ภัทราภรณ์ หลาบหนองแสง : มะเร็งมา…พาวิวาห์วุ่น

“19 กันยายน 2565 มีข้อความจากสถานทูตแจ้งว่า วีซ่าคุณอนุมัติแล้ว คุณสามารถแต่งงานได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งตอนนั้นเรากำลังนอนให้คีโมเข็มแรกอยู่…”

เบียร์-ภัทราภรณ์ หลาบหนองแสง บัณฑิตปริญญาโทด้านการตลาดวัย 36 ปี ที่บินลัดฟ้าไปเรียนภาษาที่ประเทศอังกฤษและพบรักกับหนุ่มชาวอังกฤษเมื่อ 5 ปีก่อน หลังบ่มเพาะความรักจนสุกงอม เธอตัดสินใจเซย์ Yes! เปลี่ยนสถานะมาเป็นว่าที่เจ้าสาวในเดือนธันวาคม 2564 และวางแผนเตรียมจัดงานแต่งอย่างที่เธอฝัน

“หลังจากคบกันมา 2-3 ปี เราก็เริ่มคุยกันว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร โดยในช่วงคริสต์มาสทุกๆ ปี เราจะต้องนั่งคุยและวางแผนกันว่า ปีหน้าจะทำอะไรกันบ้าง ซึ่งหนึ่งสิ่งที่อยู่ในแผนของทุกปีก็คือเรื่องแต่งงาน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดหนักทั้งไทยและยุโรป การแต่งงานจึงถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ กระทั่งช่วงคริสต์มาสปี 2564 คุณเดวิด (Mr.David Jeffrey Croker) ก็ขอเราแต่งงานอีกครั้ง และครั้งนี้เราทั้งสองคนก็ตั้งเป้าหมายแล้วว่า จะไม่เลื่อนการแต่งงานอีกแล้ว

“ในเดือนมีนาคม 2565 เบียร์เดินทางกลับมาเมืองไทย เตรียมตัวเป็นเจ้าสาวและยื่นเรื่องขอวีซาเพื่อไปแต่งงานที่อังกฤษ โดยปกติการขอวีซ่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งเดือนมิถุนายน 2565 วีซ่าก็น่าจะออกแล้ว เราจึงกำหนดวันแต่งงานไว้ในวันที่ 16 กันยายน 2565 แต่ปรากฏว่าช่วงนั้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนกำลังร้อนระอุ ทางสถานทูตจึงแจ้งกลับมาว่า วีซ่าของเราถูกเลื่อนออกไปอีก 6 เดือน เนื่องจากทางการอังกฤษต้องพิจารณาวีซ่าให้กับคนยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและขอลี้ภัยก่อน

“แม้เราจะพยายามยื่นเรื่องขอวีซ่าซ้ำและจ้างทนายดำเนินการให้อย่างไรก็ไม่เป็นผล สุดท้ายเอกสารต่างๆ รวมถึงพาสปอร์ตจึงค้างเติ่งอยู่ที่สถานทูต เพื่อรอดำเนินการเรื่องวีซ่า นั่นทำให้เบียร์เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ แฟนจึงตัดสินใจบินมาหาที่เมืองไทยในเดือนสิงหาคม 2565”

เตรียมตัวเป็นเจ้าสาว

“แม้จะไม่ได้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ด้วยความที่เราเป็นสาวคัพเอ การเสริมหน้าอกจึงเป็นเหมือนสิ่งที่ติดอยู่ในใจลึกๆ มาตลอด จนเมื่อแฟนเดินทางมาถึงเมืองไทยและเราต้องเดินทางจากบ้านที่บึงกาฬมารับเขาที่กรุงเทพฯ จึงถือโอกาสนัดเจอเพื่อนซี้สมัยเรียนปริญญาโทกินข้าว ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่เขาเพิ่งทำศัลยกรรมหน้าอกมา และเล่าให้เราฟังถึงความประทับใจในสรีระใหม่ที่ช่วยสร้างความมั่นใจและความสุขในการใช้ชีวิต นั่นเป็นเหมือนการจุดประกายให้สิ่งที่อยู่ในใจเรา

