
“ใครที่เป็นมะเร็งในวันนี้ต้องถือว่าโชคดีนะ
เพราะวิทยาการทางการแพทย์ก้าวไปไกลมาก
เรามีวิธีการรักษามะเร็งได้หลากหลายวิธี
และอาการข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาก็น้อยลง
ความเชื่อที่ว่า ‘มะเร็งเท่ากับตาย’
วันนี้ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว”
ลิตา-ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย เจ้าของผลงานที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านตากันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนก้นครัว สามี รุ้งสามสาย สายรุ้ง ปิ่นอนงค์ รักร้าย ประกาศิตกามเทพ ทางผ่านกามเทพ เลื่อมสลับลาย ประกาศิตเงินตรา สายใยรัก ก้านกฤษณา ขอให้รักเรานั้นนิรันดร มณีหยาดฟ้า ยอดชีวัน สามีตีตรา และอีกหลากหลายเรื่อง ในวัย 61 ปี นอกจากทำงานที่รักแล้วก็ยังอุทิศตัวถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจผ่านเวิร์กชอปต่างๆ ของทางสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ไปพร้อมๆ กับการดูแลสุขภาพและเฝ้าระวังโรคต่างๆ อย่างไม่ประมาท
“ทุกวันนี้ เราเป็นคนที่ชอบพบหมอมาก… เรียกว่าเป็นเซียนในการหาหมอเลยก็ว่าได้ หากพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ต้องถึงแพทย์ตลอด มีประสบการณ์การรักษากับคุณหมอมากว่า 10 โรงพยาบาล เชี่ยวชาญเรื่องการเดินเอกสารกับทางโรงพยาบาลเป็นพิเศษ ใครสงสัยมาถามได้…รู้หมด! (หัวเราะ) เพราะที่ผ่านมา นอกจากมะเร็งเต้านมแล้ว ก็ผ่านการเป็นผู้ป่วยมาหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคกระดูกทับเส้นประสาท หัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ และเคยผ่าตัดทั้งเต้านม มดลูก รังไข่ รวมถึงเนื้องอกที่ต่อมน้ำลายใต้คาง หมอให้ทำอะไร ทำหมด ปฏิบัติตัวเป็นคนไข้ที่ดีของคุณหมอมากๆ เพราะรู้ว่าผลตอบแทนก็คือสุขภาพที่ดีขึ้น”
เมื่อมะเร็งมาเยือน
“ย้อนหลังไปเมื่อปี 2556 ปีนั้นก็เข้ารับการตรวจสุขภาพตามปกติ ซึ่งทำเป็นประจำทุกปี แต่ปรากฏว่าปีนั้นตรวจเต้านมกับคุณหมออีกท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คุณหมอที่เคยตรวจกันประจำ คุณหมอท่านนี้พอเห็นผลอัลตราซาวนด์ ท่านคลำตรวจที่เต้านมอีกครั้ง และแจ้งว่าพบก้อนเนื้อขนาดเล็กที่เต้านมขวา โดยท่านระบุว่า มันคล้ายกับมะเร็งนะ
“เพื่อความแน่ใจ เราจึงตัดสินใจขอนัดพบคุณหมอที่เคยตรวจกันประจำอีกครั้ง ซึ่งท่านเป็นคุณหมอที่มีอายุมากกว่า แต่พอคุณหมอเห็นผลและลองตรวจคลำแล้วก็แจ้งว่า ก้อนที่เห็นอาจจะไม่ใช่มะเร็ง แต่อาจจะเป็นผลจากคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งคุณหมอก็ขอให้เฝ้าติดตามผลอยู่หลายเดือน และพอกลับมาตรวจอัลตราซาวนด์อีกครั้ง ปรากฏว่าก้อนดังกล่าวมีขนาดโตขึ้น คุณหมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยวิธีการก็คือต้องใช้ลวดทิ่มเข้าไปในตำแหน่งนั้นแล้วเอาชิ้นเนื้อออกมา ตอนนั้นเรารู้สึกว่าน่าจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่า ด้วยความที่ไม่มั่นใจจึงขอคุณหมอกลับมาตัดสินใจก่อน
