“อย่ามัวแต่คิดว่า ฉันจะตายเมื่อไร
เพราะแค่วันนี้เราได้ลืมตาตื่นขึ้นมา
นั่นก็เป็นความโชคดีที่สุดแล้ว
ฉะนั้น ใช้ชีวิตให้มีความสุข
สนุกในทุกๆ วันเถอะ”
พี่น้อย-นราพร แกรม-เฮลวิก ผู้ก่อตั้งเพจ Noi’s chemo journey พื้นที่ที่เธอตั้งใจบันทึกเรื่องราว ส่งต่อกำลังใจ และแบ่งปันประสบการณ์การเผชิญหน้ากับโรคมะเร็งเต้านมชนิด HER2 positive ที่แวะเวียนเข้ามาทดสอบชีวิตในวัยกว่า 64 ปี
ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน หลังพบรักกับชาวออสเตรเลีย พี่น้อยตัดสินใจลงหลักปักฐานใช้ชีวิตที่นั่นอย่างถาวร โดยเริ่มบทบาทแรกเป็น ‘แม่บ้าน’ ที่คอยดูแลสามีและลูกๆ สามคน กระทั่งลูกๆ เริ่มเติบโตและมีชีวิตเป็นของตัวเอง เธอจึงหันมาเปิดธุรกิจคอฟฟี่ช็อปเล็กๆ แก้เหงา ก่อนจะขยับขยายมาเป็นร้านอาหารไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และกลายมาเป็นธุรกิจครอบครัวในที่สุด
ปัจจุบันเธอส่งไม้ต่อให้ลูกทั้งสามเข้ามาบริหารกิจการและปรับโฉมมาเป็น The Riverton Bar & Grill และ Deebo Burgers & Beer Bar สองร้านอาหารยอดนิยมแห่งเมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ขณะที่เธอเองคอยเฝ้าดูความสำเร็จอยู่ห่างๆ
“ต้องยอมรับว่าการทำร้านอาหารเป็นความเครียดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงที่ลูกค้าเยอะๆ และลูกค้าต้องการอาหารพร้อมๆ กัน ทำให้เราต้องคอยรับมือกับอารมณ์ของลูกค้าหลากหลายประเภท และเราก็มักจะคิดเสมอว่า ถ้าไม่มีเราสักคน ร้านจะอยู่ไม่ได้ คนอื่นจะทำงานแทนเราไม่ได้ (หัวเราะ) ทำให้ทุกๆ เช้าเราต้องออกไปดูแลธุรกิจร้านอาหารเองและใช้ชีวิตวนเวียนอยู่แต่กับร้าน แต่พอมะเร็งเข้ามา เราจึงได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วไม่มีเรา ร้านก็ยังดำเนินต่อไปได้ มีคนทำงานแทนเราได้ เราเพิ่งจะรู้จักปล่อยวางได้…ในวันที่ทำร้านอาหารล่วงมาแล้วกว่า 23 ปี”
มะเร็งมาทักทาย
“พออายุย่างเข้า 55 ปี ทางการออสเตรเลียจะส่งจดหมายแจ้งให้ไปตรวจร่างกาย ตรวจนั่น ตรวจนี่ฟรีทุกปี และหนึ่งในนั้นก็คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เมื่อก่อนเราไม่ค่อยสนใจหรอก ไปบ้าง ทิ้งบ้าง แต่พออายุ 60 ปี ก็รู้ว่าเป็นวัยที่มีความเสี่ยงจึงไปตรวจทุกครั้งที่มีจดหมายส่งมาถึง และตรวจผ่านมาทุกปี จนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก็ไปตรวจเหมือนเคย แต่ครั้งนี้หลังจากตรวจแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งกลับมาว่า ขอให้ไปตรวจอีกครั้ง
“ตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกกังวลแล้วว่าผลตรวจน่าจะไม่ปกติ จึงตัดสินใจกลับไปตรวจแมมโมแกรม อัลตราซาวนด์ตามนัดหมาย จากนั้นคุณหมอก็ขอนัดคุยแจ้งผลการตรวจ ยอมรับว่าใจแป้วเลย จำได้ว่าวันที่คุณหมอนัด ทันทีที่เราเปิดประตูห้องคุณหมอเข้าไป สิ่งแรกที่เห็นคือฟิล์มเต้านมตัวเอง ตอนนั้นรู้เลยว่า เต้านมไม่ปกติ เพราะที่ฟิล์มมีจุดสีดำขนาดราว 1 เซนติเมตร ชัดเจนมาก ก็คิดในใจแล้วว่า ‘ใช่แล้วละ แจ็กพอตแล้วเรา’ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เพราะคุณหมอแจ้งว่าเป็นมะเร็ง แต่ถามว่ากลัวหรือช็อกไหม ไม่เลย เรากลับรู้สึกเฉยๆ ได้แต่บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ก็แค่รักษาไป
“ด้วยความที่มะเร็งสำหรับพี่แล้ว มันไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ (พลเอกสมศักดิ์ ปัญจมานนท์) ท่านก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งมารู้ตัวระยะท้ายๆ บวกกับอายุมาก ตอนนั้นแพทย์วินิจฉัยว่าจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 6 เดือน และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ต่อมาพี่สาวคนที่ 2 ก็เป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุ 40 ปีกว่า แต่ก็สามารถรักษาหายและใช้ชีวิตมาได้อย่างปกติ จนถึงทุกวันนี้อายุ 78 ปีแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีเพื่อนๆ หรือคนแวดล้อมตัวเราที่เป็นมะเร็งหลายๆ คน แต่ทุกคนก็สามารถผ่านมะเร็งมาได้อย่างไม่เลวร้าย ทำให้เราไม่ได้รู้สึกกลัวมะเร็งเท่าไร
“แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า มะเร็งเป็นภัยเงียบ ที่เรามักจะไม่รู้ตัว เพราะย้อนหลังกลับไปก่อนที่จะพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งนั้น เราแทบไม่มีอาการใดๆ เลย นอกจากแค่รู้สึกไม่ค่อยมีแรง เหนื่อยง่าย เหมือนคนขี้เกียจ นั่นคืออาการเดียวก่อนรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง”
เสียน้ำตาครั้งแรก
“พอแจ้งผลตรวจแล้ว คุณหมอก็นัดผ่าตัดแบบสงวนเต้าในเดือนธันวาคมทันที คุณหมอดูขนาดก้อนจากฟิล์มแล้วก็แจ้งว่า หลังผ่าตัดก้อนมะเร็งออกแล้วก็คงแค่ฉายแสงอย่างเดียว ไม่ต้องคีโม แต่หลังผ่าตัดแล้วนำก้อนมะเร็งไปตรวจกลับพบว่า เป็นมะเร็งชนิด HER2 positive ระดับความรุนแรง Grade 3 แม้จะอยู่ในระยะที่ 1 ยังไม่ลุกลามไปที่อวัยวะอื่น แต่ก็ถือว่าเป็นรุนแรงพอสมควรจึงจำเป็นต้องให้คีโม
“พอได้ยินว่า ‘ต้องให้คีโม’ น้ำตาร่วงเผาะเลยเพราะเสียดายผม ด้วยความที่ชีวิตที่ผ่านมาเราเป็นคนที่ไว้ผมสั้นมาตลอด เพิ่งมาตัดสินใจไว้ผมยาวไม่นานมานี้เอง และอุตส่าห์เลี้ยงจนได้ขนาดที่พอใจที่สุดแล้ว แต่กลับต้องมาผมร่วงเพราะคีโม (หัวเราะ)
