5 มุมคิดพิชิต ‘มะเร็ง’ ร้ายให้กลายเป็น ‘ที่รัก’

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้
ล้วนมีสองด้านเสมอ…

เช่นเดียวกับ ‘มะเร็ง’ ที่หากเรามองอย่างมีสติ เปิดใจยอมรับ และทำความรู้จักจริงๆ จังๆ เราจะพบว่า มะเร็งก็ไม่ได้ต่างจากปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่แวะเวียนเข้ามาท้าทายชีวิตเรา บางปัญหาเข้ามาให้เรียนรู้ บางอุปสรรคก็เข้ามาให้เราลุกขึ้นสู้ หรืออีกมากมายที่ผ่านเข้ามาเป็นบทเรียนเพียงเพื่อจะบอกเราว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะอยู่จีรังยั่งยืน เมื่อผ่านมาแล้ว เดี๋ยวสักพักมันก็จะผ่านไป เดือนนี้ TBCC อยากชวนทุกคนมาลองเปลี่ยนมุมคิดพิชิตมะเร็งร้ายให้กลายเป็น ‘ที่รัก’ ไปพร้อมๆ กัน 

1. สัจธรรมชีวิตที่ชื่อว่า ‘มะเร็ง’ 

อย่างที่รู้ๆ กันดีกว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่คนเราหลีกหนีไม่ได้อยู่แล้ว มะเร็งก็เป็นอีกหนึ่งความเจ็บป่วย ซึ่งเป็นสัจธรรมของชีวิตที่ใครๆ ก็ต้องเผชิญ ไม่ป่วยโรคนั้น ก็ต้องป่วยโรคนี้ ไม่มีใครหนีความป่วยไปได้พ้น มีแค่คนตายเท่านั้นที่ไม่ป่วย ฉะนั้น ท่องไว้ว่า โชคดีแค่ไหนที่เรายังมีโอกาสป่วย มีโอกาสรักษา และมีเวลาเหลือที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้อีกมากมาย เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวไปไกล ทำให้มะเร็งกลายเป็นโรคที่รักษาได้แล้ว และหากเจอในระยะต้นๆ ก็ยังมีโอกาสหายขาดได้อีกด้วย ฉะนั้น เป็นมะเร็งวันนี้ ใช่ว่าจะตายวันนี้ พรุ่งนี้…เสียเมื่อไร 

2. มองมะเร็งเป็น ‘บทเรียน’ 

วิธีหาความรู้ของคนเรานั้น นอกจากการเรียนรู้ในสถานศึกษาแล้ว การอ่าน การเดินทาง หรือแม้แต่จากการเผชิญหน้ากับ ‘โรคร้าย’ ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดพลั้้งเผลอในอดีต ที่เราอาจจะละเลยการดูแลตัวเอง มองข้ามที่จะใส่ใจตัวเอง เมื่อมะเร็งเข้ามาก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า สุขภาพและเวลานั้นสำคัญมากแค่ไหน อีกทั้งรู้ซึ้งว่า ใครและอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต นั่นเองที่ทำให้โรคร้ายกลายเป็น ‘บทเรียน’ แสนล้ำค่าให้กับชีวิตเราได้ แค่เปลี่ยนมุมคิด พลิกมุมมองเล็กน้อย แล้วลองถามตัวเองสิว่า ที่ผ่านมามะเร็งสอนอะไรเราบ้าง… 

3. เปลี่ยนโรคร้ายให้กลายเป็น ‘โอกาส’ 

อัจฉริยภาพของโลกมากมายที่เปลี่ยน ‘ปัญหา’ ให้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำที่อำนวยความสะดวกรอบตัวเรา ไม่ว่าจะหลอดไฟ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ล้วนมีที่มาจาก ‘ปัญหา’ ในอดีตทั้งนั้น และหากเรามองว่ามะเร็งไม่ต่างอะไรกับปัญหาในชีวิตเรา ลองมาคิดกันดูเล่นๆ ไหมว่า เราได้ประโยชน์อะไรบ้าง…จาก ‘มะเร็ง’ ที่เป็นอยู่   

มีผู้ป่วยมะเร็งมากมายใช้โอกาสในการเป็นมะเร็งเพื่อเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และสร้างตัวตนขึ้นบนโลกโซเชียล ก่อนจะถือโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ดีๆ รวมถึงส่งต่อกำลังใจให้กับผู้ป่วยทั่วไป เพื่อหวังว่าความเจ็บป่วยนั้นจะไม่สูญเปล่า  

ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยที่แปลงปัญหาระหว่างการรักษาตัวเป็นผลิตภัณฑ์โด่งดังในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น นาโอะ นาคาจิมะ (Nao Nakajima) อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ที่ใช้ประสบการณ์ไร้เส้นผมระหว่างการรักษาตัวมาเป็นแรงบันดาลใจดีไซน์หมวกสไตล์เรียบง่ายที่ไม่ธรรมดา, ราเชล เลวิน ทรอเซลล์ (Rachel Levin Troxell) อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมวัย 34 ปี ที่คิดค้นและออกแบบ   LympheDIVAs ปลอกรัดแขนดีไซน์เก๋ เพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคนที่ต้องเผชิญกับอาการแขนบวมน้ำเหลือง (Lymphedema) และ ดานา โดโนฟรี (Dana Donofree) อดีตผู้ป่วยมะเร็งชนิด HER2-positive วัย 27 ปี ที่ริเริ่มก่อตั้ง AnaOno เพื่อออกแบบชุดชั้นในสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังการผ่าตัดโดยเฉพาะ…แล้วมาถึงบรรทัดนี้ คุณเริ่มเห็น ‘โอกาส’ บ้างหรือยัง!?  

