“มะเร็งเป็นแค่โรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งชีวิตของเรา
ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนล้วนมีสิทธิ์เลือกได้ว่า
เราจะดำรงอยู่กับมันด้วยความทุกข์
หรือจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข
ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับการเลือกของเราเท่านั้น”
ฟ้า ปราณีโชติรส อดีตพนักงานสายการบินแห่งหนึ่งที่มะเร็งเต้านมพลิกผันชีวิตเธอให้มารับตำแหน่งประธานกลุ่ม ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ จิตอาสา ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม สภากาชาดไทย เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่จบการรักษาและหายแล้ว รวมถึงบุคคลทั่วไปมาร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาโดยการชักนำจาก รศ. นายแพทย์กฤษณ์ จาฏามระ หัวหน้าศูนย์ฯ เมื่อปี 2552 ร่วมทำกิจกรรมเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโดยไม่ขอรับค่าตอบแทนใดๆ
“ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านมนั้นถูกจัดตั้งขึ้นโดย นายแพทย์กฤษณ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ว่า “ฉันอยากให้ศูนย์ฯ นี้ เป็นที่พึ่งของผู้หญิง” โดยมุ่งเน้นที่จะให้บริการผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้เทียบเท่าระดับสากลผ่านการให้บริการแบบ One-Stop Service เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด นั่นเป็นเหตุผลให้ทางศูนย์ฯ มีหน่วยงานแยกย่อยเพื่อทำหน้าที่อย่างชัดเจน หนึ่งในนั้นก็คืออาสาสมัครกลุ่ม ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ซึ่งมีเป้าประสงค์หลักเพื่อลดความกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความรู้ ความเข้าใจ ในการดูแลตนเองที่ถูกต้องในทุกระยะของการรักษา และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เกิดจากการสูญเสียเต้านมของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรือผมร่วงหมดจากการให้เคมีบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ผ่าน 3 ภารกิจหลัก คือ
“หนึ่ง การเข้ากลุ่มพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมซึ่งผ่านการรักษาหายแล้วกับผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในระหว่างการรักษา รวมถึงญาติหรือคนรอบข้างผู้ป่วย โดยจะมีพยาบาลผู้ชำนาญการด้านมะเร็งเต้านมของศูนย์ฯ เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ความรู้ด้านมะเร็งเต้านมและขั้นตอนการรักษา
“สอง กลุ่มจะมาร่วมกันตัดเย็บเต้านมเทียม (ออกแบบโดยนายแพทย์ผุู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านมของศูนย์ฯ) และผ้าโพกศีรษะสำเร็จรูป พร้อมทั้งแจกวิกผม เต้านมเทียม เสื้อชั้นใน ผ้าโพก และหมวกไหมพรม ให้ผู้ป่วยฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมตัดแต่งให้สวยงามเหมาะสมกับผู้ป่วยทุกวันพุธและพฤหัสบดี
“ภารกิจสุดท้ายคือการช่วยเหลืองานของศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม เช่น สลัมโปรเจกต์ โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกให้ผู้คนในชุมชนแออัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และทางกลุ่มยังได้ร่วมทำ CSR สอนเย็บเต้านมเทียมให้กับหน่วยงานที่ขอมา และบรรยายกิจกรรมของกลุ่มให้กับกลุ่มพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ ฯลฯ โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดจากแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ส่วนตัวของอาสาสมัครในกลุ่มร่วมกันลงขันตามกำลังศรัทธา จาก 5 ชีวิตในวันแรกเริ่มตั้งกลุ่ม วันนี้เรามีจิตอาสากว่า 30 ชีวิต นั่นทำให้เราเชื่อมั่นว่า การให้…ไม่มีวันสูญเปล่า ยิ่งเราให้มากเท่าไร เราก็จะยิ่งได้รับพลังบวกมากเท่านั้น ทำให้วันนี้เรายังคง ‘ให้’ ต่อไปเท่าที่กำลังเราพอมี”
นางฟ้า ‘กู้ใจ’ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
กว่า 12 ปีมาแล้ว ที่เธอลาออกจากงานประจำที่เธอรักและผันตัวเองมาทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยไม่มีเงื่อนไขหรือรายได้ใดๆ นอกจากความสุขเล็กๆ จากรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งที่เธอได้ให้ความช่วยเหลือ โอบกอด และปลอบโยน
“ครั้งหนึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหญิงอายุราวๆ 28 ปี ที่สูญเสียเต้านมไป 1 ข้าง หน้าตาเศร้ามาก เดินมาหยุดอยู่ที่หน้าห้องส่งเสริมภาพลักษณ์ของเรา เราสังเกตเห็นเขามองไปที่ตู้โชว์วิกผม ผ้าโพกศีรษะ เต้านมเทียม เสื้อชั้นใน ฯลฯ จึงรู้แล้วว่าเขาต้องอยากได้อะไรสักอย่างในตู้นั้น จึงค่อยถามไถ่ไปเรื่อยๆ ว่า อยากได้วิกไหม เขาก็ส่ายหัว อยากได้หมวกไหม เขาก็ส่ายหัวอีก แต่พอเราถามว่า อยากได้เสื้อชั้นในไหม คราวนี้เขานิ่งแล้วหันมาพูดกับเราว่า พี่! หนูมีเงินอยู่แค่นี้ พอซื้อเสื้อในไหม พูดจบเขาก็แบมือออกมา ในมือเขากำเงินอยู่ 200 บาท ตอนนั้นเราสะอึกเลย รีบตอบกลับไปว่า ไม่เสียเงินนะ ฟรีหมด น้องอยากได้อะไร บอกพี่ได้เลย ยังไม่ทันพูดจบ เขาก็ร้องไห้โผเข้ามากอดเราทันที เอาแต่ถามซ้ำๆ พี่ให้หนูจริงๆ เหรอ เราก็บอกว่า ให้จริงๆ เขาเงยหน้ามายิ้มให้ทั้งน้ำตา
“ที่ประทับใจกว่านั้นก็คือหลังจากได้รับเสื้อชั้นในแล้ว เขาก็ถามถึงที่มาของกลุ่ม พอรู้ว่าเป็นกลุ่มอาสาสมัครเท่านั้นแหละ เขาขอเอาเงินสองร้อยบริจาคให้ทางกลุ่ม ตอนนั้นเราแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะขนาดเขาไม่ค่อยมี ยังมีใจที่อยากทำบุญ เราจึงบอกว่า ไม่เป็นไร หยอดเงินในกล่องแค่ 10 บาทก็พอ ที่เหลือเอาไปดูแลตัวเองก่อน หายดีค่อยกลับมาใหม่นะ วันนั้นเขาหยอดเงินลงกล่องบริจาค 10 บาท แล้วเดินจากไปพร้อมรอยยิ้ม จากเคสนี้เองทำให้กลุ่มคิดเลยว่าเราคงเลิกกลุ่มนี้ไม่ได้ เพราะถ้าผู้ป่วยที่มีทุนทรัพย์น้อย ไม่สามารถจะจัดหาเต้านมเทียมมาแทนเต้านมที่ถูกตัดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่หวงแหนที่สุดสำหรับผู้หญิง ผู้ป่วยจะขาดความมั่นใจและจะอยู่ในความเศร้าไปอีกนาน นี่คือภารกิจชีวิตที่เราต้องทำจนกว่าจะทำไม่ไหว
