เรียกว่า ‘ไม่มี’ ไม่ได้ สำหรับ 10 ไอเท็มเด็ดที่ชาวคีโมต้องมีไว้อุ่นใจแน่นอน เพราะหลังการรับเคมีบำบัด ร่างกายของเราจะอยู่ในสภาวะอ่อนแอ และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าปกติ ฉะนั้น การดูแลตัวเองหลังการรับเคมีบำบัดจึงมีความสำคัญมากสำหรับชาวคีโม มาดูกันดีกว่าว่าไอเท็มไหนที่เราควรเตรียมไว้ก่อนไปลุยคีโม
สบู่เหลวสำหรับเด็ก: อย่างที่รู้กันดีว่าคนที่ได้รับเคมีบำบัดนั้น โครงสร้างผิวมักเปลี่ยนแปลงไป บอบบาง แพ้ง่าย การใช้สบู่ทั่วไปอาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้สบู่ที่มีส่วนผสมซึ่งไม่ก่อให้เกิดการแพ้ ปลอดภัยต่อผิวบอบบางอย่างสบู่เด็กนั่นเอง
น้ำยาบ้วนปากสูตรพิเศษ: เมื่อเข้ารับเคมีบำบัด แน่นอนว่าร่างกายของเรามักเปลี่ยนแปลงไป อะไรที่เคยใช้ได้ก็จะใช้ไม่ได้แล้ว อะไรที่เคยหอมก็อาจจะกลายเป็นเหม็นได้ทันที ทำให้เราต้องเริ่มต้นเลือกสรรข้าวของเครื่องใช้กันใหม่ ตั้งแต่ครีม สบู่ ยาสีฟัน หรือแม้แต่แปรงสีฟัน บางรายต้องหันมาใช้แปรงที่มีขนนุ่มเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการระคายเคืองภายในปาก รวมถึงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมสำคัญอย่างสาร Chloroxylenol ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ เพื่ออ่อนโยนต่อช่องปาก แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบหลังได้รับเคมีบำบัดซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ก็อาจจะเลือกใช้น้ำยาบ้วนปาก ‘สูตรน้ำเกลือผสมผงฟู’ ซึ่งทำเองได้ง่าย ราคาประหยัด และช่วยลดความรุนแรงของอาการอักเสบได้อย่างอยู่หมัด
เบบี้ออยล์ & โลชันเด็ก: หลังอาบน้ำทุกครั้ง ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดควรชโลมเบบี้ออยล์ให้ทั่วตัวขณะตัวหมาด หากรู้สึกว่าเหนอะหนะเกินไป สามารถใช้ผ้าเช็ดตัวซับออกเล็กน้อย จากนั้นทาโลชันสำหรับเด็กอีกรอบหนึ่ง เพื่อล็อกความชุ่มชื้นให้กับผิว ช่วยให้ผิวไม่ลอก ไม่แห้ง หรือแตกเป็นขุย ซึ่งเป็นอาการน่ารำคาญใจที่พบได้บ่อยครั้งหลังการเข้ารับเคมีบำบัด
ครีมกันแดด: หลังการรับเคมีบำบัด ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ (แต่ไม่ใช่ทุกคน) มักจะมีผิวที่คล้ำ ดำ โทรมขึ้น เนื่องจากหลังการรักษา ‘ผิว’ ของเราจะไวต่อแสงมากขึ้น เรียกว่าตากแดดนิดหน่อยก็จะคล้ำ ดำง่ายกว่าปกติ นั่นเป็นเหตุผลที่ ‘ครีมกันแดด’ เป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่ชาวคีโมขาดไม่ได้เด็ดขาด โดยการเลือกครีมกันแดดนั้น ควรเลือกที่เป็น Physical Sunscreen ซึ่งอ่อนโยน ไม่ระคายเคืองผิว และมี SPF มากกว่า 15 หรือ SPF 30 นิดๆ ก็เอาอยู่แล้ว! สำหรับชาวคีโมอย่างเรา
ลิปบาล์ม: ภาวะริมฝีปากแห้งเป็นอีกหนึ่งของแถมจากการเข้ารับเคมีบำบัด ฉะนั้น ตัวช่วยที่ขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือ ‘ลิปบาล์ม’ ที่ขอย้ำว่า ต้องทำการเทสต์ก่อนนำมาใช้จริง ไม่ว่าจะส่วนผสมหรือกลิ่น หรือแม้แต่ลิปออร์แกนิก ไร้สารอันตราย ก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะไม่แพ้ ฉะนั้น ควรเทสต์ก่อน ปลอดภัยที่สุด
เจลล้างมือ: นับเป็นไอเท็มที่ต้องมี ย้ำว่าต้องมี! ติดกระเป๋าไว้ ไม่ใช่เฉพาะในสถานการณ์โควิด แต่ทุกๆ ครั้งที่ก้าวเท้าออกจากบ้าน เพราะช่วงรับเคมีบำบัด ร่างกายของเราจะอ่อนแอกว่าปกติ ฉะนั้น เชื้อโรคทุกชนิดเป็นอันตรายสำหรับเราชาวคีโมหมด…ไม่มียกเว้น
หน้ากากอนามัย: ไอเท็มที่ห้ามลืมเด็ดขาดทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ไม่ใช่แค่ป้องกันเชื้อโควิด-19 แต่ไว้ป้องกันเชื้อโรคทุกชนิดเข้ามาในร่างกายเรา ฉะนั้น นอกจากต้องเลือกหน้ากากอนามัยที่ได้คุณภาพแล้ว ควรพกติดกระเป๋าไว้อย่างน้อย 3 ชิ้น เพื่อเปลี่ยนทิ้งได้ทันทีเมื่อมีเหตุไม่พึงประสงค์ เช่น หน้ากากเปื้อน, ชื้นแฉะ, มีผู้ป่วยมาพูดคุยโดยบังเอิญ ฯลฯ
อุปกรณ์ตกแต่งผม: ไม่ว่าจะเป็นหมวก วิก ผ้าโพกศีรษะ หรือไอเท็มอื่นๆ เหล่านี้ล้วนช่วยเสริมความมั่นใจให้ชาวคีโมที่ไร้เส้นผมได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยปกป้องหนังศีรษะเราจากความร้อนของแสงแดดหรืออากาศเย็นๆ จากเครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย
ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล: เนื่องจากเคมีบำบัดจะกดการสร้างเม็ดเลือดขาวจากไขกระดูกให้มีปริมาณน้อยลง ซึ่งทำให้ชาวคีโมอย่างเราๆ มีโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงกว่าคนปกติ โดยอาการแรกๆ ของการติดเชื้อนั้นก็คือ ไข้ขึ้น! ฉะนั้น หากเมื่อใดที่เรารู้สึกไม่สบายตัว การมีปรอทวัดไข้อยู่ใกล้ตัวช่วยเราได้มาก เพราะหากเรามีไข้เกิน 37.4 องศา สิ่งที่ต้องทำทันทีก็คือไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อเจาะเลือดตรวจเช็กว่าเราติดเชื้อหรือไม่ จะได้แก้ไขได้อย่างทันท่วงที
สมุดโน้ต: นับเป็นไอเท็มที่ชาวคีโมอย่างเราๆ มักมองข้ามไป สำหรับ ‘สมุดโน้ต’ ตัวช่วยบันทึกสิ่งต่างๆ ที่เราทำในแต่ละวัน เช่น การรับยาตัวใด, กินยาตัวไหน, หรือแม้แต่รับประทานอาหารอะไรเข้าไปในแต่ละมื้อ ฯลฯ เพราะอาการแพ้สำหรับชาวคีโมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ สมุดโน้ตนี้จะช่วยให้เรา กระทั่งคนใกล้ชิด หรือแม้แต่แพทย์ผู้ดูแลสามารถค้นหาต้นตอของสาเหตุได้ง่ายขึ้น และไม่แน่ว่ามันจะช่วยชีวิตเราไว้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น...บันทึกไว้ ปลอดภัยกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก
Mahidol Channel มหิดล แชนแนล
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
เปลี่ยนหน้าโทรมเป็นสวย ด้วย 3 ตัวช่วย กู้หน้าพังหลังการรักษา