“มันไม่ใช่เรื่องโชคหรอก
ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การกระทำของเราทั้งนั้น
ถ้าอยากมีสุขภาพดี เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง
แต่คนเดี๋ยวนี้เวลาป่วยทีก็เอาแต่ตามหายาวิเศษ
ไขว่คว้าหาหมอมหัศจรรย์ หวังแต่จะพึ่งคนอื่น
ทั้งๆ ที่จริงแล้วหมอที่ดีที่สุด วิเศษที่สุด
ก็คือตัวเราเองนี่แหละ”
ป้าตุ๊-สิทรา พรรณสมบูรณ์ เจ้าของผลงานระดับเบสต์เซลเลอร์ในตำนานอย่าง ‘แมคโครไบโอติกส์’ หนังสือจตุภาคที่ออกมา 4 เล่มต่อเนื่องและขายดีติดต่อกันยาวนานกว่า 10 ปี อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ทำให้วงการหนังสือสุขภาพสั่นสะเทือน ก่อนจะมีผลงานตามมาอีกหลายต่อหลายเล่ม โดยทุกๆ เล่มเธอจะเชื้อเชิญให้ผู้อ่านประณีตกับสิ่งที่จะบริโภคเข้าไปในร่างกาย และหันกลับไปใช้ชีวิตให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังเธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม
หลังการผ่าตัดเต้านมทิ้งตามคำแนะนำของแพทย์ ป้าตุ๊ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวทิ้งชีวิตในเมืองกรุง พร้อมหันหลังให้การรักษาในโรงพยาบาล และย้ายสำมะโนครัวไปที่ ‘เขาใหญ่’ เริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัยใกล้ 50 เต็มที…
“ปกติเราจะเป็นคนที่ตรวจร่างกายประจำปีอยู่แล้ว ด้วยความที่คุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เราจึงเฝ้าระวังตัวเองตลอด โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งมดลูก จนวันหนึ่งที่เราคลำไปเจอก้อนเท่าลูกมะยมที่เต้านมข้างขวา ก็รีบไปหาหมอ พอหมอตรวจดูแล้ว ก็ขอเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ
“ระหว่างที่รอผลตรวจชิ้นเนื้ออยู่นั้น เราก็…ประสาทกินสิ (หัวเราะ) เป็นอาการที่เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นกับทุกคนที่รอคำตอบจากหมอ พอผลชิ้นเนื้อออกมาปรากฏว่าเป็นมะเร็งแน่ๆ คุณหมอก็วางแผนการรักษาทันที โดยเริ่มจากการผ่าตัดเต้านมข้างขวาทิ้ง ซึ่งแม้จะพบว่าเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น แต่คุณหมอกำชับว่าควรจะตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้างเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากเชื้อมะเร็งที่พบนั้นจากสถิติแล้วมักจะเป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง ฉะนั้น โอกาสที่จะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำที่เต้านมอีกข้างมีค่อนข้างสูง
“ตอนนั้นหูอื้อไปหมด คิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก พอตั้งสติได้ก็ไปหาญาติซึ่งเป็นหมอ จากนั้นก็ถามเรื่องที่เราอยากรู้ และขอคำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรดี ซึ่งหมอก็คือหมอ เขาก็แนะนำให้เรารักษาไปตามขั้นตอน ซึ่งตอนนั้นการรักษาก็จะมีแพตเทิร์นเดิมๆ อยู่ คือ ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ตัดก้อนเนื้อออก หรือไม่ก็ตัดเต้านมทิ้ง ให้ยาเคมีบำบัด ฉายแสง และในกรณีเราก็เช่นกัน”
ขีดทางเดินชีวิตใหม่…
“ขณะที่พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลหลังจากการผ่าตัดเต้านม ก็มีเพื่อนคนหนึ่งส่งหนังสือแปลชื่อว่า ‘ผมหายจากมะเร็งได้อย่างไร’ (Recalled by Life) มาให้อ่าน ซึ่งเป็นผลงานของนายแพทย์แอนโทนี เจ. แซตทิลาโร (Anthony J. Sattilaro) อดีตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่หายขาดจากมะเร็งด้วยการเปลี่ยนการกิน การอยู่ การใช้ชีวิตตามหลักการของแมคโครไบโอติกส์ และนั่นเองที่เราได้รู้จักคำว่า ‘แมคโครไบโอติกส์’ (Macrobiotics) เป็นครั้งแรกในชีวิต
“ยิ่งได้อ่าน ยิ่งรู้สึกอินกับเนื้อหา ความรู้สึกเราตอนนั้นเหมือนได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เราพบอีกหนึ่งเส้นทางที่เราอาจจะไม่ต้องทำตามขั้นตอนการรักษาแบบเดิมๆ ที่หมอบอก และด้วยความเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองเป็นทุนเดิม เราก็ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า เราจะไม่กลับไปหาหมออีกแล้ว ด้วยเหตุผลเดียวคือเราไม่อยากเครียดอีกแล้ว
“เพราะการไปหมอนี่มันเครียดนะ (หัวเราะ) แค่เดินเข้าไปในโรงพยาบาล นั่งรอหมอ ต่อให้เป็นโรงพยาบาลเอกชนก็เถอะ ความเครียดก็มาแล้ว นั่นทำให้เราตัดสินใจหันหลังให้คุณหมอ หันหลังให้เมืองกรุง และออกมาใช้ชีวิตแมคโครไบโอติกส์อย่างจริงจังที่เขาใหญ่ และไม่เคยกลับไปหาคุณหมออีกเลยกว่า 5 ปีเต็ม”
ตื่น-รู้-อยู่ให้ได้
“เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เมืองไทยยังไม่มีใครรู้จักคำว่าแมคโครไบโอติกส์เลย แม้แต่คำว่า ‘ชีวจิต’ เองคนไทยก็จะมาคุ้นหูกันช่วง 10 ปีหลังจากนั้น ทำให้ตอนนั้นเราไม่รู้จะไปถามใคร แต่ก็ใช้วิธีค่อยๆ ศึกษาค้นหาข้อมูลจากหนังสือต่างประเทศไปเรื่อยๆ และโชคดีมากที่ช่วงนั้นลูกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ทำให้เราได้มีโอกาสได้ไปๆ มาๆ จึงได้รู้ว่าแมคโครไบโอติกส์ในต่างประเทศนั้นเป็นที่แพร่หลายมานานแล้ว เขามีสถาบันที่สอนเรื่องนี้โดยเฉพาะ นอกจากนั้นก็ยังมีสมาคม ชมรม กลุ่มคนที่เราสามารถเข้าไปพบ พูดคุย แลกเปลี่ยน และเรียนรู้เรื่องนี้ได้อย่างอิสระ
“นั่นเองที่ทำให้เราเริ่มรู้จักแมคโครไบโอติกส์เพิ่มขึ้น จากที่ไม่รู้จักเลยว่า Brown rice ที่หนังสือแมคโครไบโอติกส์เขียนไว้คืออะไร ก็เริ่มรู้ว่า อ่อ…มันก็คือข้าวกล้อง แต่ตอนนั้นในเมืองไทยไม่มีตลาดไหนที่ขายข้าวกล้องเลย ด้วยความที่เราอยากกิน ก็ต้องใช้วิธีเข้าไปพบชาวนาเพื่อขอร้องกึ่งว่าจ้างให้เขาทำให้เรา หรืออาหารการกินบางอย่าง ในเมืองไทยไม่มีก็ต้องสั่งจากเมืองนอกมาลองดู
“เราใช้ชีวิตอยู่อย่างนั้น อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับอากาศที่ดี ทำอาหารกินเอง เพียงไม่นานเราก็เริ่มรู้สึกได้เลยว่าร่างกายของเราเปลี่ยนไป จากอาการท้องผูกหรือภูมิแพ้อากาศที่ติดตัวมา ทุกอย่างหายไปหมด นั่นยิ่งทำให้เรามีกำลังใจเพราะมันการันตีได้ว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว
“ถ้าเรายังไม่เป็นมะเร็งหรือยังไม่ได้เดินเฉียดเข้าใกล้ความตาย เราก็ไม่สังวรเรื่องพวกนี้ เราก็คงเริงร่ากับชีวิตไปวันๆ ต้องขอบคุณมะเร็งที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนทัศนคติในการมองชีวิต
“มะเร็งทำให้เราเห็นถึงสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงของธรรมชาติ เพราะเมื่อก่อนคำว่ามะเร็งเท่ากับตาย พอเราเดินเฉียดเข้ามาใกล้ความตาย เราได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามากขึ้น เราจึงได้รู้ว่าคนเราเกิดมาเพื่อตายกันทุกคน ทุกๆ ก้าวที่เราเดินไป เราเดินไปหาความตายอยู่ทุกวัน
“พอเรายอมรับจุดนี้ได้แล้ว เราก็จะไม่กังวลต่อความตายนัก ใจเราก็สบาย ไม่เป็นทุกข์ ปล่อยวางได้ว่า ตายก็ตายสิ เพียงแต่ในช่วงที่เรายังไม่ตาย เราก็ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี งั้นก็ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับร่างกายในช่วงเวลาที่เหลือแล้วกัน”
30 ปี บนเส้นทางแมคโครไบโอติกส์
“ถ้าถามว่าวันๆ ทำอะไรบ้าง ก็ดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพนี่แหละ แค่นี้ก็หมดเวลาแล้ว (หัวเราะ) นี่คือหน้าที่หลักของเราเลย ภารกิจสำคัญในแต่ละวันคือการทำอาหารกินเอง แต่ถามว่ากินนอกบ้านบ้างไหม ก็ไปนะ ไปเอ็นจอย เพราะเรายังมีลูกมีหลาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเลือกไปที่ดีๆ ที่ดังๆ ที่อร่อยๆ ต้องเข้าคิวกัน แต่เรามักจะผิดหวังกลับมาเสมอ (หัวเราะ) เพราะพอเรากินเข้าไป เราก็รู้สึกได้เลยว่ามันไม่ใช่อาหารธรรมชาติ
“ไม่ว่าร้านอาหารหรือรายการอาหารที่พาไปกิน หรือรายการทำอาหารสื่อต่างๆ ทุกวันนี้ สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ น้ำมันหอย ซอสฝาเขียว ผงปรุงรส สามอย่างนี้เป็นหัวใจความอร่อย ซึ่งจะต้องใส่ในทุกเมนูอาหาร แม้กระทั่งผัดผักธรรมดาๆ ก็ใส่ แตกต่างจากอาหารแมคโครไบโอติกส์นั้น เราแค่ใส่เกลือ เหยาะซีอิ๊วจากธรรมชาติ หรือหากอยากให้มีรสอื่นๆ ก็แค่ใส่มะนาว หรือน้ำมะขามเปียกเท่านั้น แต่แม่ครัวสมัยนี้ ถ้าไม่มีเครื่องปรุงสามอย่างนี้อยู่ในครัว ก็จะทำอะไรไม่เป็นแล้ว
“ร้ายแรงกว่านั้นคือไม่มีใครเคยตามไปดูว่าเครื่องปรุงต่างๆ ที่ขายตามท้องตลาดนี้ เขาผลิตกันอย่างไร ทำให้เกือบทุกสิ่งอย่างมีการใช้สารเคมีเพื่อเร่งกระบวนการผลิตแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นซอสต่างๆ หรือแม้แต่ ‘ไก่’ ที่เลี้ยงกันไม่กี่วันก็จับมากินได้แล้ว แต่ถามว่าเรากำลังกินอะไรเข้าไป? สารช่วยเร่ง สารกันบูด ฯลฯ ใช่ไหม
“วันนี้มันอาจจะไม่ทำให้เราเป็นอะไรไป เพราะร่างกายคนเรานั้นมหัศจรรย์ ฉลาด สามารถรีเจกต์ (reject) หรือกรองของที่ไม่ต้องการออกได้ แต่อย่าลืมว่าเครื่องกรองนี้ก็มีวันเสื่อมสภาพ ถ้าเราไม่ช่วยเครื่องกรองเลย โหมใส่แต่อาหารไม่ดีเข้าไปในร่างกาย วันหนึ่งมันก็ต้องเจ๊ง ทำงานไม่ไหว และนั่นแหละที่โรคร้ายต่างๆ ก็จะมารุมเร้า เซลล์ดีก็กลายเป็นเซลล์ร้ายได้
“มันไม่ใช่แค่เรื่องกินเท่านั้น แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดธรรมชาติ เช่น กลางค่ำกลางคืนไม่ยอมหลับยอมนอน บางคนนอนเที่ยงคืน ตื่นเที่ยงวัน พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้นาฬิกาชีวิตของเราแปรปรวนรวนเรไปหมด จากที่ร่างกายควรพักผ่อนซ่อมแซมตัวเองเวลา 4-5 ทุ่ม เรากลับเอาเวลานั้นมาทำอย่างอื่น บางคนกินจนวินาทีสุดท้าย จะขึ้นเตียงอยู่แล้วก็ยังกินไม่หยุด พฤติกรรมทำนองนี้ทำให้ร่างกายเราอ่อนแอลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็ป่วย”
หัวใจของแมคโครไบโอติกส์
“สรุปให้ง่ายที่สุด แมคโครไบโอติกส์นั้นก็คือการกินอาหารและการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติที่ถูกต้องกับภูมิประเทศและฤดูกาลของเรา หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือกินอยู่ตามปู่ย่า นั่นคือสุดยอดแล้ว เช่น ปู่ย่าเรานอนแอร์ไหม, ปู่ย่าเราดูซีรีส์เกาหลีถึงเช้าหรือเปล่า, ตื่นเช้ามาเขาทำอะไร ไปไร่ไปนาก่อนจึงจะกลับมากินข้าว แต่ทุกวันนี้เราทำกันอย่างไร ตื่นเช้ามายังไม่ทันทำอะไรก็ซัดกาแฟเสียแล้ว หรือแม้แต่การอาบน้ำ สมัยปู่ย่าก็จะไม่อาบน้ำก่อนนอน และไม่สระผมตอนกลางคืน เพราะมันทำให้ร่างกายเราชื้น พอร่างกายเราชื้น ม้ามเราก็จะอ่อนแอ
“มาถึงเรื่องการกิน ก็ลองนึกย้อนไปดูว่าสำรับกับข้าวปู่ย่ามีอะไร ส่วนใหญ่ก็จะมีปลา น้ำพริก ผักริมรั้ว ที่สำคัญของต่างๆ ก็จะเป็นของตามฤดูกาล หน้านี้มีสะเดาก็กินสะเดา หน้านี้มีมะม่วงก็กินมะม่วง แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะฤดูไหนก็มีให้เรากินได้ทั้งปี เพราะทุกอย่างถูกเร่งรัดให้ออกไม่ตรงตามฤดูกาล ยิ่งออกนอกฤดูกาลได้มากเท่าไรก็ยิ่งได้ราคากว่า แต่ถามว่าเรากำลังกินอะไรเข้าไป นอกจากแพง รสไม่อร่อยเหมือนผลไม้ในฤดูกาลแล้ว เรายังไม่ได้รับสารอาหารที่ดี หนำซ้ำอาจจะเจอยาเร่งต่างๆ นานา
“แมคโครไบโอติกส์นั้นจึงสอนให้เรากินอยู่ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ อากาศร้อนก็ปล่อยให้ร่างกายขับเหงื่อ ขับของเสียออกจากร่างกาย ไม่ใช่ร้อนปุ๊บ ปิดห้อง เปิดแอร์ปั๊บ กินตามฤดูกาล ไม่จำเป็นต้องกินแค่เต้าหู้ มิโซะ และไม่ได้ห้ามกินเนื้อสัตว์ เพียงแต่เราต้องรู้จักเลือก สมมติว่า อยู่ป่า อยู่เขา คุณจะยิงนกมากินก็ได้ ก็ยังดีกว่าซื้อไก่ในกรุงมากิน หรือคุณจะกินปลาร้าก็ได้ ถ้าปลาร้านั้นคุณหมักเอง หรืออยากกินแฮมเบอเกอร์ ก็ทำแฮมเบอเกอร์กินเองได้ กุศโลบายของการทำอาหารเองนั้นง่ายๆ คือ เราย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเราอยู่แล้ว ทั้งยังปรุงแบบสดๆ ใหม่ๆ และกินทันที
“หลักการของแมคโครไบโอติกส์คือกินอะไรก็ได้ ขอแค่ทำกินเอง ยิ่งสมัยนี้มีแหล่งวัตถุดิบมากมายที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบแมคโครไบโอติกส์ ก็ยิ่งง่ายสำหรับคนที่รักสุขภาพที่อยากเดินมาบนเส้นทางนี้ อย่ามัวรอให้ความตายเข้ามาใกล้ หรือหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายเสียก่อน ถึงจะเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ เพราะตอนนั้นมันอาจจะสายไปแล้ว…”
ในวัย 77 ปี ‘ป้าตุ๊’ ยังคงใช้ชีวิตสมดุลกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ชีวิตที่ไม่มีเร็ว ไม่มีช้า ไม่รีบเร่งไปตามสภาวะแวดล้อมของโลกที่ระอุไปด้วยไอแห่งมลภาวะหรือระบบทุนนิยม ปราศจากการแบ่งแยก ไร้การแข่งขัน อยู่ท่ามกลางสภาวะที่เบาสบายทั้งกายและใจ ชีวิตเธอเลือกไว้และไม่เคยเสียใจเลย…จวบจนวันนี้
ติดตามการกินและการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติของป้าตุ๊ได้ที่
สิทรา พรรณสมบูรณ์ Sitra Phanasomburna