ศลิษา คล่องการ : ภารกิจชีวิตหลังยุติการรักษา

“ตั้งแต่มะเร็งเข้ามาในชีวิต
เราก็ไม่เคยวางแผนชีวิตเกิน 1 สัปดาห์อีกเลย
เพราะมะเร็งทำให้รู้ซึ้งถึงความไม่แน่นอนของชีวิต
เราไม่รู้เลยว่า พรุ่งนี้จะยังมีลมหายใจอยู่ไหม
ทุกวันนี้จึงพยายามอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด
อยากทำอะไร ทำทันที จะไม่คิดอะไรล่วงหน้าไกลๆ
วางแผนแค่สัปดาห์หน้าจะทำอะไร–แค่นั้นพอละ!”

ปุ้ม-ศลิษา คล่องการ นักวิชาการสื่อสารมวลชน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด Triple Negative ระยะ 3 วัย 52 ปี ที่เผชิญกับอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดอย่างรุนแรงจนต้องยุติการรักษา และนั่นทำให้เธอได้รู้ซึ้งว่าชีวิตที่ไม่แน่นอนนั้นเป็นอย่างไร

“โดยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชอบแบ่งปันมาแต่ไหนแต่ไร นอกจากการเข้าวัดทำบุญ และการบริจาคสิ่งของ อาหาร ให้กับสถานสงเคราะห์ต่างๆ แล้ว การบริจาคโลหิตก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะทำเป็นประจำทุก 3 เดือน มาตั้งแต่อายุ 40 ปี นี่ทำให้จากเดิมที่ดูแลตัวเองดีอยู่แล้ว หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพทุกอย่าง ก็ยิ่งใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เรียกว่าเป็นคนที่เฮลตี้มากคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ ทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารก็เลือกรับประทานอาหารปลอดสาร และเน้นทำอาหารกินเองให้ได้โภชนาการที่ดี แทบจะไม่รับประทานอาหารนอกบ้านเลย เพราะเราต้องทำค่าความเข้มข้นโลหิตของเราอยู่ระหว่าง 12.5-16.5 กรัมต่อเดซิลิตร จึงจะสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน 

“นอกจากการบริจาคโลหิตนี้จะได้ช่วยชีวิตคนอื่นแล้ว เราในฐานะผู้บริจาคเองก็ยังได้ตรวจเช็กสุขภาพร่างกายไปในตัวด้วยว่าเลือดของเรามีปัญหาไหม ซึ่งที่ผ่านมาก็อยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอด สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานที่เราสังกัดอยู่ บางปีเป็น 0 บาท เลยก็มี แทบจะไม่เจ็บป่วยเลย หนักที่สุดในชีวิตก็คือโรคกระเพาะ เราจึงคิดมาตลอดว่า มะเร็งเป็นเรื่องไกลตัวเรามาก และโดยประวัติทางครอบครัวก็ไม่มีใครเคยเป็นมะเร็งมาก่อนเลย ซึ่งการคิดว่าตัวเองร่างกายแข็งแรงมาตลอดนี้เองเป็นความประมาทอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราไม่เคยตรวจร่างกายประจำปีมาก่อนเลย ทั้งๆ ที่ที่ทำงานก็จะมีสวัสดิการให้สามารถตรวจได้ฟรี หรือแม้แต่เพื่อนๆ ที่ทำงานจะมาชวนสักกี่ครั้ง ก็ไม่เคยไปเลยสักครั้ง เพราะคิดไปเองว่าตรวจไปก็ไม่เจออะไรหรอก”

