ชวนปลูกผักข้างบ้านต้านมะเร็ง

อย่างที่รู้กันดีว่า การกิน ‘ผัก’ หลากหลายอย่างเพียงพออย่างน้อย 400-800 กรัมต่อวัน นอกจากจะช่วยเสริมสร้างภูมิกันให้กับร่างกายเราแล้ว ยังช่วยต้านโรคร้ายต่างๆ มากมาย รวมถึงโรคมะเร็ง วันนี้ TBCC จึงอยากชวนทุกคนมาลองปลูกผักกินเองแบบง่ายๆ นอกจากจะมั่นใจว่าปลอดสาร ต้านภัยมะเร็งได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้านอีกด้วย หากพร้อมแล้ว ก็เริ่มกันเลย… 

01

เตรียมพื้นที่

เพราะปัจจุบันการทำโรงเรือนปลูกผักขนาดย่อมภายในบ้านเป็นเรื่องง่ายๆ แค่คลิกในแอปส้ม แอปฟ้า ก็พร้อมมาส่งถึงบ้าน แถมบางร้านมีพนักงานมาประกอบให้ถึงที่อีกด้วย ทำให้การเตรียมพื้นที่ปลูกผักไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด หรือหากใครที่อยู่คอนโด มีพื้นที่จำกัด การทำสวนผักในกระถางนอกระเบียงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพิ่มพื้นที่ฮีลใจในเมืองใหญ่ได้เป็นอย่างดี  

02

ศึกษานิสัย
ใจคอ ‘ผัก’ 

ผักบางชนิดชอบแดดแรง บางชนิดก็ชอบแดดรำไร บางชนิดชอบน้ำชุ่มๆ ขณะที่บางชนิดก็ไม่ต้องการน้ำมาก ฉะนั้น ก่อนจะปลูกผักอะไรก็ตาม เราควรศึกษานิสัยของผัก และพิจารณาพื้นที่ที่เรามีอยู่ เช่น หากอยู่คอนโด มีระเบียงเล็กๆ ที่แดดส่องถึงแค่ครึ่งวันเช้า เราก็อาจจะเลือกปลูกผักที่ชอบแดดครึ่งวัน เช่น คะน้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ ควรรู้ด้วยว่าฤดูกาลที่เหมาะในการเพาะปลูกผักต่างๆ นั้นคือฤดูไหน เพื่อให้ผักที่ปลูกนั้นเติบโตได้อย่างเต็มที่  

ฤดูฝน : ผักปลัง ดอกขจร ตำลึง ผักกูด โสน คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือ พืชตระกูลข่า เป็นต้น

ฤดูหนาว : ผักสลัด กะหล่ำ ผักกาด ผักคอส กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก ฯลฯ รวมถึงผักรับประทานหัว เช่น แครอท ฯลฯ และผักพื้นบ้าน เช่น ดอกแค สะเดา ผักชี เป็นต้น

ฤดูร้อน : แตงกวา บวบฟ้า ผักกาดขาว ผักกาดฮ่องเต้ และผักเลื้อยทั่วไป

03

ผักอร่อย
อย่าปล่อย
ให้แก่   

นอกจากการดูแลเอาใส่ใจ รอเป็น และใจเย็นเพียงพอแล้ว ผักจะอร่อยได้ เราควรรู้ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยว เพราะการเก็บเกี่ยวผักที่อ่อนหรือแก่เกินไป อาจจะทำให้ผักเสียรสชาติ และเส้นใยเหนียวมากขึ้นได้ ฉะนั้น ควรศึกษาอายุผักแต่ละชนิดที่เหมาะกับการเก็บเกี่ยว เช่น คะน้าอร่อยมักอยู่ที่ประมาณ 45-55 วันหลังปลูก เป็นต้น 

ที่สำคัญควรใส่ใจเวลาในการเก็บเกี่ยวด้วย ซึ่งผักส่วนใหญ่ควรเก็บเกี่ยวในตอนเช้า จะทำให้ผักที่เก็บได้นั้นกรอบอร่อยและเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าผักที่เก็บตอนบ่าย เนื่องจากตอนเช้าผักจะคายน้ำน้อยกว่าตอนบ่าย ทำให้รักษาความสดได้นานกว่า

ทั้งนี้ อุปกรณ์ที่ใช้เก็บเกี่ยวผักควรมีความคมและสะอาด เพื่อลดความบอบช้ำของพืชผักและจะช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้น ในกรณีที่เก็บผักเป็นจำนวนมาก หลังเก็บแล้วควรห่อด้วยกระดาษแล้วนำเข้าตู้เย็นทันที โดยไม่ต้องล้าง วิธีนี้จะช่วยชะลอการเน่าเสียของผักได้ และเมื่อไรที่จะนำผักมาทำอาหารค่อยนำออกมาล้างน้ำทีเดียวเลยก็ได้ 

04

ผักข้างบ้าน…
ต้านมะเร็ง

มาถึงบรรทัดนี้แล้ว หากใครยังไม่รู้จะเริ่มปลูกผักอะไรดี TBCC ขอนำเสนอพลพรรคผักตระกูลครูซิเฟอรัส ไม่ว่าจะเป็นบร็อกโคลี คะน้า ผักกวางตุ้ง แขนง กะหล่ำดอก และกะหล่ำปลี ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินเอ ซี และอีสูง นอกจากนี้ ยังมีซัลโฟราเฟนและอินโดล-3-คาร์บินอล (Indole-3-carbinol) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยเฉพาะกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก จะมีสารที่เรียกว่า ‘ไฟโทเคมิคัล’ (Phytoahemical) ซึ่งมีสรรพคุณในการต่อต้านมะเร็งเต้านม โดยการปรับเปลี่ยนฮอร์โมนอีสโทรเจนประเภทที่ส่งเสริมการเกิดโรคมะเร็งให้กลายเป็นฮอร์โมนอีสโทรเจนที่ช่วยป้องกันมะเร็งนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีผักพื้นบ้านของไทยที่ช่วยต้านมะเร็งได้ ไม่ว่าจะเป็นผักปลัง สะเดา ขิง ข่า กระวาน ผักเหลียง ชะพลู ชะอม ผักเชียงดา มะรุม เพกา มะเขือพวง ฟักข้าว ยอดมะพร้าว หน่อกะลา หน่อดาหลา แมงลัก ชะมวง ผักแว่น ใบยอ ใบบัวบก กระชาย มะระขี้นก ดอกขี้เหล็ก ผักชีลาว ผักติ้ว ยอดแค ขมิ้นขาว ผักแพว เป็นต้น

05

เคล็ดลับปลูกผักให้งาม

หลังจากเก็บเกี่ยวทุกครั้ง ควรหมักดินใหม่เพื่อให้พืชผักที่ปลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยสูตรหมักดินต้องมีส่วนผสมของอินทรียวัตถุ ปุ๋ยคอก เพื่อให้มีความร่วนซุย จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ แล้วจึงค่อยปลูกผักชุดใหม่ สำหรับสวนกระถาง อาจจะหมักดินทิ้งไว้ก่อนเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็เปลี่ยนดินที่หมักไว้ แล้วนำดินเก่าที่ใช้แล้วมาหมักวนไป 

.

สำคัญที่สุดในการปลูกผักใดๆ ก็ตาม ไม่ควรปลูกผักชนิดเดียวซ้ำๆ ในแปลงเดิม ควรปลูกหมุนเวียนสลับกันไป เพื่อลดการสะสมโรคและศัตรูพืชบางชนิด ซึ่งวิธีนี้ยังช่วยให้เราได้หมุนเวียนกินผักที่หลากหลายมากขึ้น ช่วยให้ร่างกายเราได้รับคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่หลากหลาย ป้องกันโรคภัยได้นานาชนิดอีกด้วย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top