“มันเป็นปีใหม่ที่คล้ายๆ กับทุกปีที่เราต้องกลับบ้านไปเคานต์ดาวน์กับครอบครัว ได้ทำอะไรกินร่วมกัน ได้พูดคุย ได้หัวเราะกับพี่ๆ น้องๆ จะต่างออกไปบ้างก็ตรงที่เราสนุกได้น้อยลง เหนื่อยง่ายขึ้น เพราะเพิ่งผ่านการให้คีโมมา แต่นั่นก็ทำให้เราได้เห็นถึงความโชคดีที่เราได้เกิดมาในครอบครัวนี้ ครอบครัวที่แสนอบอุ่น เพราะทุกคนต่างพากันหันมาใส่ใจดูแลเราเป็นพิเศษ ฉะนั้น หากถามว่าความสุขน้อยลงไหม คำตอบก็คือไม่เลย…”
ปอย-ไอยรา ปัญจพรผล นักธุรกิจวัย 47 ปี ที่พ่วงท้ายตำแหน่งคุณแม่ลูกหนึ่ง อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมข้างขวาระยะที่ 2 เล่าถึงปีใหม่เมื่อ 3 ปีก่อนที่เธอต้องต่อสู้กับโรคร้ายไปพร้อมๆ กับครอบครัว คนที่เธอรักและคนที่รักเธออย่างอบอุ่นและงดงาม
“นี่คือหัวใจสำคัญของการก้าวข้ามมะเร็งของเราเลยนะ ในขณะที่เราอ่อนแอที่สุด หากมีใครสักคนหรือหลายๆ คนพร้อมจะสู้ไปกับเรา ทุกอย่างมันจะง่ายขึ้น นอกจากครอบครัวที่เราเติบโตมา ก็ยังมีสามีและลูกชายที่เป็นเหมือนกำลังใจสำคัญ เชื่อไหมว่า ทุกครั้งที่ไปให้คีโมและต้องนอนโรงพยาบาล สามีกับลูกชายจะหอบกันไปนอนแอดมิตด้วย มันทำให้เราไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยว แม้ผลข้างเคียงจากการรักษาหลายครั้งจะทำให้เราท้อ ถอดใจไปบ้าง แต่ทุกครั้งที่เห็นหน้าลูกชายและสามีที่พยายามดูแลเราอย่างดีไปพร้อมๆ กับขับเคลื่อนธุรกิจที่กำลังก่อร่างสร้างขึ้นมาตามลำพัง มันทำให้เราบอกตัวเองเสมอว่า ฉันต้องหายให้ได้ ฉันต้องหายให้เร็วที่สุด”
HAPPY NEW LIFE
หลังผ่าตัดก้อนเนื้อร้ายออก ฉีดสีเพื่อดูเชื้อมะเร็งที่ลามเข้าไปสู่ต่อมน้ำเหลืองว่ามากน้อยแค่ไหน และทำการเลาะต่อมที่เชื้อมะเร็งเข้าไปจนหมดแล้ว เธอก็เข้าสู่กระบวนการของการให้คีโมหรือเคมีบำบัดเดือนละครั้งทั้งหมด 4 ครั้ง ก่อนจะทำการฉายแสงมากกว่า 40 ครั้ง ระหว่างที่การรักษากำลังดำเนินไปเรื่อยๆ ก็เป็นจังหวะเดียวกับโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ‘จากเบตงสู่แม่สาย’ โดย อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ‘ตูน บอดี้สแลม’ เริ่มต้นขึ้น
“ด้วยความที่ลูกชายสนใจเรื่องดนตรีและมีคุณตูนเป็นไอดอล ช่วงนั้นเราก็จะได้ดูไลฟ์สดคุณตูนวิ่งเกือบทุกวัน เราก็เริ่มได้รู้ว่าการวิ่งนั้นมีประโยชน์มาก กอปรกับช่วงนั้นมีเพื่อนคนหนึ่งส่งบทความเกี่ยวกับประวัติชีวิตของนักธุรกิจคนหนึ่งซึ่งล้มป่วยด้วยมะเร็ง พอรักษาหายก็หันมาวิ่ง จนร่างกายแข็งแรงและสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ทำให้เรายิ่งสนใจเรื่องการวิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งโครงการก้าวคนละก้าววิ่งผ่านมาแถวบ้าน ลูกชายก็ขอให้เราช่วยไปส่งเขาหน่อย เพราะอยากเอากระปุกออมสินไปร่วมบริจาคกับพี่ตูน ซึ่งวันนั้นก็ทำให้เราได้สัมผัสถึงพลังของการวิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อผู้คนอีกมากมาย และนั่นแหละที่ทำให้เราบอกตัวเองว่า ชีวิตนี้ขอให้ได้ร่วมวิ่งเพื่อการกุศลกับคุณตูนสักครั้งก็พอแล้ว”
ก้าวแรกสู่ชีวิตที่คิดไม่ถึง
จากเดิมที่ชีวิตเธอหมกมุ่นอยู่กับงานหนัก ความเครียด เพื่ออนาคตของครอบครัวไปพร้อมๆ กับการทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้ลูกชายที่เธอรัก แน่นอนว่าการออกกำลังกายกับชีวิตของเธอนั้นแทบจะเป็นเส้นคู่ขนาน พอวันที่มะเร็งเข้ามาเยี่ยมเยียน มันจุดประกายบางอย่างให้กับเธอ