เมื่อโรคร้ายทักทายชีวิต

“กระทั่งวันเสาร์ราวต้นเดือนมิถุนายน 2565 วันนั้นนัดหมายกับหัวหน้าว่าจะเอาขนมไปเลี้ยงบ้านเด็กกำพร้าด้วยกัน ราวตี 3 ก็ตื่นขึ้นมาเพื่อจะทำขนมไปให้เด็กๆ ระหว่างที่กลิ้งตัวเพื่อจะลุกขึ้นจากที่นอน มือก็ไปคลำโดนก้อนแข็งๆ ที่หน้าอกด้านซ้าย ก็สงสัย เอ๊ะ! เป็นอะไร จึงลองเอามือมาคลำที่หน้าอกด้านขวาก็ปรากฏว่าไม่เป็นเหมือนด้านซ้าย ก็กลับไปคลำด้านซ้ายอีกรอบ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าอาการไม่ปกติแล้ว หลังจากเลี้ยงอาหารและขนมบ้านเด็กกำพร้าเสร็จ ก็ตรงไปที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อตรวจร่างกายทันที วันนั้นคุณหมอก็ให้แมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ โดยระหว่างที่อัลตราซาวนด์นั้นเอง ทางเจ้าหน้าที่ก็ถามขึ้นว่า “มีญาติเป็นมะเร็งไหมคะ”

“ตอนนั้นเริ่มเอะใจ ก่อนจะตอบเจ้าหน้าที่ไปว่า ‘ไม่มีค่ะ’ จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็ถามต่อว่า ชีวิตประจำวันทานอาหารเสริมอะไรบ้างไหมคะ’ ซึ่งช่วงนั้นกำลังรับประทานผลิตภัณฑ์โปรตีนอยู่ นอกเหนือจากทานอกไก่ปั่นและน้ำผักปั่น พอเจ้าหน้าที่ได้ยินก็ลากเสียงยาว “อืมมมมม….” ตอนนั้นเราก็สงสัยนะ แต่ก็ไม่ได้ถามอะไรต่อ 

“พอตรวจเสร็จก็มาฟังผลทั้งหมดกับคุณหมอ ปรากฏว่า ‘เป็นมะเร็ง 95 เปอร์เซ็นต์นะคะ อีก 5 เปอร์เซ็นต์ หมอขอเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ เพื่อยืนยันว่าชัวร์หรือเปล่า’ ยอมรับว่าวันนั้นเราไม่ได้เตรียมใจไปเลย จึงได้แต่นั่งงงๆ และตอบคุณหมอกลับไปว่า ‘ค่ะ’ จากนั้นคุณหมอก็เจาะชิ้นเนื้อไปทั้งหมด 4 ชิ้น และให้กลับไปฟังผลอีกครั้งในวันจันทร์ที่จะถึง จำได้ว่าตอนนั้นขาชา ไม่มีแรงไปเฉยๆ เดินออกจากห้องคุณหมอไม่ไหว จนพยาบาลต้องเข้ามาช่วยพยุง ก่อนจะโทรให้ญาติมารับ เนื่องจากวันนั้นเราไปโรงพยาบาลคนเดียว”

‘บริจาคโลหิต’ กิจวัตรที่ทำทุก 3 เดือน
ก่อนมะเร็งจะเข้ามา

มะเร็งตะมุตะมิ 

“ระหว่างที่รอฟังผลชิ้นเนื้อ เราก็เริ่มทำใจแล้วว่าน่าจะเป็นมะเร็งแน่ๆ แล้ว เพราะคุณหมอยืนยันมา 95 เปอร์เซ็นต์ พอวันจันทร์ก็รีบมาเคลียร์งาน ก่อนจะไปฟังผลในช่วงบ่ายพร้อมลูกสาว ลึกๆ เราก็ยังรู้สึกเข้าข้างตัวเองว่า ถึงจะเป็นมะเร็งก็คงเป็นมะเร็งแบบมะเร็งตะมุตะมิแหละ (หัวเราะ) คงไม่ได้ร้ายแรงอะไรหรอก แม้จะทำใจไปแล้ว แต่พอคุณหมอแจ้งผลว่าเป็นมะเร็งร้อยเปอร์เซ็นต์ น้ำตาของเรากลับไหลไม่หยุดเลย หูไม่ได้ยินอะไร ลูกสาวที่นั่งข้างๆ ก็หันมาบอกว่า ‘คุณแม่ตั้งสตินะคะ’ หลังสิ้นเสียงลูกสาว เราก็พยายามตั้งสติและคุยกับคุณหมอว่า จะขอย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐฯ แทน เนื่องจากสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐฯ จะสามารถเบิกได้เต็มจำนวน คุณหมอก็ทำเรื่องและแนบประวัติ พร้อมผลการตรวจทั้งหมดมาให้ 

“จากนั้นเราก็ตรงไปที่โรงพยาบาลรามาทันที โชคดีมากวันนั้น รศ. นพ.รณรัฐ สุวิกะปกรณ์กุล ลงตรวจพอดี ท่านเป็นอาจารย์หมอ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แม้จะไม่ได้นัดหมายไว้ก่อน แต่ท่านกรุณามาก ให้คิวตรวจเป็นคิวสุดท้าย หลังจากเข้าพบคุณหมอ ท่านก็แนะนำให้กลับไปนำชิ้นเนื้อที่โรงพยาบาลแรก เพื่อนำมาย้อมจะได้รู้ว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน และสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง 

“ระหว่างที่รอนำชิ้นเนื้อมาย้อม คุณหมอก็ให้ไปตรวจการลุกลามของมะเร็ง ตั้งแต่การสแกนช่องท้อง เอกซเรย์ปอดและสมอง รวมถึงเจาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ไปตรวจ หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ เราก็กลับมาฟังผล ปรากฏว่าโชคดีมากที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่อวัยวะใดๆ เลย แต่โชคร้ายหน่อยที่ดันเป็นมะเร็งพันธุ์ดุ Triple Negative และด้วยขนาดที่ใหญ่เกิน 4 เซนติเมตร คุณหมอจึงแนะนำว่า ควรให้คีโมก่อนผ่าตัด เพื่อให้ก้อนมะเร็งเล็กลงก่อนดีกว่า ก่อนจะถามว่า ‘คนไข้พร้อมไหม ถ้าจะให้คีโมวันนี้เลย’ เราก็ตอบหมอไปอย่างมั่นใจว่า พร้อมค่ะ…

คีโมสอนให้รู้ว่า…

“ตามแผนการรักษา เราต้องให้คีโมทั้งหมด 16 เข็ม โดย 4 เข็มแรกเป็น ‘สูตรน้ำแดง’ ซึ่งจะให้ห่างกัน 3 สัปดาห์ จากนั้นก็จะต่อด้วย ‘สูตรน้ำขาว’ ทุกสัปดาห์ จนครบ 12 เข็ม โดยคุณหมอแจ้งว่า ‘เข็มแรกนี้ผมจะร่วงนะ’ เนื่องจากยาเคมีจะฆ่าเซลล์ทุกเซลล์ที่ทำให้เจริญเติบโตในร่างกาย ทั้งเซลล์ดีและเซลล์ร้าย หลังรับคีโม วันแรกอาการเป็นปกติทุกอย่าง กินข้าวได้ปกติ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากยาแก้แพ้ที่คุณหมอให้มาที่ช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงต่างๆ 

“พอวันที่ 2 อาการยังปกติ วันนั้นก็ตัดสินใจไปหาซื้อวิกที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ก่อนจะไปโกนผมออกทั้งหมด จำได้ว่าพอช่างรู้เหตุผลที่เรามาโกนผม ก็โกนไป ร้องไห้ไป เหมือนว่าเราคงไม่รอดแล้วละ (หัวเราะ) เราก็พยายามบอกว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปรักษาก็หาย โกนได้เลยๆ   

“เราใช้ชีวิตตามปกติ กินอาหารร่วมกับอาหารทางการแพทย์ จนน้ำหนักขึ้น พอสัปดาห์ที่ 3 ปรากฏว่า จู่ๆ มีอาการไข้ขึ้น ตอนนั้นจึงไลน์ไปปรึกษาพยาบาลที่ดูแล เขาก็บอกว่ายังไม่ต้องกินยาพารานะคะ แต่หากไข้แตะ 38 องศา ให้มาห้องฉุกเฉินทันที

“คืนนั้นไข้แตะ 38 องศาจริงๆ จึงรีบไปห้องฉุกเฉิน หลังจากเจาะเลือด คุณหมอก็ให้แอดมิตรอฟังผล จนรุ่งเช้า คุณหมอก็มาแจ้งข่าวว่า เราติดเชื้อในกระแสเลือด และเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จำเป็นต้องย้ายไปนอนในห้องปลอดเชื้อและฉีดยาฆ่าเชื้อทุก 4 ชั่วโมง พร้อมด้วยยากระตุ้นเม็ดเลือดขาวทุกวัน จนอาการดีขึ้น

“หลังจากนั้นมา เราก็พยายามดูแลตัวเองหนักขึ้นกว่าเดิม เน้นกินอาหารใหม่ สุก สะอาด และงดอาหารค้างคืนทั้งหมด ซึ่งก็ผ่านคีโมสูตรน้ำแดงมาจนได้ ก่อนจะต่อด้วยสูตร ‘น้ำขาว’ ทุกสัปดาห์อีก 12 เข็ม ช่วงนี้นับเป็นช่วงสั่นคลอนสถานะคนทำงานอย่างมาก ด้วยความที่ทุกวันจันทร์เราต้องให้คีโม และหลังจากนั้นคุณหมอจะสั่งให้พักผ่อนอย่างน้อย 2 วัน เพื่อให้ร่างกายพักฟื้นและผลิตเม็ดเลือดขาวทันกับการให้คีโมครั้งต่อไป ทำให้เรากลายเป็นพนักงานประจำที่สามารถทำงานได้แค่ 2 วันต่อสัปดาห์ คือ วันพฤหัสบดีและวันศุกร์ โชคดีที่หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานเข้าใจ ทำให้เราสามารถรักษาตัวอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลใจอะไร”

ซึมเศร้าแบบเข้าใจ 

“ด้วยความที่เราไม่อยากเลื่อนการให้คีโมเลยสักครั้ง เพราะกลัวมะเร็งจะดื้อยา ทำให้เราให้ความใส่ใจกับการกินมาเป็นอันดับแรกๆ เน้นกินอาหารให้ครบหมู่ โดยเฉพาะโปรตีน เช่น ไข่ต้มปั่นวันละ 6 ฟอง แต่หากครั้งไหนคุณหมอทักว่า ผลเลือดต่ำลงกว่าครั้งก่อนๆ เราก็จะกลับมากินไข่เพิ่มเป็น 12 ฟอง จนช่วงหลังๆ เห็นไข่ไม่ได้ เริ่มผวา เก็บเอาไปฝัน (หัวเราะ) ก็เปลี่ยนมาชง ‘โปรตีนไข่ขาว’ กินแทน โดยกินควบคู่กับอาหารทางการแพทย์ 3 แก้วต่อวัน ทำให้การคีโม 16 เข็ม ผ่านไปได้ค่อนข้างดี และแทบไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ นอกจากอาการซึมเศร้าหลังคีโม 1-2 วัน และทุกครั้งที่มีอาการนี้ เราก็จะบอกกับสามีให้เตรียมตัวก่อนว่า ‘วันนี้ดิ่งนะ’ นั่นเป็นที่รู้กันว่าวันนั้นเราจะนอนอย่างเดียว ไม่รับแขกเด็ดขาด พอผ่านไปไม่เกิน 2 วัน ก็กลับมาเป็นปกติ  

“หลังจบคีโมเข็มที่ 16 เพียงหนึ่งสัปดาห์ก็ถึงขั้นตอนการผ่าตัด ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม 2566 วันนั้นนอกจากต้องผ่าตัดเต้านมข้างซ้ายออกทั้งเต้าแล้ว ยังพบว่ามะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองออกบางส่วน จากนั้นคุณหมอยังส่งชิ้นเนื้อที่ผ่าตัดออกมาไปตรวจ จนได้พบว่ามีเชื้อมะเร็งที่ยังไม่ตายในก้อนเนื้อประมาณ 2.8 เซนติเมตร แม้จะผ่าตัดและขูดเนื้อด้านข้างเผื่อไว้แล้ว แต่คุณหมอก็ยังไม่วางใจ”