“จากนั้นก็นำเรื่องนี้มาปรึกษากับ คุณตุ๊กตา (จิตรลดา ดิษยนันทน์) ซึ่งเป็นเจ้านาย เนื่องจากในขณะนั้นเรายังทำงานประจำเป็นผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ที่กันตนา คุณจิตรลดาก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ คุณแดง (สุรางค์ เปรมปรีดิ์) ท่านก็แนะนำให้ย้ายไปตรวจที่ ศูนย์ถันยรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ทันที
“พออาจารย์หมอที่ศิริราชดูผลตรวจต่างๆ แล้ว ท่านก็บอกว่า ลักษณะก้อนตรงท่อน้ำนมนั้นยังไม่ใช่เนื้อร้าย จากนั้นก็ให้ติดตามผลอีกครั้งในอีก 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับกรุงเทพเกิดน้ำท่วมใหญ่ เราต้องพาพ่อแม่ไปเช่าบ้านอยู่ที่จันทบุรี โดยระหว่างนั้นก็พบว่าตัวเองมีอาการเสียวจี๊ดๆ ที่เต้านมขวาเวลาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น วิ่งออกกำลังกาย ฯลฯ แต่ก็ยังคิดเข้าข้างตัวเองว่า หรือเราอุปาทานไปเอง
“กระทั่งครบ 6 เดือน เราก็มาติดตามผลกับอาจารย์หมอที่ศูนย์ถันยรักษ์อีกครั้ง ซึ่งพบว่าก้อนมีขนาดโตขึ้นจากเดิมที่เป็นมิลลิเมตร ตอนนั้นกลายมาเป็นเซนติเมตรแล้ว คราวนี้อาจารย์หมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อความแน่ใจ โดยใช้เครื่องดูดชิ้นเนื้อออกมาเลยแล้วคุณหมอก็ให้กลับบ้านมารอ ทางโรงพยาบาลจะโทรไปแจ้งผลในอีก 7 วันข้างหน้า”

ผู้ป่วยมะเร็ง
“ด้วยความที่ก่อนหน้านั้นอาจารย์หมอบอกว่า มันไม่น่าจะใช่มะเร็ง กอปรกับคนรอบข้างที่สนิทและเห็นวิถีชีวิตเรา ซึ่งไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เราไม่น่าจะตายเพราะมะเร็งหรอก (หัวเราะ) ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจให้เรามากขึ้นไปอีก
“กระทั่ง 3 วันหลังจากเจาะชิ้นเนื้อไป จำได้เลยว่าวันนั้น เวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) จัด Meeting และชวนติ่งทั้งหลายไปร่วมงาน ซึ่งในฐานะแม่ยกเบอร์ต้นๆ ของเวียร์ (หัวเราะ) เราก็แต่งตัวสวย ทาปากแดง และขับรถไปงานอย่างมีความสุขมาก แต่ยังไม่ทันถึงงานก็มีสายโทรเข้า ซึ่งเป็นอาจารย์หมอจากศูนย์ถันยรักษ์โทรมาแจ้งผลด้วยตัวเอง
“หลังจากจอดรถเรียบร้อยเพื่อคุยโทรศัพท์ ประโยคแรกที่ได้ยินจากปลายสายก็คือ ‘ผลชิ้นเนื้อออกมาไม่ค่อยดี เป็นเนื้อร้าย’ จากนั้นอาจารย์หมอก็ขอโทษขอโพยอยู่หลายรอบ เพราะท่านรู้สึกว่า ไม่น่าให้เราต้องรอติดตามผลถึง 6 เดือน แต่เราก็พยายามบอกท่านว่า ไม่เป็นไร จากนั้นก็ถามว่า เราควรจะทำอะไรต่อไป อาจารย์หมอจึงนัดให้เข้ามาพบอีกครั้ง