4.  ไม่ใช่ใครจะผ่าน ‘มะเร็ง’ มาง่ายๆ  

ร่างกายดี แต่ใจไม่สู้ ก็พ่ายแพ้ให้มะเร็งมาแล้วมากมาย ฉะนั้น ไม่ใช่แค่ร่างกายที่ต้องแข็งแรง แต่ใจก็ต้องแข็งแกร่งพอที่จะสู้กับการรักษาอีกด้วย นั่นจึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยมะเร็งมากมายจะได้รับการยกย่องให้เป็น ‘Cancer Fighters’ นักสู้โรคร้ายที่มีหัวใจเป็นอาวุธลับ

ด้วยมะเร็งเป็นโรคที่สามารถลุกลาม รุนแรง และเรื้อรัง จึงทำให้กระบวนการรักษาค่อนข้างมีรายละเอียด ซับซ้อน และต้องทำต่อเนื่องอย่างมีวินัย อีกทั้งยังอาการข้างเคียงที่คล้ายจะเป็นบททดสอบทั้งร่างกายและหัวใจที่ค่อนข้างหิน จึงทำให้ผู้ป่วยที่ผ่านการกระบวนการรักษามาจนจบได้นั้นไม่ต่างอะไรกับนักบวชจากวัดเส้าหลินที่ถูกฝึกฝนให้กลายเป็นคนอึด ถึก และอดทนต่ออะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทนต่ออาการข้างเคียง ทนต่อสภาพอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของตัวเอง ทนต่อความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทนต่อสภาพความไม่พร้อมทางการเงิน ทนต่อความเปลี่ยนไปของคนใกล้ตัว ฯลฯ 

แม้จะเป็นการทนแบบทุกข์ๆ ทนแล้วจมกับความเศร้า ก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้อดทนเป็นเลิศ ในขณะที่ผู้ป่วยอีกมากมายก็ไม่ได้ใช้ความอดทนเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังใช้โอกาสนั้นในการเรียนรู้ที่จะสู้กับมะเร็ง เรียนรู้ความทุกข์ ค้นพบสัจธรรมชีวิต ฯลฯ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นผู้ปล่อยวางยอดเยี่ยม, ผู้เชี่ยวชาญด้านการแบ่งปันกำลังใจ, ผู้คิดค้นอาหารสังหารมะเร็ง, แฟชั่นนิสต้าขวัญใจชาวคีโม ฯลฯ 

ฉะนั้น หลังจบการรักษา ยืดอกบอกคนอื่นไปอย่างภาคภูมิใจได้เลยว่า ‘ฉันคืออดีตผู้ป่วยมะเร็ง…’  เพราะนั่นไม่ต่างอะไรจากใบประกาศนียบัตรของชีวิต และยังเป็นโอกาสที่เราจะได้แบ่งปันประสบการณ์และส่งต่อกำลังใจให้คนอื่นได้อีกมากมาย ส่วนผู้ป่วยมะเร็งที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาก็ลองถามตัวเองดูสิว่า หลังจบการรักษาแล้ว คุณอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหน?

5. มะเร็งเปลี่ยนโลก

หลายคนอาจจะมองโลกเปลี่ยนไปหลังเป็นมะเร็ง บางคนอาจจะมองว่ามะเร็งเข้ามาทำให้ชีวิตเขาพังทลาย โลกที่เคยสดใสกลายเป็นขุ่นมัว ในขณะที่ผู้ป่วยมากมายค้นพบโลกใหม่ที่ให้ความสุขแท้อย่างที่ไม่เคยพบมาเลยตลอดชีวิต

เป็นมะเร็งเหมือนกัน แต่มุมมองต่างกัน 
โลกที่เห็นและโรคที่เป็น ก็ย่อมต่างกัน 

ฉะนั้น ไม่ว่าจะนรกหรือสวรรค์ เรากำหนดได้ด้วยมุมมองของเราเอง ทุกข์หรือสุข เราก็เลือกได้ด้วยใจของเราเอง TBCC หวังว่าผู้ป่วยมะเร็งทุกคนจะค้นพบโลกใบใหม่ที่ทำให้ยิ้มได้กันถ้วนหน้านะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://tbcc-community.com
แชร์ไปยัง
Scroll to Top