หากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่อยากรับยาเคมีบำบัดได้หรือไม่

การรักษามะเร็งเต้านมนั้นขึ้นกับระยะของโรค การกระจายของโรค และชนิดของมะเร็งเต้านม ในมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเป็นบวก การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนเป็นการรักษาหลัก ดังนั้น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจไม่ได้เป็นการรักษาหลัก

ในขณะที่ถ้าผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมชนิดทริปเพิลเนกาทีฟ หรือชนิดตัวรับสัญญาณเฮอร์ทูเป็นบวก การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาหลัก ดังนั้น การปฏิเสธการให้เคมีบำบัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยระยะกระจาย จะทำให้โรคลุกลามมากขึ้น อาการของโรคมะเร็งมากขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อระยะเวลาการรอดชีวิตที่สั้นลง

ผลที่จะตามมา…หากผู้ป่วยไม่ต้องการรับเคมีบำบัด

ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
ระยะแรก

ถ้าไม่ให้ยาเคมีบำบัด อาจทำให้โรคมะเร็งกลับเป็นซ้ำหลังการรักษาด้วยการผ่าตัดมากขึ้น ซึ่งเมื่อโรคกลับเป็นซ้ำ โอกาสหายขาดจากมะเร็งเต้านมก็จะน้อยลง

ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
ระยะกระจาย

จะทำให้โรคลุกลามมากขึ้น อาการของโรคมะเร็งมากขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อระยะเวลาการรอดชีวิตที่สั้นลง

ข้อดีของยาเคมีบำบัดที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมควรรู้ 

‘ยาเคมีบำบัด’ ถือเป็นการรักษามาตรฐานหลักของมะเร็งเต้านม ทั้งในระยะแรกและระยะกระจาย



ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
ระยะแรก

การรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด ช่วยทำให้โอกาสการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมลดลง โดยเฉพาะในมะเร็งเต้านมชนิดทริปเพิลเนกาทีฟ และชนิดตัวรับสัญญาณเฮอร์ทูเป็นบวก แต่ในมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเป็นบวกนั้น ยาต้านฮอร์โมนเป็นการรักษาหลัก การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แนะนำในรายที่มีความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำสูง เช่น มะเร็งก้อนใหญ่ ก้อนมะเร็งแบ่งตัวเร็ว หรือมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองรักแร้

ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
ระยะกระจาย

น่าจะเป็นเรื่องช่วยทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น ทำให้อาการของโรคมะเร็งลดลง และที่สำคัญส่งผลโดยตรงต่อระยะเวลาการรอดชีวิตที่ยาวนานมากขึ้น

รศ. พญ.นภา ปริญญานิติกูล
อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา หน่วยมะเร็งวิทยา
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top