“หลังจากร่ำลากับเพื่อนวันนั้น เราก็ปรึกษาแฟน ซึ่งเขาก็ไม่ได้คัดค้าน เพียงแค่บอกว่าอยากให้การทำศัลยกรรมหน้าอกครั้งนี้เป็นการทำเพื่อตัวเราเอง ทำแล้วมีความสุข…ก็ทำเลย อย่าทำเพราะเขาหรือทำเพราะคนอื่นบอกว่าดี พร้อมกำชับว่าอยากให้เลือกทำกับโรงพยาบาลที่ดีที่สุด

“ทันทีที่กลับมาถึงที่พักราว 2 ทุ่ม เราจึงตัดสินใจโทรไปที่โรงพยาบาลเลอลักษณ์ตามที่เพื่อนแนะนำ เพื่อสอบถามรายละเอียด ทางเจ้าหน้าที่ก็ดูแลดีมาก ส่งรายละเอียด พร้อมนัดหมายให้คุยกับ คุณหมอกิตติศักดิ์ วิชาชัย ซึ่งเป็นศัลยแพทย์มือหนึ่งของทางโรงพยาบาลตอน 10 โมงเช้า ในวันรุ่งขึ้น” 

ความบังเอิญที่ถูกจังหวะ

“มันเหมือนเป็นความบังเอิญที่ถูกจังหวะ เพราะหลังจากพูดคุยรายละเอียดต่างๆ พร้อมแนะนำไซส์และวัสดุเบื้องต้นแล้ว คุณหมอก็ตรวจหน้าอกโดยการคลำ แล้วบังเอิญไปเจอก้อนบางอย่างขนาดไม่เกิน 7 มิลลิเมตร ที่หน้าอกด้านขวา ท่านก็บอกให้เราไปตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนผ่าตัดศัลยกรรมหน้าอกในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า เผื่อจะเป็นซีสต์หรือถุงน้ำจะได้ผ่าตัดออกก่อน    

“แต่ด้วยความที่เราเป็นคนที่ดูแลตัวเองพอสมควร ทั้งออกกำลังกายและเป็นคนที่กินอาหารตรงเวลา และเลือกกินแต่ของมีประโยชน์ ไม่ชอบกินขนมหวาน น้ำอัดลม รวมถึงเหล้าและบุหรี่ก็จะไม่แตะเลย ที่สำคัญเราแทบไม่เคยแอดมิตโรงพยาบาลเลยสักครั้งในชีวิต แค่ปวดหัว หรือเป็นหวัดก็แทบจะไม่มีเลย ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองมีสุขภาพแข็งแรง จึงคิดไว้แล้วว่าจะไม่ไปตรวจแน่นอน แต่ปรากฏว่าพอกลับมาถึงที่พักวันนั้น จู่ๆ แฟนก็ถามขึ้นว่า ‘มีอยู่ช่วงหนึ่งที่คุณหมอพูดอะไรสักอย่าง…ที่เหมือนว่ามีความผิดปกติ คุณหมอพูดว่าอะไรเหรอ’ เนื่องจากวันนั้นคุณหมออธิบายเป็นภาษาไทย คุณเดวิดซึ่งนั่งอยู่ในห้องตรวจด้วยจึงฟังไม่เข้าใจ แต่ก็พอจะจับสังเกตได้

“เราจึงตอบกลับไปว่า ‘อ๋อ…คุณหมอบอกว่ามีก้อนหรือถุงน้ำอะไรสักอย่าง ไม่ซีเรียสหรอก เดี๋ยวว่างๆ ค่อยไปตรวจ’ พอแฟนได้ยินเท่านั้นก็บอกว่า ‘ไม่ได้! ต้องรีบไปตรวจเลย ถ้าไม่ไปตรวจก็ยังไม่ต้องทำหน้าอก’ จากนั้นก็โทรถามเจ้าหน้าที่โรงแรมว่า โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน เจ้าหน้าที่ก็แนะนำโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน วันรุ่งขึ้นแฟนก็พาเราไปซื้อแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและทำการตรวจในวันนั้นเลย”

เตรียมตัวแต่ไม่ได้เตรียมใจ

“ก่อนหน้านี้เรามีความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมน้อยมาก ญาติพี่น้องหรือคนใกล้ตัวไม่มีใครเคยเป็นโรคนี้เลย และด้วยความที่เราเป็นสาวคัพเอ เนื้อหน้าอกน้อย จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นโรคนี้ได้หรอก ทำให้เราไม่เคยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์มาก่อนเลยในชีวิต ยิ่งในวันที่คุณหมอบอกว่าเจอก้อนที่หน้าอก เราก็ยังกลับมาพยายามคลำหน้าอกตัวเอง ก็ไม่เจอความผิดปกติอะไร ยิ่งทำให้ชะล่าใจ