“นอกจากนี้ก็ยังมีเคสผู้ป่วยอีกนับไม่ถ้วนที่ปฏิเสธการรักษา ซึ่งนั่นถือเป็นอีกภารกิจหลักของกลุ่มเรา ที่ต้องพูดโน้มน้าวให้เขาเปลี่ยนความคิด ปรับมุมมอง และให้กำลังใจกัน กระทั่งเป็นพี่เลี้ยงตลอดการรักษา หลายๆ เคสเราต้องไปนั่งกุมมือกันระหว่างให้คีโมจนจบการรักษา อีกนับไม่ถ้วนที่ต้องคอยรับโทรศัพท์ปรับทุกข์กันตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ที่ประทับใจมากๆ ก็คือ มีอยู่เคสหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องตัดเต้านมทิ้ง แต่ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยังไม่กล้าบอกเขาเพราะประเมินดูแล้วเขาคงรับไม่ได้ จึงส่งมาให้เราช่วยพูดคุยก่อน
“ด้วยก่อนหน้านี้เคยมีผู้ป่วยที่รับไม่ได้กับผลการวินิจฉัยของแพทย์แล้ววิ่งเตลิดออกไปเลยก็มี ทางศูนย์ฯ จะมีพยาบาลคอยให้การดูแลพุูดคุยกับผู้ป่วย แต่หากประเมินแล้วผู้ป่วยจะยอมรับไม่ได้ ก็จะส่งมาให้อาสาสมัครที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมของกลุ่มเราให้ช่วยพูดคุยก่อน ซึ่งเราก็ชวนคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก่อนจะเล่าประสบการณ์ที่เราเคยผ่านการเป็นมะเร็งมาก่อน คุยจนเขาเริ่มทำใจได้ จากนั้นจึงส่งไปพบคุณหมอ พอเขารู้ผลเท่านั้น เขาก็ร้องไห้วิ่งมากอดและขอบคุณเราที่คุยกับเขาก่อน เพราะไม่อย่างนั้นเขาคงหนีเตลิดไปเหมือนกัน เคสนี้เราก็เป็นพี่เลี้ยงให้เขาอยู่หลายเดือนก่อนจะจบการรักษา ทุกวันนี้ก็ผ่านมากว่า 11 ปีแล้ว เขายังคงดำเนินชีวิตปกติ
“เหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจที่อย่างน้อยเราก็ได้ช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความสุข บางคนพอหายจากมะเร็งแล้วก็มาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนอื่นต่อไป สิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม? ก็ตอบได้เลยว่าเหนื่อย แต่รอยยิ้มและความสุขของผู้ป่วยที่เราได้ช่วยเหลือนี่แหละคือกำลังใจสำคัญ ที่ทำให้เรายังทำอยู่และอยากทำไปจนนาทีสุดท้าย”
มะเร็งพลิกชีวิต
“โดยส่วนตัวไม่เคยตรวจมะเร็งเต้านมมาก่อนเลย แต่ด้วยความที่มีโรคประจำตัวคือโรคแพ้ภูมิตัวเองชนิดหนึ่งที่ทำให้เส้นประสาทตาและเส้นประสาทที่ 5 และ 7 เกิดการอักเสบ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการทานยากดภูมิยาอีมูแรน (Imuran) แล้วบังเอิญไปอ่านบทความหนึ่งพบว่า คนที่ทานยากดภูมิจะทำให้ภูมิต่ำ ถ้ามีเชื้อโรคที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิดปกติก็จะทำให้เราไม่มีภูมิเพียงพอที่จะจัดการเซลล์ผิดปกตินี้ได้ ซึ่งจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม จึงเห็นควรให้ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองทุกเดือน นั่นเองที่ทำให้เราเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเองเรื่อยมา ตรวจอยู่ 2 ปีเต็ม วันหนึ่งเราก็คลำไปเจอก้อนที่เต้านม ตอนนั้นประมาณต้นเดือนมกราคม 2546
“เราใช้วิธีการตรวจโดยการคลำอยู่ 3 ท่า แต่คลำไม่เจอ จนท่าที่ 4 คือท่าที่ใช้หมอนหนุนแล้วคลำ ปรากฏว่าเจอ! นั่นแสดงว่าก้อนยังมีขนาดเล็กมาก แทนที่จะไปพบหมอทันที แต่ด้วยช่วงนั้นมีงานเยอะและต้องสะสางงานให้เสร็จจึงปล่อยเวลาผ่านไป จนปลายเดือนพฤษภาคม 2546 กลับมาคลำเต้านมอีกที ปรากฏว่าไม่ว่าท่าไหนก็คลำเจอทุกท่า นั่นแหละจึงรีบเคลียร์งานและรีบไปพบหมอ
