“จงมองทุกอย่างด้วยสายตาของนักผจญภัย
มองสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเป็นความท้าทาย
และเชื่อว่ามันมักจะซ่อนอะไรดีๆ อยู่ในนั้นเสมอ
ที่สำคัญ อย่าลืมที่จะสนุกกับการผจญภัยเหล่านั้น”
น้อย-กฤดาญชลี อำไพพงษ์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 2 คุณแม่ลูกสอง วัย 42 ปี เจ้าของเพจ Cancer Tough But So Are You พื้นที่แห่งการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้และค้นพบความหมายของชีวิตจากการเผชิญหน้ากับมะเร็งเมื่อ 2 ปีก่อน ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสด้านการสนับสนุนโครงการ มูลนิธิดรุณาทร หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อของ คอมแพสชั่น ประเทศไทย (Compassion Thailand) ซึ่งเป็นองค์กรคริสเตียนที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งพัฒนาเด็กแบบองค์รวมแก่เด็กยากจนทุกศาสนา ผ่านการทำงานร่วมกับคริสตจักร
ย้อนหลังกลับไปเมื่อเธออายุได้เพียง 8 ปี เธอคือหนึ่งในเด็กที่ได้รับการดูแลจากองค์กรคอมแพสชั่น ประเทศไทย ด้วยฐานะทางบ้านที่ค่อนข้างยากจน เธอได้รับทุนการศึกษาจากผู้อุปการะชาวต่างชาติผ่านองค์กรคอมแพสชั่น ประเทศไทย จนเธอศึกษาจบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นเวลากว่า 10 ปีเต็ม ที่เธอได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรดังกล่าว นี่เองที่จุดประกายให้เธออยากกลับมาเป็นหนึ่งในองค์กรนี้ เพื่อช่วยเหลือเด็กยากไร้ในรุ่นต่อๆ มา
ต้นแบบแห่ง ‘การให้’
ตลอด 10 ปีที่อยู่ในความช่วยเหลือขององค์กรคอมแพสชั่น ประเทศไทย มันไม่ใช่แค่การแบ่งเบาภาระของครอบครัว หรือช่วยเหลือให้เราได้เรียนหนังสือเท่านั้น แต่ยังทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับโอกาสที่ดีมากมาย ได้เรียนในโรงเรียนที่ดีเท่าที่ความสามารถและศักยภาพของเราจะนำพาไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทุกๆ เทศกาล ไม่ว่าจะเป็นคริสต์มาส ปีใหม่ หรือวันเกิด ฯลฯ เรายังได้รับของขวัญจากผู้อุปการะ ซึ่งเรารับรู้ถึงความรักจากคนที่เราไม่เคยรู้จัก และสิ่งนี้เองที่ทำให้เราหวังไว้ว่า สักวันหนึ่งเราก็อยากแบ่งปันความรักของเราไปให้คนอื่นบ้าง
หลังจบ ม.6 เราเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ด้วยทุนกู้เรียนด้วยตัวเอง ระหว่างนั้นคุณแม่ก็เริ่มก่อตั้ง มูลนิธิบ้านร่มพระคุณ ขึ้น เพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้า เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาคุณแม่มักจะช่วยเหลือคนอื่นตามกำลังที่มีมาเสมอ กระทั่งมีอยู่เคสหนึ่ง มีผู้หญิงสติไม่ดีซึ่งถูกข่มขืนจนตั้งท้อง พอคลอดลูกออกมาก็ไม่สามารถเลี้ยงลูกเองได้มาขอความช่วยเหลือ วันนั้นเขาเอาเด็กทารกมาวางไว้ที่หน้าบ้านแล้วเรียกชื่อคุณแม่แล้วบอกว่า “เอาเด็กคนนี้ไปเลี้ยงให้หน่อยสิ” พอถามเหตุผลเขาก็แค่ตอบว่า เลี้ยงไม่ได้ ด้วยตอนนั้นฐานะทางบ้านของเรายังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเลี้ยงใครได้จริงๆ คุณแม่จึงจำต้องปฏิเสธเขาไป แต่ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นเขาเอาทารกไปทิ้งลงแม่น้ำ นั่นจึงจุดประกายให้คุณแม่อยากช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งหรือไม่สามารถเลี้ยงดูได้ และเป็นที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิบ้านร่มพระคุณขึ้นในอีก 3 ปีต่อมา