“วันนั้นจึงคิดแค่ว่ายอมไปตรวจให้จบๆ เพื่อความสบายใจของแฟน แต่ปรากฏว่าผลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์กลับพบจุดเล็กๆ ที่หน้าอกด้านซ้าย แต่รูปร่างเซลล์ยังไม่ผิดปกติ ขณะที่หน้าอกด้านขวาที่ คุณหมอกิตติศักดิ์ โรงพยาบาลเลอลักษณ์ทักมา พบเซลล์ผิดรูปร่างซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง ทาง คุณหมอไกรภพ จารุไพบูลย์ ซึ่งท่านเป็นศัลยแพทย์ด้านมะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลเปาโลจึงแนะนำให้ทำการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจในวันนั้นเลย

“ด้วยความที่เราไม่ได้เตรียมใจมาเจ็บตัว และที่สำคัญค่าเจาะชิ้นเนื้อที่เต้านมทั้งสองข้างนั้นอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นบาท เราจึงคิดว่า ยังไงก็จะไม่เจาะเด็ดขาด! สารภาพตามตรงว่า ตอนนั้นแอบคิดว่าโดนหลอกแน่แล้ว (หัวเราะ) ซื้อแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งมาแค่ 2,500 บาท จะมาโดนค่าเจาะชิ้นเนื้ออีก 30,000 บาท มันไม่ใช่แล้ว! จึงพยายามคุยกับแฟน แต่คุยเท่าไรแฟนก็ไม่ยอม จะให้เราเจาะชิ้นเนื้อให้ได้

“คุยกันสักพักใหญ่ๆ จนคุณหมอไกรภพเดินมาพบเข้า และคงเห็นว่าเราหน้านิ่วคิ้วขมวดจึงเข้ามาถามว่า ติดปัญหาอะไรหรือเปล่า ด้วยอารมณ์ที่กำลังร้อนอยู่จึงบอกคุณหมอไปตรงๆ ว่า ‘หนูไม่อยากเจาะชิ้นเนื้อ…มันแพง! หนูซื้อแพ็กเกจมา 2,500 บาท ไม่ได้เตรียมตัวมาจ่าย 3 หมื่นบาทนี้เลย’ (หัวเราะ) ซึ่งหากเป็นคนอื่นคงเดินหนีไปแล้ว แต่คุณหมอกลับเดินไปคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ และช่วยเจรจาขอลดค่ารักษาลงมาเหลือประมาณ 2 หมื่นบาท

“นั่นก็ทำให้เราเริ่มรู้สึกแล้วว่า คุณหมอคงไม่ได้ต้องการเงินอย่างที่เราคิดไว้ แต่ท่านคงอยากรักษาเราจริงๆ จึงจำยอมเจาะชิ้นเนื้อในวันนั้น โดยหลังผ่าตัดเสร็จ คุณหมอก็ยังกรุณาแจ้งกับทางพยาบาลว่า ขอให้เคสเราเป็นเคสเร่งด่วนที่สุด จากปกติต้องรอผลชิ้นเนื้ออย่างน้อย 3-7 วัน แต่เคสเรานั้นจะทราบผลชิ้นเนื้อภายใน 24 ชั่วโมง!!”

สู่สถานะ ‘ผู้ป่วยมะเร็ง’ แบบฉับพลัน

“ประโยคหนึ่งที่แฟนพูดให้ข้อคิดในวันนั้นและเรายังจำจนถึงทุกวันนี้ก็คือ มีคำพูดของคนเพียง 2 อาชีพเท่านั้นที่เราควรเชื่อโดยไม่มีข้อโต้แย้งและไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย ก็คือคำพูดของผู้พิพากษาและคำพูดของหมอนี่แหละ สองอาชีพนี้เป็นคนที่เราทุกคนต้องเคารพและเชื่อฟังมากที่สุด 

“หลังเจาะชิ้นเนื้อเสร็จ เราก็กลับมาพักผ่อนที่โรงแรม กระทั่ง 10.30 น. วันรุ่งขึ้น ทางโรงพยาบาลก็โทรมานัดให้เราเข้าไปฟังผล โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้นัดหมายเวลา เพียงแค่บอกว่า หากสะดวก…ก็มาได้ทันที ตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกสงสัยแล้วว่า ทำไมเร่งด่วนจัง เริ่มเตรียมใจไว้ระดับหนึ่ง

“ราวเที่ยง เรากับแฟนก็ไปถึงที่โรงพยาบาล ประโยคแรกที่คุณหมอถามก็คือ จะให้ผมอธิบายเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษดี เราก็บอกว่า ภาษาอังกฤษเลยก็ได้ จะได้รู้ไปพร้อมๆ กัน จากนั้นคุณหมอก็เริ่มแจ้งผลชิ้นเนื้อจากเต้านมด้านซ้ายก่อนว่าไม่มีอะไรผิดปกติ และแนะนำให้ผ่าออกเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องมากังวลในอนาคต จากนั้นก็แจ้งผลชิ้นเนื้อจากเต้านมด้านขวาว่า เป็นอย่างที่เราสงสัยกันเลยคือมะเร็ง

“ทั้งๆ ที่คิดว่าเตรียมใจมาแล้ว แต่พอได้ยินคำว่ามะเร็ง เหมือนใจหล่นไปที่ตาตุ่ม รู้สึกชาไปทั่วร่าง อึ้ง ช็อก จังหวะนั้นเองแฟนก็เอื้อมมือมาจับมือเราแน่น นั่นทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว แต่มีใครอีกคนที่อยู่ข้างๆ เราตลอด ทำให้เราพยายามฮึดสู้และถามคุณหมอเลยว่า เราต้องทำอย่างไรต่อไป  

“คุณหมอจึงอธิบายแผนการรักษา โดยเริ่มจากการผ่าตัด ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 แบบ คือ แบบที่ 1 ผ่าเอาก้อนมะเร็งและคว้านเนื้อรอบๆ ออก ข้อเสียของการผ่าตัดแบบนี้ก็คือเต้านมทั้งสองข้างของเราจะไม่เท่ากัน เนื่องจากเนื้อเต้านมด้านขวาจะขาดหายไป แบบที่ 2 ผ่าตัดคว้านเอาก้อนมะเร็งและเสริมซิลิโคนเข้าไป แบบที่ 3 ผ่าตัดยกเต้าข้างที่เป็นเนื้อร้ายออกไปเลย และ แบบที่ 4 ผ่าตัดยกเต้าทั้งสองข้างออกไปเลย ซึ่งจะแนะนำในผู้ป่วยที่อายุมากแล้ว

“แฟนจึงถามคุณหมอว่า แบบไหนที่ปลอดภัยที่สุด คุณหมอก็บอกว่า ทุกแบบมีความปลอดภัยใกล้เคียงกัน แต่ด้วยความที่อายุเราไม่เยอะ คุณหมอจึงอยากแนะนำให้ทำแบบที่ 2 ซึ่งนอกจากจะรักษาชีวิตแล้ว ก็ยังรักษาคุณภาพชีวิตไว้ได้ด้วย ทำให้เราใช้ชีวิตได้แบบปกติ ไม่สูญเสียความมั่นใจหรือรู้สึกว่าอะไรขาดหายไปจากชีวิต แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าแบบอื่นๆ 

“เราจึงตัดสินใจเลือกการผ่าตัดแบบที่ 2 โดยผ่าตัดก้อนเนื้อร้ายด้านขวาและก้อนเนื้อดีด้านซ้ายออก จากนั้นเสริมซิลิโคนที่เต้านมทั้งสองข้างให้เท่ากัน ซึ่งความรู้สึกเราตอนนั้นก็เหมือนกับการเสริมหน้าอกอย่างที่เราตั้งใจไว้ เพียงแต่ไซส์อาจจะไม่ได้ตามที่หวังเท่านั้นเอง เพราะการผ่าตัดครั้งนี้เป็นการโฟกัสไปที่การรักษามะเร็งเป็นหลัก และคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างที่สุดนั่นเอง

“หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการให้คีโมและฉายแสงต่อไป โดยคุณหมอกำชับว่า หลังรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการรักษาที่รวดเร็ว เนื่องจากเซลล์มะเร็งนั้นพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ การที่เราปล่อยเวลาไปอาจไม่เป็นผลดีแน่นอน ตอนนั้นเราจึงถามคุณหมอกลับไปว่า คุณหมอสามารถผ่าตัดให้เราได้เร็วที่สุดเมื่อไร คำตอบที่คุณหมอตอบกลับมาก็คือ ‘พรุ่งนี้ครับ’ (หัวเราะ) โอ้โห! ชะงักเลย เพราะเพิ่งช็อกอยู่เมื่อกี้นี้เอง และที่บ้านก็ยังไม่มีใครรู้เรื่องนี้ จึงขอเวลาคุณหมอสัก 1 ชั่วโมง แล้วค่อยให้คำตอบ”

แม่…หนูเป็นมะเร็ง!

“เราทั้งสองคนจึงเดินมานั่งร้านกาแฟใกล้ๆ โรงพยาบาล เพื่อจะมาตั้งหลัก ช่วยกันจัดลำดับความคิดและเตรียมตัวในการเข้ารับการรักษา โดยเริ่มแรกก็คุยกันว่า เราควรโทรบอกที่บ้านกันอย่างไรดี เนื่องจากเราเพิ่งบอกข่าวดีกับพ่อแม่ไปว่ากำลังจะแต่งงาน แต่ตอนนี้ต้องกลับไปบอกพวกท่านว่า เราเป็นมะเร็ง จะบอกอย่างไรให้ท่านไม่ตกใจ ไม่เสียใจ ไม่เครียด ไม่กังวล

“นับเป็นวินาทีที่กลัวที่สุด…กลัวมากกว่าการรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งด้วยซ้ำ จำได้ว่าช่วยกันคิดคำพูดอยู่พักใหญ่และซ้อมอยู่หลายรอบ แต่พอแม่รับสายปุ๊บ เราลืมสิ่งที่เตรียมไว้หมดเลย ประโยคแรกที่พูดขึ้นก็คือ ‘แม่…หมอบอกว่าหนูเป็นมะเร็ง’ แม่ก็ หา!!! ใครนะ…เป็นอะไรนะ คิดว่าแม่เองก็คงช็อกเหมือนกัน แต่ตอนนั้นก็พยายามบอกแม่ว่า หมอรักษาหนูได้ หมอบอกว่าเอาอยู่ หนูเป็นแค่ระยะเริ่มต้น…

“จากนั้นแม่ก็เริ่มเล่าเรื่องเพื่อนคนนั้นคนนี้ที่เคยเป็นมะเร็งและรักษาหาย และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยทิ้งท้ายไว้ว่า เขาแก่กว่าหนูอีก ยังหายเลย หนูก็ต้องหาย! ตอนนั้นเราก็เริ่มมีกำลังใจมากขึ้น จึงกลับไปให้คำตอบกับคุณหมอว่า เราจะผ่าตัดกับคุณหมอ แต่ขอคิวผ่าตัดในอีก 3 วันถัดไป เพราะอยากให้แม่เดินทางจากบึงกาฬมาอยู่ด้วยระหว่างที่เราผ่าตัด”  

ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย

“นอกจากพ่อแม่เราแล้ว คนที่เราลำบากใจที่จะแจ้งข่าวการเป็นมะเร็งครั้งนี้อีกคนก็คือ คุณพ่อของแฟน ด้วยความที่เราสนิทสนมกับคุณพ่อพอสมควร และสำคัญกว่านั้นก็คือท่านเคยสูญเสียภรรยาหรือคุณแม่ของคุณเดวิดไปด้วยโรคมะเร็งเต้านมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราจึงกลัวว่าการแจ้งข่าวร้ายครั้งนี้จะตอกย้ำความทุกข์ของท่านอีกครั้ง

“แต่ผิดคาดเพราะนาทีที่คุณพ่อรู้ ท่านก็พยายามบอกเราว่า โชคดีแล้วที่รู้ในวันที่ยังมีโอกาสรักษา ไม่เหมือนภรรยาท่านที่รู้ตัวในระยะท้ายๆ แล้ว รักษาไม่ทันแล้ว ทั้งยังบอกให้คุณเดวิดดูแลเราให้ดีที่สุด รักษาให้เต็มที่ที่สุด ส่วนเรื่องอื่นไม่ต้องเป็นกังวล

