มัดรวมไอเดียจัดห้องสุดว้าว! ฉบับสาวคีโม

อย่างที่รู้ๆ กันดีว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการเคมีบำบัดนั้นภูมิคุ้มกันจะต่ำกว่าคนปกติทั่วไป จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน ความสะอาด ไปจนถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ต้องเอื้อต่อการรักษา ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วย รวมถึงเตรียมความพร้อมรับมือกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ท้องผูก รวมถึงอาการซึมเศร้าระหว่างการรักษา ฯลฯ วันนี้ TBCC จึงอยากชวนสาวๆ มาจัดพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อม! ก่อนเปลี่ยนสถานะมาเป็น ‘คีโมเกิร์ล’ อย่างเป็นทางการ รับรองว่าง่าย ปลอดภัย และดีต่อใจแน่นอน

1. ‘ทำเล’ สำคัญมาก   

เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ร่างกายต้องการการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ฉะนั้นการเลือกทำเลห้องนอนหรือพื้นที่สำหรับผู้ป่วยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งควรอยู่ในตำแหน่งที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงดังหรือมีมลภาวะรบกวน เช่น ไม่ควรอยู่ใกล้ห้องที่มีเด็กเล็ก ห้องรับแขก ห้องครัว เป็นต้น หรือหากเป็นไปได้ ควรจัดอยู่บริเวณชั้นล่างของบ้านที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินขึ้นลงบันได และถ้าเป็นห้องที่มีวิวทิวทัศน์พักใจให้ผู้ป่วยด้วยก็ยิ่งดี 

2. ยืนหนึ่งเรื่องความสะอาด

ห้องโล่งๆ ดีที่สุด! ยิ่งมีเฟอร์นิเจอร์น้อยเท่าไร ก็ยิ่งปลอดเชื้อ ปลอดฝุ่น รวมถึงสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ มากเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากผ้า เลือกเฉพาะวัสดุที่ทำจากหนัง พีวีซี หรือพลาสติก เพราะง่ายต่อการทำความสะอาด  

เฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นนอกจากเตียงแล้ว ก็มีแค่โคมไฟและโต๊ะสักชุด หรือเก้าอี้นั่งแสนสบายสักตัวสำหรับเปลี่ยนอิริยาบถจากนอนมาเป็นนั่งจิบน้ำขิง ดูหนังเรื่องโปรด และหากเป็นไปได้อาจจะเพิ่ม ‘เครื่องฟอกอากาศ’ สักตัว ก็จะช่วยฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยได้ทางหนึ่ง

3. หน้าต่างระบายอากาศต้องมี

เพราะห้องที่ไม่มีการระบายอากาศ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการสะสมของเชื้อโรคภายในห้อง ห้องสำหรับผู้ป่วยในช่วงเคมีบำบัดจึงควรเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกจากบานหน้าต่างก็ดี หรือช่องระบายอากาศก็ได้ รวมถึงควรมีแสงสว่างเพียงพอ ยิ่งเป็นห้องที่แสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าส่องถึงยิ่งดี เพราะนอกจากช่วยไล่ความอับชื้นและฆ่าเชื้อโรคภายในห้องแล้ว รังสี UV จากแสงแดดยามเช้ายังก่อให้เกิดกระบวนการสร้างวิตามินดีจากคอเลสเตอรอลที่อยู่ในเซลล์ผิวหนัง และวิตามินดีนี้เองจะช่วยเพิ่มจำนวนของสารที่เรียกว่า ‘แคทีลิซิดิน’ (Cathelicidin) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 

4. สะดวกดี…มีห้องน้ำ

ด้วยอาการข้างเคียงของผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดส่วนใหญ่นั้น มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนบ่อยครั้งในช่วงสัปดาห์แรก บางคนมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ฉะนั้น หากห้องพักของผู้ป่วยมีห้องน้ำในตัว หรืออย่างน้อยควรใกล้ห้องน้ำ ก็จะสะดวกยิ่งขึ้น โดยห้องน้ำของผู้ป่วยนั้นเน้นไปที่

  • สะอาด และทำความสะอาดง่าย
  • เรียบง่าย ไม่ต้องตกแต่งอะไรมาก
  • ปลอดภัย พื้นไม่ลื่นง่าย ราบเรียบระดับเดียวกันเพื่อป้องกันการสะดุด มีราวจับด้วยยิ่งดี  
  • ใช้งานสะดวก ไม่จำเป็นต้องมีประตู (อาจจะติดแค่ม่านบังตา)
  • สว่างทั้งกลางวัน-กลางคืน   

5. ที่นอนสะอาด หลับสบาย 

เพราะช่วงของการให้เคมีบำบัดนั้นเป็นช่วงที่ร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอที่สุด จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการนั่งๆ นอนๆ อยู่บนเตียง นอกจากเรื่องความสะอาดที่ต้องมาเป็นอันดับแรกแล้ว จะต้องเป็นที่นอนที่เอื้อต่อการนอนหลับได้ดี และสามารถลุกนั่งได้สะดวก จึงควรคำนึงถึงความนุ่มแน่นของที่นอนเป็นสำคัญ คือ ไม่นอนแล้วแข็งกระด้าง หรือนุ่มจนนอนจมหาย  แต่สามารถรองรับสรีระของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

สำคัญกว่านั้นคือต้องทำความสะอาดง่าย โดยอาจจะใช้ผ้าปูป้องกันไรฝุ่น หรือผ้ายางที่สามารถกันน้ำได้ เผื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น อาเจียนบนที่นอน หรืออาหารหกเลอะ ก็สามารถเปลี่ยนผ้าปูได้ทันที โดยของเหลวไม่ซึมเลอะถึงตัวเบาะที่นอนนั่นเอง

เตียงนอนไม่ควรสูงเกินไป เพราะช่วงแรกๆ ของการให้เคมีบำบัดนั้น การยืนหรือเดินยังลำบาก หากเตียงสูงเกิน อาจเป็นสาเหตุให้เสียหลักล้มหรือพลัดตกได้ เตียงจึงควรมีความสูงจากพื้นประมาณ 40 เซนติเมตร หรือประมาณข้อพับเข่าของผู้ใช้งาน เวลาลุกขึ้นนั่งแล้ววางเท้าถึงพื้นได้พอดี 

6. โทนสีห้องเย็นตา สบายใจ 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ‘สีห้อง’ นั้นมีอิทธิพลต่อทั้งจิตใจและลึกไปถึงจิตใต้สำนึกของผู้อยู่อาศัย ส่วนใหญ่หากเป็นห้องนอนผู้ป่วยทั่วไปก็ควรเลือกโทนสีอ่อน เย็นตา เช่น สีครีม ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอารมณ์, สีฟ้า ซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์พบว่า เมื่อคนเรามองเห็นสีฟ้า ร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนินที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายและช่วยในการนอนหลับออกมา หรือหากมองไปถึงหลักของการบำบัด สีฟ้ายังช่วยบำบัดอาการของโรคปอด ขณะที่สีเขียวจะช่วยเรื่องระบบประสาท, สีม่วงปรับสมดุลในร่างกาย และสีน้ำเงินช่วยเรื่องความดันโลหิตสูง เป็นต้น

แต่ข้อควรระวัง! ไม่ควรทาสีขาวล้วนทั้งห้อง เพราะแทนที่จะผ่อนคลาย อาจจะกลายเป็นเครียดหนัก ส่งผลให้เกิดภาวะนอนหลับไม่สนิทได้  

7. มีตู้เก็บยาใกล้ๆ อุ่นใจดี

เพราะอาการแทรกซ้อนนั้นเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การจัดเก็บยาของผู้ป่วยให้เป็นที่เป็นทางจึงเป็นสิ่งจำเป็น หากไม่มี ‘ตู้ยา’ ก็สามารถใช้ ‘กล่องเก็บยา’ สำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะ โดยต้องมั่นใจได้ว่าเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เราสามารถหยิบฉวยยามาใช้งานได้ทันท่วงที ไม่เกิดความผิดพลาด หรือใช้เวลาในการค้นหานานเกินไป  

8. ผู้ช่วยเฝ้าไข้ยุคไฮเทค

สำหรับผู้ป่วยที่มีผู้ดูแลและยังต้องการพื้นที่ส่วนตัวบ้างบางเวลา การมีโทรศัพท์ภายในหรืออินเตอร์คอม รวมถึงกล้องวงจรปิดในห้องพักฟื้นนั้นก็ช่วยได้เยอะ เพราะผู้ดูแลก็ไม่ต้องเป็นกังวลมากเกินไป เวลาต้องไปทำธุระส่วนตัว ขณะที่ผู้ป่วยเองก็สามารถมีเวลาส่วนตัวบ้าง และสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ง่ายๆ ในยามฉุกเฉิน    

9. หายเหงาได้…แค่มีคอมพ์

เพราะการอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมนานๆ อาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับบางคน โดยเฉพาะ 7 วันแรกหลังจากรับเคมีบำบัด ซึ่งอาการข้างเคียงกำลังคุกคามเราอย่างหนัก แถมภูมิคุ้มกันของเราก็ต่ำเตี้ยเรี่ยพื้น แน่นอนว่าการย่างเท้าออกนอกห้องเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป ฉะนั้น วิธีคลายเหงาเท่าที่จะทำได้ในห้องสี่เหลี่ยมก็คือ การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ การเขียนระบาย หรือแม้แต่การคุยกับเพื่อนสนิทหรือคนรู้ใจ ผ่านโปรแกรม LINE, ZOOM ฯลฯ เหล่านี้สามารถทำได้แค่มีคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว 

แต่ข้อควรระวัง! คือ คอมพิวเตอร์นั้นต้องผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อมาเป็นอย่างดี อีกทั้งควรทำความสะอาดแบบวันต่อวัน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโดยไม่จำเป็น เพราะแทนที่จะเป็นเครื่องมือช่วยคลายเหงา คอมพิวเตอร์นั้นอาจจะเป็นต้นเหตุให้เราป่วยและต้องไปนอนห้องฉุกเฉินก็เป็นได้

10. พื้นที่ชาร์จพลังใจ  

หลังพักฟื้นไปสัก 1-2 สัปดาห์ อาการข้างเคียงจากเคมีบำบัดต่างๆ ก็จะเริ่มทุเลาเบาบางลง พอเข้าสัปดาห์ที่ 3 ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยก็จะเริ่มกลับมาเป็นปกติ และตอนนี้เองที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่คงอยากออกจากห้องสี่เหลี่ยมเพื่อไปสูดอากาศบ้าง ออกกำลังกาย ฯลฯ นั่นเป็นที่มาที่ควรจะจัดพื้นที่หรือมุมสำหรับผู้ป่วยไว้ โดยอิงจากความชอบของผู้ป่วยเอง เช่น ผู้ป่วยชอบปลูกต้นไม้ อาจจะมีมุมม้านั่งในสวนสวย ชวนปลูกต้นไม้ง่ายๆ และเฝ้าดูการเติบโตของต้นไม้นั้น หากเป็นผู้ป่วยสายคาเฟ่ ก็อาจจะจัดมุมจิบน้ำขิงยามบ่ายเก๋ๆ ไว้สักมุมในบ้าน, หากเป็นผู้ป่วยสายเกมเมอร์ อาจจะชวนคนในครอบครัวมาแบตเทิลกันสักแมตช์ นอกจากจะแก้เบื่อได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่โดดเดี่ยว และเป็นการชาร์จพลังใจให้ผู้ป่วยไว้สู้กับการรักษาในสัปดาห์ถัดไป

TBCC หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไอเดียการจัดห้องที่เราคัดสรรมานี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนสามารถผ่านช่วงการให้เคมีบำบัดไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และหากผู้ป่วยท่านใดที่มีไอเดียจัดห้องว้าวๆ ก็สามารถมาแบ่งปันกันได้ที่ www.facebook.com/tbcccommunity    

แชร์ไปยัง
Scroll to Top