ฝ่าด่านสุดโหด

“หลังฉายแสง 25 ครั้งจบ คุณหมอจึงขอให้คีโมต่อ แต่ครั้งนี้เป็นคีโมแบบเม็ด ซึ่งคุณหมอจะให้ทั้งหมด 6 ชุด โดยให้เดือนละชุด วิธีกินยาก็คือ 15 วัน และหยุด 15 วัน ด้วยความที่เราผ่านคีโม 16 เข็ม มาได้อย่างไม่ยากเย็น จึงคิดไปเองว่า 6 ชุดนี้ก็คงผ่านไปได้เหมือนกัน โดยหารู้ไม่ว่า นี่คือด่านหฤโหดที่สุดในการรักษามะเร็งครั้งนี้จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด

“อาการข้างเคียงจากการกินยาคีโมชุดแรก จากเดิมที่มือเท้าชาอยู่แล้ว พอมากินยาชุดนี้ ชาหนักกว่าเดิมจนแทบเดินไม่ได้ อีกทั้งมือเท้ายังกลายเป็นสีดำคล้ำ ลามไปที่ใบหน้าและลิ้น กินข้าวได้น้อยลง อาการเบื่ออาหารเริ่มหนักขึ้น

“ชุดที่ 2 คุณหมอจึงปรับยาให้ใหม่ แต่อาการข้างเคียงก็ยังไม่ดีขึ้น แต่ก็พยายามกลั้นใจกินจนกระทั่งชุดที่ 4 ร่างกายเริ่มไม่ไหว ลุกไม่ได้แล้ว ขาอ่อนแรง ต้องนั่งรถเข็น เล็บดำ หนังที่ฝ่าเท้าเริ่มลอกออกเป็นแผ่นๆ จับแล้วติดนิ้วออกมาเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอาการท้องเสีย ถ่ายวันละเป็นสิบๆ รอบ กินอาหารไม่ได้เลย ต้องชงอาหารทางการแพทย์กินแทนมื้ออาหาร พยายามกินให้ได้มากที่สุด แต่สุดท้ายก็ต้องเข้าแอดมิตในที่สุด

“กระทั่งวันที่คุณหมอนัดให้ไปรับยาคีโมชุดที่ 5 ตอนนั้นขอยุติการรักษากับคุณหมอไปตรงๆ เลย เพราะรู้สึกว่าถ้ากินต่อต้องตายแน่ๆ แต่คุณหมอก็ตอบกลับมาตรงๆ ว่า ไม่ได้! โดยท่านให้เหตุผลว่า มะเร็งที่เป็นอยู่นั้นเป็นชนิดที่แพร่กระจายไว หากรับยาไม่ครบโด๊สที่วางไว้ อาจจะทำให้มะเร็งกลับมาลุกลามได้ เราจึงต้องกลับมากินยาเคมีชุดที่ 5 ต่อจนกระทั่งวันสุดท้าย จำได้เลยว่าเราใช้ความพยายามอย่างมากที่จะกลืนยาเม็ดสุดท้ายของชุดที่ 5 ลงไป 

“ช่วงนั้นมาพักฟื้นกับสามีที่บ้านต่างจังหวัด จากที่ท้องเสียมาตลอด ถ่ายท้องวันละเป็นสิบๆ รอบ แทบจะนอนในห้องน้ำ วันนั้นเรารู้สึกไม่ไหวแล้ว จึงเรียกรถพยาบาลมารับไปห้องฉุกเฉิน แอดมิตอยู่สองวันเต็มๆ อาการก็ไม่ดีขึ้น ท้องเสียหนักกว่าเดิม กินอะไรก็ไม่ได้ อาเจียนตลอด จนสุดท้ายจึงตัดสินใจประสานมาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เพื่อขอเข้ามารักษาต่อ 

“ตอนนั้นที่โรงพยาบาลรามาไม่มีห้องว่าง ทำให้เราต้องไปแอดมิตที่โรงพยาบาลตำรวจก่อน พอมาถึงทางคุณหมอก็ส่งเข้าอุโมงค์ MRI สแกนดูท้อง ปรากฏว่าลำไส้อักเสบและบวมมาก คุณหมอจึงวางแผนว่า หากให้ยาแล้วไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องผ่าตัดด่วน แต่ปรากฏว่ารุ่งเช้าอาการบวมของลำไส้ลดลง ทำให้ไม่ต้องผ่าตัด แต่ด้วยอาการท้องเสียหลายวันและยังไม่ยอมหยุด ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารอย่างรุนแรง จากน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ตอนนั้นลดเหลือ 39 กิโลกรัมเท่านั้น คุณหมอจึงขอเจาะเลือดเพื่อดูว่าขาดสารอาหารอะไรบ้าง และเติมสารอาหารผ่านทางน้ำเกลือทุกวันจนกว่าจะดีขึ้น”

กำลังใจสำคัญ

“พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนานเกือบเดือน กิจวัตรประจำวันก็คือการเจาะเลือดทุกวัน ซึ่งทรมานมาก เจาะจนแขนขวาไม่มีที่เจาะแล้ว ต้องยอมให้เจาะที่แขนข้างซ้ายที่เพิ่งเลาะต่อมน้ำเหลืองมา จากเดิมที่คุณหมอห้ามทำหัตถการทุกชนิด หรือแม้แต่น้ำเกลือก็ยังต้องให้ผ่านทางเท้า ช่วงนั้นเริ่มกลัวเข็ม เห็นพยาบาลเดินมาใกล้ๆ น้ำตาไหลเลย ช่วงนั้นอยู่อย่างหมดกำลังใจ และถามตัวเองตลอดว่า จะมีพรุ่งนี้สำหรับเราไหม บางวันถึงขั้นจะขอยุติการรักษา จนสามีพูดให้กำลังใจว่า สู้นะ อยู่เป็นเพื่อนกันก่อน อยู่ให้ถึงเกษียณ เราไปเที่ยวไหว้พระด้วยกัน ค่ำไหนนอนนั่นเนอะ’ แม้แต่พยาบาลเองก็น่ารักมาก พอเห็นว่าเราท้อ เขาก็มาถามว่าอยากทำบุญไหม จากนั้นก็นิมนต์พระมาให้เราใส่บาตรถึงข้างเตียง 

“พอได้ทำบุญ กำลังใจก็เริ่มมา พยายามกินอาหารทางการแพทย์ให้ได้มากที่สุด หวังว่าจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัว จนในที่สุดก็ได้ออกจากโรงพยาบาล ดีใจมาก แต่รุ่งขึ้นอีกวัน (20 กรกฎาคม 2566) ก็ต้องไปรับคีโมชุดสุดท้ายกับทางคุณหมอที่โรงพยาบาลรามา จำได้ว่าวันนั้นนั่งรถเข็นไปหาหมอเลย เพราะตอนนั้นเท้าเหยียบพื้นไม่ได้แล้ว หนังลอกออกหมด เจ็บมาก แต่ก็พยายามแข็งใจไป ในใจก็นึกถึงคำของสามีตลอดเวลาว่า ต้องอยู่ ต้องอยู่เป็นเพื่อนเขาให้ได้ พอถึงห้องตรวจก็แจ้งอาการที่ต้องไปแอดมิตให้คุณหมอฟัง และถามคุณหมอว่า ‘วันนี้จะให้ยาเคมีชุดสุดท้ายเลยไหมคะ’ คุณหมอมองหน้าแล้วพูดขึ้นว่า ‘หมอให้ยุติการรักษา…’ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสภาพร่างกายของเราตอนนั้นสะบักสะบอมมาก คุณหมอน่าจะเห็นว่า ไปต่อคงไม่ไหวแล้ว จึงต้องยอม

“พอได้ยินคำคุณหมอ ในใจเราอยากกระโดดกอดคุณหมอมาก (หัวเราะ) ดีใจที่สุดในชีวิต หลังจากนั้นมาคุณหมอก็นัดมาติดตามผลทุก 3 เดือน ขณะที่เราเองพอได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็ดูแลสุขภาพ กินอาหารตามโภชนาการ ออกกำลังกาย แม้จะมีอาการข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น ปวดกระดูก ฯลฯ ก็จะปรึกษาคุณหมอ และพยายามกินอาหารบำรุงกระดูกที่หลากหลาย”

‘ครอบครัว’ กำลังใจสำคัญ

บทเรียนจากมะเร็ง 

“มะเร็งครั้งนี้ไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตหรือแนวความคิดอะไรเลย ชีวิตเรายังมีความสุขกับสิ่งเดิมๆ ก็คือ การทำบุญ ทำเพื่อคนอื่น กิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำก็คือการไปตามโรงพยาบาลสงฆ์และสถานสงเคราะห์เด็ก หรือหากสัปดาห์ไหนกลับต่างจังหวัด เราก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฯลฯ เรายังมีความสุขกับการกินอาหารที่ปรุงเอง และทำงานเย็บปักถักร้อยที่เรารัก ทำขนม ทำอาหารไปแจกคนอื่นบ้าง นำไปบริจาคตามสถานสงเคราะห์บ้างตามโอกาส 

“แม้มะเร็งจะไม่ได้เปลี่ยนอะไร แต่มะเร็งก็เข้ามาทำให้เรามองเห็นสิ่งสำคัญในชีวิตได้อย่างชัดเจนขึ้น มะเร็งทำให้เรารู้ว่า หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของเรารอไม่ได้ อยากทำอะไรให้ใคร ต้องทำเลย นั่นเองที่ทำให้ทุกครั้งไปคีโมหรือไปหาคุณหมอ เราก็จะติดหมวกไหมพรมที่ถักขึ้นเองไปวางไว้ที่ห้องคีโม เพื่อแจกให้ผู้ป่วยที่เขาต้องการ จนทุกวันนี้ก็ยังถักไปบริจาคตามศูนย์มะเร็งต่างๆ หลังๆ ก็มีเพื่อนมาขอร่วมสมทบทุนซื้อไหมพรมให้ถัก บางคนก็ระบุสีประจำวันเกิดตัวเองมาเลยก็มี (หัวเราะ) และพอถักเสร็จ หากไม่สะดวกไปบริจาคเอง เราก็นำไปบริจาคให้ 

“ภารกิจชีวิตทุกวันนี้ก็คือทำวันนี้ให้ดีที่สุด ก่อนจะไม่มีโอกาสได้ทำ เราอยากทำประโยชน์เพื่อคนอื่นให้มากที่สุด อยากสะสมบุญไว้ให้มากที่สุด เพราะเมื่อวันหนึ่งเราต้องจากไป อะไรก็คงเอาติดตัวไปไม่ได้ นอกจาก ‘ผลบุญ’ เราเชื่ออย่างนั้นนะ

“มาถึงวันนี้ เราก็ยังคิดว่ามะเร็งไม่ได้น่ากลัว แม้จะผ่านความเป็นความตายกับการรักษามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เราก็ยังรู้สึกว่า มะเร็งก็แค่โรคโรคหนึ่งที่เราเป็นแล้ว สามารถรักษาให้หายได้ แค่เชื่อมั่นและทำตามคุณหมอบอก สำหรับเราแล้ว มะเร็งก็ยังดีกว่าอีกหลายโรค คือ เรารักษาแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อหายแล้วก็แค่ไปติดตามผล โดยไม่ต้องกินยาไปตลอดชีวิตเหมือนบางโรค ฉะนั้น อย่ากลัว อย่าท้อ เมื่อมีโอกาสรักษา ก็ทำให้เต็มที่ สู้ไปกับคุณหมอให้สุดทาง เพราะมะเร็งทำร้ายร่างกายเราได้ แต่มะเร็งทำร้ายจิตใจเราไม่ได้ นอกจากตัวเราเอง”

.

#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top