“เมื่อมองย้อนกลับไป เบียร์ก็รู้สึกว่า มันเป็นจังหวะชีวิตที่ดีมากที่มาเจอมะเร็งในวันนั้น มันเหมือนถูกกำหนดแล้ว ให้วีซ่าเราถูกเลื่อน ให้แฟนต้องบินมาหาเรา และเราต้องเจอเพื่อนคนนี้ เพื่อจุดประกายให้เราอยากไปทำหน้าอกที่นี่ เจอคุณหมอกิตติศักดิ์ซึ่งเก่งมากๆ ทักให้เราไปเช็กหน้าอกอีกครั้ง เพราะหลังจากเรารักษาตัวกับคุณหมอที่เชี่ยวชาญมะเร็งก็รู้เลยว่า โอกาสน้อยมากๆ ที่คนป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 จะพบก้อนด้วยการคลำเจอ ท่านก็ยังถามเราว่า คุณหมอที่คลำเจอคนแรกคือใคร มันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์

“นอกจากนี้ ก็อยากขอบคุณ คุณเดวิด ที่นอกจากจะคอยเคียงข้างเราตลอด ก็ยังเป็นเหมือนคนคอยเตือนสติเราเสมอ ขอร้องแกมบังคับให้ไปตรวจเต้านมก่อนทำศัลยกรรม คุยจนเรายอมเจาะชิ้นเนื้อ เพราะถ้าไม่ใช่คุณเดวิดพูด เบียร์คงไม่เชื่อ ไม่ไปตรวจ และอาจจะปล่อยเลยตามเลย ลองคิดดูสิว่า หากทำศัลยกรรมหน้าอกไปโดยไม่ได้ตรวจเช็กก่อน เข้าพิธีแต่งงาน ไปฮันนีมูน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปโดยไม่ได้ใส่ใจกับคำพูดของคุณหมอ เชื่อว่าไม่น่าเกิน 2 ปี มะเร็งก็คงลุกลามและบานปลายไประยะ 3-4 กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจจะสายไปแล้ว”

กระบวนการรักษา

“การผ่าตัดดำเนินไปกว่า 4 ชั่วโมงเต็ม ทั้งผ่าตัดก้อนมะเร็งซึ่งเป็นชนิด Luminal B ที่หน้าอกด้านขวาและก้อนเนื้อดีที่หน้าอกซ้ายออกแล้ว ยังทำการเสริมซิลิโคน รวมถึงเลาะต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ ซึ่งโชคดีมากที่ไม่พบเชื้อมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง นั่นทำให้เรากลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 เท่านั้น ยังไม่ลุกลามไปที่อวัยวะอื่น หลังผ่าตัดเรานอนโรงพยาบาลอยู่ 3 วัน 2 คืน ก็กลับมาพักฟื้นอีก 2 สัปดาห์ พอแผลเริ่มหายดี ตอนนั้นคุณเดวิดจำเป็นต้องเดินทางกลับอังกฤษ และที่บ้านอยากให้เรามาอยู่ใกล้ๆ จะได้ดูแลได้อย่างเต็มที่ เราจึงตัดสินใจย้ายไปรักษาตัวต่อที่ โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี

“หลังผ่าตัดผ่านไปหนึ่งเดือนก็เข้าสู่กระบวนการให้คีโม ซึ่งตอนนั้น คุณหมอสรรพสิทธิ์ อริยปัญญา เข้ามาดูแลต่อ โดยเคสเรานั้นต้องให้คีโมทั้งหมด 4 เข็ม จำได้เลยว่า วันที่ 19 กันยายน 2565 เป็นวันที่ให้คีโมเข็มแรก เป็นวันที่เรากลัวที่สุดอีกวัน ด้วยความที่เราเห็นจากหนัง ละคร และสื่อต่างๆ จึงกลายเป็นภาพจำว่า หลังให้คีโมแล้ว ร่างกายต้องทรุดโทรม อ่อนเพลีย เดินไม่ได้ ฯลฯ ระหว่างนอนให้คีโมและคิดไปต่างๆ นานา จู่ๆ ก็มีข้อความจากสถานทูตแจ้งมาทางโทรศัพท์ว่า วีซ่าคุณอนุมัติแล้ว คุณสามารถแต่งงานได้ภายใน 6 เดือน (หัวเราะ) ซึ่งตอนนั้นก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากทำใจ รักษาตัวไปตามแผนการรักษา โดยลึกๆ ก็คิดไว้แล้วว่า งานแต่งงานก็คงต้องเลื่อนออกไปอีกแน่ๆ

