5 สตรีสุดสตรอง : ตัดเต้าทิ้ง ชิ่งหนีมะเร็ง

ในปี 2020 มีผู้หญิงกว่า 2.3 ล้านคน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่พบในผู้หญิงมากที่สุดตามสถิติของกรมอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) และพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมกว่า 684,996 รายทั่วโลก 

ท่ามกลางผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ และยังละเลยการสำรวจตรวจตราหาสิ่งผิดปกติในเต้าของตัวเอง จึงทำให้มะเร็งเต้านมกลายเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็ล่วงเข้าสู่ระยะท้ายๆ ทำให้การรักษายุ่งยาก ซับซ้อนมากขึ้น 

ในเดือนตุลาคม เดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมสากล TBCC จึงอยากชวนสาวๆ ให้หันมาใส่ใจตัวเอง หมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ เพราะมะเร็งเต้านม ยิ่งเรารู้เร็ว รักษาเร็ว ก็มีโอกาสหายได้ ดังเช่น 5 สาวสุดสตรองคนดังระดับโลกที่ก้าวออกมาเผชิญหน้าโรคมะเร็งเต้านมอย่างเด็ดเดี่ยว ด้วยการตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทิ้งทันทีที่รู้ตัวว่าเสี่ยงเป็นมะเร็ง (แน่!) มาดูสิว่ามีใครกันบ้าง และเธอหันหลังให้ความกลัว พร้อมประจันหน้ากับชีวิตที่ไร้เต้าอย่างไร…ไปติดตามพร้อมๆ กันเลย

แองเจลิน่า โจลี
คุณแม่ Tomb Raider

หลังตรวจพบ BRCA1 ยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรรม ซึ่งเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 87 และมะเร็งรังไข่ถึงร้อยละ 50 แองเจลิน่า โจลี (Angelina Jolie) ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างทิ้งอย่างไม่ลังเล ก่อนจะทำการปลูกถ่ายเต้าใหม่ไฉไลกว่า ซึ่งต้องทำการผ่าตัดใหญ่ถึง 3 ครั้ง 3 ครา และในอีกสองปีต่อมาเธอยังตัดรังไข่และปีกมดลูกทั้งสองข้างทิ้ง ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เธออยากมีชีวิตอยู่ดูแลลูกๆ ทั้ง 6 คนของเธอไปอีกนานๆ และไม่อยากมีจุดจบเหมือน มาร์เชลลีน เบอร์แทรนด์ แม่ของเธอซึ่งมีชีวิตอยู่ได้เพียงอุ้มหลานคนแรก ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัยเพียง 56 ปี การตัดสินใจครั้งนี้แม้จะยากลำบากมากสำหรับผู้หญิง แต่เธอก็พร้อมยอมทำเพื่อจะการันตีว่า ลูกๆ ของเธอจะไม่สูญเสียเธอไปเหมือนกับที่เธอต้องสูญเสียแม่ไปนั่นเอง 

ปัจจุบัน แองเจลิน่า โจลี ยังคงทำหน้าที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่คอยดูแลลูกๆ ทั้งหกอย่างมุ่งมั่น ไปพร้อมๆ กับการทำงานเพื่อสังคมและมนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในหลายๆ บทบาทนั้นก็คือการเป็นทูตสันติไมตรีของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) ตลอดจนการเป็นกระบอกเสียงเตือนผู้หญิงทั่วโลกให้หันมาใส่ใจการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผ่านการทดสอบ DNA Test ซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งได้ทางหนึ่ง 

อัลลีน โรส
นางงามหัวใจแกร่ง

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2555 ชื่อของอัลลีน โรส (Allyn Rose) โด่งดังไปทั่วโลก ในฐานะนางงามแห่งรัฐแมริแลนด์ วัยเพียง 24 ปี ผู้เข้าชิงมงกุฎมิสอเมริกา (Miss USA 2011) ที่ออกประกาศกร้าวว่า เธอตัดสินใจจะเข้ารับการผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างทิ้ง ไม่ว่าผลการประกวดจะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม

ด้วยครอบครัวของเธอ ไม่ว่าจะเป็นแม่ ยาย หรือคุณทวด ต่างมีประวัติป่วยและจากไปด้วยโรคมะเร็งเต้านมกันทุกคน และเธอได้รับการวินิจฉัยว่ามีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แม้จะกังวลว่ารูปร่างจะเปลี่ยนไป และเคยยืนยันเสียงแข็งว่าจะไม่ยอมเสียเต้าอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงไปอย่างแน่นอน แต่เธอก็ยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อต่อสู้กับยีนก่อมะเร็งในตัวเธอเอง เพราะเธอไม่อยากมีจุดจบเหมือนกับแม่ ยาย และคุณทวดของเธอนั่นเอง  

ปัจจุบัน อัลลีน โรส กลายเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ พิธีกร นักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง รวมถึงเป็นนักรณรงค์ที่เดินหน้าสนับสนุนมูลนิธิเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิมะเร็งเต้านม Susan G. Komen และมูลนิธิ Tigerlilly เพื่อให้ความรู้แก่สตรีในการป้องกันโรคมะเร็ง ฯลฯ ทั้งยังทำงานเป็นผู้สนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและผู้สนับสนุนสื่อระดับชาติหลายแห่ง และสิ่งเหล่านี้เองที่ส่งให้เธอได้รับรางวัล Women’s Health Advocacy Award ในการประชุมประจำปีด้านสุขภาพสตรี ครั้งที่ 21 (The 21st Annual Congress on Women’s Health) ซึ่งถูกจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และที่สำคัญหลังผ่าตัดเต้านมออกแล้ว อัลลีนยังเข้าร่วมประกวด SI Swimsuit Model Search โดยหวังว่าจะเพิ่มความตระหนักให้สาวๆ ทั่วโลกหันมาใส่ใจและป้องกันมะเร็งเต้านม ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ เพราะนอกจากเธอจะเป็นผู้เข้าประกวดคนแรกที่ผ่าตัดเต้านมออกและได้รับความสนใจจากผู้คนแล้ว เธอยังสร้างการเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียอย่างมาก ภายใต้แฮชแท็ก #SelfExamGram ซึ่งสนับสนุนให้ผู้หญิงตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน

ซินเทีย นิกสัน
สาวเก่งแห่ง Sex and the City

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เป็นสาวก Sex and the City ซีรีส์แนวโรแมนติกคอมมาดี้-ดราม่าสัญชาติอเมริกัน คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับบทบาทของ ‘มิรันดา ฮอบบ์’ แม่สาวทนายผมแดง หนึ่งในแก๊งสี่สาวสุดแซ่บ นอกจอเธอก็คือ ซินเทีย นิกสัน (Cynthia Nixon) นักแสดงมากความสามารถที่ใส่ใจในการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการทำแมมโมแกรมเพื่อค้นหามะเร็งเต้านม กระทั่งปีที่ 40 ของชีวิต การแมมโมแกรมนี้เองที่ทำให้เธอพบเนื้อร้ายซึ่งก่อตัวขึ้นที่เต้านมข้างขวา ทันทีที่เธอรู้ เธอก็ไม่รอช้าที่จะตัดสินใจผ่าออก ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการฉายรังสีและเคมีบำบัดไปตามขั้นตอนอย่างไม่หวั่น

เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เธอเคยเห็นแม่ของเธอเผชิญกับเจ้าโรคร้ายนี้มาก่อนตอนเธออายุได้เพียง 12 ปี ทำให้ไม่ว่าอาการข้างเคียงจากการรักษาจะเลวร้ายแค่ไหน เธอก็ใช้ชีวิตอย่างมีรอยยิ้มเสมอ เธอออกงานสังคมอย่างเปิดเผย แม้ศีรษะจะโล้นเลี่ยนจากเส้นผม หรือแม้กระทั่งขอนัดหมอผ่าตัดในวันอาทิตย์ เพราะไม่อยากพลาดดูละครของตัวเอง 

ในเดือนเมษายน 2551 เธอประกาศกร้าวที่จะต่อสู้กับโรคนี้ โดยให้สัมภาษณ์กับ Good Morning America และตั้งแต่นั้นมา นิกสันก็กลายเป็นนักรณรงค์เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมอย่างเป็นทางการ เธอเกลี้ยกล่อมให้หัวหน้าสถานีโทรทัศน์ NBC ออกอากาศรายการพิเศษเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมในช่วงไพรม์ไทม์ จนในที่สุดเธอได้รับเลือกให้เป็นแอมบาสเดอร์ของ Susan G. Komen for the Cure องค์กรมะเร็งเต้านมไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งทำการวิจัยโรคมะเร็งเต้านม การศึกษา รวมถึงสนับสนุนการบริการสุขภาพในสหรัฐอเมริกา

ชารอน ออสบอร์น
นักรบแห่งกองทัพสีชมพู…

ชารอน ออสบอร์น (Sharon Osbourne) พิธีกรคนดัง นักแสดงออสการ์ ภรรยาของร็อกเกอร์รุ่นเก๋า ออสซี่ ออสบอร์น เปิดใจกับรายการ The Talk ว่าเธอตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทิ้ง หลังแพทย์ตรวจพบยีนที่มีแนวโน้มว่าจะลุกลามกลายเป็นมะเร็งร้ายในอนาคต โดยก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ โดยมะเร็งได้แพร่กระจายที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะมีผู้ป่วยเพียง 33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่จะรอดชีวิต และเธอก็ต่อสู้จนสามารถเป็น 1 ใน 33 เปอร์เซ็นต์นั้นได้ 

หลังจากรักษาตัวผ่านไป 2 ปี เธอก็จัดตั้งโครงการชารอน ออสบอร์น โคลอน แคนเซอร์ โปรแกรม (The Sharon Osbourne Colon Cancer Program) ขึ้นที่ศูนย์การแพทย์ซีดาร์-ไซไน (Cedars-Sinai Medical Center) ที่เมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เพื่อปรับปรุงและยกระดับชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแล ผ่านการให้ความช่วยเหลือถึงบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริการรับส่ง ดูแลผู้ป่วย ดูแลเด็ก ฯลฯ อีกทั้งยังมีเป้าหมายระยะยาว คือ การสร้างช่องทางการตรวจคัดกรองและโอกาสทางการศึกษาทางด้านมะเร็งให้เพิ่มมากขึ้น 

นอกจากนี้ เธอยังสนับสนุนโครงการมะเร็งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเชิญเป็นแขกในงาน Fall Gala ของ Multiple Myeloma Research Foundation ซึ่งเธอได้พูดถึงประสบการณ์การต่อสู้กับโรคมะเร็งให้แขกในงานได้ฟัง รวมถึงยังให้การสนับสนุนการออกแบบเสื้อยืดหรือเสื้อยืดรุ่นลิมิเต็ดอิดิชันสำหรับ ‘Little Tee Campaign’ เพื่อนำรายได้บริจาคเข้าโครงการการวิจัยมะเร็งเต้านม  

ชารอน ออสบอร์น อยู่รอดปลอดมะเร็งมากว่า 10 ปี ก่อนจะมาพบยีนมะเร็งเจ้าปัญหาอีกครั้งในปี 2555 และนั่นเองที่่ทำให้เธอตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างทิ้งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นเอง และในปี 2558 เธอและลูกสาว ‘เคลลี่ ออสบอร์น’ ก็เข้าร่วม ‘กองทัพสีชมพู’ เป็นตัวแทนรณรงค์ต่อสู้มะเร็งในผู้หญิง ในแคมเปญ ‘Race for Life’ ซึ่งเป็นงานวิ่งการกุศลเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยโรคมะเร็งในสหราชอาณาจักร

ในปีนั้น สองแม่ลูกพากันแต่งตัวเป็นนักรบสาวสีชมพู โพสท่าพร้อมสู้กับโรคร้าย เพื่อใช้เป็นภาพโปรโมตแคมเปญ เพราะพวกเธอรู้ดีว่าต้องใช้ความพยายามมากเพียงใดที่จะเอาชนะโรคร้ายได้ โดย ‘เคลลี่’ ลูกสาวซึ่งกำลังโด่งดังในบทบาทของร็อกเกอร์สาว ก็เพิ่งทราบว่าตัวเองนั้นมียีนมะเร็งเช่นเดียวกับแม่ของเธอ และเธอก็ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมและรังไข่ออกเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งในอนาคต เหมือนอย่างที่แม่เธอทำ

คริสติน่า แอปเปิลเกต
จากนักแสดงสู่นางฟ้า MRI

อีกหนึ่งสาวที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเช่นกันก็คือ คริสติน่า แอปเปิลเกต (Christina Applegate) ซึ่งโด่งดังในฐานะนักแสดงเด็กที่สวมบทเป็นเคลลี่ บันดี้ ในซิตคอมเรื่อง ‘Married… with Children’ ทางช่อง Fox ก่อนจะได้รับรางวัล Emmy Awards อีกทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรติด้านการแสดงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Tony Award, รางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) ถึง 4 รางวัล เป็นต้น  

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2551 คริสติน่าตรวจพบ BRCA1 ยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งสามารถกระตุ้นมะเร็งเต้านมและรังไข่ได้เช่นเดียวกับที่พบในแองเจลิน่า โจลี เธอก็ไม่รอช้า ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้าง แม้จะพบยีนเจ้าปัญหาที่เต้านมเพียงข้างเดียวก็ตาม เพราะเธอไม่อยากจะซ้ำรอยแม่ของเธอที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมถึงสองครั้งสองครา

หลังจากนั้นเธอก็อุทิศตนร่วมรณรงค์การป้องกันมะเร็งเต้านมตลอดมา โดยในปี 2546 เธอเป็นโฆษกของ Lee National Denim Day และระดมเงินได้หลายล้านดอลลาร์เพื่อการศึกษาและวิจัยมะเร็งเต้านม หลังจากการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม

เธอได้ปรากฏตัวในรายการพิเศษทางโทรทัศน์เรื่อง Stand Up to Cancer ซึ่งออกแบบมาเพื่อระดมทุนสำหรับการวิจัยมะเร็งเต้านม กระทั่งปี 2552 เธอได้ก่อตั้ง Right Action for Women มูลนิธิการกุศลที่สนับสนุนและบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงทุกคนให้สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยมุ่งเน้นไปที่การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI โดยเธอให้เหตุผลสั้นๆ ว่า

“เพราะการตรวจเอ็มอาร์ไอได้ช่วยชีวิตฉันไว้
และฉันก็อยากให้คืนกลับแก่สังคมบ้าง”

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.who.int
https://news.thaipbs.or.th
https://genfosis.com
https://allynrose.com
https://en.wikipedia.org
https://www.healthline.com
https://en.wikipedia.org
https://hmong.in.th
https://www.voicetv.co.th
https://www.cedars-sinai.org
https://www.posttoday.com

แชร์ไปยัง
Scroll to Top