“หลังจากวางสายแล้ว ด้วยความอึ้ง ตกใจที่กลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งอย่างไม่ทันตั้งตัว เราจึงตัดสินใจยูเทิร์นรถกลับบ้านทันที ไม่ได้ไปงานเวียร์เลย (หัวเราะ) พอถึงบ้านก็เจอแม่เป็นคนแรก เราก็พยายามเก็บอาการ และบอกท่านด้วยน้ำเสียงธรรมดาๆ ว่า ‘แม่…หนูเป็นมะเร็ง’ จากนั้นก็ขอตัวเข้าห้องทำงาน โดยให้เหตุผลว่า ต้องไปจัดของเพื่อไปหาหมอ และไม่หันกลับมามองแม่อีกเลย
“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราอยากจัดการตัวเองให้สู้กับเรื่องนี้ให้ได้ก่อน และพยายามจะไม่ปรุงแต่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทำให้มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งเราเชื่อว่าการทำให้คนอื่นรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ จะส่งผลให้ตัวเราเองจะได้รู้สึกไม่เศร้า ไม่ฟุ้งซ่านหรือทุกข์กันไปใหญ่ จึงพยายามบอกแค่ข้อเท็จจริงด้วยอารมณ์ที่ปกติ”


แค่อย่าปรุงแต่ง
“เชื่อไหมว่า เราไม่เคยร้องไห้กับเหตุการณ์นี้เลย อาจจะตกใจบ้าง แต่ไม่เคยฟูมฟาย ส่วนหนึ่งคงต้องขอบคุณการปฏิบัติธรรมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้ความไม่เที่ยงและรับมือกับสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี เราเชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ พอรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งมักจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมต้องเกิดขึ้นกับเราด้วย? ซึ่งโดยส่วนตัวเรารู้สึกว่า คิดอย่างนี้ไม่ถูก เพราะมะเร็งเป็นโรคที่ทุกคนมีสิทธิ์เป็นได้หมด ไม่ใช่เราคนเดียวที่เป็นมะเร็งเสียเมื่อไร
“สิ่งที่เราควรทำคือ Calm Down และเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการรักษา ที่เหลือยกให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอ หน้าที่เราแค่ดูแลร่างกายและจิตใจให้ดี ที่สำคัญจงเชื่อมั่นในการรักษาแผนปัจจุบันที่มีการศึกษาวิจัยรองรับ รวมถึงเป็นการรักษาที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว ถ้าจะตาย เราจึงขอตายกับการรักษาทางนี้แหละ
“ความโชคดีอย่างหนึ่งคือเราเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาล ทำให้คุณหมอไม่มีเวลามานั่งปลอบโยนเรามาก เพราะคุณหมอแต่ละคนล้วนมีคนไข้ในความดูแลจำนวนมหาศาล แค่เวลาที่คุยกับคนไข้แต่ละคนยังน้อยมาก ฉะนั้น ท่านจะใช้วิธีพูดตรงๆ และบอกถึงทางเลือกว่าคนไข้สามารถเลือกทางไหนได้บ้าง ซึ่งกลายเป็นข้อดีที่ทำให้เราไม่มีเวลาดราม่าหรือปรุงแต่งอะไรมาก”

เข้าสู่การรักษา
“หลังจากกลับไปหาอาจารย์หมอตามนัด ท่านก็ทำเรื่องลัดคิวส่งตัวเราไปพบกับ นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นรองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พอท่านดูประวัติและผลชิ้นเนื้อก็สรุปได้ทันทีว่า เป็นมะเร็งชัวร์ และตอนนั้นไม่ได้เป็นแค่ในท่อน้ำนมแล้ว แต่สันนิษฐานว่ามะเร็งได้กระจายทั่วเต้านมขวาแล้ว
“เนื่องจากผลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์พบจุดเล็กๆ ทั่วเต้านมขวาเลย แต่ตอนนั้นคุณหมอยังไม่มั่นใจว่าเป็นมะเร็งหรือแค่แคลเซียม และหากผ่าตัดก้อนที่ท่อน้ำนมออกแล้วมาพบในภายหลังว่าจุดเล็กๆ เหล่านี้เป็นมะเร็งอีก เราก็ต้องกลับมาผ่าตัดอีก หลังจากซักประวัติครอบครัวแล้ว คุณหมอจึงถามว่า หากผ่าตัดยกเต้าออกทั้งหมดเลยจะโอเคไหม โดยท่านให้ออกจากห้องตรวจมาปรึกษาญาติก่อนแล้วค่อยให้คำตอบ ตอนนั้นคุณหมอมีเวลาให้ตัดสินใจไม่เกิน 5 นาที ด้วยความที่เราลัดคิวและยังมีคนไข้รอคุณหมออีกมากมาย
“เราก็มาคิดว่าเราอายุ 50 ปีแล้วและโสด คงไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรกับเต้านมแล้ว ที่สำคัญคือหากเราไม่ผ่าตัดออกทั้งเต้า หลังผ่าตัดก็จำเป็นต้องมาฉายแสงที่ศิริราชอีก 30 วัน หลังจากคุยกับน้องสาวคนที่สอง ซึ่งไปเป็นเพื่อนในวันนั้นก็มีความเห็นตรงกันว่า ผ่าตัดออกทั้งหมดน่าจะดีกว่า สรุปเดินออกจากห้องหมอไปแค่สองนาที และทันทีที่ได้คำตอบ คุณหมอก็นัดคิวผ่าตัดให้เลย คือ วันที่ 18 ธันวาคม 2556 ซึ่งตรงกับคอร์สปฏิบัติธรรมประจำปีของเราพอดิบพอดี ก่อนผ่าตัดจึงเดินทางไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเพื่อนำเงินไปบริจาคและขอลาไปผ่าตัดและรักษาตัวก่อน”



โชคดีในโรคร้าย
“สิ่งที่น่าเสียดายอย่างเดียวในการเป็นมะเร็งครั้งนี้ของเราคือการตัดสินใจผิดพลาดของตัวเอง เนื่องจากตอนนั้นคุณหมอให้เลือกระหว่างการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด แล้วปล่อยให้หน้าอกแบนไปข้างหนึ่ง หรือจะผ่าตัดเสริมเต้านมไปในคราวเดียวกัน โดยเลือกใส่ ‘ถุงน้ำเกลือ’ หรือ ‘ไขมันหน้าท้อง’ ก็ได้ ซึ่งข้อดีของไขมันหน้าท้องก็คือเป็นไขมันจากตัวเราเอง
“ความที่ไม่ได้ถามข้อมูลคุณหมอให้ละเอียด ตอนนั้นก็คิดแค่ว่า ก็ดีเหมือนกัน ไม่ต้องไปลดพุงเอง พุงแห้งแล้วยังมีหน้าอกเหมือนเดิม จึงได้แค่พูดติดตลกกับคุณหมอว่า ‘หลังจากผ่าตัดแล้ว สามารถใส่บิกินี่ได้ไหมคะ’ คุณหมอก็ยังขำและตอบกลับมาว่า ‘ก็น่าจะได้นะครับ แต่มีแผลเป็นหน่อย และต้องใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 5 ชั่วโมง’ ด้วยความมั่นใจในคุณหมอก็ตอบตกลง จากนั้นเราก็ถามคุณหมอต่อว่า หลังจากผ่าตัดแล้ว ต้องคีโมไหม คุณหมอก็แจ้งว่าต้องเอาก้อนที่ผ่าออกไปตรวจอีกครั้ง เพื่อดูว่าเป็นเนื้อร้ายชนิดไหน ดุหรือไม่ดุ จึงจะให้คำตอบได้
“ยังมีความโชคดีอย่างหนึ่งก็คือ ในอดีตคุณหมอจะทำการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมดควบคู่ไปกับการผ่าตัดที่เต้านมในคราวเดียวกัน ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสเกิดภาวะแขนบวม อาการชาแขนเนื่องจากเส้นประสาทถูกตัดออกไป รวมถึงอาการปวดแขนเรื้อรังให้กับผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในเวลานั้น คุณหมออดุลย์ท่านเพิ่งจบทางด้านการตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล คือการเลาะต่อมน้ำเหลืองที่ถือว่าเป็นตำแหน่งแรกสุดมาตรวจก่อนว่า เซลล์มะเร็งกระจายเข้าไปหรือไม่ หากไม่พบก็แสดงว่ายังไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็งเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง ก็ไม่จำเป็นที่ต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดออกมา ซึ่งหลังตรวจแล้วพบว่ามะเร็งยังไม่ลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง เราจึงจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยระยะ 1 เท่านั้น”

เจ็บเหมือนรถบรรทุก (ข์) ทับ
“หลังออกจากห้องผ่าตัด ความรู้สึกแรกเหมือนรถบรรทุกทับเลยก็ว่าได้ เพราะเจ็บมาก แผลผ่าตัดก็ค่อนข้างยาวมาก ผนังหน้าท้องบางลง ที่สำคัญคือเส้นประสาทหน้าท้องถูกย้ายที่ ทำให้เวลาคันแล้วเกาจะเหมือนไม่โดนจุดนั้น แถมยังไม่มีแรงเบ่งที่หน้าท้องด้วย ตอนนั้นก็ได้แต่บ่นกับตัวเองว่า ไม่น่าเลยเรา น่าจะปล่อยให้เต้าแบนๆ ไปดีกว่า แล้วค่อยเสริมฟองน้ำเอาทีหลังน่าจะเจ็บตัวน้อยกว่า แต่ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว
“หลังจากพักฟื้นอยู่ระยะใหญ่ๆ พอกลับมาบ้านก็พยายามเดินออกกำลังกายเบาๆ จนร่างกายเริ่มฟื้นตัว คุณหมอจึงส่งไปหาคุณหมอคีโม ซึ่งท่านก็แนะนำว่า หากอยากจะรู้ผลเร็ว คุณหมอจะทำเรื่องส่งชิ้นเนื้อไปตรวจที่แล็บต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 1 หมื่นบาท ซึ่งเราก็ตกลง
“ระหว่างที่รอผลชิ้นเนื้อจากต่างประเทศนั้น เราก็เตรียมทุกอย่างไว้หมด ไม่ว่าจะเลือกวิกผมทรงที่ชอบ เตรียมห้อง ซื้อเตียงพับมาไว้ชั้นล่างของบ้าน เพื่อให้ความป่วยครั้งนี้ของเรากระทบหรือลำบากคนอื่นๆ น้อยที่สุด ซึ่งข้อดีก็คือทำให้เราไม่ว่างจะมานั่งเศร้าหรือคิดฟุ้งซ่านเลย สุดท้ายผลชิ้นเนื้อออกมา ปรากฏว่าเป็นมะเร็งชนิดไม่ร้ายแรง ทำให้เราไม่ต้องคีโมและฉายแสง แต่ต้องรับประทานยาต้านฮอร์โมนต่ออีก 5 ปี และฟอลโลอัปทุก 6 เดือน ก่อนจะขยายเวลาเป็นปีละครั้ง รวมถึงแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ทุกปี จนถึงปีนี้ก็ยังต้องลุ้น เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ไม่มีใครการันตีได้ว่ามะเร็งจะไม่กลับมาอีกครั้ง”
ธรรมะในโรงพยาบาล
“ช่วงที่ต้องพบคุณหมอคีโม เราต้องตื่นตีสี่ เพื่อรีบเร่งมาโรงพยาบาล หกโมงเช้าผู้ป่วยยืนรอกันแน่นไปหมด พอเจ็ดโมงเจ้าหน้าที่ก็จะเริ่มเรียกชื่อตามคิว ซึ่งกว่าเราจะได้เข้าพบคุณหมอก็ราวๆ 10 โมง แต่ถามว่ารู้สึกแย่ไหม ไม่เลยนะ…แค่ได้เป็นผู้ป่วยคนหนึ่งที่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ก็โอเคมากแล้ว