“แต่ปรากฏว่าหลังจากให้คีโมมา เรามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อยู่แค่วันแรกวันเดียว จากนั้นก็มีแค่อาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ไม่ได้ทรุดถึงขั้นเดินไม่ได้อย่างที่คิดไว้ นั่นเองที่ทำให้เรารู้สึกว่า การให้คีโมก็ไม่ได้น่ากลัวแล้วละ พอสัปดาห์ที่สองร่างกายก็เริ่มฟื้นฟู และสัปดาห์ที่สามก็เหมือนปกติ จึงเริ่มปรึกษาแฟนว่า แผนการแต่งงานที่วางไว้จะเลื่อนดีไหม เพราะหากไม่เลื่อน เราทั้งสองคนต้องจัดงานแต่งงานภายในเดือนมีนาคม 2566

“ทางคุณเดวิดก็ยืนยันว่า อยากให้เราทั้งคู่มี Goal ไว้ก่อน เพื่อให้เราทั้งสองคนมีมิชชั่นร่วมกันระหว่างที่รักษาตัว เพราะเขาไม่อยากให้เราโฟกัสแต่เรื่องลบๆ คุยกันแต่เรื่องมะเร็งหรือการรักษา แต่อยากให้คุยเรื่องอื่นๆ ที่เป็นเรื่องที่ทำให้เรามีความสุข จึงกำหนดวันแต่งงานไว้ในวันที่ 4 มีนาคม 2566”

กำลังใจไม่เคยขาด

“ด้วยไอเดียของคุณเดวิดที่สัญญาว่าจะส่งของขวัญมาให้เราทุกครั้งที่ไปให้คีโม ทำให้คีโม 4 เข็ม ผ่านไปอย่างไม่ยากเย็นนัก โดยของขวัญสำหรับคีโมเข็มสุดท้ายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ก็คือตั๋วเครื่องบินไปอังกฤษเพื่อท่องเที่ยวและพักผ่อนประมาณ 1 เดือน ก่อนจะกลับมาฉายแสงต่ออีก 21 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ลุ้นหนักมาก เพราะใกล้วันแต่งงานเข้ามาทุกที ทำให้การฉายแสงคลาดเคลื่อนไม่ได้เลย เพราะหากคลาดเคลื่อนไป งานแต่งก็ต้องเลื่อนออกไปด้วย แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี

“จำได้เลยว่าฉายแสงครั้งสุดท้ายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 พอวันที่ 21 คุณหมอก็นัดมาตรวจดูหน้าอกว่ามีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า และวันที่ 22 เราก็ต้องนั่งเครื่องมากรุงเทพฯ เพราะมีนัดตรวจเช็กร่างกายกับคุณหมอที่เปาโลอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่แล้ว กระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เบียร์ก็เดินทางไปประเทศอังกฤษพร้อม ‘คุณแม่’ ซึ่งแม้จะเป็นครั้งแรกที่ท่านเดินทางมาอังกฤษ แต่ก็เหมือนว่าท่านไม่ได้ใส่ใจอะไรมากไปกว่าภารกิจที่จะติดตามมาซัพพอร์ตเราในทุกๆ เรื่องด้วยความห่วงใย จนกระทั่งถึงวันที่เรากลายเป็นเจ้าสาวในวันที่ 4 มีนาคม 2566

 “ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้จะลุ้นอยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านั่นเป็นอีกช่วงเวลาที่ดีช่วงหนึ่งในชีวิต และนึกขอบคุณมะเร็งเสมอที่ทำให้เราได้เห็นถึงความโชคดีในชีวิตหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นก็คือคนรักที่แวดล้อมรอบตัวเรา ทั้งพ่อแม่ ครอบครัว ญาติพี่น้อง กระทั่งเพื่อนๆ ที่บางคนแม้จะไม่ได้ติดต่อกันมาเป็นสิบปี แต่เมื่อรู้ว่าเราเป็นมะเร็ง ทุกคนต่างส่งกำลังใจมาให้อย่างไม่ขาดสาย

