
การรักษามะเร็งในปัจจุบันนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งส่วนมากจะทำด้วยวิธีการผสมผสานโดยใช้ทีมแพทย์สหสาขา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การรักษาด้วยการฉายรังสี และรักษาด้วยการให้ยา โดยปัจจัยที่แพทย์จะนำมาพิจารณาในการรักษามะเร็งเต้านมนั้นมี 2 ปัจจัย คือ
1. ปัจจัยด้านตัวโรคมะเร็ง
1.1) มะเร็งเต้านมชนิดใด ซึ่งในปัจจุบันมะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1) ตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก และ ตัวรับเฮอร์ทูเป็นลบ พบมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วย คือ ราว 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด ซึ่งการใช้ยาต้านฮอร์โมนจะเป็นการรักษาหลัก
2) ตัวรับเฮอร์ทูเป็นบวก (HER2+)
3) ตัวรับฮอร์โมนและเฮอร์ทูเป็นลบ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘ทริปเปิลเนกาทีฟ’ (Triple-negative breast cancer : TNBC)
1.2) มะเร็งมีการกระจายไปตำแหน่งใด ระยะใด ซึ่งปกติก็จะแบ่งมะเร็งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1-4 โดยการรักษาแต่ละระยะก็จะแตกต่างกันไป ดังนี้
มะเร็งระยะแรก
(ระยะที่ 1-3)
การรักษาหลักก็คือการผ่าตัด และการรักษาเสริมด้วยยาและ/หรือการฉายรังสีรักษาหลังผ่าตัด โดยการรักษาด้วยยาแบ่งเป็น
• รักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว หรือยาต้านฮอร์โมนอย่างเดียว
• รักษาด้วยยาเคมีบำบัดก่อน แล้วตามด้วยยาต้านฮอร์โมน
• รักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับยามุ่งเป้าอย่างเดียวหรือตามด้วยยาต้านฮอร์โมน
สำหรับการรักษาเสริมด้วยยานั้น สามารถให้การรักษาได้ทั้งก่อนหรือหลังการผ่าตัด เช่น
ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก สามารถใช้วิธีการผ่าตัด จากนั้นก็รักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด และฉายรังสีเมื่อมีข้อบ่งชี้ ตามลำดับ
ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ อาจจะรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อน แล้วค่อยเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด ซึ่งหลายครั้งช่วยให้แพทย์ผ่าตัดได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งในบางรายสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าให้คนไข้ได้ แทนที่จะต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด เป็นต้น หลังจากนั้นจึงพิจารณาการรักษาหลังผ่าตัดอีกครั้งตามผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาเป็นรายบุคคล เช่น รักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัด, ยาต้านฮอร์โมนหรือยามุ่งเป้าหลังการผ่าตัด ส่วนการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษา จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้เป็นรายบุคคล เป็นต้น
มะเร็งระยะแพร่กระจาย
(ระยะที่ 4)
มะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม เช่น ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง ปอด ตับ กระดูก สมอง ฯลฯ ซึ่งการรักษาหลักจะไม่ใช่การผ่าตัดแล้ว แต่การรักษาหลักจะเป็นการรักษาด้วยยา ได้แก่ ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมนหรือยามุ่งเป้า สำหรับการฉายรังสีรักษานั้นพิจารณาในการรักษาแบบประคับประคอง ในรายที่โรคมะเร็งกระจายไปที่อวัยวะบางแห่ง เช่น สมอง หรือกระดูก
จุดมุ่งหมายของการรักษาเป็นอย่างไร เช่น หากเป็นมะเร็งเต้านมระยะแรก (ระยะที่ 1-3) จุดประสงค์ของการรักษาเพื่อการหายขาดจากโรคมะเร็ง สำหรับมะเร็งระยะแพร่กระจาย (ระยะที่ 4) เป้าหมายของการรักษาไม่เน้นเรื่องการหายขาดจากโรค แต่เพื่อเพิ่มระยะเวลารอดชีวิต เพิ่มระยะเวลาควบคุมโรค ควบคุมอาการของโรค เพิ่มคุณภาพชีวิต
2. ปัจจัยด้านตัวผู้ป่วย
เช่น อายุ, โรคประจำตัว, สภาพร่างกายของผู้ป่วย ในกรณีผู้ป่วยที่อายุมากและมีโรคประจำตัว จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ทนต่อการรักษาได้น้อยกว่ากลุ่มที่มีอายุน้อยกว่าและไม่มีโรคประจำตัว เป็นต้น