้อมรับคีโม นั่นทำให้น้ำหนักตัวจากที่เคยหนัก 50 กิโลกรัม ดีดขึ้นมาเป็น 60 กิโลกรัม ในเวลาไม่กี่สัปดาห์
“ความห่วงสวยที่มาผิดเวลา ทำให้เราเริ่มกินน้อยลง แม่ทำอะไรให้ก็จะไม่ค่อยกิน กินน้อยลง จนแม่ถาม “ทำไมไม่กิน” เราก็มักจะตอบกลับไปว่า “เดี๋ยวอ้วน” พอวันที่มาให้คีโมเข็ม 4 ปรากฏว่าค่าเลือดตกทำให้ไม่สามารถให้คีโมได้ คุณหมอจึงไล่ให้กลับมาบ้านมากินใหม่ แล้วค่อยกลับไปให้คีโมในสัปดาห์ถัดไป
“จำได้เลยว่า พอแม่รู้เท่านั้นโมโหมากกกก… (หัวเราะ) ปากบ่นไป มือก็เทไข่ไก่ทั้งแผงลงหม้อ ต้มให้เรากิน เรียกว่าทั้งสัปดาห์นั้นไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากการนั่งกินไข่ขาวต้มทั้งวัน และตั้งแต่คีโมเข็ม 4 ก็ไม่เคยถูกคุณหมอไล่กลับบ้านอีกเลย”

ฉายแสง…ไม่ยากอย่างที่คิด
“หลังจบกระบวนการรักษาด้วยคีโม ก็เข้าสู่การฉายแสงอีก 20 ครั้ง โดยครั้งแรกที่ถูกส่งตัวมาที่แผนกรังสี หลังจากคุยกับคุณหมอแล้ว คุณหมอก็นัดมาขีดเส้นที่ลำตัว เพื่อมาร์กจุดฉายแสงบริเวณเต้านม จำได้ว่า ช่วงนั้นตัวลายเป็นตุ๊กแกเลย และคุณหมอก็กำชับไว้ว่า ห้ามถูตัวเด็ดขาด! เวลาอาบน้ำต้องปล่อยน้ำผ่านอย่างเดียว และหากเส้นตรงไหนจางลงต้องรีบแจ้งทางคุณหมอทันที
“จากนั้นคุณหมอก็จะนัดมาฉายแสง โดยนอนนิ่งๆ อยู่บนเครื่องแค่ 5 นาที แล้วกลับบ้าน ทำอย่างนั้นทุกวันจนครบ 20 ครั้ง ซึ่งไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ เลยนอกจากผิวหนังบริเวณที่ฉายแสงคล้ำขึ้นเท่านั้น รวมระยะเวลาการรักษามะเร็งครั้งนี้ไปเกือบ 1 ปีเต็ม และทุกวันนี้ก็ยังต้องกินยาต้านฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องให้ครบ 5 ปี รวมถึงต้องติดตามผลทุกๆ สามเดือน”

เตรียมพร้อมรับมือ…
“เราระลึกอยู่ตลอดเวลาว่า โอกาสที่จะกลับมาเป็นมะเร็งนั้น…มีอยู่แล้ว ฉะนั้น ทุกๆ วันที่เราลืมตาตื่นขึ้นมา หน้าที่ที่สำคัญที่สุดก็คือการดูแลตัวเองให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการกินข้าว กินยาให้ตรงเวลา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลอาหาร อารมณ์ จิตใจของตัวเองให้อยู่ในสภาวะที่มีความสุขมากที่สุด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราพยายามทำให้ตัวเองมีรอยยิ้ม แฮปปี้อยู่เสมอ



“เพราะไม่มีใครจะมารับคีโมแทนเราได้ ไม่มีใครมาฉายแสงแทนเราได้ เราจึงต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม สำคัญที่สุดก็คือการปล่อยวางจากความเครียดทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องคน จากเมื่อก่อนที่มักเก็บเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคิด มาเครียด แต่ปัจจุบันเราปล่อยวาง ปล่อยผ่านได้มากขึ้น ไม่เครียดกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะกับ ‘คน’ ที่เราต้องยอมรับให้ได้ว่า ไม่มีวันที่เราจะทำให้ทุกคนบนโลกใบนี้รักเราได้ทุกคน เอาเวลาไปสนใจและใส่ใจคนที่เขารักเราดีกว่า”
ถึงเพื่อนๆ ทุกคน
“อยากให้พึงระลึกเสมอว่า ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งได้พอๆ กัน เพราะปัจจุบันนี้มีปัจจัยรอบด้านที่ทำให้เราเป็นมะเร็งอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ หนีไปไหนก็ไม่พ้น และถ้าวันหนึ่งเราต้องเผชิญกับมะเร็ง จงตั้งสติให้มั่นและบอกกับตัวเองเลยว่า ฉันต้องก้าวผ่านมันไปให้ได้ จากนั้นให้กำลังใจตัวเอง พยายามคิดบวก และอย่าลืมที่จะบอกคนที่เรารักและรักเรา
“เพราะเส้นทางของการรักษามะเร็งนั้น บางครั้งก็ไม่ได้ราบรื่นนัก นอกจากกำลังใจจากตัวเองแล้ว กำลังใจจากคนที่เรารักและรักเราก็ช่วยหล่อเลี้ยง ซัปพอร์ตเราให้ไปถึงเส้นชัยได้ง่ายขึ้น ฉะนั้น เป็นมะเร็ง ไม่จำเป็นต้องปิดเป็นความลับ”

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC