รุ่งลาวัลย์ สดชื่นจิต : ‘มะเร็ง’ พาสปอร์ตแห่งชีวิต

“เมื่อก่อนเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบอะไร 
เราใช้ชีวิตอยู่กับการทำงานหาเงินไปเรื่อยๆ 
เพราะเข้าใจว่า เงินเยอะๆ คือเป้าหมายชีวิต
แต่พอมะเร็งเข้ามา เรารู้ทันทีว่า
ต่อจากนี้ไปเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร”

รุ้ง-รุ่งลาวัลย์ สดชื่นจิต ผู้ (เคย) ป่วยมะเร็งเต้านมวัย 52 ปี อดีตผู้บริหารทางการตลาดขององค์กรแถวหน้า ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชามากมาย รับผิดชอบยอดขายกว่า 200 ล้านบาทต่อปี สู่การเป็นนักเดินทางที่ฝากรอยเท้าไว้ในประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศทั่วทุกมุมโลก ปัจจุบันเธอใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติบนที่ดินผืนย่อมๆ ในต่างจังหวัด สลับกับการเดินทางไปต่างประเทศบ้างเป็นครั้งคราวตามที่ใจอยาก     

“ถ้าถามว่า วันนี้ยังมีอะไรที่อยากทำอีกไหม? คำตอบก็คือ ไม่มีแล้ว (ยิ้ม) 12 ปีที่ผ่านมา เราทำทุกอย่างที่อยากทำ ใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้หมดทุกอย่างแล้ว ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณมะเร็งที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิต ความคิด และมุมมองในการใช้ชีวิต เพราะถ้ามะเร็งไม่เข้ามา วันนี้เราก็คงยังใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการทำงานหาเงินไปเรื่อยๆ ในเมืองใหญ่ที่แสนอึดอัด วุ่นวาย

“ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าชีวิตเรามีเวลาจำกัด วันหนึ่งเราก็ต้องจากไป แต่ส่วนใหญ่มักจะประมาท ใช้ชีวิตเหมือนว่าจะมีพรุ่งนี้ไปเรื่อยๆ ละเลยที่จะหันกลับมาทบทวนความคิดและชีวิตที่ผ่านมา เราเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น แต่พอมะเร็งเข้ามา มันเหมือนมาเตือนสติเราให้รู้ว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต และ อะไรที่เราควรทำตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ยิ่งไปกว่านั้นมะเร็งยังสะกิดให้เราได้กลับมาทบทวนตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราทำพลาดตรงไหน ให้โอกาสเราปรับปรุงแก้ไขตัวเองใหม่ ทั้งมุมมอง ความคิด ทัศนคติ และวิถีชีวิต

“นี่เป็นเหตุผลให้ 12 ปีที่ผ่านมา ไม่มีวันไหนเลยที่เราจะไม่ขอบคุณมะเร็งที่ยังให้โอกาสเราลืมตาตื่นขึ้นมาทุกเช้า ขณะเดียวกันเราก็ไม่ลืมที่จะเตรียมตัวตายก่อนหลับตานอนลงทุกคืน และคิดเสมอว่าหากวันไหนที่เราไม่ตื่นขึ้นมา นั่นคือชีวิตที่จบสมบูรณ์แบบแล้ว เราไม่มีความห่วง กังวลใดๆ เหลืออยู่แล้ว”

แค่คนเคยป่วย

“ย้อนหลังไปประมาณปี 2549 คุณแม่มีอาการน้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม พอไปโรงพยาบาลก็ตรวจพบก้อนแข็งๆ ที่เต้านม ขนาด 2.5 เซนติเมตร ซึ่งผลวินิจฉัยก็พบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย พอรู้ดังนั้นคุณแม่ก็เข้าสู่กระบวนการรักษาทันที โดยเราก็ทำหน้าที่เป็นสารถีรับส่งคุณแม่ทำเคมีบำบัด จำได้ว่าหลังจากเคมีบำบัดเข็มสุดท้ายผ่านไป ตอนนั้นทุกคนในบ้านก็เข้าใจว่าท่านน่าจะหายแล้ว เพราะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สีหน้าสดใส ดูแข็งแรงขึ้น แต่หลังจากนั้นเพียง 5 วัน จู่ๆ ท่านก็ฟุบหมดสติไปเลย ทางครอบครัวก็รีบนำท่านส่งโรงพยาบาล คุณหมอก็วินิจฉัยว่าท่านมีอาการสโตรก เส้นเลือดในสมองระเบิด เลือดคั่งเต็มสมอง หลังจากอยู่โรงพยาบาลได้แค่ 3 วัน ท่านก็จากไป นั่นก็ทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับเคมีบำบัดเท่าไรนัก

“ตั้งแต่นั้นมาเราก็เริ่มกลัวมะเร็งเต้านม จากเดิมที่ตรวจสุขภาพประจำปีปกติ ก็หันมาเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เพิ่มเติมทุกปี กระทั่งในปี 2555 เราก็ตรวจพบเม็ดที่เต้านมด้านซ้ายจำนวน 4 เม็ด ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร คุณหมอที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ (Fine Needle Aspiration : FNA) ซึ่งผลปรากฏว่าเป็นมะเร็ง”

ยอมรับไว รักษาไว หายได้

“หลังจากรู้ผล เราก็ตั้งสติและปรึกษาคุณหมอทันทีว่าต้องดำเนินการรักษาอย่างไร ทางคุณหมอก็สอบถามเรื่องสิทธิ์ประกันสุขภาพว่ามีที่ไหนบ้าง ซึ่งตอนนั้นนอกจากประกันสังคมแล้ว เราก็ยังมีประกันที่บริษัททำให้ และมีประกันโรคร้ายที่ทำไว้เองอีก 

“หลังจากนั้นคุณหมอก็เช็กคิวผ่าตัดแล้วแจ้งว่า หากรอผ่าตัดที่สถาบันมะเร็งต้องรอนานถึง 2 เดือน เราจึงถามคุณหมอกลับตรงๆ ว่า ต้องรีบแล้วใช่ไหมคะ คุณหมอก็บอกว่า ใช่! จึงสอบถามคุณหมอว่า นอกจากที่นี่แล้วคุณหมอประจำที่โรงพยาบาลอื่นอีกไหม คุณหมอก็แจ้งว่าที่โรงพยาบาลพญาไท 2 เราก็ถามท่านว่า หากไปผ่าตัดกับคุณหมอที่นั่น สามารถผ่าตัดได้เมื่อไร คุณหมอก็กรุณาเช็กทุกอย่าง ก่อนจะตอบว่า เสาร์นี้! ก็อีก 4 วันถัดมา เราก็ตอบกลับคุณหมอเดี๋ยวนั้นเลยว่า ‘งั้นวันเสาร์นี้ผ่าตัดเลยค่ะ’ 

“กลับมาบ้านคืนนั้น เราก็นั่งคุย ปรับทุกข์ และร้องไห้กับสามีทั้งคืน เพราะตอนนั้นกลัวมาก ด้วยความที่เรามีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งน้อยและคุณแม่ก็จากเราไปด้วยโรคมะเร็งเต้านม เราก็คิดว่าตัวเองก็คงจะไม่รอดแน่ๆ จึงฝากฝังทุกอย่างพร้อมสั่งลาสามี 

“กระทั่งรุ่งเช้าเราก็ลางานและตรงไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสังคม เพื่อขอ Second opinion จำได้ว่าวันนั้นคุณหมอก็บอกว่า ผลที่ได้จากสถาบันมะเร็งนั้นน่าเชื่อถือ 99.99 เปอร์เซ็นต์แล้วล่ะ ที่เหลือก็เป็นเรื่องความรวดเร็วในการรักษา เราจึงสอบถามคิวผ่าตัดตามสิทธิ์ประกันสังคม ซึ่งพอตรวจสอบแล้วคุณหมอก็แจ้งว่า หากจะผ่าตัดตามสิทธิ์ประกันสังคมในเวลานั้นต้องรออีก 6 เดือน นั่นเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่วางแผนไว้ไม่ผิด เราจึงเตรียมตัวผ่าตัดในวันเสาร์อย่างไม่กังวลใดๆ”

สงวนเต้าไว้ ความมั่นใจยังอยู่ 

“ตอนนั้นคุณหมอแนะนำให้ผ่าตัดสงวนเต้า ด้วยความที่เราอายุเพียง 40 ปี และขนาดของก้อนเนื้อไม่ใหญ่ ยังพอจะสงวนเต้าได้ โดยคุณหมอบอกว่าข้อดีก็คือ เมื่อเต้าเรายังอยู่ ความมั่นใจในการใช้ชีวิตของเราก็น่าจะยังอยู่ แต่ข้อเสียก็คือ เมื่อเนื้อเต้ายังอยู่ นั่นหมายถึงโอกาสที่มะเร็งกลับมาก็ยังมี  

“หลังผ่าตัด คุณหมอก็ส่งตรวจชิ้นเนื้อทั้ง 4 เม็ดอีกครั้ง พบว่าเป็นมะเร็งแน่ๆ 1 เม็ด และกำลังจะเป็นอีก 1 เม็ด ส่วนสองเม็ดที่เหลือไม่พบเชื้อมะเร็ง ที่สำคัญยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ทำให้เรายังเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 1 ที่ยังไม่ต้องรับเคมีบำบัด แต่หลังพักฟื้นรอน้ำเหลืองและเลือดเดรนออกหมดแล้วต้องฉายแสง 30 ครั้ง โดยแบ่งเป็นฉายแสงปกติ 25 ครั้ง และโฟกัสที่แผลผ่าตัดอีก 5 ครั้ง  

“เรากลับมาฉายแสงที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งโชคดีมากที่ตอนนั้นมีห้องว่าง คุณหมอจึงให้แอดมิตอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อฉายแสงให้ครบ 30 ครั้ง โดยต้องอยู่โรงพยาบาลนานถึง 47 วัน ทำให้เราได้รับเงินชดเชยที่ต้องหยุดงานจากประกัน 1.5 หมื่นบาทต่อวัน และได้รับเงินมาก้อนหนึ่งจากการเป็นโรคร้ายที่มีโอกาสลุกลาม”

มะเร็งกลับมาทักทาย

“หลังจากจบการฉายแสง เราก็กลับมารักษาตัวที่บ้านสักระยะ ก่อนจะกลับมาทำงานตามปกติ และฟอลโลอัปเป็นประจำไม่เคยขาด จนกระทั่งในปีที่ 6 เรากลับพบว่าตัวเองมาเป็นมะเร็งตับ โดยก่อนหน้านั้นเพียง 3 ปี คุณพ่อก็เพิ่งจากไปด้วยโรคมะเร็งตับ

“บอกได้เลยว่าช็อกกว่าตอนที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม พอรู้ผลจากคุณหมอ เราก็ถามคุณหมอกลับไปทันทีว่า เป็นไปได้อย่างไร! เพราะหลังจากเป็นมะเร็งเต้านม เราก็เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเองแทบทุกอย่าง ทำไมยังกลับมาเป็นมะเร็งอีก

“ความรู้สึกตอนนั้น เรารับไม่ได้ ไม่เข้าใจ โกรธมะเร็งมาก รู้สึกว่าถ้าจะลุกลาม ทำไมไม่ลุกลามตั้งแต่ปีแรกๆ ทำไมถึงปล่อยไว้ถึง 6 ปี ถึงกลับมาลุกลาม คุณหมอเองก็ให้คำตอบไม่ได้ แต่ท่านก็พยายามปลอบโยนและให้เข้าสู่กระบวนการรักษาให้ไว จำได้ว่ากลับไปทำใจอยู่กว่าสัปดาห์ ก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดเล็กด้วยวิธี Microwave ablation (MWA) ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ควักเงินตัวเองไปกว่า 4 แสนบาท เพราะตอนนั้นไม่มีประกันใดๆ แล้ว

“หลังจากออกจากห้องผ่าตัด พักรักษาตัวอยู่แค่ 1 คืน ก็กลับบ้านได้ จากนั้นคุณหมอก็ให้กลับไปปรึกษาคุณหมอที่สถาบันมะเร็งว่า ต้องคีโมไหม ซึ่งโชคดีมากที่เคสของเรายังอยู่ในระยะแรกๆ คุณหมอบอกว่าไม่ต้องเคมีบำบัดและฉายแสง กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เลย”

ทบทวนชีวิต หาข้อผิดพลาด  

“หลังจบการรักษามะเร็งตับ เราก็กลับมาคิดว่ามะเร็งที่เป็นอยู่นั้นจะใช่มะเร็งจากพันธุกรรมไหม เนื่องจากครอบครัวฝั่งคุณแม่ซึ่งมีพี่น้อง 7 คน ก็เป็นมะเร็งทั้ง 7 คนเลย ยิ่งพอเรามาเป็นมะเร็งเต้านมเหมือนคุณแม่ และยังกลับมาเป็นมะเร็งตับเหมือนคุณพ่อก็ยิ่งทำให้กังวลใจ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการตรวจหายีนมะเร็งกับทางโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งผลก็ออกมาว่า ไม่ใช่มะเร็งทางพันธุกรรม นั่นเองจึงทำให้เรากลับมาทบทวนชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองอย่างจริงจัง และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รวมถึงวิธีคิด มุมมองต่างๆ ทั้งหมด ที่สำคัญคือตัดสินใจเออร์ลี่รีไทร์อย่างเด็ดขาดในปีนั้นเลย เพราะคิดว่ามะเร็งครั้งนี้คงกลับมาเตือน ถ้าเรายังดื้อทำงานต่อ ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับความเครียด แรงกดดัน ทำงานดึก ตื่นเช้า อัดกาแฟวันละ 4 แก้วต่อไป คงไม่รอดแน่ๆ    

“หลังจากลาออกแล้ว เราก็ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ ออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ที่เราเคยอยากไป จากเดิมที่ชอบเที่ยวอยู่แล้ว แต่พอมะเร็งเข้ามา เรารู้สึกว่าเราเหมือนคนใกล้ตายที่ยังไม่ตาย (หัวเราะ) แต่ถึงจะไม่ตายในวันนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ตาย เพราะในร่างกายของเรานั้นยังมีเซลล์มะเร็ง แค่มันยังสงบอยู่ และเราก็ไม่รู้ว่ามันจะปะทุขึ้นมาเมื่อไร เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะยังมีลมหายใจอยู่ไหม งั้นทำตามความฝันเลยดีกว่า นั่นก็คือออกเดินทางไปผจญโลก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเดินทางคนเดียว เนื่องจากสามียังทำงานอยู่ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ไปมาแล้วกว่า 50 ประเทศ เรียกว่าเที่ยวจนหนำใจแล้ว (หัวเราะ)”

ตัดทิ้ง ชิ่งหนี 6 มะเร็ง 

“ย้อนหลังกลับไปเมื่อตอนอายุ 22 ปี เรามีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกและรักษาตัวกับอาจารย์หมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยมาตลอด จนกระทั่งเป็นมะเร็งเต้านม ก็ยังกลับไปฟอลโลอัปกับคุณหมอทุกปี จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถึงกำหนดหยุดกินยาต้านฮอร์โมนทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ซึ่งกินต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว เดือนแรกที่หยุดยาก็เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงคล้ายโดนมีดฟันเข้าที่ท้อง ทรมานจนต้องแอดมิตและคุณหมอต้องฉีดมอร์ฟีนให้ 

“ทั้งๆ ที่ 10 ปีที่กินยาทาม็อกซิเฟน ไม่มีอาการใดๆ เลย แม้แต่อาการข้างเคียงที่คนอื่นเป็น เช่น เวียนหัว ท้องเสีย เจ็บกระดูก ฯลฯ ก็ไม่เคยเป็น ตรงกันข้ามการกินยาตัวนี้กลับทำให้เราไม่มีอาการปวดท้องประจำเดือนที่เคยเป็นอาการประจำตัวอีกด้วย แต่พอหยุดยาเท่านั้น อาการปวดท้องช่วงมีประจำเดือนกลับรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นอยู่อย่างนั้น 2 เดือน ก็ปรึกษาคุณหมอขอตัดมดลูกและรังไข่ทิ้ง ซึ่งตอนแรกคุณหมอก็ไม่ยอม เพราะการผ่าตัดนั้นส่งผลต่อฮอร์โมนอีสโทรเจน (Estrogen) และแน่นอนว่าจะมีผลต่อวัยทองที่กำลังจะมาถึงของเรา แต่เราก็บอกหมอตามตรงว่า ถ้าเราต้องแอดมิตทุกเดือนที่ประจำเดือนมา คงไม่ไหวแน่ๆ คุณภาพชีวิตที่เหลือคงย่ำแย่มากๆ นั่นเองที่ทำให้คุณหมอยอมผ่าตัดออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมดลูก รังไข่ ปีกมดลูก ท่อนำไข่ และปากมดลูก

“อย่างที่รู้ๆ กันว่า การกินยาทาม็อกซิเฟนเป็นเวลานานๆ จะทำให้เราเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก นั่นทำให้การผ่าตัดทิ้งก็ช่วยลดความเสี่ยงได้ทางหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งท่อนำไข่ได้อีกด้วย จนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งต่างๆ แล้ว ยังโชคดีที่เราไม่มีอาการวัยทองแม้แต่นิดเดียว 

“แต่ข้อเสียก็คือเราจะมีปัญหาเรื่องกระดูกบ้าง เนื่องจากพอไม่มีรังไข่ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอีสโทรเจน ก็ทำให้ไม่มีฮอร์โมนอีสโทรเจนในร่างกายไปด้วย ซึ่งอีสโทรเจนมีส่วนในการเสริมสร้างมวลกระดูกและป้องกันการสลายของมวลกระดูก พอไม่มีก็ทำให้การสลายของมวลกระดูกมากกว่าการเสริมสร้างซ่อมแซม มวลกระดูกจึงลดลงไปด้วย จึงต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมอ และต้องกินวิตามินดีและแคลเซียมเสริมเป็นประจำ”

รู้ไว้ รอดมะเร็ง  

“ทุกวันนี้เราขอบคุณมะเร็งของแม่ที่เข้ามาสะกิดเตือนเราในวันนั้นให้หันมาตรวจเต้านมทุกปี และทำให้เราได้เจอมะเร็งในระยะต้นๆ ที่สามารถรักษาได้ง่ายกว่าระยะท้ายๆ เพราะคุณหมอเคยบอกไว้ว่า โดยเฉลี่ยพัฒนาการของมะเร็งนั้นจะพัฒนาไป 1 ขั้น ทุก 6 เดือน เช่น ถ้าเราเป็นมะเร็งวันแรกและไม่ได้ตรวจสุขภาพเป็นเวลา 2 ปี มาเจออีกครั้งก็อาจจะเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายได้แล้ว เราจึงไม่อยากให้ผู้หญิงทุกคนละเลยการตรวจเต้านมตัวเองเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้งก็ยังดี

“หากพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งก็อย่ากลัว เพราะเราทุกคนต่างมีอาวุธสำคัญที่สามารถสู้กับมะเร็งอยู่กับตัว ก็คือทัศนคติและกำลังใจ ซึ่งเราขอบคุณสามีเสมอ เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนทัศนคติเราที่มีต่อมะเร็ง จากที่เคยคิดว่ามะเร็งเป็นตัวร้ายที่พรากชีวิตพ่อและแม่ และกำลังจะพรากชีวิตเราไป กลายมาเป็นความรู้สึกว่ามะเร็งไม่ได้เลวร้าย และสามารถรักษาหายได้ 

“สามีเราใช้เวลา 47 วัน ระหว่างที่เรานอนอยู่โรงพยาบาลเพื่อรอฉายแสง ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดวันละนิดวันละหน่อยผ่านบนสนทนาง่ายๆ และเรื่องเล่าสนุกๆ ตลกขำขัน รวมถึงการปฏิบัติกับเราเหมือนคนปกติ ไม่ใช่คนป่วยโรคร้าย จน Mindset เกี่ยวกับมะเร็งของเราเปลี่ยนไปในที่สุด

“ณ วันที่ออกจากโรงพยาบาล เรารู้สึกได้เลยว่าโรคมะเร็งก็เหมือนกับหวัด รักษาหายได้ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งย้อนกลับไปวันนั้น หากไม่มีสามี เชื่อว่าเราอาจจะตายไปแล้ว ไม่ได้ตายเพราะมะเร็งนะ แต่ตายเพราะใจตัวเอง เพราะทันทีที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ข้างในมันห่อเหี่ยว สิ้นหวัง และท่องบ่นกับตัวเองทุกวันว่า เราต้องตายแน่ๆ เนื่องจากมุมมองต่อมะเร็งของเราในวันนั้นติดลบมากๆ

“แต่วันนี้เรายกให้มะเร็งคือพระเอกในชีวิตเลย เพราะเขามาเตือนสติให้ได้คิด ทบทวน และให้โอกาสเราได้ปรับเปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ทุกวันนี้เราก็ยังคุยกับมะเร็งทุกวัน เพราะเรารู้ว่าเขาไม่ได้หายไปไหน เขายังนอนหลับอยู่ในตัวเรา และเราก็จะบอกเขาเสมอว่าให้หลับให้สบาย ไม่ต้องตื่นขึ้นมา เราจะดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ให้เขานอนหลับอย่างสบายที่สุดในร่างกายของเรา” 

ฝากไว้ให้คิด 

“เชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งทุกคนอยากมีชีวิตอยู่ต่อ ฉะนั้น ให้ลืมเรื่องตายไปก่อน ตัดออกจากสมองไปเลย แล้วมาคิดกันต่อว่าเราจะอยู่กันอย่างไร เช่น หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาและกำลังหลงทางไปหาสมุนไพร ก็กลับมาหาแพทย์แผนปัจจุบันก่อน จากนั้นก็สู้กับโรคและการรักษาด้วยกำลังใจและการกินทุกอย่างให้ได้มากที่สุด 

“หลังจากจบการรักษาก็ค่อยมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต อะไรที่คิดไม่ดีก็เปลี่ยนซะ เคล็ดลับส่วนตัวที่อยากจะบอกก็คือ การใช้ชีวิตอยู่กับ 6 อ. คือ อาหารดี อากาศดี ออกกำลังกาย อารมณ์ดี อุจจาระดี และเอนกายให้ได้ภายใน 4 ทุ่มทุกวัน ทำง่ายๆ แค่นี้รับรองรอดแน่  

“อยากบอกทุกคนว่า มะเร็งเป็นแค่ความผิดพลาดเล็กๆ ในอดีต เราสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ พอรักษาหายแล้ว เราก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ กำไรก็คือเราได้เปลี่ยนเป็นคนใหม่ มีมุมมองใหม่ๆ และมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม”

.  

#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
แชร์ไปยัง
Scroll to Top