ศาสตราจารย์ ดร.กาบคำ จันทร์ทรง
ผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์เด็ก มูลนิธิบ้านร่มพระคุณ
คุณแม่ ต้นแบบแห่ง ‘การให้’ ของคุณน้อย
พันธกิจของชีวิต
สิ่งที่คุณแม่ทำให้เห็นมาตลอดชีวิตก็คือ การให้โดยไม่มีเงื่อนไข อะไรที่พอช่วยเหลือแบ่งปันให้คนอื่นได้ ท่านจะทำทันทีโดยไม่รีรอ ยกตัวอย่าง ตอนเราเด็กๆ แม้ฐานะทางบ้านเราจะค่อนข้างยากจน แต่ท่านก็ยินดีที่จะรับหลานๆ อีก 3 คนที่ครอบครัวยากจนกว่าเรามาเลี้ยงดูและส่งเสียให้เรียน พอช่วงเราเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนั้นคุณแม่อยากช่วยเหลือเด็กกำพร้า ท่านก็รับเด็กทารกวัยเพียง 3 เดือน ซึ่งถูกทอดทิ้งมาเลี้ยงดูอย่างดี จนกระทั่งเริ่มก่อตั้งเป็นมูลนิธิ ก็ใช่ว่าฐานะทางบ้านจะร่ำรวย เพียงแต่ตอนนั้นลูกๆ ทุกคนก็คือเราและพี่ชาย เริ่มดูแลตัวเองได้ ท่านก็ทำทันที สิ่งเหล่านี้เราซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว ท่านสอนเหมือนไม่ได้สอน สอนให้เราจำ คือ ทำให้ดูเป็นแบบอย่างมาตลอดชีวิต
หลังจากจบปริญญาตรี เราได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสวีเดนเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะกลับมาช่วยงานที่มูลนิธิของคุณแม่ได้ราว 1 ปี ทางองค์กรคอมแพสชั่น ประเทศไทยก็เปิดรับสมัครทีมงาน คุณแม่รู้มาตลอดว่าเราอยากกลับมาช่วยงานองค์กรนั้น จึงบอกว่า “ไปเลย แม่รู้ว่าน้อยอยากไป” นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจไปสมัครงานที่นั่นอย่างไม่ต้องกังวลใจ ‘เลขา’ คือตำแหน่งแรกที่ได้ทำ ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็นทีมผู้บริหารในอีก 5 ปีต่อมา โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 18 แล้ว ที่เราช่วยเหลือเด็กๆ ภายใต้การทำงานในองค์กรคอมแพสชั่น ประเทศไทย
‘มะเร็ง’ เข้ามาทักทาย
โดยนิสัยส่วนตัวเราค่อนข้างจะเป็นคนที่จริงจังกับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะมีเป้าหมายชัดเจน บางครั้งก็รู้สึกว่าตัวเองอาจจะตั้งใจเกินไปนิดหนึ่ง (ยิ้ม) แต่มันก็ทำให้เราเติบโตในหน้าที่การงานค่อนข้างเร็ว เราสามารถเป็นหนึ่งในทีมบริหารขององค์กรตั้งแต่อายุ 29 ปี แน่นอนว่าเราต้องเผชิญความเครียดมากมาย และลึกๆ ก็เชื่ออยู่ว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งขึ้น แต่ก็นับว่าโชคดีมากที่เราเป็นคนที่รักษาสุขภาพมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การนอนหลับ การกินอาหารที่มีประโยชน์ ที่สำคัญคือตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ นั่นเองที่ทำให้พบก้อนเนื้อขนาด 0.7 เซนติเมตร บริเวณใกล้หัวนมข้างซ้าย ซึ่งหากคลำด้วยตัวเองก็คงไม่มีทางเจอ เนื่องจากขนาดก้อนที่เล็กมาก แต่ความรุนแรงของโรคกลับตรงกันข้าม เพราะแม้ขนาดก้อนจะเล็ก แต่มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองอย่างรวดเร็ว หากมาตรวจสุขภาพช้ากว่านี้อีกนิด ความรุนแรงของโรคก็คงยากจะควบคุมได้