“หมอประจำที่รักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองก็พาเราไปหาคุณหมอกฤษณ์ พอคุณหมอตรวจโดยทำ Needle Biopsy คือ การเจาะตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็ม ผลตรวจออกมาก็เป็นไปตามที่คาดไว้คือเราเป็นมะเร็งเต้านม ตอนนั้นจิตตกวูบ ความรู้สึกเหมือนคนตกเหว อยากร้องไห้แต่ก็ร้องไม่ออก มันห่วงไปหมด โดยเฉพาะลูกสองคนที่กำลังอยู่ในวัยเรียน คนเล็กยังอยู่มัธยมต้น ส่วนคนโตกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย
“ยิ่งไปกว่านั้น พอสามีรู้ว่าเราเป็นมะเร็ง เขายิ่งเศร้าหนักกว่าคนป่วยอย่างเราเสียอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องเข้มแข็ง ถ้าเราจิตตก ทุกคนก็จะแย่ไปด้วย เราเลยตั้งสติใหม่ สร้างกำลังใจให้ตัวเอง จนเรากล่าวกับสามีว่า อะไรเอ่ยแก่ง่ายตายยาก ทำให้เราทั้งคู่หัวเราะและคลายความเครียดไปได้ ซึ่งตอนนั้นก็เวลาเลยมาตีสองแล้ว เราก็บอกกับสามีว่า พร้อมจะรักษา ไม่ต้องห่วง แม่ต้องหาย
“วันถัดมา เราก็ตัดสินใจบอกลูกๆ เพราะเรารู้สึกว่าแม้เขาจะยังเด็ก แต่เขามีสิทธิ์ที่จะรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อให้เขาได้เตรียมตัวรับมือกับอะไรต่อมิอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต วันนั้นเราบอกกับพวกเขาด้วยอาการที่ปกติที่สุด เพื่อไม่ให้เขาตื่นตระหนกตกใจ และพยายามอธิบายทุกอย่างให้พวกเขาเข้าใจว่า มะเร็งก็แค่โรคชนิดหนึ่งที่ต้องรักษา และสามารถรักษาหายขาดได้ แม้เรายังไม่รู้เลยว่าเราเป็นมะเร็งระยะไหน แต่เราก็เชื่อมั่นในการรักษาของหมอ”
มะเร็งสอน…
หลังการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม พบก้อนเนื้อร้ายขนาด 2 เซนติเมตร ที่หน้าอกด้านขวา เธอพักฟื้นราว 20 วัน ก็เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการให้เคมีบำบัด 6 เข็ม ก่อนจะฉายแสงต่ออีก 30 ครั้ง รวมถึงกินยาต้านฮอร์โมนอีก 6 เดือนเต็ม แทนที่จะเป็น 5 ปี ด้วยสาเหตุของโรคประจำตัวอย่างแพ้ภูมิตัวเอง จนถึงวันนี้มะเร็งก็ไม่เคยกลับมาหาเธออีกเลยกว่า 18 ปีมาแล้ว
“ด่านหินที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการให้คีโม โดยเฉพาะเข็มแรกซึ่งถือเป็นเข็มแห่งการเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และเป็นเข็มแห่งการก้าวข้ามความกลัวสู่การยอมรับว่า อะไรจะเกิด…มันก็ต้องเกิด จำได้เลยว่าอาการข้างเคียงจากยาทำให้เราทั้งพะอืดพะอม ปั่นป่วนมวนท้องไปหมด นอนหลับไม่ได้อยู่ 2 คืน เหมือนร่างกายเราต่อต้านยา ตอนนั้นเราใช้วิธีสวดมนต์ นั่งสมาธิ และหลับไปในสมาธิ
“ส่วนอาหารกินได้ปกติแต่ไม่ค่อยอร่อย จึงต้องใช้วิธีบอกกับตัวเองว่า ต้องกินให้อร่อย กินเพื่อลูก เราต้องหาย ท่องไว้อย่างนั้นอยู่ตลอด อาหารหมักดอง แปรรูป งดหมด ให้เหลือเฉพาะอาหารสด สะอาด เน้นโปรตีนเป็นพิเศษ แต่ที่เป็นไม้เด็ดเคล็ดลับส่วนตัวที่ทำให้ผ่านการรักษาครั้งนี้มาได้ น่าจะเป็น ‘เสียงหัวเราะ’
“จำได้เลยว่าช่วงการให้คีโมนั้น เราให้สามีไปเช่าซีดีตลกมาดูทั้งวัน ดูไปหัวเราะไป หัวเราะจนลืมแพ้ ลืมอาเจียนไปเลย นั่นทำให้เราเรียนรู้เลยว่า ความสุขทำให้เราชนะได้ทุกอย่าง ฉะนั้น อย่าไปทุกข์เศร้ากับมะเร็งอยู่เลย หน้าที่หมอคือรักษาโรคเรา หน้าที่เราคือทำตัวให้มีความสุขเท่านั้นก็พอ ทำอะไรก็ได้ที่เรามีความสุข ใครชอบร้องเพลงก็ร้องไป ใครชอบปลูกต้นไม้ก็ปลูกไป สิ่งเหล่านี้มันเบนความสนใจเราออกจากความทุกข์ บางคนไม่ชอบทำอะไรเลย ก็เอาลูกหรือคนที่รักมาสร้างความสุข สร้างกำลังใจให้ตัวเอง ถ้าไม่มีลูกก็นึกถึงตัวเอง บอกตัวเองเข้าไว้ว่า บางทีพระเจ้าก็ไม่ได้กำหนดให้เรามาตายเพราะโรคนี้หรอก จะมัวปล่อยให้ตัวเองทุกข์อยู่กับมะเร็งไปทำไม
“เราใช้เวลารักษาตัวไปทั้งหมด 7 เดือนเต็ม จำได้เลยว่าวันสิ้นสุดการรักษาคือการฉายแสงครั้งสุดท้าย คือ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 พอฉายแสงเสร็จก็มาฉลองปีใหม่กับเพื่อนๆ ที่ออฟฟิศ และหลังจากนั้นไม่นาน คุณหมอกฤษณ์ก็ชักชวนให้เรามาเป็นจิตอาสา ช่วยงานของทางศูนย์ฯ อย่างไม่เป็นทางการ โดยเริ่มจากการเป็นที่ปรึกษาทางออนไลน์ ทำหน้าที่โทรศัพท์พูดคุย แนะนำการดูแลตัวเองระหว่างการรักษา และให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2547 ก่อนจะเออร์ลีรีไทร์และก่อตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนขึ้นในปี 2552 ทุ่มเทให้กับงานจิตอาสาเพียงอย่างเดียวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”
ชีวิตที่อยู่เพื่อ ‘เพื่อน’
เป็นเวลากว่า 12 ปีมาแล้วที่เธอทุ่มเททำงานช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอย่างมุ่งมั่น แม้บางทีจะมีอุปสรรคบ้างเล็กน้อยตามปกติของการทำงาน แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เธอย่อท้อต่อสิ่งเหล่านั้น ตรงกันข้ามเธอกลับนำมันมาเรียนรู้ ก้าวข้าม และพัฒนา เพื่อให้กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น รวมถึงขยายการช่วยเหลือไปยังผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่น
“สำหรับเราแล้ว มะเร็งเต้านมก็เหมือนโรคชนิดหนึ่งที่มีในโลกนี้มานานแล้ว เมื่อเป็นแล้วเราก็แค่รักษา ยิ่งทุกวันนี้ที่วิทยาการสมัยใหม่พัฒนาการมาไกล กระบวนการรักษามะเร็งก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดอีกแล้ว ยิ่งรู้เร็ว รีบรักษา โอกาสหายก็จะสูงขึ้น แถมขั้นตอนการรักษาก็ลดลง ฉะนั้น อย่ากลัวมะเร็ง ถ้าพบความผิดปกติเมื่อไร รีบไปพบแพทย์ รักษาเร็ว หายสูง
“หัวใจสำคัญที่เราจะชนะมะเร็งได้มีอยู่แค่ 3 อย่าง คือ ยอมรับ ตั้งสติ และปรับตัว ยอมรับให้ได้ก่อนว่าเราเป็นมะเร็งแล้ว จากนั้นตั้งสติให้พร้อมเผชิญกับการรักษาโรคมะเร็ง เพราะจริงๆ แล้วมะเร็งเป็นแล้วหายได้ เพียงแต่ต้องมีสติพร้อมรับมือ รวมถึงปรับตัวให้สอดคล้องกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการรักษา อาการข้างเคียงจากการรักษา กระทั่งการดำเนินชีวิตหลังการรักษาสิ้นสุดลงที่ต้องปรับเปลี่ยนไปบ้าง เช่น มีเวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป เพื่อให้มะเร็งไม่กลับมาเยือนอีก
“แต่สิ่งเหล่านี้ หากคนยังไม่เคยผ่านสถานการณ์นั้นมาก่อนก็จะรู้สึกว่า พูดง่ายแต่ทำยาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนยังคงต้องทำกิจกรรมจิตอาสาจนถึงทุกวันนี้ เพราะมีผู้ป่วยไม่น้อยที่ยังรับมือไม่ได้กับมะเร็งที่เข้ามาเยือนในชีวิตเขา บางคนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ บางคนไม่พร้อมปรับตัวกับการรักษาหรืออาการข้างเคียง หนักกว่านั้นคือบางคนไม่วางใจที่จะพูดคุยกับใครเลย แม้แต่กับหมอหรือคนที่เขารักด้วยซ้ำ
“มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมคนหนึ่ง เธอมีสามีที่ดีมาก คอยดูแลใส่ใจทุกอย่าง แต่เธอก็ยังรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรบางอย่าง เช่น จะคุยเรื่องมะเร็งก็คุยกับใครไม่รู้เรื่อง จนเมื่อได้มาเข้ากลุ่มพูดคุยกับอาสาสมัครซึ่งเป็นอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน เธอสารภาพเลยว่า เธอมีความสุขมากขึ้น เพราะเธอเหมือนเจอเพื่อนที่รู้ใจ เข้าใจ เป็นพวกเดียวกันกับเธอ
“นี่คือภารกิจหลักของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน คือ การเป็นเพื่อน ช่วยเหลือเพื่อน และพร้อมเยียวยาใจเพื่อนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคนให้ห่างไกลจากความเครียด เพราะความเครียดเป็นบ่อเกิดของมะเร็ง ไม่อยากเป็นมะเร็งหรือกลับมาเป็นมะเร็งอีก จงยิ้มเข้าไว้เพราะมะเร็งกลัวยิ้มเราที่สุด” เธอทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
ปัจจุบัน นอกจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแล้ว ทางกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนยังขยายความช่วยเหลือไปยังผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่น โดยการให้วิกผม หมวก ผ้าโพกศีรษะ แก่ผู้ป่วยทุกคนที่เผชิญผลข้างเคียงจากการรักษาจนทำให้ผมร่วง หรือแม้แต่ผู้ป่วยโรคดึงผม (Trichotillomania) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางจิตเวชในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งมีอาการดึงผมตัวเองจนศีรษะล้านเป็นหย่อมๆ ทางกลุ่มก็ยินดีให้วิกผม หมวก ผ้าโพกศีรษะ ให้ฟรีแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยผู้ป่วยสามารถขอรับวิกผม หมวก ผ้าโพกศีรษะ เต้านมเทียม และเสื้อชั้นในได้ที่ กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 10.30-14.00 น. ณ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช (ชั้นใต้ดิน) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0-2256-4991-2 ต่อ 1022 ทั้งนี้ ขอให้ผู้ป่วยมารับด้วยตัวเอง เนื่องจากจะต้องปรับแต่งวิกผมให้เข้ากับรูปหน้าของผู้ป่วย และลองเต้านมเทียมเพื่อให้เข้ากับสรีระอย่างสวยงามและเหมาะสม แต่ในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ ทางกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนปิดทำการจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ
#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC