นพ.ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล : มะเร็งเต้านมของ ‘แม่’ บันดาลแรง

“สมัยที่ยังเป็นศัลยแพทย์ฝึกหัด อาจารย์ท่านหนึ่งจะสอนผมเสมอว่า…
ไม่ว่าจะผ่าตัดอะไร ผ่าตัดเต้านมใคร เราต้องทำให้ดีที่สุด ประณีตที่สุด
ประหนึ่งว่าเต้านมนั้นเป็นของแม่หรือภรรยาเราเอง
ซึ่งผมก็ยึดหลักนี้มาตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานจนถึงทุกวันนี้”  

นพ.ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล ศัลยแพทย์เต้านมวัย 38 ปี ผู้เชี่ยวชาญการตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งเต้านม จากศูนย์เต้านม โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ผู้ใช้เวลาศึกษาและสั่งสมประสบการณ์ร่วม 13 ปี กว่าจะมายืนบนเส้นทางของแพทย์เพื่อผู้ป่วยโรคเต้านมและมะเร็งเต้านม     

‘ใจ’ บันดาลแรง

หลังจบแพทยศาสตร์บัณฑิตในหลักสูตรการเรียน 6 ปี จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คุณหมอศึกษาต่อทางด้านศัลยแพทย์ทั่วไปที่โรงพยาบาลชลบุรีกว่า 5 ปี ก่อนจะทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในตำแหน่งหมอผ่าตัดทั่วไปอีก 1 ปี จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อทางด้านศัลยกรรมเต้านมที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าอีก 1 ปี และเริ่มงานศัลยแพทย์เต้านมเต็มตัวในปี 2557 

“ระหว่างที่ผมเป็นแพทย์ประจำบ้านด้านศัลยกรรมทั่วไป มีโอกาสได้เข้าช่วยผ่าตัดผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมกับ อาจารย์ธำรง ตรรกวาทการ อาจารย์ศัลยแพทย์อาวุโสที่โรงพยาบาลชลบุรี แล้วรู้สึกประทับใจในการผ่าตัดครั้งนั้นมาก เพราะอาจารย์ทำการผ่าตัดได้เร็วและประณีตมาก ทำให้ผมย้อนนึกถึงการ์ตูนเรื่องโปรดสมัยเด็กๆ ที่ชื่อว่า ซูเปอร์ดอกเตอร์เค (Super Doctor K) เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่พูดถึงศัลยแพทย์ฝีมือดีที่ตัดสินใจรวดเร็ว ฝีมือผ่าตัดสุดยอดเหมือนกับอาจารย์เลย ตอนนั้นรู้สึกว่าอาจารย์เท่มาก (หัวเราะ) อยากเป็นได้อย่างท่านบ้าง นั่นเองที่จุดประกายให้หันมาสนใจทางด้านศัลยกรรมเต้านมอย่างจริงจัง

“จากนั้นผมได้เริ่มหาโอกาสเข้าช่วยอาจารย์ผ่าตัดเต้านมอยู่บ่อยครั้ง จนสุดท้ายอาจารย์ได้ให้โอกาสผมเป็นคนผ่าตัดเต้านมคนไข้มะเร็งเองเป็นครั้งแรก โดยมีอาจารย์ช่วยผ่าตัดอยู่ตรงข้ามตลอดตั้งแต่ต้นจนจบเคส และผลการผ่าตัดก็ออกมาด้วยดี ผมจึงเริ่มคิดว่าไม่อยากจบแค่เป็นหมอผ่าตัดทั่วไปที่ผ่าตัดได้หมดทุกอวัยวะ แต่อยากเลือกเรียนต่อเฉพาะทางผ่าตัดอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง จากเดิมที่เคยสนใจผ่าตัดเฉพาะทางด้านสมอง หัวใจ และเส้นเลือด แต่จากวันนั้นเองทำให้เรารู้เลยว่า เต้านมนี่แหละน่าจะเหมาะกับเราที่สุด

“อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกเรียนเฉพาะทางด้านเต้านม ก็เพราะช่วงระหว่างที่ฝึกหัดเป็นหมอผ่าตัดทั่วไปนั้น ชีวิตมีแต่งาน งาน งาน ต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการวันเว้นวัน และโรงพยาบาลชลบุรีต้องรับเคสอุบัติเหตุเข้ามาให้ผ่าตัดแบบฉุกเฉินอยู่ไม่ขาด จนร่างกายเหนื่อยล้ามาก และเริ่มไม่มีเวลาให้ครอบครัวโดยเฉพาะคุณแม่ จึงตั้งเป้าว่าอยากทำงานแบบที่ไม่ต้องโดนตามฉุกเฉินและอยู่เวรถี่ๆ จนร่างกายทรุดโทรมขนาดนั้น อยากทำงานที่เรารัก อยู่กับมันได้นานจนถึงวัยเกษียณ และมีอายุของการเป็นศัลยแพทย์ที่ยืนยาว ซึ่งเต้านมก็เป็นอวัยวะที่ไม่มีภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนอะไร จึงเป็นคำตอบสุดท้ายของศัลยแพทย์ทั่วไปอย่างผมในตอนนั้น”

‘คุณแม่’ กำลังใจสำคัญ

บทเรียนมะเร็งเต้านมจาก ‘แม่’

ระหว่างศึกษาต่อทางด้านศัลยกรรมเต้านมที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ขณะที่กำลังจะจบการศึกษานั้นก็ปรากฏว่า ‘แม่’ ของคุณหมอตรวจพบก้อนเนื้องอกขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ที่เต้านมด้านซ้าย ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดที่สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต

“ตอนนั้นผมเป็นคนพาคุณแม่ไปเจาะชิ้นเนื้อจากก้อนออกมาด้วยตัวเอง ผลชิ้นเนื้อพบว่าก้อนเนื้องอกของคุณแม่นั้นถือเป็นมะเร็งระยะ 0 คือ มีเซลล์ผิดปกติแต่อยู่ในท่อน้ำนม ยังไม่ได้แพร่กระจายลุกลามออกนอกท่อน้ำนม ผมถือว่ามันเป็นความโชคดีในความโชคร้าย โชคร้ายที่เจอเนื้องอก แต่โชคดีที่มันยังเป็นแค่ก้อนเนื้องอกที่อาจจะพัฒนาเป็นมะเร็งแบบลุกลามได้เท่านั้น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงรีบทำการรักษา โดยผมเป็นคนทำการผ่าตัดรักษาคุณแม่ด้วยตัวผมเอง

แม้จะอยู่ในฐานะศัลยแพทย์ทั่วไป ยังไม่ได้เป็นศัลยแพทย์เต้านมเต็มตัว แต่ประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำให้คุณหมอมั่นใจว่า การผ่าตัดครั้งนั้นจะต้องสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

“เรามักจะเห็นแพทย์หลายท่านที่เลือกจะไม่ผ่าตัดญาติหรือคนที่ตัวเองรัก แต่สำหรับผมแล้ว ผมรู้สึกว่าผมไม่อยากฝากความหวังหรือความกดดันไว้ที่ใคร แม่ของเรา เราผ่าเองดีกว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม่และผมก็ยอมรับได้ และก่อนหน้านั้นผมก็ผ่านเคสผ่าตัดมะเร็งเต้านมมาหลายเคส ทั้งผ่าแค่ก้อนเนื้อหรือผ่าตัดเต้านมทั้งเต้า เราจึงรู้สึกมั่นใจว่าจะทำได้ออกมาดีที่สุดอย่างที่เคยทำมาตลอด   

“การผ่าตัดครั้งนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผ่านวิธีการผ่าตัดคว้านก้อนเนื้อรวมถึงเนื้อดีที่หุ้มก้อนเนื้อโดยรอบออกไปด้วย เพื่อลดโอกาสที่ก้อนเนื้อจะกลับมาเกิดซ้ำที่เดิมอีก ทำให้เนื้อเต้านมของคุณแม่หายไปเยอะหน่อย และหลังจากแผลหายแล้วก็ยังปรากฏรอยบุ๋มเล็กๆ ที่เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ผมอยากทำงานที่ตัวเองรักได้ โดยมีเวลาให้ครอบครัวไปด้วย ซึ่งศัลยแพทย์เต้านมก็คือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับผม

“เพราะเต้านมเป็นอวัยวะที่เราสามารถผ่าตัดแล้วประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ยิ่งในผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกๆ เราสามารถผ่าตัดหายขาดได้ แถมผู้ป่วยก็เจ็บตัวไม่มากหลังผ่าตัด ที่สำคัญมันเป็นงานที่เน้นความละเอียด ประณีต วางแผนการทำงานได้ ไม่ถึงขั้นฉุกเฉินหรือต้องอยู่เวรดึก ที่สำคัญเมื่อเทียบกับตับ ลำไส้ สมอง เส้นเลือด ฯลฯ ผมว่าเต้านมเป็นอวัยวะที่ดูสวยงามที่สุดแล้ว (ยิ้ม)”   