“ระหว่างที่รอให้เคมีบำบัดก็เป็นช่วงหยุดคริสต์มาสพอดี ศูนย์การรักษาเกือบทั้งหมดจะหยุดกันประมาณ 2 สัปดาห์ จำได้ว่าทรมานมากกกก… (หัวเราะ) คนที่เป็นมะเร็งแล้วต้องมานั่งรอการรักษาน่าจะเข้าใจดี ถึงขั้นต้องปรับทุกข์กับคุณหมอไปตรงๆ ว่า ‘การรอคอยนี่แหละที่จะฆ่าฉัน ไม่ใช่มะเร็งหรอก’ (หัวเราะ) จนในที่สุดก็ได้คีโม
“จำได้ว่าคีโมครั้งแรกกลัวมาก วันนั้นไม่แต่งตัว ไม่แต่งหน้า ใส่เสื้อสูทคลุมไปตัวเดียว แต่พอผ่านครั้งแรกไปก็พบว่า ‘เอ้า! คีโมก็ไม่ได้หนักหนาอย่างที่คิดไว้นี่นา’ แม้จะมีอาการแพ้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับต้องล้มหมอนนอนเสื่ออย่างที่เคยเข้าใจ พอครั้งต่อไปก็แต่งตัวสวยไปเลย (หัวเราะ)”
ถึงป่วยก็ต้องสวยไว้ก่อน
“การไปคีโมกลายเป็นเรื่องสนุก เพราะพอเราแต่งหน้าแต่งตัวสวยไป พยาบาลเห็นก็ทัก คุณหมอเห็นก็ชม ผู้ป่วยด้วยกันเห็นก็ยังส่งยิ้มให้ ทำให้วันไหนที่ต้องไปคีโม เราแต่งตัวสวยทุกครั้ง แต่พอถูกชมเยอะขึ้นก็เริ่มกดดันแล้วว่า ครั้งหน้าจะใส่อะไรให้สวยกว่าเดิม เพราะมันดรอปไม่ได้แล้ว (หัวเราะ)
“บ่อยครั้งสามีก็จะถามหยอกๆ ว่า ‘วันนี้มีคนชมกี่คน’ และบางครั้งก่อนไปคีโมเราก็พูดเล่นๆ กับสามีว่า ‘วันนี้ฉันจะต้องได้สกอร์ 3 คนที่ชมว่าฉันสวยให้ได้’ (หัวเราะ) จากความกลัว ความเครียด กลายเป็นเรื่องสนุก ท้าทาย และจากที่เคยไปโฟกัสว่า ‘ครั้งนี้จะแพ้ยาไหม’ หรือ ‘ให้คีโมแล้วจะกินข้าวได้ไหม’ ก็เปลี่ยนโฟกัสไปเป็น ‘ครั้งหน้าจะใส่ชุดไหนดี ให้มีคนชมเยอะขึ้น’
“แต่งตัวสวยจนคนรอบข้างไม่เชื่อและถามว่า ‘นี่คุณจะไปให้คีโมจริงๆ เหรอ’ (หัวเราะ) แต่เราก็จะตอบเขากลับไปว่า ‘จริงสิ! ทำไมต้องปล่อยตัวโทรมไปคีโมด้วยล่ะ แต่งสวยๆ นี่แหละ’ และนั่นแหละที่เป็นเหตุผลทำให้ตลอดหนึ่งปีที่รักษาตัวที่นั่น เรากลายเป็นขวัญใจคุณหมอและสนิทกับพยาบาลแทบทุกคนเลย และสามารถผ่านแผนการรักษาที่วางไว้จนสำเร็จ คือ คีโม 12 เข็ม ทุกสัปดาห์ พร้อมกับยาพุ่งเป้า 17 เข็ม ทุก 3 สัปดาห์ ต่อด้วยฉายแสงอีก 15 แสง และกินยาต้านฮอร์โมนต่ออีก 5 ปี”
มะเร็งสอนให้ปล่อย…
“นอกจากผมร่วงจากคีโมซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับเราในตอนนั้นแล้ว เรื่องการกินก็ทำให้ทุกข์มากในช่วงแรกๆ เพราะบางครั้งเราอยากกินนั่น กินนี่ สั่งอาหารจากร้านโปรดมา 2-3 ร้าน วางเรียงรายตรงหน้า แต่พอจะกินกลับกินไม่ค่อยได้ เพราะลิ้นชา ไม่รับรู้รสใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้กว่าจะให้คีโมจบ น้ำหนักตัวก็ลดลงไปกว่า 5 กิโลกรัม
“หลังจากให้คีโมเข็มที่ 3 ก็เกิดเหตุแพ้คีโม จนผื่นคันขึ้นทั้งตัว ทรมานมาก ตอนนั้นสามีเสาะหาซื้อยาแก้ผื่นคันทั่วเมืองเลย แต่สุดท้ายมาหายได้ด้วยครีมของคนไทยที่พี่สาวซื้อส่งมาให้ ชื่อแบรนด์ปิติ (Piti) พอผื่นหายดี คีโมเข็มที่ 5 ก็เกิดอาการขอบตาอักเสบอีก แสบมาก
“แต่ถึงอย่างนั้น พี่ก็ยังคิดว่าคีโมไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และช่วงที่ให้คีโมก็เป็นช่วงที่เรามีความสุขมากช่วงหนึ่ง ด้วยความที่เราทำงานหนักมาทั้งชีวิต ตั้งแต่เปิดร้านแรกๆ จนขยายกิจการมากว่า 23 ปี เราไม่เคยได้หยุดพักจริงๆ สักที พักไปเที่ยวไกลแค่ไหน ใจก็ยังห่วงร้าน ห่วงนั่น ห่วงนี่ตลอดเวลา แต่พอมะเร็งเข้ามา เราได้เรียนรู้ถึงความไม่แน่นอนของชีวิตและสามารถปล่อยวางได้อย่างจริงจัง เราสามารถนั่งๆ นอนๆ อยู่บ้านดูซีรีส์ เล่นเกมได้อย่างมีความสุข โดยไม่ห่วงกังวลอะไร แถมมีคนคอยเอาใจอีกต่างหาก (หัวเราะ)
“ขณะเดียวกันเราได้เห็นถึงความรัก ความห่วงใยของคนรอบข้างมากมาย และหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผ่านมะเร็งมาได้ก็คือครอบครัวที่อบอุ่นนี่แหละ ครอบครัวของพี่ที่นี่จะใช้ชีวิตกันสไตล์ไทยๆ ลูกทั้งสามจะซื้อบ้านอยู่บริเวณเดียวกับพี่หมดเลย หลานๆ ก็จะเดินไปมาหาสู่เราได้ตลอด เราค้นพบความง่าย-งามของชีวิต ใช้ชีวิตแบบง่ายๆ นี่แหละดีที่สุด ความสุขของเราก็จะง่ายขึ้น ทุกวันนี้แค่ได้นั่งกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว แค่นี้ก็มีความสุขที่สุดแล้ว”
โชคดีที่รู้เร็ว
“มะเร็งทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้น อีโก้น้อยลง เปลี่ยนเราให้เป็นคนที่พูดคำว่า ขอบคุณ ขอโทษ ได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือเราไม่อยากให้ใครเจออย่างเรา เราก็จะคอยเตือนคนรอบข้างเสมอว่า อย่าประมาทกับชีวิต ไปตรวจร่างกายกันอย่างน้อยก็ปีละ 1 ครั้ง อย่าคิดว่าตัวเองจะไม่เป็น โดยเฉพาะมะเร็งซึ่งเป็นโรคที่รุนแรงและลุกลามเร็ว บางครั้งแค่ 2 เดือนก็แพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ ได้แล้ว ฉะนั้น อย่าชะล่าใจเด็ดขาด
“หลังจากพี่เป็นมะเร็ง เพื่อนๆ ของพี่ก็ไปตรวจสุขภาพกันใหญ่เลย (หัวเราะ) พี่สาวของพี่เองอายุ 78 ปีแล้ว ร่างกายแข็งแรง วิ่งทุกเช้า ก็ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมจากคำเตือนของพี่ และเพิ่งผ่าตัดเต้านมทิ้งไปเมื่อ 4-5 เดือนก่อนหน้านี้
“พี่เชื่อว่ามะเร็งนั้นอยู่ในตัวเราทุกคน เราไม่รู้หรอกว่าเซลล์ดีๆ ของเราจะกลายเป็นเซลล์ร้ายเมื่อไร แม้แต่จะจบการรักษาหรือโรคสงบลงแล้ว ก็วางใจไม่ได้ เรายังต้องติดตามผล ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และด้วยความที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งหลายคน พี่ก็ไม่รอช้า ไปตรวจยีนมะเร็ง (Genetic Cancer Screening) ซึ่งโชคดีมากที่ผลออกมาว่า มะเร็งที่เป็นอยู่ไม่ใช่มะเร็งพันธุกรรม
“ทุกวันนี้พยายามใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด ถามว่า กลัวที่มะเร็งจะกลับมาไหม ตอบได้เลยว่ากลัว! เราห้ามความกลัวไม่ได้หรอก ยิ่งชีวิตเรามีความสุข เราก็ยิ่งกลัวตาย เป็นเรื่องธรรมดา อย่างทุกวันนี้พี่มีหลานน่ารักๆ 4 คน แน่นอนว่าเราก็อยากเห็นเขาเจริญเติบโต อยากมองเห็นความสำเร็จของพวกเขา นั่นก็ทำให้เราหวั่นๆ อยู่เหมือนกันว่า มะเร็งจะกลับมาไหม และ มันจะกลับมาเมื่อไร ซึ่งความไม่รู้นี่แหละที่ทำให้มะเร็งน่ากลัวสำหรับเรา
“แต่นั่นแหละที่ทำให้เราค้นพบว่า ข้อดีของความกลัวก็คือมันทำให้เราเตรียมตัวพร้อมอยู่เสมอ จากที่เราไม่เคยคิดจะทำพินัยกรรม เราก็ทำไว้ ความกลัวทำให้เราระแวดระวัง ไม่ประมาท ปวดตรงนั้น เจ็บตรงนี้ เราไม่รีรอที่จะไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกายทันที”
อย่าเสียเวลากับความกลัว
“สำหรับพี่มะเร็งก็คือโรคโรคหนึ่งไม่ต่างจากไข้หวัดหรือโควิด แน่นอนว่ามันมีทั้งคนที่รักษาหายและไม่หาย แต่ปัจจุบันโอกาสหายมากกว่าเมื่อก่อนเยอะ ฉะนั้น ถ้ารู้ว่าเป็นมะเร็งแล้ว ไม่ต้องคิดอะไร สู้! สู้อย่างเดียว เพราะวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกลแล้ว เรามีทั้งยาดี หมอที่เก่ง เหลืออย่างเดียวก็คือกำลังใจที่เราต้องสร้างด้วยตัวเอง
“อย่ามัวแต่คิดว่า ฉันจะตายเมื่อไร
เพราะแค่วันนี้เราได้ลืมตาตื่นขึ้นมา
นั่นก็เป็นความโชคดีที่สุดแล้ว
ฉะนั้น ใช้ชีวิตให้มีความสุข
สนุกในทุกๆ วันเถอะ
“ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น แต่ทุกคนก็ควรจะคิดให้ได้อย่างนี้ เลิกคิดมาก คิดเยอะ คิดในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ในเมื่อวันนี้เรายังมีลมหายใจ จะไปกังวลทำไมว่าเราเหลือเวลาเท่าไร แค่มีความสุขกับชีวิตซะ นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องทำ
“ความสุขทุกข์นั้นอยู่ที่ใจและมุมมองของเรา พี่ไม่เคยคิดว่าตัวเองโชคร้ายเลย ตรงกันข้ามที่ทุกครั้งย้อนกลับไปคิดถึงวันที่เราตรวจพบมะเร็งทีไร เราก็รู้สึกโชคดีเหมือนถูกลอตเตอรี่ทุกที และขอบคุณที่ตัวเองไปตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพราะทำให้เราได้เจอมะเร็งเร็ว ก่อนที่จะลุกลามไปอวัยวะอื่น
“หรือแม้กระทั่งลูกน้องมือขวาของพี่ที่ทำงานอยู่ด้วยกันทุกวันนี้ อายุแค่ 40 ปีกว่าๆ เพิ่งไปตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 แพร่กระจายไปที่สมองและหลายอวัยวะ ตอนนี้คุณหมอให้แค่ยาพุ่งเป้าเพื่อประคองอาการ พี่ก็จะบอกเขาเสมอว่า แค่ได้ลืมตาตื่นขึ้นมา นั่นก็โชคดีแล้วนะ เพราะเรายังมีโอกาสมากกว่าคนแข็งแรงมากมายที่อาจจะประสบอุบัติเหตุกะทันหัน จากไปโดยไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ฉะนั้น ใช้ชีวิตไปให้มีความสุขเถอะ อย่าไปเสียเวลากับความกลัวหรือกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเลย…”