หลังตรวจพบก้อนเนื้อปริศนา คุณหมอก็นัดเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy) ไม่กี่วันคุณหมอก็โทรมาขอเลื่อนนัดฟังผลแบบด่วนที่สุด แถมยังกำชับว่าให้พาสามีมาด้วย ตอนนั้นก็พอรู้แล้วว่าคงไม่ใช่ข่าวดี จึงเริ่มทำใจไว้บ้างแล้ว วันฟังผลก็เป็นไปตามคาด หลังคุณหมอแจ้งผลชิ้นเนื้อแล้ว ก็แนะนำกระบวนการรักษาว่าเราต้องทำอะไร อย่างไรต่อไป
หลังจากออกจากโรงพยาบาลวันนั้น สามีก็พาไปทานข้าวต่อ จำได้ว่ามื้อนั้นนั่งกินไปร้องไห้ไปตลอดเวลา เครียดมาก แต่ไม่นานก็เริ่มตั้งสติได้และรับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง นั่นก็คือ ความกลัว เรากลัวสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลัวตาย กลัวพลัดพรากจากคนที่รัก กลัวไม่ได้เจอลูก สามี หรือพ่อแม่ ฯลฯ พอรู้เช่นนั้นก็พยายามจะดึงตัวเองขึ้นมา ไม่ยอมให้ตัวเองอยู่ตรงนั้นนาน เพราะเรารู้ว่าถ้าปล่อยให้ตัวเองอ่อนแอไปเรื่อยๆ เราอาจจะดิ่งลงไปจนอาจจะกลับตัวไม่ทัน
ซุปน้ำตา…เยียวยาใจ
ในวันที่มะเร็งเข้ามาในชีวิต เรารู้สึกสูญเสียสิ่งต่างๆ มากมายในชีวิต รู้สึกสูญเสียความเป็นผู้หญิง, สูญเสียศักยภาพในการทำงาน ซึ่งตอนนั้นองค์กรกำลังจะขยายงานไปอีกหลายประเทศ จากที่เคยเดินทางไปโน่นไปนี่ก็ต้องหยุดลง ขณะที่สถานะของนักศึกษาปริญญาโทก็ต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย เพื่อทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับการรักษาตัวอย่างเต็มที่
ขณะที่กระบวนการรักษาดำเนินไป ‘การอ่าน’ ถูกนำมาใช้เป็นวิธีดึงโฟกัสจากความเจ็บป่วย เราใช้เวลาส่วนใหญ่กลับไปทบทวนพระคัมภีร์อีกครั้ง และครั้งนี้ทำให้เราได้เข้าใจหลายๆ คำสอนของพระองค์อย่างลึกซึ้งและหนุนใจเราได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นก็คือ
“แม้ข้าพระองค์จะเดินไปตามหุบเขาเงามัจจุราช
ข้าพระองค์ไม่กลัวอันตรายใดๆ เพราะพระองค์ทรงสถิตกับข้าพระองค์
คทาและธารพระกรของพระองค์เล้าโลมข้าพระองค์” (สดุดี 23 : 4)
แม้จะเคยผ่านตาข้อพระคัมภีร์นี้หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งใดที่เราจะรู้สึกเข้าใจอย่างลึกซึ้งเท่าวันที่มะเร็งเข้ามาในชีวิตเรา มะเร็งในวันนั้นไม่ต่างอะไรกับหุบเขาเงามัจจุราชที่น่ากลัว แต่ทันทีที่เรารู้สึกว่าพระองค์อยู่กับเรา จับมือเราไว้ ก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัวอีกแล้ว
นอกจากพระคัมภีร์แล้ว เราก็ยังอ่านหนังสืออื่นๆ ที่พอจะช่วยเราได้ หนึ่งในนั้นก็คือ Tear Soup : A Recipe for Healing After Loss แปลเป็นไทยแบบตรงตัวว่า ซุปน้ำตา : สูตรเยียวยาหลังการสูญเสีย หนังสือที่พูดถึงความสูญเสียและการรับมือกับความสูญเสีย เดิมทีหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เราเคยอ่านให้ลูกชายฟังในวันที่เพื่อนสนิทของเขาต้องเดินทางกลับประเทศ และเขารู้สึกว่ากำลังสูญเสีย หลังจากนั้นหนังสือเล่มนี้ก็ถูกเก็บไว้ โดยไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งเราจะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง ที่สำคัญคืออ่านเพื่อตัวเอง
