ผู้ชายในโลกของ ‘มะเร็งเต้านม’

แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า มะเร็งเต้านมนั้นเป็นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่ผู้ชายนั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงเกือบร้อยเท่า หากเทียบกับจำนวนผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม 100 คน จะมีพบผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมเพียง 0.5-1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก นั่นจึงทำให้มะเร็งเต้านมไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ชายเท่าที่ควร แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่รับรู้ถึงภัยของมะเร็งเต้านม เพราะผู้ชายไม่น้อยก็กลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนและพลิกโลก (โรค) มะเร็งเต้านมได้อย่างที่ผู้หญิงอย่างเราๆ ต้องเหลียวมอง


บราอัจฉริยะตรวจจับ ‘มะเร็ง’
by Julian Rios Cantu

EVA BRA บราตรวจจับ ‘มะเร็งเต้านม’ ผลงานการประดิษฐ์จาก จูเลียน ริออส คันตู (Julian Rios Cantu) เด็กหนุ่มชาวเม็กซิโก วัยเพียง 18 ปี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘แม่’ ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม โดยขณะที่เขาคิดค้นบรานี้ แม่ของเขาอยู่ระหว่างขั้นตอนการผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้าง

“ตอนที่ผมอายุ 13 ปี แม่ผมได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมเป็นครั้งที่สอง เนื้องอกนี้ขยายขนาดจากเมล็ดข้าวเป็นขนาดเท่าลูกกอล์ฟในเวลาไม่ถึงหกเดือน การวินิจฉัยโรคนี้เกิดขึ้นช้าเกินไป ทำให้แม่ของผมสูญเสียหน้าอกทั้งสองข้างและเกือบคร่าชีวิตเธอด้วย”

นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้จูเลียนร่วมมือกับเพื่อนของเขาก่อตั้งบริษัท Higia Technologies ขึ้นมา และทำการพัฒนา EVA BRA บราที่มีระบบตรวจจับมะเร็งแบบอัตโนมัติผ่านการใช้เทคโนโลยีไบโอเซ็นเซอร์กว่า 200 ตัว ในการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของเต้านม รวมไปถึงน้ำหนัก ขนาด และอุณหภูมิของเต้านม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดปริมาณเลือดที่ไหลเวียนมาเลี้ยงเต้านม หากมีเลือดไหลเวียนมาที่เต้านมในปริมาณเพิ่มขึ้น ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจจะไปหล่อเลี้ยงก้อนเนื้อร้ายก็เป็นได้

เพียงแค่ผู้ใช้สวมใส่ EVA BRA หนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้เซ็นเซอร์ทำงานและส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ไปยังคอมพิวเตอร์หรือแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือผ่านระบบบลูทูธ เพื่อนำไปวิเคราะห์และประมวลผลต่อไป นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สาวๆ สำรวจตรวจตราตัวเองได้อย่างง่ายๆ สะดวก และรวดเร็ว ที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (mammogram) ซึ่งต้องรอผลนานกว่า

นี่นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับวงการแพทย์ทั่วโลก รวมถึงส่งเสริมคุณภาพของผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมซึ่งมีแนวโน้มหรือสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม และนี่เองที่ทำให้บราอัจฉริยะของจูเลียนประสบความสำเร็จอย่างมาก จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Global Student Entrepreneur Awards (GSEA) ที่มีนักศึกษาผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาร่วมชิงชัยบนเวที และได้รับเงินรางวัลไปกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ  

เรือมังกรของผู้รอดชีวิต
by Dr.Don McKenzie

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1996 ดร.ดอน แมคเคนซี (Don McKenzie) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาชาวแคนาดา ศาสตราจารย์ในสำนักวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว และผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาอัลลัน แมคกาวิน ได้เริ่มก่อตั้งทีมเรือมังกรหญิง ซึ่งสมาชิกทั้งหมดคือผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม ภายใต้ชื่อ Abreast in a Boat

ดร.ดอนเชื่อว่า กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงในสภาพแวดล้อมที่สนุกสนาน ขณะเดียวกันยังเป็นแนวทางการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ กระทั่งกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม รวมถึงช่วยเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อ ‘ชีวิตหลังมะเร็งเต้านม’ ช่วยให้อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

นี่นับเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญที่ทำให้ในปี ค.ศ. 2001 ดร.ดอนได้รับเหรียญรางวัล Meritorious Service Medal (MSM) เพื่อสรรเสริญผลงานที่ได้ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตหลังการรักษา รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมไปทั่วแคนาดา  

ปัจจุบันการพายเรือมังกรของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม (Breast Cancer Survivors’ Dragon Boating) ได้รับการสานต่อมาเป็น International Breast Cancer Paddlers Commission หรือ IBCPC ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนโดยอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหญิงเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งสนับสนุนการพายเรือมังกร โดยมีพันธกิจหลักคือ การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งทีมเรือมังกรมะเร็งเต้านมและพัฒนาการพายเรือมังกร เพื่อการส่งเสริมชีวิตหลังการรักษาของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมในระดับนานาชาติ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า

“ชีวิตที่สมบูรณ์และกระฉับกระเฉง…เป็นไปได้”

บันทึกมะเร็ง & ที่รัก
by Angelo Merendino

‘การต่อสู้ของภรรยาผมกับมะเร็งเต้านม’ (My wife’s fight with breast cancer) หนังสือภาพแห่งความรักและแรงบันดาลใจ ผลงานโดย แอนเจโล เมเรนดิโน (Angelo Merendino) ช่างภาพหนุ่มชาวสหรัฐฯ ที่เสีย ‘เจนนิเฟอร์’ (Jennifer Merendino) ภรรยาของเขาไปด้วยโรคมะเร็งเต้านม

ห้าเดือนหลังจากงานแต่งงาน ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปในทันที เมื่อเจนนิเฟอร์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมและมันได้กระจายไปยังส่วนสำคัญของร่างกาย หลังต่อสู้กับความเจ็บปวดทรมานของโรคและผลข้างเคียงจากการบำบัดรักษาอยู่ราว 4 ปี ในที่สุดมะเร็งก็คร่าชีวิตของเธอไปในวัยเพียง 40 ปี

หลังภรรยาจากไป แอนเจโลต้องต่อสู้กับความเจ็บปวดแห่งความสูญเสีย ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง นั่นก็คือโปรเจกต์ภาพถ่าย “The Battle We Didn’t Choose : my wife’s fight with breast cancer” ก่อนจะสานต่อมาเป็นมูลนิธิ THE LOVE YOU SHARE โดยเปิดจำหน่ายภาพถ่ายชุดนี้และนำรายได้ส่วนหนึ่งสมทบทุนเข้ามูลนิธิดังกล่าว เพื่อนำไปช่วยเหลือทางการเงินกับผู้ป่วยมะเร็งขณะทำการรักษา รวมถึงทำสิ่งเล็กๆ ที่เป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยมหาศาล อาทิ เลี้ยงข้าว มอบการ์ดให้กำลังใจ ให้บัตรกำนัลซื้อของ ช่วยค่าเดินทางไปรักษา ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขาเข้าใจและรู้ซึ้งดีเมื่อครั้งที่ต้องดูแลภรรยาซึ่งป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่เริ่มต้นจนวาระสุดท้าย นั่นจึงกลายมาเป็นพันธกิจหลักของมูลนิธิที่ต้องการช่วยผ่อนภาระหนักอึ้งให้เบาบางลง แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี

“ภาพถ่ายของผมแสดงให้เห็นชีวิตประจำวันของเรา มันถ่ายทอดอีกแง่มุมของมะเร็งผ่านใบหน้าของภรรยาผม มันแสดงให้เห็นอุปสรรค ความยากลำบาก ความกลัว ความเศร้า และความเปล่าเปลี่ยวที่เราได้เผชิญ ที่เจนนิเฟอร์ได้เผชิญ เมื่อเธอต่อสู้กับโรคนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือมันแสดงถึงความรักของเรา ภาพเหล่านี้ไม่ได้อธิบายความเป็นเรา แต่มันคือตัวเรา” แอนเจโลกล่าว


ขอบคุณข้อมูลจาก

www.creativemove.com
www.mywifesfightwithbreastcancer.com
www.instagram.com/julianrioscantu
www.facebook.com
www.facebook.com/tistranslation
https://th.joecomp.com
https://th.wikipedia.org
www.ibcpc.com

แชร์ไปยัง
Scroll to Top