“สำคัญที่สุดก็คือคุณเดวิดที่ดูแลเราเป็นอย่างดีทั้งร่างกายและจิตใจ เขาจะคอยบอกเราเสมอว่า เราคือของขวัญของทุกคน เราไม่ใช่ภาระ หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน ลำบากใจ และเขาโชคดีที่มีโอกาสได้ดูแลเรา ไม่เหมือนเมื่อตอนคุณแม่ของเขาป่วยเป็นมะเร็ง ตอนนั้นเขาแทบไม่มีโอกาสที่จะดูแลคุณแม่เลย ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากจนไม่ทันตั้งตัว”

งานแต่งงานในฝัน

“แม้ทุกอย่างจะดูเหมือนฉุกละหุกไปหมด ไม่ว่าจะเป็นชุดเจ้าสาวที่เราไม่มีโอกาสได้ลองใส่ก่อน ต้องใช้วิธีสั่งผ่านทางออนไลน์มาสำรองไว้ถึง 3 ชุด พอบินมาถึงอังกฤษก็ต้องนัดช่างแต่งหน้ามาลองแต่งหน้าก่อนถึงวันจริง เพราะสภาพผิวหน้าตอนนั้นไม่ปกติ เนื่องจากผ่านการให้คีโมมา ส่วนช่างผมนั้นไม่ต้องใช้เลย เพราะไม่มีผมให้ทำ (หัวเราะ) อาศัยวิกอย่างเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกว่าเป็นงานแต่งงานที่เพอร์เฟ็กต์กว่าที่คิดไว้มากๆ

“ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากระหว่างทางกว่าจะมาถึงวันนี้มันมีเรื่องราวมากมายเต็มไปหมด ทุกคนที่มาร่วมงานก็รู้ว่าเราต้องผ่านอะไรมาบ้าง มันจึงเป็นมากกว่างานแต่งงาน แต่เป็นเหมือนงานเฉลิมฉลองชัยชนะ ไม่ใช่แค่บ่าวสาว แต่เป็นของขวัญและรางวัลสำหรับทุกคนที่ร่วมต่อสู้ฝ่าฟันมากับเรา ทำให้งานเล็กๆ ในวันนั้นเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่งดงามและสมบูรณ์แบบอย่างที่เราจะจดจำไปไม่มีวันลืม”

สู่ชีวิตใหม่…ใต้ฟ้าเดียวกัน

“ปัจจุบันเบียร์โอนย้ายตัวเองมาอยู่ในระบบสาธารณสุขของประเทศอังกฤษเป็นการถาวร โดยยังต้องติดตามผลและรับยาต้านฮอร์โมนต่ออีก 5 ปี แต่ก็พยายามใช้ชีวิตในทุกๆ วันให้มีความสุขที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่ามะเร็งจะกลับมาเมื่อไร ถ้ากลับมาในวันที่เรารับมือไหว เราก็จะสู้ต่อไป ไม่มีอะไรต้องกลัว แต่ถ้าวันนั้นเราอายุมากแล้ว นั่นหมายความว่าเราใช้ชีวิตมาอย่างคุ้มค่าและมีความสุขอย่างเต็มที่แล้ว เราก็อาจเลือกที่จะไม่รักษาก็ได้ (ยิ้ม)

“เพราะมะเร็งก็คือเซลล์ที่อยู่ในร่างกายของเราทุกคน ขึ้นอยู่ว่ามันจะเกิดความผิดปกติขึ้นมาเมื่อไรเท่านั้นเอง วิธีที่ดีที่สุดก็คือรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และเฝ้าระวังมะเร็งด้วยการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแมมโมแกรม อัลตราซาวนด์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสาวๆ และเชื่อเถอะว่า เสียค่าตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมปีละ 2-3 พันบาท ถูกกว่าเราเอฟเสื้อผ้าเยอะ (หัวเราะ)

“มะเร็งน่ากลัวเฉพาะตอนที่มันลุกลาม แต่หากเราสามารถเจอมะเร็งในระยะต้นๆ ได้มากเท่าไร รู้ไว้เลยว่า นั่นคือของขวัญของชีวิตเลย เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์เดี๋ยวนี้สามารถรักษามะเร็งในระยะต้นๆ ให้หายได้แล้ว ฉะนั้น อย่าละเลยที่จะตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ เพราะนี่คือป้อมปราการต้านมะเร็งด่านแรกที่เราทุกคนทำได้เลย ไม่ต้องรอ!” 

.

#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

    

แชร์ไปยัง
Scroll to Top