“ยิ่งไปกว่านั้น ทุกครั้งที่ต้องไปนั่งรอคุณหมอ เราก็จะได้ยินเรื่องราวของผู้ป่วยที่มานั่งข้างๆ ไม่ซ้ำ ยิ่งฟังเราก็ยิ่งรู้สึกว่า ตัวเรานี่โชคดีกว่าอีกหลายคน บางรายเป็นมะเร็งเต้านมและลุกลามไปที่สมองขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งเขาทำการรักษาอะไรไม่ได้เลย เพราะเขายืนยันว่าจะเก็บลูกไว้ และปล่อยให้มะเร็งลุกลามไปเรื่อยๆ รอจนกว่าจะคลอด ทุกวันนี้เราก็ยังจำคำพูดของเขาได้เลยว่า ไม่รู้เลยว่า เมื่อไรมันจะจบ… ประโยคเดียว อธิบายความรู้สึกได้ทุกอย่าง สะเทือนใจมาก นี่เป็นชีวิตจริงที่ไม่ใช่ละคร”
ชีวิตที่ต้องดำเนินต่อ
“หลังจบการรักษามะเร็งในปี 2556 แล้ว พอปี 2557 เราตรวจพบเนื้องอกที่มดลูก ซึ่งเป็นเนื้องอกที่คุณหมอสูติฯ คุณหมอประจำอีกท่านเคยวินิจฉัยว่า ไม่ใช่มะเร็งร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรกับมัน แต่จู่ๆ เกิดมีขนาดโตขึ้นจากเดิมเป็นก้อนเล็กๆ กลายมาเป็นก้อนขนาด 8 เซนติเมตร คุณหมออดุลย์จึงแนะนำว่าให้ผ่าตัดออกดีกว่า เราจึงตัดสินใจขอย้ายไปผ่าตัดกับคุณหมอที่สนิทกับญาติผู้ใหญ่ที่โรงพยาบาลเอกชนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว โดยผ่าตัดมดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ออกทั้งหมด ก่อนจะนำก้อนส่งตรวจแล็บ ซึ่งผลออกมาไม่ใช่มะเร็ง

“กระทั่งปี 2558 ก็ตรวจพบเนื้องอกที่ต่อมน้ำลายใต้คางอีก เพราะหลังจากที่เราเป็นมะเร็งแล้ว เราก็จะหมั่นสังเกตตัวเอง คลำนั่น คลำนี่เป็นประจำ และปีนั้นก็คลำพบก้อนปูดออกมาบริเวณใต้คางขวา และพอลองใช้นิ้วกดกลับไม่รู้สึกเจ็บ ตอนนั้นก็เริ่มกังวลแล้ว เพราะส่วนใหญ่ก้อนมะเร็งนั้น พอกดแล้วมักจะไม่มีอาการเจ็บ จึงรีบไปหาคุณหมออดุลย์เพื่อขอคำแนะนำ คุณหมอรีบทำเรื่องส่งต่อไปให้แพทย์เฉพาะทางวินิจฉัย สรุปควรต้องผ่าตัดออก สารภาพเลยว่า ชั่วขณะหนึ่งที่รู้ว่าต้องผ่าตัดครั้งที่ 3 เราเริ่มเซ็งกับชีวิตและสังขารตัวเองมาก และเข้าใจเลยว่า สัร่างกายของคนเรานี้เป็นเสมือนเรือนของโรคร้ายจริงๆ
“สามปีนั้น เราใช้ชีวิตอยู่กับการผ่าตัดและเข้าออกโรงพยาบาล เพื่อฟอลโลอัป ทั้งเต้านม มดลูก ต่อมน้ำลาย จนโรงพยาบาลกลายเป็นบ้านหลังที่สองก็ว่าได้ ก่อนจะมาพบโรคกระดูกทับเส้นประสาทและหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงเมื่อ 2 ปีก่อนก็ยังตรวจพบเนื้องอกที่เต้านมข้างซ้าย แต่พอเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ ผลปรากฏว่าไม่ใช่มะเร็ง ก็ยังติดตามผลมาเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อต้นปี 2568ผลจากแมมโมแกรมตรวจพบเงาสีขาวที่เต้านมขวา ซึ่งเป็นข้างที่ผ่าตัดมะเร็งและเสริมเต้านมด้วยไขมันไว้เมื่อปี 2556 คุณหมอผู้ทำการตรวจก็เขียนระบุไว้ว่า น่าสงสัย จึงรีบกลับไปปรึกษาคุณหมออดุลย์ ท่านก็บอกว่า เงานั้นเป็นเพียงพังผืด เท่านั้น จึงรอดตัวไป”

ความตายไม่ได้น่ากลัว
“ทุกวันนี้เราไม่เชื่อว่า มะเร็งหายไป เพราะรู้ดีว่ามะเร็งสามารถกลับมาได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างคุณป้าของเราก็เป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุ 40 ปี และหลังจากจบการรักษา ท่านก็ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป จนกระทั่งอายุ 90 ปี มะเร็งกลับมาอีกครั้ง ด้วยอายุที่มากแล้ว ท่านจึงตัดสินใจปฏิเสธการรักษา แต่ใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองอาการไป จนมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ และจากไปอย่างสงบ
“12 ปีที่ผ่านมา เราคิดเสมอว่า แค่นี้…ก็กำไรชีวิตแล้วล่ะ แต่ก็ยังคงดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่ต้องมีจิตใจที่เป็นสุขด้วย และหากเราดูแลทุกอย่างอย่างดีแล้ว แต่มะเร็งยังกลับมา ก็ต้องรักษากันไป เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ซีรีส์ จะให้นอนรอความตายสวยๆ เหมือนนางเอกก็คงไม่ได้ (หัวเราะ)
“เราจะบอกคนรอบข้างเสมอว่า อย่าเพิ่งพูดว่า ฉันไม่กลัวตาย เพราะความตายไม่ได้น่ากลัวเท่าโมเมนต์ก่อนตาย และเมื่อวันนั้นมาถึง คุณอาจจะเจ็บปวด คุณอาจจะทนไม่ไหว ฯลฯ ก็ได้ หากวันนี้ยังมีลมหายใจ หันมาใส่ใจดูแลตัวเอง ยังไม่สาย แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพเป็นประจำ และหากเป็นไปได้ ลองปฏิบัติธรรมดู สิ่งนี้จะช่วยให้เรามีสติและผ่านพ้นทุกอย่างไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก”
ความกลัว…น่ากลัวที่สุด
“จำได้ว่าเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมครั้งแรกในปี 2541 หรือราว 15 ปีก่อนพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมของ คุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย ตอนนั้นเพื่อนชวนไปและเราก็รู้สึกประทับใจมาก ทำให้ปฏิบัติธรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยทุกๆ ปีก็ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมเป็นประจำ แม้เพื่อนที่ชวนนั้นเลิกไปแล้ว แต่เราก็ยังไปอยู่ทุกปี จนกระทั่งมาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เรารู้เลยว่าการปฏิบัติธรรมนี้เป็นพื้นฐานที่ดีมากในการตั้งหลักรับมือกับความทุกข์ต่างๆ ที่เข้ามา
“ผู้ป่วยส่วนใหญ่ พอรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็มักจะเกิดคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต้องเป็นฉัน ซึ่งเป็นความคิดที่ยิ่งทำให้ตัวเองดิ่งลง แต่หากเราปฏิบัติธรรม เชื่อไหมว่า เราจะไม่มีคำถามนั้นเลย ตรงกันข้ามเราจะมีสติที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ และทำให้เราเรียนรู้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่อยู่กับเราตลอดไป เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ สมหวังหรือผิดหวัง ความกลัวในสิ่งต่างๆ อย่างการผ่าตัด เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป ฉะนั้น ก่อนจะเข้าห้องผ่าตัด เราจึงใช้วิธีนั่งสมาธิแทนที่จะมานั่งๆ นอนๆ อยู่กับความกลัว
“ความกลัวเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากนะ เพื่อนบางคนไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อนเลยในชีวิต หรือบางคนไม่เคยตรวจเต้านมมาก่อนเลย เราตกใจมาก เฮ้ย! เป็นไปได้ไง เขาบอกว่า เขาไม่ตรวจหรอก กลัวตรวจแล้วเจอ เราก็บอกเขาว่า คิดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะถึงไม่ตรวจวันนี้ แล้วถ้าเป็นขึ้นมา สุดท้ายก็ต้องรักษาอยู่ดี แต่ถ้าตรวจวันนี้ เจอไว เข้าสู่การรักษาไว ก็มีโอกาสหายและใช้ชีวิตปกติได้ ดีกว่าไปเจอในระยะ 4 แล้วจะทำอย่างไร

“นี่เองที่ทำให้การตรวจสุขภาพประจำปีนั้นสำคัญ เพราะร่างกายคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเจอโรคในระยะเริ่มต้น การรักษาก็จะง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่เจ็บตัวเยอะ เราจึงมักชักชวนให้เพื่อนๆ หรือคนรอบข้างตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และไม่ใช่แค่ตรวจเลือดดูความดัน ไชมัน เบาหวานนะ แต่ควรตรวจสุขภาพเต็มรูปแบบตามวัยอย่างละเอียดเท่าที่พอจ่ายไหว เชื่อเถอะว่าการเปย์ให้กับสุขภาพนั้นคุ้มค่าแน่นอน
“แต่สำหรับผู้ที่มีเงินน้อยที่อาจจะตรวจสุขภาพได้ไม่เต็มรูปแบบ ก็ควรหมั่นสังเกตตัวเอง เช่น เหนื่อยง่ายไหม หน้ามืดบ่อยไหม หรือมีก้อนงอกมาตรงไหนบ้างไหม ฯลฯ คลำนั่น คลำนี่ในร่างกายตัวเองให้เป็นนิสัย และหากเจออาการผิดปกติใดๆ ก็ให้รีบไปหาหมอให้เร็วที่สุด เพราะไม่ใช่แค่มะเร็ง แต่ทุกโรคนั่นแหละ หากเจอไว รักษาไว ก็ช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ทำประโยชน์ตนประโยชน์ท่านต่อได้อีกหลายปี คุ้มมากนะ
“สำหรับผู้ที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งทุกคน เราก็อยากจะบอกว่า การนอนทอดธุระรอให้คนอื่นมาปลอบโยน เห็นใจ หรือนั่งร้องไห้ฟูมฟายนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย ความท้อแท้ หมดหวังก็เช่นกัน ไม่ได้ช่วยอะไร สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงเพราะเราไปคิดถึงอนาคตว่า เราเหลือเวลาอยู่ไม่มาก เราต้องตายแน่ๆ ฯลฯ ทั้งที่เวลานั้น…ยังไม่มาถึงเลย ฉะนั้น อยู่กับปัจจุบันและทำปัจจุบันให้ดีที่สุด หมอให้รักษาอะไรก็จงทำ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เป็นด้วย เพราะวิธีรักษาบางอย่างเราต้องเป็นคนตัดสินใจเลือก แล้วก็ใช้ชีวิตไปตามครรลองที่ทำได้และทำให้ดีที่สุด จัดการสิ่งที่คิดว่าเป็นภาระทางใจหรืออะไรที่ยังเป็นห่วงอยู่ จัดระเบียบชีวิตและจิตใจ อย่าให้รุงรัง แค่นี้ก็คงหมดเวลาที่จะกลัวความตายแล้วล่ะ”