การกลับมาอ่านครั้งนี้ ความรู้สึกแตกต่างจากครั้งก่อนโดยสิ้นเชิง เราเข้าใจถึงธรรมชาติของความเสียใจมากขึ้นว่า ความเสียใจนั้นมันกลับมาหาเราได้ตลอดเวลา หากเราเสียใจกับเรื่องหนึ่ง แม้เวลาผ่านไปนานเท่าไร และเหมือนว่าเราจะลืมมันไปแล้ว แต่เมื่อไรที่อยู่คนเดียวแล้วเรื่องนี้กลับมาในความคิดอีกครั้ง การร้องไห้ให้กับมันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องปกติมากที่ความเศร้าเสียใจจะไปๆ มาๆ และแต่ละครั้งก็จะแตกต่างกันออกไป เพราะเราปรุงมันใหม่ทุกครั้ง นั่นเพราะซุปน้ำตาจะปรุงให้อร่อย ต้องปล่อยให้น้ำตามันไหลออกมา นี่คือสิ่งที่ Tear Soup : A Recipe for Healing After Loss บอกไว้
ใจร่าเริงเป็นยาอย่างดี
เพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง นอกจากการผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออกแล้ว เรายังตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างทิ้ง และเสริมสร้างเต้านมใหม่ขึ้นในคราวเดียวกัน หลังจากฟื้นฟูร่างกาย 3 สัปดาห์ ก็เข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยเคมีบำบัด 8 ครั้ง และต่อด้วยการฉายแสงอีก 16 แสง ใช้เวลาในการรักษาตัวทั้งหมดกว่า 8 เดือนเต็ม แต่ก็ยังต้องทานยาต้านฮอร์โมนต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี และติดตามผล (Follow up) ทุกสามเดือน รวมถึงยังคงตรวจสุขภาพประจำปีเหมือนเดิม
ในกระบวนการรักษาทั้งหมดที่ผ่านมา แม้จะต้องผ่านความเจ็บปวดจากการผ่าตัดหรืออาการข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ไม่มีแรง ฯลฯ ซึ่งไม่เคยเหมือนกันเลยในแต่ละครั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราทุกข์หนักเท่ากับการที่ต้อง ‘ผมร่วง’
แม้จะรู้อยู่แล้วว่าผมต้องร่วง แต่ก็เป็นเพียงการรับรู้ระดับสมอง เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นจริง เรารับไม่ไหว เพราะเรารู้สึกว่าเส้นผมคือความสวยงามของผู้หญิง พอเห็นผมค่อยๆ ร่วงทีละกระจุก แหว่งตรงนั้น แหว่งตรงนี้ ทำใจไม่ได้ ร้องไห้หนักมาก เรารู้สึกถึงการสูญเสียอะไรบางอย่างไป ช่วงนั้นจึงต้องต่อสู้กับความคิดและจิตใจของตัวเองหนักมาก ซึ่งกว่าจะผ่านมาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ส่วนหนึ่งคงต้องขอบคุณกำลังใจจากครอบครัว ทั้งสามีและลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การทำทุกอย่างให้เราสบายใจ หรือการพาไปซื้อวิกกว่า 20 ทรง (หัวเราะ) ฯลฯ ทำให้เรามีพลังมากขึ้น อยากจะหายจากโรค กอปรกับเราได้อ่านข้อพระคัมภีร์ข้อหนึ่งซึ่งบอกไว้ว่า
“ใจร่าเริงเป็นยาอย่างดี
แต่จิตใจที่หมดมานะทำให้กระดูกแห้ง” (สุภาษิต 17 : 22)
นั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า จะมัวให้ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความทรมาน แย่งความร่าเริงไปจากใจเราทำไม ถ้าเราอยากหายก็ต้องมีใจร่าเริง มองมันในมุมบวก และหันมาสนุกกับโอกาสที่ยังมีชีวิตอยู่ดีกว่า ตั้งแต่นั้นมาเราก็สนุกกับการใส่วิก (หัวเราะ) บางวันเปลี่ยน 3 ทรง จนน้องๆ ที่ทำงานจำแทบไม่ได้ นั่นกลายเป็นอีกช่วงชีวิตที่สนุกดี
นอกจากนี้ยังตั้งใจไว้ว่า หากให้เคมีบำบัดครบ 8 ครั้ง แล้วก็จะไปสักที่ศีรษะ เพราะคิดว่าถ้าวันหนึ่งมะเร็งกลับมา แล้วต้องเผชิญกับอาการผมร่วงอีกครั้ง เราจะได้รอคอยได้เห็น ‘รอยสักที่สวยงาม’ ซึ่งซ่อนอยู่ข้างในอีกครั้ง แต่โชคดีที่ไปปรึกษาคุณหมอก่อน จึงได้รู้ว่าหากมะเร็งกลับมาอีกครั้ง เราจะไม่ได้เจอสูตรยาที่ทำให้ผมร่วงอีกแล้ว จึงเปลี่ยนใจเป็นการเพนต์แบบเฮนน่า (Henna) แทน และให้เพื่อนสนิทซึ่งเป็นช่างภาพช่วยถ่ายเก็บไว้เป็นความทรงจำ
