เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์เต้านมให้มีการเจริญเติบโต แต่หากได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะการรับฮอร์โมนเอสโตรเจนแปลกปลอมสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว นั่นหมายถึงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมย่อมเพิ่มสูงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ วันนี้ TBCC ชวนให้ทุกคนมาค้นหา ‘ฮอร์โมนเอสโตรเจนแปลกปลอม’ ที่ซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เราสามารถพบเจอในชีวิตประจำวัน ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง…มาดูพร้อมๆ กันเล้ยยย!!!
BHA
Butylated Hydroxyanisole
บิวทิเลเทต ไฮดรอกซีอะนิโซล (Butylated hydroxyanisole : BHA) เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ที่ใช้เป็นสารต้านออกซิเดชัน (antioxidant) ป้องกันการหืน (rancidity) ของไขมันและน้ำมัน รวมถึงพบได้ในเครื่องสำอางอย่าง ‘น้ำหอม’ โดยมีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า BHA เป็นสารก่อมะเร็ง มีฤทธิ์ทำลายตับ และยังรบกวนระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย รวมถึงมีผลต่อการทำงานของเอสโตรเจนในร่างกายคนเรา เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมอีกด้วย ฉะนั้น คราวหน้าเวลาจะซื้อน้ำหอม อย่าเพียงแต่ทดลองดมกลิ่น แต่ควรพลิกดูฉลากข้างขวดสักนิดว่ามีสาร BHA นี้อยู่หรือไม่
BPA
Bisphenol A
บิสฟีนอลเอ (Bisphenol A : BPA) โดยมากจะถูกใช้เคลือบภาชนะสำหรับบรรจุอาหาร เช่น กระป๋อง หรือพลาสติกต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าสารนี้มีโอกาสรั่วไหลเข้าสู่อาหารได้ และจากการศึกษาบ่งชี้ว่าสารนี้มีฤทธิ์เป็นเอสโตรเจน ซึ่งมีผลต่อเซลล์มะเร็งเต้านมในหลอดทดลอง ฉะนั้น จะเลือกอาหารหรือภาชนะครั้งใดควรคิดให้ดี หากเป็นไปได้พยายามใช้ภาชนะใส่อาหารที่มาจากแก้วหรือกระเบื้องเซรามิกเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม
พาราเบน
Paraben
พาราเบน (Paraben) สารกันเสียสังเคราะห์ที่พบได้บ่อยที่สุดในเครื่องสำอางแทบทุกประเภท โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ใต้วงแขน ครีมกันแดด รวมถึงบลัชออน ซึ่งพบว่านิยมใช้มากกว่าเครื่องสำอางชนิดอื่นๆ
นอกจากนี้ เรายังสามารถพบพาราเบนในอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก ขนมปังอบ และขนมกรุบกรอบต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันตรงกันว่า พาราเบนมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ได้ ฉะนั้น ลองมองหาผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า Paraben-Free น่าจะปลอดภัยที่สุด
ยาคุมกำเนิด
ยาเอสโตรเจนชนิดเม็ด
ยาคุมกำเนิดหรือยาเอสโตรเจนชนิดเม็ด อย่างที่รู้ๆ กันดีว่า การรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4-8 ปี เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้นกว่า 1-1.6 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้รับประทาน ทั้งนี้ยังรวมถึงยาเสริมฮอร์โมนภายหลังหมดประจำเดือน หรือบางแหล่งเรียกว่ายาฮอร์โมนทดแทนวัยทอง หากรับประทานติดต่อกัน 5-10 ปี ก็พบว่าความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมสูงขึ้นกว่า 2-6 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติเช่นกัน แต่ความเสี่ยงดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงภายหลังการหยุดยา ฉะนั้น สาวๆ จึงควรใช้ยาคุมกำเนิดอย่างระมัดระวัง โดยวิธีที่ปลอดภัยที่สุดก็คืออยู่ในการดูแลของแพทย์ ที่สำคัญหากสาวๆ ท่านใดที่เคยผ่านการเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดเด็ดขาด เพราะนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคมะเร็งกำเริบได้
พาทาเลต
Phthalate
พาทาเลต (Phthalate) เป็นสารเคมี Plasticizer ที่ใช้กันมากในผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทพีวีซี โดยใช้เป็นสารที่ทำให้เกิดความอ่อนตัวในเนื้อพลาสติก ซึ่งผลิตภัณฑ์พลาสติกพีวีซีที่มีความยืดหยุ่นหรืออ่อนตัวได้ มักจะมีสารพาทาเลตผสมอยู่ในเนื้อพลาสติกในปริมาณมาก และเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น
