เพราะการวิจัยเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมในการค้นพบข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ มากมายที่เราไม่เคยรู้ ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ระดับมนุษยชาติไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ ที่ใครๆ ก็มองข้าม LIFESTYLE เดือนนี้ ขอรวบรวมงานวิจัยสู่การค้นพบสุดอึ้งเกี่ยวกับพฤติกรรมธรรมดาๆ ที่อาจพาเราห่างไกลการเป็นมะเร็งเต้านมได้
มีคู่ชีวิต ช่วยพิชิตมะเร็ง
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสำรวจผู้ป่วยโรคมะเร็ง 10 ประเภท จำนวน 7.5 แสนคน พบว่าผู้ป่วยมะเร็งที่มี ‘คู่ชีวิต’ แล้ว ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ด้วยสาเหตุที่ว่าผู้ป่วยจะได้รับกำลังใจชั้นดีจากคนใกล้ชิด และคนแต่งงานส่วนใหญ่ยังตรวจพบเนื้อร้ายก่อนจะแพร่กระจาย ซึ่งทำให้รักษาได้อย่างทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้น ผลวิจัยยังระบุอีกว่า สำหรับมะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านม ฯลฯ ผลการรักษาที่ได้จากการมีชีวิตคู่นั้น ‘ดีกว่า’ การรักษาด้วยเคมีบำบัดเสียอีก รู้อย่างนี้แล้ว ใครโสดอยู่ รีบหาคู่ชีวิตดีๆ ด่วนนนน…
ไม่โต้รุ่ง มะเร็งไม่ถามหา
สาวๆ สายโต้รุ่ง กลางคืนคึก ดึกๆ ไม่ค่อยนอน ฟังทางนี้! มีผลวิจัยออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่า การนอนน้อยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะสาวๆ ที่นอนน้อยกว่าคืนละชั่วโมงเป็นประจำ อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลจากวารสาร Cancer Epidemiology Biomarkers and Prevention ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้หญิงที่นอนดึกหรือทำงานตอนกลางคืนติดต่อกันหลายปี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งระบบย่อยอาหาร โรคมะเร็งผิวหนัง และโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานตอนกลางคืนในทุกๆ 5 ปี จะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 3.3 เปอร์เซ็นต์
นักวิจัยเชื่อว่า การนอนหลับๆ ตื่นๆ เกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมนสำคัญที่มีชื่อว่า ‘เมลาโทนิน’ (Melatonin) ซึ่งมีบทบาทในการปกป้องมะเร็งเต้านมจากการจำกัดปริมาณการหลั่งเอสโตรเจน ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ ฉะนั้น การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอมีความสำคัญมากต่อการปกป้องมะเร็งเต้านม เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารบริติช เจอร์นัล ออฟ แคนเซอร์
นอกจากนี้ นักวิจัยในประเทศญี่ปุ่นยังได้ทำการศึกษาโดยการติดตามรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้หญิงเกือบ 24,000 คน นานถึง 8 ปี พบว่าการนอนดึกและตื่นเช้าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม โดยผู้หญิงที่นอนวันละ 6 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้นถึง 62 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่นอนวันละ 7 ชั่วโมง ขณะที่ผู้หญิงที่นอนเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง มีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมน้อยลงกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่า การนอนนานๆ ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด ฉะนั้น พักผ่อนให้เพียงพอและพอดีๆ นะจ๊ะสาวๆ
หม่ำ ‘ป๊อปคอร์น’ ป้องกันมะเร็ง
รู้หรือไม่ ป๊อปคอร์นดีต่อสุขภาพเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าผักผลไม้ด้วยซ้ำ ยืนยันด้วยงานวิจัยของนายโจวินสัน นักเคมี มหาวิทยาลัยสแครนตันแห่งสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า ป๊อปคอร์นนั้นเป็นเมนูที่อุดมไปด้วยสารพอลิฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในพืช มีสรรพคุณช่วยป้องกันการอักเสบ ชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ รวมถึงสามารถยับยั้งเอนไซม์ที่เซลล์มะเร็งใช้ในการเจริญเติบโตได้ ทำให้สามารถควบคุมไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลาม
สารพอลิฟีนอลนี้จะถูกเจือจางอย่างมากในผักและผลไม้ เนื่องจากในผักและผลไม้นั้นมีสัดส่วนของน้ำมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ป๊อปคอร์นนั้นมีน้ำเพียงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีความเข้มข้นของสารพอลิฟีนอลสูงกว่า โดยเฉพาะในส่วนเปลือกที่ชอบติดฟันเรานั่นล่ะ
ว่ากันว่าป๊อปคอร์น 1 ที่นั้นอาจจะมีสารพอลิฟีนอลมากถึง 300 มิลลิกรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ได้รับในคนทั่วไปถึง 13 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลไม้มีสารนี้ 255 มิลลิกรัม และผักมีเพียง 218 มิลลิกรัม แต่ข้อด้อยคือป๊อปคอร์นไม่มีวิตามินหรือสารอาหารอื่นๆ ที่พบในผักและผลไม้ ดังนั้น อาจจะไม่สามารถทดแทนผักและผลไม้ได้ แต่สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ร่างกายเราได้รับสารพอลิฟีนอลนอกเหนือจากผักผลไม้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคมะเร็งแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือด ได้อีกด้วย เพียงแต่การรับประทานป๊อบคอร์นให้ได้คุณค่าทางโภชนาการมากที่สุดนั้น ควรทำป๊อบคอร์นโดยการอบแห้งด้วยเตาไมโครเวฟ เนื่องจากจะมีปริมาณแคลอรีน้อยกว่าป๊อบคอร์นที่ผสมด้วยน้ำมันพืชหรือเนย ที่สำคัญคือปรุงรสให้น้อยหรือไม่ปรุงรสเลยจะดีที่สุด
เป็น ‘แม่’ อย่างไรให้มะเร็งกลัว
อย่างที่รู้ๆ กันดีว่า การให้นมบุตรนั้นไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ แต่ยังมีประโยชน์ไปถึงคุณแม่แบบมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการช่วยกระชับหุ่น เนื่องจากไขมันที่ถูกสะสมไว้ขณะตั้งครรภ์จะถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำนมลูก ไปจนถึงช่วยลดความตึงเครียดในระหว่างการเลี้ยงลูกได้อย่างอยู่หมัด ด้วยระหว่างการให้นมนั้น ร่างกายคุณแม่จะหลั่งสารที่ทำให้จิตใจมีความสงบ แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือการให้นมบุตรยังช่วยลดความเสี่ยงเกิดมะเร็งในผู้หญิงได้ ไม่ว่าจะเป็น ‘มะเร็งมดลูก’ และ ‘มะเร็งปากมดลูก’ รวมถึง ‘มะเร็งเต้านม’
ผลการวิจัยจากสถาบันวิจัยมะเร็งในประเทศอังกฤษพบว่า หากแม่ให้นมบุตรจนครบ 6 เดือน โอกาสที่แม่จะเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุมากขึ้นนั้นจะลดลงจาก 6.3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2.7 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว
ทั้งนี้ ก็เพราะการให้นมบุตรนั้นจะทำให้เซลล์ต่อมน้ำนมทำหน้าที่สร้างน้ำนมเป็นหลัก และมักจะไม่กลายตัวเป็นเซลล์มะเร็ง และแม่ที่ให้นมบุตรอย่างสม่ำเสมอจะไม่มีประจำเดือนในช่วงที่ให้นม ทำให้ร่างกายมีโอกาสถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง รวมถึงระหว่างที่ให้นมบุตรนั้นบรรดาแม่ๆ ทั้งหลายมักจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นการลดอัตราการป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้อีกทางหนึ่งด้วย
‘ช็อกโกแลต’ ขนมมหัศจรรย์ต้านมะเร็ง
มีนักวิจัยหลายสถาบันในโลกตะวันตกค้นพบว่า ในผงโกโก้ ส่วนผสมหนึ่งในช็อกโกแลตนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีชื่อว่า ‘โปรไซยานิดิน’ (Procyanidin) เหมือนที่มีในเมล็ดองุ่นและข้าวหอมมะลิ ซึ่งสารโปรไซยานิดินนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยมที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าวิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีนหลายเท่า มีคุณสมบัติสามารถช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดที่หัวใจและสมอง บรรเทาโรคเบาหวาน ช่วยบำรุงสายตาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นในตอนกลางคืน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น สารในช็อกโกแลตชนิดนี้จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเส้นเลือดสมองได้
ฉะนั้น จะเลือกกินช็อกโกแลตครั้งใด ลองพลิกดูส่วนผสมสักนิด เพราะยิ่งช็อกโกแลตแท่งไหนมีปริมาณโกโก้สูง นั่นก็แสดงว่ามีสารโปรไซยานิดินมาก ซึ่งแน่นอนว่าช็อกโกแลตแท่งนั้นย่อมช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมถึงป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ยิ่งไปกว่านั้นในช็อกโกแลตยังอุดมไปด้วยกรดไขมันที่มีชื่อว่า ‘กรดโอเลอิก’ (Oleic Acid) ที่มีส่วนช่วยป้องกันและลดอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมอีกด้วย
ดมกลิ่นตดวันละนิด ชีวิตไกลมะเร็ง
วารสาร Medicinal Chemistry Communication ได้ตีพิมพ์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอ็กเซตเทอร์ (University of Exeter) ประเทศอังกฤษ พบว่า การดม ‘ตด’ หรือก๊าซไข่เน่า (Hydrogen Sulfide) ที่เกิดจากมนุษย์วันละนิด จะช่วยป้องกันไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) หรือแหล่งพลังงานหลักของเซลล์ไม่ให้ได้รับผลกระทบเป็นเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้ นักวิจัยกล่าวว่า องค์ประกอบของก๊าซในตดสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเส้นเลือดในสมอง (Stroke) และโรคหัวใจ รวมถึงอาการสมองเสื่อม ลดความดันโลหิตและโรคไขข้อได้อีกด้วย
ศาสตราจารย์แมตต์ ไวต์แมน (Matt Whiteman) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กเซตเทอร์ กล่าวว่า เมื่อเซลล์เกิดความเครียดจากการเป็นโรค เซลล์จะเริ่มสร้างก๊าซไข่เน่าขึ้นมา กระบวนการนี้จะทำให้เกิดสารที่เรียกว่า ‘AP39’ ซึ่งจะถูกส่งไปยังไมโทคอนเดรียอย่างช้าๆ เซลล์ที่เครียดจะได้รับการบำบัดจนแข็งแรงขึ้นด้วยสารดังกล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.posttoday.com
https://today.line.me
www.thaihealth.or.th
www.thairath.co.th
https://mgronline.com
https://rabbitfinance.com
www.rakluke.com
http://bbc.in/26Oormu
จุลสารโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี
www.voicetv.co.th
www.beartai.com
https://mgronline.com