รักษาให้เร็ว รักษาให้ไว ทำให้ดีที่สุด

กว่า 7 ปี ในตำแหน่งศัลยแพทย์เต้านมยืนหนึ่งแห่งโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา คุณหมอผ่านการรักษาและผ่าตัดมะเร็งเต้านมมาเฉียดพันราย ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย วัยรุ่นอายุตั้งแต่ 20 ปีต้นๆ ไปถึงผู้ป่วยติดเตียงวัยใกล้ร้อยปี โดยทั้งหมดคุณหมอจะใช้หลักการเดียวกัน คือ รักษาให้เร็ว รักษาให้ไว และทำให้ดีที่สุด

รักษาให้เร็ว หมายถึง ไม่ว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยก้อนเนื้อหรือหินปูนผิดปกติหรืออะไรก็ตาม ผมจะบอกพวกเขาเสมอว่า ‘อย่ารอ’ เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร หากเป็นเซลล์มะเร็ง มันจะแบ่งตัวไปเรื่อยๆ 1 เป็น 2, 2 เป็น 4, 4 เป็น 8 ฉะนั้น ทุกๆ วินาทีที่เรารอนั่น รอนี่ เซลล์มะเร็งมันไม่ได้รอเรา ยิ่งปล่อยเวลาให้เสียไปมากเท่าไร โอกาสรักษาให้หายขาดก็น้อยลงมากเท่านั้น ผมจึงพยายามบอกทุกคนว่าอย่ารอ

“ในขณะเดียวกันทีมแพทย์เองก็ต้อง รักษาให้ไว ต้องบอกว่าโชคดีที่ผู้บริหารของโรงพยาบาลเข้าใจความเร่งด่วนของโรคมะเร็งจึงพยายามจัดเตรียมทุกอย่างให้พร้อม โดยหากผู้ป่วยเดินเข้ามาพร้อมกับความผิดปกติ ก็สามารถจบการรักษาได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ทำแมมโมแกรมอัลตราซาวด์เต้านม และหากพบสิ่งผิดปกติก็สามารถเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจได้ในวันเดียวกันนั้นเลย จากนั้นรอฟังผลชิ้นเนื้อภายใน 3-5 วัน หากต้องผ่าตัดก็สามารถทำได้ในวันเดียวกันนั้นเลย และส่วนสำคัญที่สุดคือการผ่าตัดนั้นทุกครั้งต้อง ทำให้ดีที่สุด สวยที่สุด เพื่อจบการรักษาให้ได้ในครั้งเดียว ไม่ต้องกลับมาผ่าซ้ำอีกครั้ง นี่แหละหัวใจสำคัญของการรักษามะเร็งเต้านม คือ รักษาให้เร็ว รักษาให้ไว และทำให้ดีที่สุด”

มะเร็งสอนชีวิต

ปัจจุบันนี้ เราจะพบว่ามะเร็งเต้านมไม่ได้พบในกลุ่มผู้สูงอายุอีกต่อไป แต่วัยรุ่นอายุน้อยตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ก็สามารถป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้ และความรุนแรงของโรคยังมากกว่าผู้ป่วยที่อายุมากอีกด้วย ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไปตามความเจริญของสังคมเมืองและอุตสาหกรรม จึงทำให้มีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็งหรือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้น

“คนในปัจจุบันตื่นตัวกับมะเร็งเต้านมมากขึ้น มีการตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์กันเป็นประจำ จากแต่ก่อนคนที่เป็นมะเร็งเต้านมนั้นต้องมีก้อน มีแผลเรื้อรัง หรือความผิดปกติที่ผิวหนังบริเวณเต้านมจึงมาหาหมอ แต่ทุกวันนี้อาการของมะเร็งเต้านมของผู้ป่วยที่มาพบผมส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการอะไรเลย แค่มาตรวจสุภาพประจำปีแล้วมาเจอตั้งแต่ยังเป็นก้อนเล็กๆ หรือระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถผ่าตัดและรักษาให้หายขาดได้ นั่นทำให้ผมไม่ค่อยเจอผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมมาเกือบ 4 ปีแล้ว