- ภาชนะใส่อาหาร บรรจุภัณฑ์ เช่น ฟิล์มยืดห่ออาหาร ถุง ซอง กระเป๋าพลาสติก
- เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น ท่อสำหรับระบาย ถุงใส่เลือด
- ของเด็กเล็ก เช่น ขวดนม ของเล่น
- เฟอร์นิเจอร์ เช่น แผ่นพีวีซีลายไม้ เสื่อน้ำมัน พลาสติกปูโต๊ะ หนังเทียม
- วัสดุก่อสร้าง เช่น สายไฟ สายเคเบิล แผ่นกระเบื้องไวนิล ผ้าใบ
เป็นต้น
โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Health Care With-out Harm (HCWH) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองสารพาทาเลตในสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการหลายๆ แห่งได้ผลตรงกันว่า สารนี้เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย โดยจะไปรบกวนอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ตับ ไต ปอด ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ หากถูกรบกวนหนักเข้า เซลล์ในร่างกายก็จะกลายพันธุ์ไปเป็นมะเร็งในที่สุด
เช่นเดียวกับงานวิจัยจาก Center for Disease Control ในปี 2544 ระบุย้ำว่า พาทาเลตเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้แน่นอน โดยผ่านทางการกิน หายใจ สัมผัสทางผิวหนัง และจากการถ่ายเลือด พาทาเลตจึงถูกยกให้เป็นสารเคมีก่อมะเร็งยอดฮิตตัวหนึ่งที่มีโอกาสหลุดจากเนื้อพลาสติกเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ พาทาเลตยังถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเล็บ เป็นสารทำละลายให้น้ำยาทาเล็บมีความยืดหยุ่น แห้ง และไม่เปราะง่าย สารนี้มีผลทำให้การเจริญเติบโตบกพร่อง ระบบสืบพันธุ์มีปัญหา และยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ รวมถึงเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคตด้วย โดยในปัจจุบันประเทศแถบยุโรปได้แบนสารนี้ในเครื่องสำอางไปเรียบร้อยแล้ว
แคดเมียม
Cadmium
แคดเมียม (Cadmium) อีกหนึ่งโลหะหนักที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน หากเราได้รับแคดเมียมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน นี่คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเป็นมะเร็งในสตรี โดยเฉพาะมะเร็งเยื่อบุมดลูกและมะเร็งเต้านม มีรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal Cancer Research ศึกษาในกลุ่มสุภาพสตรีจำนวน 56,000 คน มีร้อยละ 21 ที่พบปริมาณแคดเมียมในร่างกายสูงและมีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านม
มาถึงบรรทัดนี้ หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า เราจะได้รับเจ้าแคดเมียมนี้ได้อย่างไร? โดยทั่วไปแคดเมียมจะเข้าไปปะปนในพืชพันธุ์ผ่านปุ๋ยหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ เมื่อฝนตกก็ถูกชะล้างลงไปในหน้าดิน โดยพืชพันธ์ุที่เป็นแหล่งสะสมแคดเมียมอันดับต้นๆ ก็คือ มันฝรั่ง และธัญพืชต่างๆ นอกจากนี้ แคดเมียมยังลอยปะปนในมลพิษอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเมื่อเราสูดหายใจเข้านั่นเอง
ยาฆ่าวัชพืช
ยาฆ่าวัชพืช หรือเรียกกันทั่วไปว่า ยาฆ่าหญ้า โดยเฉพาะในกลุ่มไกลโฟเซต (Glyphosate) ที่เกษตรกรในหลายประเทศนิยมใช้ จน International Agency for Research on Cancer (IARC) ต้องออกมาจัดให้ไกลโฟเซตอยู่ในกลุ่มสารอันตรายที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ด้วยมีการศึกษาพบว่า ไกลโฟเซตมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดพึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นถึง 5-13 เท่า ผ่านการสัมผัสหรือรับสาร และยังออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลางในระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น จากการประมวลผลงานวิจัย 16 ชิ้น พบว่า การสัมผัสสารไกลโฟเซตยังทำลายพลังงานในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ตัวการสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL (Non-Hodgkin’s lymphoma) มากถึงร้อยละ 41 นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในวารสาร Environmental Research ราวเดือนสิงหาคม 2021 พบว่า ผู้หญิงที่สัมผัสกับสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตมีแนวโน้มที่จะอายุครรภ์สั้นลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวของทารกอีกด้วย
.
ยาฆ่าแมลง
มีหลักฐานชี้ว่าไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichlorodiphenyltrichloro Ethane) หรือชื่อย่อที่เรารู้กันดีว่า ดีดีที (DDT) ยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine) ถือเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กสาวที่สัมผัสกับดีดีที รวมถึงมารดาที่เคยได้รับยาดีดีทีตั้งแต่ตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งมากกว่าผู้หญิงทั่วไป โดยมีการศึกษาในหญิงชาวอเมริกันช่วง 50 ปีที่ผ่านมาพบว่า หญิงที่มียาฆ่าแมลงประเภทดีดีทีสะสมในมดลูก เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติ
แม้ปัจจุบันยาฆ่าแมลงชนิดนี้จะถูกห้ามใช้ในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทยเองก็กำหนดให้ดีดีทีเป็นวัตถุอันตรายในประเภท 4 ซึ่งหมายถึงกลุ่มวัตถุมีพิษ ห้ามการผลิตหรือนำเข้าและส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 นั่นทำให้ปัจจุบันเราจะไม่พบเห็นการใช้ดีดีทีในประเทศเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะดีดีทียังคงถูกใช้กันอย่างกว้างขวางในทวีปแอฟริกาและเอเชียบางประเทศ แน่นอนว่าการบริโภคผลผลิตจากประเทศเหล่านั้นก็อาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมียาฆ่าแมลงในกลุ่มของเฮอร์บิไซด์ (Herbicide) ได้แก่ อะลาคลอร์ (Alachlor) อะทราซีน (Atrazine) และไนโตรเฟน (Nitrofen) รวมถึงยาฆ่าแมลงในกลุ่มของฟังกิไซด์ (Fungicide) ได้แก่ ไบโนมิล (Benomyl) แมนโคเซ็บ (Mancozeb) และไตรบูทิลทิน(Tributyltin) ซึ่งล้วนเป็นสารก่อมะเร็งเต้านม
ทั้งนี้ วิธีที่จะป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดก็คือ ก่อนกินผักผลไม้หรือนำมาปรุงอาหารทุกครั้ง ควรนำผักผลไม้มาล้างน้ำให้สะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้าง เช่น
- ลอกเปลือกด้านนอกออก ล้างผ่านน้ำก๊อกที่ไหลนาน 2 นาที
- หรือแช่ในน้ำผสมเกลือ หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูทิ้งไว้นาน 10-15 นาที
- หรือแช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 กะละมัง หรือประมาณ 4 ลิตร
จากนั้นนำผักผลไม้มาล้างน้ำสะอาดอีก 2-3 ครั้ง ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงกินผักนอกฤดูกาล เนื่องจากพบว่าผักนอกฤดูกาลมักมีการใช้สารเคมีมากกว่าผักตามฤดูกาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านมได้ทางหนึ่งแล้ว
ทั้งหมดนี้คือบรรดาสารเคมีที่มีฤทธิ์เสมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งหากยิ่งรับก็ยิ่งเสี่ยง แต่หากเลี่ยงได้ ห่างไกลมะเร็งเต้านมแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยสูงสุด สาวๆ ทุกคนต้องไม่ละเลยการตรวจเช็กเต้านมของตัวเองเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการคลำด้วยตัวเอง หรือการเข้ารับการตรวจคัดกรอง เช่น อัลตราซาวนด์ แมมโมแกรม ฯลฯ เพราะการป้องกันมะเร็งที่ดีที่สุดก็คือการเฝ้าระวังอย่างไม่ประมาท ท่องจำไว้ว่า มะเร็งเต้านม ยิ่งรู้เร็ว รักษาเร็ว ก็มีโอกาสหายได้