5 เหตุผล…ทำไมคนป่วยควรมี ‘ดนตรี’ ในหัวใจ!?!

.

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ยืนยันว่า ดนตรีนั้นมีพลังมากกว่าที่เราคิด นอกจากจะช่วยสร้างความบันเทิงเริงใจแล้ว ดนตรียังมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด จิตใจ ไปจนถึงพฤติกรรมของคนเรา นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ดนตรีถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งทางการแพทย์ที่นำดนตรีมาบำบัดรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ และเพื่อเป็นการต้อนรับ ‘วันดนตรีโลก’ หรือ World Music Day ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ TBCC ขอมัดรวมประโยชน์ดีๆ ของดนตรีที่จะช่วยสร้างสุขภาวะให้ทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วยมาฝากกัน 

01 ดนตรี

กำจัดเครียด

อย่างที่ทราบกันดีว่า ดนตรีช่วยกระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์เชิงบวกและนำไปสู่การปลดปล่อยสารแห่งความสุข นั่นจึงทำให้การฟังเพลงกลายเป็นวิธีง่ายๆ ในการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ บรรเทาความเครียด เหนื่อยล้าได้ โดยที่เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย–แค่ฟัง

แม้ในกลุ่มผู้ป่วยเอง ดนตรีก็ยังช่วยกำจัดความเครียดได้ ซึ่งยืนยันโดยผลการศึกษาที่พบว่าผู้ป่วยที่ฟังเพลงในช่วงการผ่าตัดหรือช่วงพักฟื้นนั้น ระดับความดันจะกลับไปสู่ปกติได้เร็วกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ฟังเพลง เช่นเดียวกับสมาชิกในครอบครัวหรือพ่อแม่ของผู้ป่วยเองก็จะเครียดน้อยลงเมื่อฟังเพลงขณะที่รออยู่หน้าห้องผ่าตัด รวมถึงยังวิตกกังวลเรื่องผลการผ่าตัดน้อยลงอีกด้วย 

ในทางเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์แห่ง Drexel University ยังศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ฟังท่วงทำนองที่ชื่นชอบ นอกจากจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ลดความวิตกกังวลลงได้แล้ว ระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นด้วย นี่เองที่ทำให้ดนตรีถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายตามสถานพยาบาลมากมายในต่างประเทศ เพราะดนตรีคือเครื่องมือทรงพลังเชิงบวกที่ช่วยบำบัดรักษาอาการป่วยทางกายและจิตใจของผู้ป่วยได้อย่างมหัศจรรย์นั่นเอง

TIPS : จังหวะดนตรีที่พอดีที่ทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขหรือสารเอ็นดอร์ฟินออกมาทำให้เรามีความสดชื่น มีความตื่นตัว แจ่มใส มีบุคลิกภาพที่ดี มีความสุข ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายเป็นไปตามปกติ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง คือ จังหวะ 70-80 ครั้ง/นาที ซึ่งสัมพันธ์กับการเต้นของหัวใจนั่นเอง 

02 ดนตรี

หลับสบาย

เพราะอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคนป่วยหรือไม่ป่วย เป็นอาการที่ไม่น่ากลัว แต่ถ้าเป็นเรื้อรังก็ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนเราไม่น้อยทีเดียว

การกินยาเป็นทางออกหนึ่ง นอกเหนือจากนั้นก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ การหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท หรือการกินอาหารบางประเภทที่มีฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับ รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศการนอนเสียใหม่ให้ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการเปิดเพลงคลอเบาๆ ซึ่งช่วยให้คุณภาพการนอนดีขึ้น

เรื่องนี้ได้รับการการันตีจากผลการวิจัยโดย Harmat, Takács และ Bódizs ซึ่งได้ทำการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของดนตรีที่มีต่อคุณภาพการนอนหลับกับกลุ่มนักเรียนในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยเขาได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก ฟังเพลงก่อนนอน
กลุ่มที่สอง ฟังหนังสือเสียงก่อนนอน
กลุ่มที่สาม ไม่ฟังอะไรเลยก่อนนอน

ทำต่อเนื่องกันไปเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ก่อนจะทำการวัดคุณภาพการนอนหลับทั้งก่อนและหลังการฟังเพลง ผลปรากฏว่า นักเรียนที่ฟังเพลงก่อนนอนนั้น มีคุณภาพการนอนที่ดีที่สุดในนักเรียนทั้งหมด 3 กลุ่ม นั่นเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ดนตรีนั้นช่วยให้คุณภาพการนอนของคนเราดีขึ้น 

03 ดนตรี

ลดอ้วน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าดนตรีถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คนเราลดน้ำหนักได้ การันตีโดยผลการวิจัยของ Wansink และ Ittersum ซึ่งพบว่า ผู้คนที่รับประทานอาหารในร้านที่เปิดเพลงที่มีท่วงทำนองช้าๆ จะทำให้ลูกค้ารับประทานอาหารลดน้อยลงประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณอาหารที่รับประทานในร้านอื่น

สรุปได้ว่า เพลงที่มีท่วงทำนองช้าบวกกับแสงไฟที่สว่างน้อยเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายและสบายใจ จนทำให้คนเรารับประทานอาหารช้าลง และรู้สึกตัวมากขึ้นเมื่ออิ่ม นี่เองที่ทำให้การเปิดเพลงช้าๆ ในระหว่างมื้ออาหารช่วยให้เราลดน้ำหนักได้อย่างน่าทึ่ง

ในเมืองไทยเองก็เคยมีการจัดกิจกรรมลดความอ้วนด้วยดนตรีบำบัด หรือ Music therapy โดยวงออเคสตราจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้ดนตรีบำบัดขับกล่อมให้ผู้ฟังมีจิตใจโอนเอียงคล้อยตามคำแนะนำของนักโภชนาการ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้ ด้วยเชื่อว่าคนอ้วนหรือน้ำหนักเกินส่วนใหญ่นั้นต้องการลดอาหารกันทั้งนั้น แต่ร่างกายและจิตใจส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่พร้อม ทำให้ยังมีพฤติกรรมการกินเหมือนเดิม จึงคิดริเริ่มการใช้ดนตรีบำบัดเข้ามาช่วยให้ร่างกายและจิตใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินนั่นเอง

4. ดนตรี

เอกเซอร์ไซส์

จากหลากหลายผลการวิจัยต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การฟังเพลงในขณะออกกำลังกายนั้นช่วยให้เราสามารถออกกำลังกายได้นานขึ้นจริง! เพียงแต่ต้องเลือกเพลงให้เหมาะเจาะ ได้แก่

1) จังหวะต้องได้! ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบรูเนลในประเทศอังกฤษ พบว่าเพลงที่กระตุ้นให้คนอยากออกกำลังกายได้ต้องเป็นเพลงที่มีจังหวะความเร็วประมาณ 120-140 บีตต่อนาที

ขณะที่ในกลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วนหรือมีปัญหาเรื่องหัวใจ ควรเลือกใช้เพลงที่มีจังหวะช้า เช่น เพลงแจ๊ส หรือเพลงคลาสสิก ก็จะช่วยลดการทำงานของหัวใจและทำให้สามารถออกกำลังกายได้นานขึ้นนั่นเอง

2) เนื้อเพลงต้องโดน! เพลงที่มีเนื้อหาที่ชอบและร้องตามได้จะทำให้การออกกำลังกายไม่น่าเบื่อ เพราะการร้องเพลงขณะออกกำลังกายไปด้วยนั้นจะช่วยสร้างสมาธิ ทำให้เราจดจ่อกับการร้องเพลงและเพลิดเพลินไปกับเนื้อร้องจนลืมเหนื่อยได้ชั่วขณะ

ทั้งนี้ควรเลือกเพลงที่มีเนื้อร้องสร้างสรรค์ ช่วยให้อารมณ์และจิตใจของเรารู้สึกสงบและผ่อนคลาย ไม่ใช่เพลงเศร้า อกหัก ผิดหวัง เพราะนั่นอาจจะทำให้เสียน้ำตามากกว่า แทนที่จะเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย 

3) ความดังของเสียงเพลงต้องเหมาะสม เพราะความดังของเพลงขณะออกกกำลังกายนั้นมีผลต่อการทำงานของหัวใจ เสียงเพลงที่ดังจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว แต่ก็ไม่ควรจะดังเกินไปและไม่ควรนานเกินไป เนื่องจากจะทำให้หัวใจทำงานหนักเป็นเวลานาน อีกทั้งยังกระทบต่อสุขภาพหูของเราด้วย

ดังนั้นควรเปิดระดับเสียงให้เหมาะสม และค่อยๆ ลดระดับความดังลงเมื่อออกกำลังกายไปสักระยะ เพื่อผ่อนคลายร่างกายและไม่ให้หัวใจเราทำงานหนักเกินไปนั่นเอง  

5. ดนตรี

บรรเทาปวด

“เสียงดนตรีช่วยจัดการความเจ็บปวดได้!?!”

เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแมกกิลล์ ประเทศแคนาดา ซึ่งทำการทดลองกับกลุ่มคนที่ออกกำลังกาย โดยเปิดเพลงประกอบขณะออกกำลังกายไปด้วย พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองสามารถใช้พลังงานในร่างกายได้เกินขีดความสามารถปกติ อีกทั้งยังมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายน้อยกว่าตอนออกกำลังกายปกติที่ไม่มีเพลงประกอบ

นั่นทำให้สรุปได้ว่า นอกจากเสียงดนตรีจะช่วยให้ร่างกายของคนเรางัดพลังพิเศษที่อยู่ภายในออกมาใช้ได้แล้ว เสียงดนตรียังช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อต่างๆ ภายในร่างกายจากการออกกำลังกายได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ซึ่งมีอาการปวดเรื้อรัง พบว่า ผู้ป่วยที่ฟังเพลง 1 ชั่วโมงต่อวัน จะมีอาการปวดลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฟังเพลง และในสัปดาห์ที่ดีของการทดลองนี้ นอกจากผู้ป่วยที่ฟังเพลงจะมีอาการเจ็บปวดลดลงแล้ว อาการซึมเศร้าของพวกเขายังลดลงอีกด้วย นั่นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ดนตรีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการรักษาอาการปวดเรื้อรังได้ 

เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ดนตรียังเข้าไปช่วยลดอาการปวดและลดการใช้ยาแก้ปวดน้อยลง อีกทั้งยังทำให้เลือดลมดีขึ้น และหากได้ฟังเพลงที่ค่อยๆ เพิ่มความดังทีละน้อยจะทำให้เส้นเลือดขยาย เลือดลมเดินสะดวกยิ่งขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้ดนตรีกลายเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้นทุนต่ำ แต่กลับทรงประสิทธิภาพจนใครก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลย…

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://dsa.su.ac.th
https://www.wiki3.th
https://th.thpanorama.com
https://resourcecenter.thaihealth.or.th
https://mgronline.com
https://mgronline.com
https://themomentum.co
https://thaicam.go.th

แชร์ไปยัง
Scroll to Top