กุลวรรณ โสตถิกุล : Triple Negative หลักสูตรชีวิตฉบับเร่งรัด

“มะเร็งเป็นบททดสอบหนึ่งของชีวิต
ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรมากมาย
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่เราเคยกลัว…”

จ๊ะจ๋า-กุลวรรณ  โสตถิกุล ที่ปรึกษาทางด้านการตลาด อดีตอาจารย์สาขาวิชาการตลาดในระดับอุดมศึกษา วัย 40 ปี คุณแม่ลูกหนึ่งผู้ผ่านประสบการณ์การเผชิญหน้ากับ Triple Negative Breast Cancer (TNBC) มะเร็งที่มีธรรมชาติของโรคที่รุนแรงทั้งการแพร่กระจายสูงกว่าและมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำสูงกว่ามะเร็งเต้านมทั่วไป ซึ่งมักพบเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็งเต้านม นั่นทำให้เธอได้เริ่มคิดทบทวนและค้นพบว่าเธอได้พลาดอะไรมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือการเห็น ‘คุณค่าของลมหายใจ’ จึงทำให้วันนี้เธอกลายเป็นคุณแม่ที่หลงใหลในการนอนกอดลูกสาวทุกๆ คืน และมีความสุขทุกครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นแล้วพบว่า ตัวเองได้นอนอยู่ข้างๆ คนที่เธอรัก

บทที่ 1 อย่าให้ ‘เป้าหมาย’ ทำร้ายเรา

“โดยส่วนตัวจ๋าเป็นคนที่รักสวยรักงาม ไม่อยากอ้วน ไม่อยากแก่ ทำให้เราค่อนข้างใส่ใจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน ฯลฯ จนมาเรียนปริญญาโท เริ่มมีสังคม ก็หันมาดื่ม เที่ยวไปตามประสาบ้างสัปดาห์ละครั้ง กระทั่งช่วงปลายปี 2561 ก็รู้สึกเจ็บที่เต้านมข้างซ้าย และคลำเจอก้อนบางอย่าง ลักษณะกลิ้งไปกลิ้งมาได้

“ความคิดแวบแรกตอนนั้นก็คือ “เราเป็นมะเร็งหรือเปล่า” จึงเอาเรื่องนี้ไปปรึกษารุ่นพี่ที่ทำงานซึ่งเคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ประโยคหนึ่งที่เขาบอกกลับมาก็คือ “ถ้ามีอาการเจ็บ ไม่น่ากังวลเท่าการที่ไม่รู้สึกเจ็บ” แต่เพื่อความสบายใจก็รีบไปตรวจเช็ก คุณหมอก็ส่งตรวจอัลตราซาวด์ แมมโมแกรม จึงพบว่าเป็นเพียงซีสต์ถุงน้ำธรรมดาขนาด 2 เซนติเมตร หลังทำการผ่าตัดออก เราก็ถามหมอว่า หลังจากนี้เราสามารถออกกำลังกายได้ไหม และใช้ชีวิตปกติได้ไหม หมอก็บอกว่า “ใช้ชีวิตปกติเลย”

“ช่วงนั้นก็กำลังจะสิ้นปี เราก็จัดเต็มเลย (หัวเราะ) ปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ขณะเดียวกันก็ยังโหมงานหนัก นอนดึก ตื่นเช้า คร่ำเคร่งอยู่กับงาน ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ค่อนข้างจริงจังกับทุกสิ่งที่ทำ ทำให้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราจะตั้งเป้าหมายและมักจะกดดันตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องเรียน เรื่องทำงาน และสารพัดเรื่อง ทั้งหมดก็เพื่อเหตุผลเดียวคือไม่อยากทำให้ใครผิดหวัง

“ตอนเรียนก็จะกดดันให้ตัวเองเรียนให้ดี เพราะไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวัง พอมาเป็นอาจารย์ก็ทำทุกอย่างอยากให้ลูกศิษย์ได้สิ่งที่เราสอนไปอย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้มันก่อความเครียดให้ตัวเองไปโดยปริยาย และเราก็ใช้ชีวิตอย่างนี้มาตลอดหลายสิบปี ยิ่งช่วงหลังจากลาออกมาทำงานเป็น ‘ที่ปรึกษาอิสระ’ ภายใต้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็ยิ่งเครียดหนักเพราะอยากทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด กลายเป็นว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของเราตอนนั้นค่อยๆ ทำร้ายตัวเราเองโดยไม่รู้ตัว” 

คุณแม่ อีกหนึ่งกำลังใจสำคัญในวันที่มะเร็งมาเยือน

บทที่ 2 ความโชคดีในเรื่องร้ายๆ

“จนในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 หลังไปบริจาคเลือดในวันเกิดลูกสาวแค่วันเดียว ขณะที่กำลังนอนอยู่บนเตียง เราก็คลำเต้านมเพื่อเช็กร่างกายตัวเอง ซึ่งทำเป็นประจำอยู่แล้วหลังจากที่ตรวจพบซีสต์ครั้งก่อน ก็ปรากฏว่าไปเจอก้อนบางอย่างที่เต้านมข้างซ้ายข้างเดิม แต่เปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ด้านบน ตอนนั้นกลัวว่าตัวเองจะคิดมากไปเอง จึงเรียกให้สามีมาช่วยคลำดู ซึ่งก็ใช่!

“ลึกๆ ในใจตอนนั้นคิดเลยว่า ต้องเป็นมะเร็งแน่แล้ว เพราะครั้งนี้ไม่มีอาการเจ็บใดๆ เลย วันรุ่งขึ้นจึงรีบไปตรวจเช็ก คุณหมอก็สั่งอัลตราซาวด์และแมมโมเกรมเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้พอคุณหมอเห็นฟิล์มก็พูดมาประโยคหนึ่งว่า “มันดูไม่ค่อยดี” จึงนัดผ่าตัดเพื่อเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ พอออกจากโรงพยาบาลแค่สองวัน เลือดที่แผลยังไม่หยุดไหลเลย เราก็จำเป็นต้องขับรถจากลำปางไปเชียงใหม่และขึ้นเครื่องต่อไปยังกรุงเทพฯ เพื่อไปรับใบประกาศนียบัตรจาก สสว. จำได้ว่าหลังจากกลับมา จ๋าต้องเดินเข้าออกคลินิกหมอเป็นว่าเล่น เพราะเลือดซึมตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่ยอมหยุดทำงาน (หัวเราะ)

“ผ่านไปสองสัปดาห์ก็ถึงวันนัดฟังผล แม้จะเตรียมใจไปบ้างแล้ว แต่นาทีที่คุณหมอบอกว่า เราเป็นมะเร็ง ก็รู้สึกชาไปทั้งตัว นิ่ง อึ้ง จนคุณหมอถามว่า มีใครมาด้วยไหม ยังโชคดีที่มีคุณแม่ไปด้วย ในใจตอนนั้นนึกถึงแต่หน้าลูกสาว ตอนนั้นเขาเพิ่ง 5 ขวบ และกำลังอยู่ในวัยน่ารัก ขณะที่เรากลับเข้าใกล้ความตายมากๆ เพราะมุมมองต่อมะเร็งของเราในวันนั้นคือ มะเร็ง=ตาย ทำให้มีแต่คำถามวนเวียนในหัวว่า เราจะอยู่กับลูกได้อีกกี่ปี และ ถ้าไม่มีเรา เขาจะอยู่อย่างไร ด้วยความที่เราอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ไม่เคยห่างกันเลย เนื่องจากสามีต้องเดินทางไปทำงานที่เชียงใหม่ วันหยุดสุดสัปดาห์ถึงจะกลับบ้านมาหาเรากับลูกที่ลำปางทีหนึ่ง ทำให้เรากังวลมากๆ

“วันนั้นคุณหมอแนะนำให้เราแอดมิททันทีเพื่อจะผ่าตัดก้อนมะเร็งในวันรุ่งขึ้น นอกจากผ่าก้อนมะเร็งขนาดเกือบ 2 เซนติเมตร ออกมาแล้ว ก็ยังผ่าเลาะต่อมน้ำเหลืองออกมาดูว่าลุกลามไปหรือยัง โชคดีมากที่ยังไม่มีการลุกลามที่ต่อมน้ำเหลือง และยังอยู่ในระยะ 1 นับเป็นความโชคดีในความโชคร้ายที่จะลืมขอบคุณ ‘ซีสต์’ ที่เข้ามาในชีวิตไม่ได้ เพราะมันสอนให้เราคอยระแวดระวังตัว หมั่นตรวจเช็กร่างกายด้วยตัวเองอยู่เป็นประจำ”  

บทที่ 3 เรียนรู้อยู่กับมะเร็ง

“ที่ผ่านมา จ๋าไม่ได้ ‘ต่อสู้กับมะเร็ง’ แต่จ๋าพยายาม ‘เรียนรู้อยู่กับมะเร็ง’ มากกว่า เรียนรู้ว่าเขาชอบอะไร เราจะเลี่ยง หรือถ้าเขาไม่ชอบอะไร เราก็จะทำ (ยิ้ม) ทำให้หลังผ่าตัดเสร็จ กลับมาพักฟื้นที่บ้าน จ๋าก็เริ่มเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ไปสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มในเฟซบุ๊กที่เกี่ยวกับมะเร็งหลายๆ กลุ่ม เริ่มพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ต่างๆ จนทำให้เราเริ่มรู้ว่ามะเร็งเต้านมก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ที่สำคัญเราไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านมคนเดียวในโลก ซึ่งช่วยให้มีกำลังใจที่จะเดินหน้ารักษาต่ออย่างสุดกำลัง

“สามสัปดาห์หลังการผ่าตัด ก็ถึงเวลาเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยเคมีบำบัด 4 เข็ม ทุก 3 สัปดาห์ โดยคีโมเข็มแรกผ่านไปได้อย่างไม่ยากลำบากนัก แค่มีอาการแพ้เล็กน้อย เช่น พะอืดพะอมเหมือนคนแพ้ท้อง แต่ก็พยายามกินอาหารทุกอย่างเพื่อบำรุงร่างกาย แต่สองสัปดาห์ถัดมา เส้นผมก็เริ่มร่วงเป็นกระจุกจนต้องตัดสินใจเข้าร้านโกนทิ้ง วันนั้นสิ่งที่เรากังวลที่สุดก็คือลูกสาว ด้วยความที่เขาไม่ชอบให้เราตัดผมสั้น และเคยสัญญากันไว้ว่า แม่จะไม่ตัดผมสั้นอีกแล้ว จะไว้ผมยาวให้เหมือนกัน ทำให้กังวลว่าเขาจะรับได้ไหม แต่ปรากฏว่าเขากลับเข้ามากราบ แล้วพูดยิ้มๆ ว่า แม่เป็นเณรน้อยแล้ว ไม่เป็นไรนะแม่ เดี๋ยวแม่ก็หาย ความกังวลหายไปหมด แต่คนที่นอยด์ที่สุดกลับเป็นสามี ด้วยความตั้งใจที่อยากกลับมาโกนผมเป็นเพื่อนเรา แต่เรากลับไม่ยอมรอเขา โกนล่วงหน้าไปก่อน (หัวเราะ) 

“หลังจากเข็มแรกผ่านไป ร่างกายแทบจะเหมือนคนปกติ ไม่มีอาการอ่อนเพลียหรือเบื่ออาหารแต่อย่างใด แถมยังออกกำลังกายได้ ทำให้ชะล่าใจ พอถึงวันนัดที่ต้องให้คีโมเข็มสอง ปรากฏว่าเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่สามารถให้คีโมได้ ช่วงนี้จึงต้องกลับมาบำรุงร่างกายใหม่ ด้วยความกลัวว่าหากการรักษายืดเยื้อไปจะไม่เป็นผลดีต่อโรคที่เป็นอยู่ จำได้ว่าเราพยายามฝืนกินทุกอย่าง โดยเฉพาะไข่ขาววันละ 9-10 ฟอง กว่าหนึ่งสัปดาห์ จนผลเลือดเป็นปกติ การให้คีโมดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น กระทั่งเข็มที่ 4 เข็มแห่งความทรมาน อาจจะเป็นเพราะเซลล์ในร่างกายโดนคีโมทำลายมาจนถึงที่สุดแล้ว ทำให้ทั้งน้ำหนักลด ไม่มีแรง อยากนอนอยู่ตลอดเวลา ท้อถึงขนาดบอกกับแม่ว่า “ไม่อยากอยู่ต่อแล้ว” ก่อนจะฉุกคิดได้ว่า เรายอมแพ้ไม่ได้ เราต้องอดทนเพื่อลูก เพื่อครอบครัว จนสุดท้ายก็ผ่านมาจนได้

“แต่ยังไม่จบ จ๋ายังต้องฉายแสงต่ออีก 21 ครั้ง ทุกวัน เพราะเราเลือกการผ่าตัดแบบสงวนเต้า กอปรกับช่วงนั้นโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ทำให้ลูกสาวต้องเรียนออนไลน์ กลายเป็นว่าช่วงนั้นโรคก็ต้องรักษา ลูกก็ต้องดูแล เราเริ่มพักผ่อนน้อยขึ้นทุกวัน จนเกิดอาการเครียด นอนไม่หลับ กลางคืนอยากจะหลับแต่กลับหลับไม่ได้ ตอนนั้นพยายามหาทางออกให้ตัวเองทุกวิธี ทั้งออกกำลังกาย เข้ากลุ่มหาความรู้ ปล่อยวางทุกอย่าง แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนเริ่มหวั่นๆ ว่าตัวเองจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า จึงตัดสินใจเลือกทางออกสุดท้ายก็คือรีบไปปรึกษาจิตแพทย์ จนได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีอาการแบบนี้แต่ไม่รู้ตัว บ้างก็ไม่ยอมรับ ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็อาจจะลุกลามบานปลายกลายเป็นโรคซึมเศร้า โชคยังดีที่เรารู้จักสำรวจตรวจตราตัวเอง ยอมรับ และหาทางออกได้ทัน จ๋าเชื่อว่านี่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราผ่านทุกปัญหา ไม่ใช่แค่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ” 

บทที่ 4 รักตัวเองให้เพียงพอ

“จ๋าเชื่อว่ามะเร็งเป็นเพียงโรคชนิดหนึ่งที่ทุกคนมีสิทธิ์จะเป็นได้โดยไม่ได้จำกัดเพศหรือวัย แต่ถ้ารู้เร็ว รักษาเร็ว เราก็มีโอกาสรอดสูง เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ ณ วันนี้ก้าวหน้าไปไกล จนพูดได้เลยว่า มะเร็งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มันก็แค่โรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง ถ้าเราดูแลตัวเองดี ไปหาหมอตรงตามนัด เราก็ดำเนินชีวิตอย่างคนปกติได้ และถ้าวันหนึ่งมันจะกลับมาเป็นซ้ำ ก็แค่รักษากันไป เป็นตรงไหน รักษาตรงนั้น อย่าวิตกกังวลไปก่อน ขอแค่รักตัวเองให้มากๆ นี่แหละหัวใจสำคัญของการรักษามะเร็ง

“หลังจากเป็นมะเร็งแล้ว ทุกครั้งที่มองย้อนกลับไปทบทวนสิ่งต่างๆ ในอดีต เราจึงได้รู้ว่า ที่ผ่านมาเรายังรักตัวเองไม่มากพอ เรามัวแต่กลัวคนอื่นจะผิดหวัง เอาชีวิตไปผูกติดกับความคาดหวังของคนมากมาย จนกลายเป็นสิ่งที่ทิ่มแทงชีวิตเราเองตลอดเวลา ทุกวันนี้จ๋าจึงปล่อยวางทุกอย่าง เดินทางสายกลาง อะไรที่ทำให้เราทุกข์ก็สลัดทิ้งให้ไว มองทุกอย่างให้เป็นบวก และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้ไม่เสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนแต่หัวค่ำ งดปาร์ตี้ เลิกขาดแอลกอฮอล์ ของหมักดอง ตำยำของดิบที่เขาฮิตๆ กัน ที่สำคัญที่สุด คือ หมั่นสำรวจตรวจตัวเองเป็นประจำและไม่ลืมที่จะหาหมอเพื่อตรวจร่างกายชุดใหญ่ทุก 6 เดือน ทั้งเอกซเรย์ปอด แมมโมแกรม อัลตราซาวด์เต้านม อัลตราซาวด์ตับ ฯลฯ แม้หมอจะอนุญาตให้มาเจอแค่ปีละครั้ง แต่เราก็ยังคงยืนยันที่จะตรวจทุก 6 เดือน เพราะจ๋าเชื่อว่าหากเจอเร็ว รักษาเร็ว โอกาสรอดก็สูงกว่า

“สารภาพตามตรงเมื่อก่อนจ๋าเป็นคนที่กลัวตายมาก แต่เมื่อมะเร็งเข้ามาในชีวิต มันสอนให้เรารู้ว่า ชีวิตเรานั้นสั้นนิดเดียว โชคดีแค่ไหนแล้วที่วันนี้เรายังมีลมหายใจ ได้อยู่กับคนที่เรารัก ได้เห็นการเติบโตของลูก ได้เห็นความรักที่ยิ่งใหญ่ของแม่ ได้รู้ว่าเราเลือกคู่ชีวิตมาไม่ผิดคน ฉะนั้น แทนที่จะเสียเวลาไปกับความกลัว ความทุกข์เศร้า หรือเรื่องราวไร้สาระ สู้เอาเวลามาเก็บเกี่ยวความสุขให้ชีวิต และใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารักและรักเราอย่างมีประสิทธิภาพน่าจะดีกว่า เมื่อวันหนึ่งที่เราต้องจากไป มันก็เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นกันทุกคนอยู่แล้ว อย่างน้อยเราก็ไม่เสียดาย…”

      

แชร์ไปยัง
Scroll to Top