“ถ้าเรารู้เท่าทันมะเร็งหรือรู้เร็ว โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดก็มากขึ้น นั่นทำให้ทุกวันนี้ผมจะสนับสนุนให้ผู้ป่วยมาตรวจร่างกายตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เช่น ตรวจประจำปี ฯลฯ อย่าเสียดายเงินที่ใช้กับการตรวจสุขภาพประจำปีเลยครับ เพราะนี่คือการลงทุนกับสุขภาพตัวเองที่ไม่มีวันขาดทุนแน่นอน ยิ่งถ้าตรวจแล้วเจอโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น รักษาได้เร็ว นั่นเป็นการยืดอายุขัย ต่อเวลาให้ชีวิตเรามีโอกาสได้ทำอะไรดีๆ อีกมากมาย

“ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีผู้ป่วยมาตรวจร่างกายประจำปีแล้วพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ผมมักยิ้มและบอกกับพวกเขาเสมอว่า ‘คุณอาจจะโชคร้ายที่เป็นมะเร็ง แต่โชคดีที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น เพราะโอกาสในการรักษาหายขาดมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เรามาร่วมฝ่าฟันไปด้วยกันนะครับ’ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็สู้กันไปจนสุดทางจนหายขาด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางรายก็ทิ้งการรักษาไปกลางคัน

“มีเคสหนึ่งที่ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ คือ เคสของคุณแม่ลูกสองวัยเพียง 28 ปี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกซึ่งพบก้อนมะเร็งขนาดไม่ถึง 2 เซนติเมตร แต่เพราะเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อยและมีโอกาสจะกลับมาเป็นซ้ำ เธอจึงตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้าง แล้วเสริมสร้างเต้านมใหม่ด้วยซิลิโคนเสริมหน้าอก ซึ่งการผ่าตัดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เต้านมกลับมาดูสวยคล้ายเต้านมเดิม แต่การผ่าตัดนั้นก็เป็นเพียงการรักษาเฉพาะที่ หากจะหายขาดจริงๆ ก็จำเป็นต้องให้คีโม (เคมีบำบัด) และฉายแสงต่อ แต่เธอกลับปฏิเสธการรักษาต่อเพราะกลัว แล้วหายไป ไม่มาตรวจติดตามกับผมเกือบ 2 ปี มาทราบภายหลังว่าไปรักษาตัวกับแพทย์ทางเลือก ใช้สมุนไพรในการรักษา กลับมาพบผมอีกครั้งเต้านมก็ไม่สวยเหมือนเดิมเพราะก้อนเนื้อมะเร็งกลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้เป็นมะเร็งระยะลุกลาม แผลปะทุตรงผิวหนังและลามไปปอด ตับ และกระดูก จนเกินเยียวยา ผมรักษาเธอแบบประคับประคองอาการจนสุดความสามารถ และสุดท้ายเธอก็เสียชีวิตลง  

“นั่นเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ทำให้ผมรู้ซึ้งว่า นอกเหนือจากการรักษาที่ดีแล้ว ‘ใจ’ ของคนเรานั้นมีผลต่อการรักษาโรคไม่น้อย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ถ้าใจสู้ อดทนกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันไปจนสุดทางก็มีโอกาสหายขาดได้มาก และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่หดหู่ ซึมเศร้า ร้องไห้ทุกวัน ผลการรักษาไม่ค่อยดี เมื่อเทียบกับคนที่ยิ้มสู้และบอกว่าต้องอยู่ ต้องรอด ต้องหาย ผมจึงเชื่อว่า จิตใจนั้นสำคัญกว่าทุกอย่างเลย ยกตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายของผมคนหนึ่ง มารักษาตั้งแต่อายุ 58 ปี ตอนนั้นมะเร็งกระจายไปที่อวัยวะหลายแห่ง จนต้องใช้วิธีการรักษาแบบประวิงเวลา คือ กินยาต้านฮอร์โมนเพื่อรักษาไม่ให้ก้อนโตขึ้นหรือกระจายเร็วกว่าเดิม ตอนนั้นเขาก็ถามผมตรงๆ ว่า เขาจะมีโอกาสอยู่ได้อีกนานเท่าไร ผมก็ตอบเขาไปว่า ถ้าตามตำราทางการแพทย์น่าจะไม่เกิน 1 ปี เชื่อไหมว่าจนทุกวันนี้ผ่านมา 4 ปีแล้ว เขาก็ยังกลับมาตรวจร่างกายกับผม แถมเล่าให้ฟังว่า เขาใช้ชีวิตมีความสุขมาก เที่ยว ไม่เครียด ไปสายธรรมะ ชีวจิต ออกกำลังกาย แถมไปวิ่งมาราธอนด้วย ยอมรับว่าผมงงปนดีใจนะ ที่มันผิดจากตำราแพทย์ที่ผมเรียนมา (ยิ้ม) อีกหนึ่งบทเรียนที่ตอกย้ำให้ผมรู้ว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว รอดหรือไม่รอดอยู่ที่ใจเรานี่แหละ”


เป้าหมายชีวิต

ทุกวันนี้ คุณหมอยังคงทำหน้าที่ศัลยแพทย์เต้านมอย่างมุ่งมั่นไปพร้อมๆ กับการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่เพิ่งต้อนรับสมาชิกใหม่ตัวเล็กๆ เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้คุณหมอพยายามรักษาสมดุลงาน สมดุลชีวิตอย่างเคร่งครัด เหตุผลก็เพราะอยากให้เวลากับครอบครัวเต็มที่    

“ต้องออกตัวก่อนว่า ครอบครัวผมจะมีประวัติญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่ที่เป็นมะเร็งโพรงจมูก คุณย่าที่เป็นมะเร็งปอดและมะเร็งสมอง คุณตาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก คุณยายเป็นมะเร็งปากมดลูก คุณอาเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำให้ความทรงจำวัยเด็กของผมกับมะเร็งนั้นไม่ค่อยดีสักเท่าไร

“ผมเห็นผู้ใหญ่ในครอบครัวหลายท่านทรมานกับโรคนี้มาก บางท่านถึงขั้นบอกกับผมว่าเขายังไม่อยากตาย ทำให้เมื่อก่อนผมกลัวมะเร็งมาก นอกจากกลัวตัวเองเป็นแล้ว ยังกลัวว่าคนในครอบครัวจะเป็นมะเร็ง แต่พอมาทำงานตรงนี้ บอกได้เลยว่าผมเลิกกลัวมะเร็งแล้ว ถ้ามาก็พร้อมจะลุย จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าใจพร้อมลุยซะอย่าง ถึงต้องตายก็ตายแบบ Good Death คือ ตายแบบสง่างาม สมศักดิ์ศรี สู้เต็มที่แล้ว ทำดีที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรติดค้าง

“สิ่งที่กลัวที่สุดสำหรับผมตอนนี้คือกลัวเอาใจใส่ครอบครัวไม่ดีพอมากกว่า นั่นทำให้ผมจะคอยเตือนให้คนในครอบครัวดูแลตัวเองและหมั่นตรวจเช็กสุขภาพเสมอ และไม่เฉพาะแค่คนในครอบครัวนะ แต่กับผู้ป่วยของผมเอง ผมจะบอกพวกเขาเสมอว่า เรามีอวัยวะอยู่กับตัวเราตลอด 24 ชั่วโมง เราควรจะรู้จักอวัยวะตัวเองดีกว่าใคร ไม่ใช่มารู้จักตอนป่วยหรือมีอาการแล้ว ทุกอย่างมีวิธีใช้ อวัยวะของคนเราก็เช่นกัน หมั่นตรวจเช็กอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องรอให้มีอาการเสียก่อน

“มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่บอกผมว่า ร้อยวันพันปีไม่เคยจับเต้านมของตัวเองเลย กว่าจะรู้ก็คือก้อนเริ่มโตขึ้นแล้ว ฉะนั้น ผมจึงอยากเตือนสาวๆ ทุกคนว่า หมอไม่ได้อยู่กับเต้านมของคุณได้ทุกวัน  คุณเองต่างหากที่อยู่กับเต้านมตัวเองทุกวัน ฉะนั้น ควรทำความรู้จักอวัยวะตัวเอง และเริ่มทำการตรวจเช็กเบื้องต้นด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้งก็ยังดี เพราะเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจะได้มาหาหมอตั้งแต่เนิ่นๆ และดำเนินการรักษาได้ทันการณ์ อย่ามัวรอเวลาหรืออายหมอ    

“หมอศัลยกรรมเต้านมทุกคนมองเต้านมเป็นงาน งานที่เราต้องแก้ไข สะสาง และทำให้จบให้เร็วที่สุด อย่าอายที่จะมาตรวจกับหมอเลย ยิ่งเรารู้เร็วเท่าไร รักษาได้ไว โอกาสหายขาดก็สูงขึ้น จำไว้ว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งในไม่กี่ชนิดที่สามารถรักษาหายขาดได้ ถ้ารู้ตั้งแต่ระยะต้นๆ ฉะนั้น รีบมาตรวจกันเถอะครับ” คุณหมอทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม 

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC

แชร์ไปยัง
Scroll to Top