สายตานักผจญภัย
ทุกวันนี้ เราขอบคุณพระเจ้าเสมอที่ทำให้มะเร็งเกิดขึ้นกับชีวิตเรา เพราะถ้าไม่เป็นมะเร็ง วันนี้เราอาจจะเดินหลงทางไปไกลมากแล้ว การเป็นมะเร็งครั้งนี้เป็นการเตือนสติให้เรารู้ว่า ที่ผ่านมาเรากำลังเดินมาผิดทาง และเราต้องยูเทิร์นทันที
ไม่แน่ใจว่านานเท่าไรแล้วที่เราจัดลำดับความสำคัญในชีวิตผิดหมด ด้วยนิสัยที่ค่อนข้างบ้างาน งานมักมาที่หนึ่งเสมอ หลายครั้งก็ทำให้เราละเลยครอบครัวไป แต่วันที่มะเร็งเข้ามาทักทาย เราได้รู้ซึ้งเลยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรานั้นไม่ใช่งานเลย เราไม่ได้กลัวที่จะเสียงาน แต่เรากลัวที่จะพลัดพรากจากคนที่เรารักมากกว่า นั่นก็คือครอบครัว
ทุกวันนี้เราจึงมีความสุขอยู่กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวเรา แค่การกอดกัน หอมแก้มกัน หรือแค่ได้เห็นลูกทุกวัน ตื่นมาเห็นคนที่เรารักนอนอยู่ข้างๆ หรือการที่เรายังได้มีโอกาสทำในสิ่งที่เรารักและเป็นประโยชน์กับผู้คน เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นกำไรชีวิตแล้ว
หากวันหนึ่งมะเร็งจะกลับมาอีกครั้ง และการรักษาอาจจะยากกว่าเดิม แต่ลึกๆ ก็มั่นใจว่าเราจะรับมือกับมันได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น เพราะเรามีประสบการณ์แล้ว เราจะไม่กลัวเหมือนครั้งก่อน สำคัญกว่านั้นเรารู้สึกว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว และพยายามทำทุกวันให้ดีที่สุด โดยไม่คาดหวังว่าผลจะเป็นอย่างไร มองทุกอย่างด้วยสายตาของนักผจญภัย ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรในชีวิต เราจะค้นหาให้พบว่าพระพรที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนั้นคืออะไร แล้วเราจะสนุกไปกับมัน
นั่นทำให้วันนี้โรคมะเร็งสำหรับเราแล้ว ไม่ได้ต่างอะไรกับโรคหวัด ที่เป็นแล้ว หายแล้ว ก็กลับมาเป็นได้อีก เราเชื่อว่าทุกอย่างอยู่ที่ใจเรา โรคมะเร็งมันสู้กันที่หัวใจ สู้กันที่ความคิดของเราเอง ถ้ามันกลับมาก็แค่สู้กันอีกสักตั้ง–เท่านั้นเอง
Cancer Tough But So Are You
เป้าหมายทุกวันนี้คือเราอยากมีชีวิตอยู่เพื่อทำประโยชน์ให้คนอื่นให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงเด็กกำพร้าที่องค์กรช่วยเหลือ แต่ยังรวมไปถึงคนทุกคนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต นั่นทำให้หลังการรักษาจบลง ราวเดือนมีนาคม 2564 เราก่อตั้งเพจชื่อว่า Cancer Tough But So Are You ขึ้น ภายใต้ความตั้งใจที่จะบันทึกการเดินทางไปบนเส้นทางของมะเร็งว่า เราผ่านอะไรมาบ้าง และแบ่งปันไปสู่ผู้คนผ่านมุมมองและแนวคิดในแต่ละช่วงที่เผชิญกับมะเร็ง เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งทางกายและผู้ป่วยมะเร็งทางใจ กระทั่งทางความคิด ให้ลุกขึ้นสู้กับทุกอย่างตรงหน้าด้วยสายตาของนักผจญภัยและสนุกไปกับมัน
จำไว้เสมอว่า มะเร็งหรือปัญหาในชีวิตอาจจะไม่ง่าย
แต่เราก็แกร่งพอที่จะผ่านมันไปได้…แน่นอน
#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC