การรักษามะเร็งเต้านมด้วย ‘ภูมิคุ้มกันบำบัด’ คืออะไร

ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นยาใหม่ที่พัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการรักษามะเร็ง โดยออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ดังนั้น ยาดังกล่าวจึงออกฤทธิ์ที่เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่ที่เซลล์มะเร็งโดยตรง เนื่องจากพบว่ามะเร็งหลายๆ ชนิดเกิดจากภาวะที่ภูมิต้านทานร่างกายไม่ตอบสนองต่อเซลล์ที่ผิดปกติ ทำให้เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งต่างจากยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) และยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) โดยยาเคมีบำบัดมีกลไกการออกฤทธิ์หลักจะยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว ได้แก่ เซลล์มะเร็ง ไม่ได้มีผลต่อเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ในขณะที่ยาพุ่งเป้านั้นมีกลไกการออกฤทธิ์หลักจะยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่มีเป้า ซึ่งก็คือเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ที่มียีนผิดปกตินั่นเอง ไม่ได้มีผลต่อเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

ทั้งนี้ พบว่าภูมิคุ้มกันบำบัดจะออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายที่ตำแหน่งของเม็ดเลือดขาว โดยกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่จำเพาะมีจำนวนมากขึ้นและเข้ามาทำลายเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่เกิดโรคหรือบริเวณต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง ฉะนั้น จุดเด่นของการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ก็คือการรักษาที่ให้เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายทำลายเซลล์มะเร็งเอง ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติที่อาจทำให้โรคมะเร็งบางชนิดหายขาดได้ แตกต่างจากการใช้ยาเคมีบำบัดและยาพุ่งเป้าที่การทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง ถึงแม้ว่าระยะแรกเซลล์มะเร็งมีขนาดที่เล็กลงตอบสนองการรักษา แต่พบว่าส่งผลต่อการดื้อทั้งยาเคมีบำบัดและยาพุ่งเป้าตามมาในอนาคต ทำให้การรักษาสองแบบนี้ไม่สามารถทำให้โรคมะเร็งระยะกระจายหายขาดได้ แต่ข้อด้อยของการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ก็คือระยะเวลาตอบสนองช้ากว่ายาเคมีบำบัดและยาพุ่งเป้า เนื่องจากต้องกระตุ้นเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันก่อน และพบว่าการรักษาวิธีนี้จำกัดอยู่ในมะเร็งบางชนิดในระยะกระจายเท่านั้น

การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดนั้น จะเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความหลากหลาย มะเร็งเต้านมชนิดทริปเปิลเนกาทีฟ (Triple negative) ซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมกลุ่มที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกับร่างกายมากกว่ากลุ่มอื่น และจากหลายการศึกษาของยากระตุ้นภูมิคุ้มกันร่วมกับยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ทั้งระยะก่อนลุกลาม (locally advanced) และระยะแพร่กระจาย (advanced) ในปัจจุบันพบว่า ถ้าตรวจพบการแสดงออกของโปรตีน PD-L1 ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าการให้ยาภูมิคุ้มกัน เช่น Pembrolizumab ร่วมกับยาเคมีบำบัดได้ผลการรักษาที่ดีกว่าทั้งในเรื่องการตอบสนองการรักษา, ระยะเวลาก่อนที่โรคจะลุกลามและระยะเวลาการรอดชีวิต ดีกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว และการรักษาดังกล่าวเป็นการรักษามาตรฐานในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงของการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ ส่วนมากเกิดจากการกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันจนทำให้อวัยวะหลายชนิด ได้แก่ ผิวหนัง, ระบบทางเดินอาหาร, ตับ, ปอด, ต่อมไร้ท่อ และอื่นๆ มีการอักเสบ โดยพบอุบัติการณ์การเกิดไม่มาก ผลข้างเคียงระดับสามขึ้นไปน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่มากพอที่จะระบุว่าปัจจัยใดเป็นตัวกระตุ้นการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าว ดังนั้น การให้ความรู้ เฝ้าระมัดระวัง คอยสังเกตอาการในระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มนี้ เพื่อจะได้วินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนอย่างรวดเร็วตั้งแต่แรก จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลผลข้างเคียงที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การดูแลรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผลข้างเคียงและการอักเสบของอวัยวะที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

 รศ. พญ.นภา ปริญญานิติกูล
อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา หน่วยมะเร็งวิทยา 
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top