มาเตรียมตัวเข้าสู่แก๊ง ‘สตรีวัยทองคะนองเดช’ กันเถอะ!

ร้อนวูบวาบตามตัว บางรายร้อนเฉพาะส่วนบนของร่างกาย เช่น แก้ม คอ หลัง เป็นต้น จากนั้นจะตามด้วยเหงื่อออกและหนาวสั่นในเวลากลางคืน อาการนี้จะเป็นนาน 1-5 นาทีเท่านั้น
ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นมาเร็ว มาช้า มามาก มาน้อย เป็นต้น
มีปัญหาช่องคลอด&กระเพาะปัสสาวะ มาจากระดับ Estrogen ลดลง จึงทำให้เยื่อบุช่องคลอดแห้งและบางลง มักมีอาการแสบร้อนในช่องคลอดหรือปวดขณะร่วมเพศ อีกทั้งยังเสี่ยงติดเชื้อในช่องคลอดบ่อยขึ้น บางรายอาจจะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม
นอนหลับยาก ตื่นเร็ว หรือตื่นกลางดึก แน่นอนว่าสตรีวัยทองส่วนใหญ่ก็จะมีอาการอ่อนเพลียผิดปกติ 
มีอารมณ์ผันผวน โกรธง่าย และไม่ค่อยมีสมาธิ
เอวเริ่มหาย กล้ามเนื้อลดลง ไขมันเพิ่ม ผิวหนังเริ่มเหี่ยว
ปัญหาอื่นๆ เช่น มึนหรือปวดศีรษะ ความจำลดลง ปวดตามตัว กระดูกพรุน เป็นต้น

หากคุณกำลังเผชิญกับอาการเหล่านี้ เราขอต้อนรับเข้าสู่แก๊ง ‘สตรีวัยทองคะนองเดช’ หรือเหล่าสตรีที่มีระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลงจากการทำงานของรังไข่ที่ลดลง ทำให้เข้าสู่วัยสิ้นสุดประจำเดือนอย่างถาวรและเริ่มต้น ‘วัยทอง’ ตามธรรมชาติ

นอกจากอาการวัยทองจะพบมากในสตรีวัย 50-59 ปีแล้ว ยังพบในผู้หญิงที่มีอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของรังไข่ รวมไปถึง ‘การทำเคมีบำบัด’ ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งผลต่อเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเซลล์ต่างๆ ของร่างกายที่มีการเจริญเติบโตด้วย นั่นเองจึงทำให้สาวๆ ชาวคีโมมีความเสี่ยงสูงที่จะก้าวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด

ไม่เพียงเท่านั้น อาการวัยทองก่อนกำหนดนี้ยังสามารถเกิดจากเหตุอื่นๆ ได้อีก เช่น ประวัติคนในครอบครัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็ว โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง ความผิดปกติของโครโมโซมเอกซ์ และการสูบบุหรี่ รวมถึงสตรีที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างออกก่อนที่จะถึงวัยหมดประเดือน เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ‘สตรี’ ทุกคนก็ล้วนต้องเข้าสู่ ‘วัยทอง’ กันทั้งนั้น ฉะนั้น วัยทองจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากแต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรเตรียมตัวรับมือเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยทองอย่างมีคุณภาพ และเพื่อเป็นการต้อนรับ ‘วันสตรีวัยทองโลก’ (World Menopause Day) ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ TBCC จึงขอรวบรวมวิธีรับมือกับวัยทองมาฝาก  

หลีกเลี่ยงสิ่งที่เอื้อให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ เช่น การอาบน้ำอุ่น, การสูบบุหรี่, การกินอาหารบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม อาหารรสจัด รวมถึงน้ำตาลขัดสีต่างๆ ซึ่งมักซ่อนอยู่ในขนมขบเคี้ยว รวมถึงอาหารสำเร็จรูป ฯลฯ และหากมีอาการร้อนวูบวาบ สามารถแก้ไขได้ด้วย เช่น เปิดแอร์หรือพัดลม ดื่มน้ำเย็น ประคบผ้าเย็นหรืออาบน้ำเย็น เป็นต้น

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงและไขมันต่ำ และไม่ควรรับประทานโปรตีนมากเกินไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะหากร่างกายได้รับโปรตีนมากเกินไป ร่างกายก็จำเป็นต้องขับออก โดยสลายกรดอะมิโนในตับให้กลายเป็นยูเรียแล้วออกมาพร้อมปัสสาวะ ซึ่งการขับยูเรียทางปัสสาวะนี้เองทำให้ร่างกายต้องสูญเสียแคลเซียมไปด้วย จึงกลายเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้กระดูกพรุนนั่นเอง

ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ลด ละ เลิกน้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำหวานที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพราะนั่นจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ ให้สตรีวัยทองเกือบ 2 เท่าทีเดียว

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที หากเกิดอาการร้อนวูบวาบ อาจจะลดความถี่หรือระยะเวลาในการออกกำลังกายลงได้ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

รับแสงแดดในช่วงที่มี ultraviolet B หรือเวลาประมาณ 9.00-15.00 น. ถือเป็นแหล่งวิตามินดีที่ดีที่สุด ซึ่งจะช่วยในการดูดซึม ‘แคลเซียม’ ผ่านลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น นอกจากนี้ วิตามินดียังพบได้ในอาหาร เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล ไข่แดง น้ำมันตับปลา เป็นต้น แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าการเดินรับแสงแดดเยอะทีเดียว


พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด
ฝึกควบคุมอารมณ์ให้มีความคิดในเชิงบวก 

ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากภาวะขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ยิ่งเข้าวัยทองเร็วเท่าไร ยิ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ในผู้สูงอายุสตรีหมดประจำเดือนมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูง ทำให้เกิดกระดูกหักง่าย นี่จึงเป็นเหตุให้สาวๆ วัยทองควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงนั่นเอง 

หากรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยทองมีผลกระทบกับคุณภาพชีวิต ควรปรึกษาแพทย์อย่างเร่งด่วน อาการวัยทองนั้นสามารถใช้ยารักษาตามอาการได้ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาคลายเครียด วิตามิน ยารักษาอาการร้อนวูบวาบที่ไม่ใช่ฮอร์โมน เช่น ยาต้านเศร้า (กลุ่ม SSRI) ยาลดความดันโลหิต (Clonidine) เป็นต้น ในกรณีสตรีวัยทองที่มีคู่สมรส หากมีปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน – เพราะทุกปัญหามีทางออก!

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://pr.moph.go.th
https://goodlifeupdate.com
https://www.si.mahidol.ac.th
https://www.pptvhd36.com

แชร์ไปยัง
Scroll to Top