“เมื่อก่อนเรามักจะตั้งคำถามกับการออกกำลังกายเสมอว่า ทำไมคนเราต้องทนทรมานตัวเอง ยอมเหนื่อย ยอมปวดเมื่อยไปเพื่ออะไร ทำให้ชีวิตมีแต่งาน งาน และงาน อาหารก็กินทุกอย่างเน้นเร็วไว้ก่อน อย่าว่าแต่เวลาเที่ยวเลย แค่เวลาพักผ่อนแต่ละวันก็ยังน้อยมาก จนเมื่อมะเร็งเข้ามา มันทำให้เรารู้ว่าความสำเร็จหรือเงินทองที่เราเคยเห็นว่ามันสำคัญสำหรับชีวิต แท้จริงไม่ใช่เลย ต่อให้เรามีเงินเยอะแค่ไหน แต่ถ้าเราล้มป่วย ความสำเร็จหรือเงินทองก็แทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย แถมเงินก็พานจะหมด ความสุขก็จะหมดไปกับโรคที่เราเป็น”
หลังจากกระบวนการให้เคมีบำบัดผ่านพ้นไป ร่างกายเริ่มแข็งแรงขึ้น เธอไม่รอช้าที่จะตามหาเทรนเนอร์สักคน และบอกความตั้งใจทั้งหมดของเธอ
“ตอนนั้นเราบอกเทรนเนอร์ไปตามตรงว่า เราเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อยู่ระหว่างการฉายแสง แต่ฝันอยากที่จะร่วมวิ่งเพื่อการกุศลกับคุณตูนสักครั้งในชีวิต พอเทรนเนอร์รู้ก็ปรับโปรแกรมการออกกำลังกายทั้งหมดให้เหมาะกับเรา จำได้ว่าครั้งแรกที่ฝึกวิ่งบนลู่ ยังไม่ทันถึง 1 กิโลเมตรเลย หอบเหมือนจะขาดใจ มันเหมือนจะไม่ไหวแล้ว พอฝึกไปเรื่อยๆ เข่าเริ่มบวม อาการเข่าเสื่อมที่เคยเป็นกลับมากำเริบหนัก ตอนนั้นจะถอดใจอยู่แล้วจนเทรนเนอร์ต้องบอกว่า ‘พี่ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องหาหมอ แค่เชื่อผม และทำตามที่ผมบอก เดี๋ยวพี่จะหาย’ และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เขาใช้การบำบัดและกายภาพทางวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยจนหายเป็นปกติ
“หลังจากฝึกมาเป็นเวลา 4 เดือนเต็ม ทางเทรนเนอร์ก็ให้ทดลองลงวิ่งสนามแรกในงาน ‘สวนสุนันทา มินิมาราธอน ครั้งที่ 1’ (SSRU RUN 1 Mini-Marathon) ระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี หลังจากนั้นก็เริ่มลงสนามนั้นสนามนี้มาเรื่อย กระทั่งฝันได้เป็นจริงเมื่อได้มีโอกาสวิ่งร่วมขบวนกับคุณตูนครั้งแรกในชีวิตที่งาน UNT Charity Run 2018 ‘ก้าวที่ 60 เพื่อศิริราช’ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 แม้จะตามหลังอยู่ลิบๆ แต่ก็ดีใจแล้ว (หัวเราะ)”
แรงบันดาลใจออนไลน์
จากวันนั้นจนถึงวันนี้เกือบ 3 ปีมาแล้ว แต่เธอก็ยังคงวิ่ง วิ่ง และวิ่งเกือบทุกวัน วันละอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง ไม่ว่าจะวิ่งบนลู่ วิ่งตามสวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งวิ่งฮาล์ฟมาราธอน (21 กิโลเมตร) ในสนามต่างๆ ที่สำคัญการวิ่งไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะเธอ แต่ยังเปลี่ยนลูกชายและสามีให้หันมาสนใจการออกกำลังกายมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ภาพการวิ่งที่เธอลงในโซเชียลทุกครั้งที่มีการลงสนามยังจุดประกายให้เพื่อนๆ และคนรอบข้างหันมาวิ่งกันมากมาย
“เป้าหมายของเราวันนี้คือไปมาราธอนให้ได้ (ยิ้ม) วันนี้การวิ่งของเราไม่ใช่แค่การออกกำลังกายแล้ว แต่มันคือการฝึกข้างในของเราด้วย เพราะการวิ่งทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ยิ่งวิ่งระยะไกลๆ เช่น 16 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ช่วงเวลานี้แหละคือที่สุดของการวิ่ง เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เราได้ทบทวนตัวเอง ได้พูดคุย หลายครั้งก็ได้ทะเลาะกับตัวเอง ได้เอาชนะกับความเหนื่อย ความท้อ ความขี้เกียจที่คอยบอกให้เราหยุด หยุดสิ! หยุดซะ! และเมื่อเราผ่านมันมาได้ สิ่งที่เราได้พบก็คือความภาคภูมิใจ”
มะเร็งไม่เคยจากไปไหน
แม้ผลทางการรักษาจะชี้ชัดว่าเธอหายจากมะเร็งแล้ว แต่ลึกๆ ในใจเธอเองรู้ดีว่ามะเร็งไม่ได้ห่างจากเธอไปไหนไกลและวันหนึ่งมันอาจจะกลับมาเยี่ยมเยียนเธออีกครั้ง แต่เธอก็เชื่อเสมอว่า การออกกำลังกายนี่แหละที่จะช่วยชะลอการกลับมาของมะเร็งได้ และถึงเธอจะต้องเผชิญหน้ากับมันจริงๆ ในสักวันหนึ่ง อาวุธที่เธอเตรียมพร้อมไว้ใช้ต่อสู้กับมะเร็งเสมอก็คือสุขภาพที่แข็งแรง
“ถึงจะหายแล้ว แต่เชื้อมะเร็งก็ยังอยู่ในร่างกายเรานี่แหละ เมื่อไหร่ที่ร่างกายเราอ่อนแอ มันจะกลับมาหาเราได้เสมอ ฉะนั้น เราต้องดูแลตัวเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากการออกกำลังกายและการกินอาหารที่มีประโยชน์แล้ว เหนือสิ่งอื่นใดที่จะทำให้เราชนะมะเร็งได้คงหนีไม่พ้น ‘ความสุข’
“ช่วงที่ให้คีโมครั้งแรก เรากินแต่อาหารจืดๆ เพราะเขาว่ากันว่าดี ก็อดทนกิน หนักเข้าก็กินไม่ค่อยได้ อาเจียนหมด ร่างกายก็ไม่มีเรี่ยวแรง เอาแต่นอนซม เครียดสะสม พอให้คีโมครั้งที่ 2 บอกตัวเองว่าไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนตัวเองใหม่ พยายามกินให้เยอะเข้าไว้ อาหารจืดพอกินนานไป เริ่มเลี่ยน อาเจียน ก็ลองหันมากินอาหารแซ่บๆ ดูบ้างสักมื้อสองมื้อ หรือถ้าเริ่มเบื่อมากๆ ก็ขับรถออกไปสูดอากาศข้างนอกบ้านบ้าง หาของอร่อยๆ กินบ้าง เลิกเก็บเนื้อเก็บตัว เพราะการหมกมุ่นอยู่กับอะไรที่ทำให้ ตัวเราเครียดหรือเบื่อ มันไม่ได้ดีกับเราเลย ฉะนั้น ถ้าร่างกายต้องการความแซ่บก็แซ่บบ้างก็ได้ แก้เลี่ยน จะได้มีเรี่ยวแรงสู้กับมะเร็งต่อ”
ชีวิตนับจากนี้…
ปีใหม่ปีนี้ก็ยังคงเป็นปีใหม่ที่เธอใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเหมือนเคย อาจจะต่างไปบ้างก็ตรงที่เธอแข็งแรงขึ้น ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่หัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ เธอมองทุกอย่างเป็นแค่บททดสอบชีวิตเธอ เช่นเดียวกับมะเร็งที่เข้ามาทำให้เธอกลายเป็นคนใหม่ ดำเนินชีวิตในแบบที่ต่างออกไปอย่างไม่นึกฝัน
“มะเร็งทำให้เราไม่ประมาทกับชีวิตที่เหลืออยู่ทำให้เราหันกลับมาดูแลตัวเองและคนที่เรารักมากขึ้น มันเปลี่ยนเราเป็นคนใหม่ที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ใครๆ มากมายให้หันกลับมาดูแลตัวเอง แต่ก็ไม่ได้อยากให้เชิญชวนทุกคนมาเป็นมะเร็งกันนะ (ยิ้ม) ถ้าวันนี้ยังมีโอกาสอยู่ก็อย่าเป็นเลย…มะเร็ง เปลี่ยนพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง หันมาดูแลตัวเองตั้งแต่นาทีนี้ ให้เวลากับร่างกายตัวเองบ้างสักวันละหนึ่งชั่วโมง เชื่อเถอะว่ามันคุ้มค่า
“แต่สำหรับคนที่เป็นมะเร็งแล้วก็อย่าท้อ ใช้ชีวิตให้สนุก อยู่กับมัน สู้กับมัน เป็นมะเร็งไม่ได้หมายความว่าเราต้องตายเท่านั้น เพราะการแพทย์ในปัจจุบันก้าวหน้าไปไกลและมีทางเลือกให้เราหลายทาง สำคัญคืออย่ายอมแพ้ ถ้ายังมีชีวิตก็จงใช้ชีวิตให้สนุกและมีความสุขอยู่กับคนที่เรารักเถอะ อย่ามัวไปกังวลกับอะไรมากมาย เพราะเราทุกคนล้วนมีเวลาอยู่จำกัด อย่าเปล่าเปลืองเวลาไปกับความทุกข์ท้ออยู่เลย”
#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC