เปลี่ยน ‘วันคีโม’ สุดเซ็ง…ให้เจ๋งชะมัด!

อย่างที่รู้ๆ กันดีว่า วันให้คีโมนั้นเป็นวันที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์สักเท่าไรสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ยิ่งถ้าต้องใช้เวลาให้คีโมยาวนาน ความเซ็ง ความเบื่อหน่ายก็ยิ่งพานทวีมากขึ้นเท่านั้น วันนี้ TBCC จึงขอเสนอแนวทางเปลี่ยน วันคีโม’ สุดเซ็งให้กลายเป็นวันเจ๋งๆ อีกวันของชีวิตกันดีกว่า 

01 เปลี่ยนโฟกัส ปรับมุมมอง

พยายามหาข้อดี มุมดีๆ ของการไปให้คีโมให้เจอ แล้วย้ายโฟกัสไปที่สิ่งนั้น อย่าอนุญาตให้ตัวเองทุกข์ เศร้า เหงา หรือกลัวในเรื่องซ้ำๆ ตอกย้ำตัวเองด้วยเรื่องเดิมๆ ถ้ารู้ว่าทุกข์เรื่องไหน กลัวเรื่องใด สลัดออกให้ไว แล้วหันไปใส่ใจเรื่องทำให้เรายิ้มได้แทน เช่น โรงพยาบาลที่เราให้คีโมอยู่ใกล้แหล่งร้านอร่อย ระหว่างให้คีโมแทนที่จะหมกมุ่นกับความกลัวว่า คืนนี้ฉันจะนอนหลับไหม จะมีอาการแพ้อะไรบ้าง ก็หันไปมองหาร้านเด็ด เมนูดัง เตรียมไว้ หลังให้คีโมเสร็จสรรพ ก็จัดให้พุงกางไปเลย

02 สร้างบรรยากาศง่ายๆ แบบ DIY

ไม่ว่าจะเป็นหนังสือสักเล่ม เพลย์ลิสต์ติดชาร์ต ซีรีส์เรื่องดัง หรือหนังสุดโปรด ไปจนถึงหมอนข้างใบเก่า ผ้าเน่าที่เรารัก ฯลฯ

สารพัดไอเท็มเหล่านี้เราสามารถนำมาใช้สร้างบรรยากาศที่ดีต่อใจระหว่างที่นอนให้คีโมได้ โดยไม่ต้องนั่งทนกับภาพวุ่นวาย แออัด ที่ดูอึดอัดในโรงพยาบาลอย่างเดียว 

03 ให้รางวัลกับ ‘ความเจ๋ง’ ของตัวเองซะบ้าง

ตลอดเส้นทางการเดินผ่านมะเร็งนั้น บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะขั้นตอนการไปให้คีโมแต่ละครั้ง แค่ปฏิบัติตัวให้ผลเลือดผ่าน หรือการเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับอาการแพ้ที่กำลังจะเกิดขึ้น นั่นก็ถือว่าสุดยอดแล้ว การขอบคุณตัวเอง หรือให้รางวัลกับตัวเองนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม

รางวัลในที่นี้ไม่ได้จำกัดว่า จะต้องเป็นของที่มีราคาแพงเสมอไป แต่ควรเป็นสิ่งที่ดีต่อใจ เช่น บางคนอาจจะมีความสุขกับทริปท่องเที่ยวสักทริปหลังการให้คีโมจบคอร์ส หรือบางคนอาจจะขอแค่ได้ทานอาหารมื้ออร่อยสักมื้อกับคนที่รักหลังให้คีโมทุกครั้ง เป็นต้น    

04 ตั้งเป้าหมายสุดท้าทายให้ชีวิต

คุณพอรู้จัก ‘ป้าเจี๊ยบ’ (นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย) นักกีฬาลองบอร์ดดาวน์ฮิลล์วัย 63 ปี อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่กลายเป็นนักกีฬาเอกซ์ตรีมทีมชาติไทยเมื่อปี 2562 ไหม? หรือเคยผ่านหูผ่านตาเรื่องราวของ ‘สาวเบลล์’ (ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์) อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายที่ลุกลามเข้าสู่หัวใจ ซึ่งต่อมากลายเป็นเจ้าของผลงานหนังสือ I Cancel My Cancer ผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก “เรื่องจริงกะเบลล์” และประธานของมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society : TCS) บ้างหรือเปล่า?

บุคคลเหล่านี้คือต้นแบบที่ทำให้เราได้รู้ว่า แม้ร่างกายจะป่วย แต่ใจเราไม่จำเป็นต้องป่วยตาม ฉะนั้น มองไปข้างหน้าและบอกตัวเองว่า มะเร็งเป็นแค่บททดสอบหัวใจ และเรามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่หายขาดจากโรคมะเร็ง

แชร์ไปยัง
Scroll to Top