ค่าเลือดมะเร็งคืออะไร สำคัญอย่างไร

ค่าเลือดมะเร็งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Tumor marker ซึ่งเกิดจากมะเร็งผลิตโปรตีนบางอย่างที่สามารถตรวจได้ทางเลือด จึงทำให้เราพบว่าค่าเลือดนี้มีความสัมพันธ์กับมะเร็ง เช่น CEA, CA153, CA19-9, CA125, AFP, LDH เป็นต้น แต่ค่าเลือดมะเร็งนี้ไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจงในการตรวจมะเร็ง 100 เปอร์เซ็นต์ การตรวจค่าเลือดมะเร็งอย่างเดียวไม่สามารถบอกได้ว่า เราเป็นมะเร็งหรือไม่

สมมติว่าคนคนหนึ่งมีค่าเลือดมะเร็งสูงกว่าค่าเลือดปกตินั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะเป็นมะเร็งเสมอไป เพราะจากประสบการณ์ของหมอเอง ผู้ป่วยหลายคนที่ตรวจพบว่ามีค่าเลือด CEA ที่สูงขึ้น แต่เมื่อตรวจติดตามเป็นเวลาหลายปีก็ไม่พบว่ามีมะเร็งเกิดขึ้นในร่างกายแต่อย่างใด สรุปได้ว่า ค่าเลือดมะเร็งนั้นไม่ได้บ่งถึงว่าร่างกายของเรามีมะเร็งเสมอไป

ในทางเดียวกัน บางครั้งคนที่เป็นมะเร็งก็ไม่สามารถตรวจพบค่าเลือดมะเร็งในเลือดได้ ดังนั้น ค่าเลือดมะเร็งจึงไม่มีความจำเพาะเจาะจง คำว่า ไม่มีความจำเพาะเจาะจง หมายถึง บางคนเป็นมะเร็งระยะที่ 4 มีปริมาณมะเร็งกระจายอยู่ตามร่างกายมากมาย แต่ค่าเลือดมะเร็งอยู่ในเกณฑ์ปกติก็มี หรือบางคนค่าเลือดมะเร็งอยู่ในระดับสูง แต่ไม่เป็นมะเร็งก็มี เพราะค่าเลือดมะเร็งไม่ได้จำเพาะกับมะเร็งอย่างใดอย่างหนึ่ง และมะเร็งแต่ละชนิดอาจจะมีหรือไม่มีค่าเลือดมะเร็งก็ได้

ที่สำคัญ ค่าเลือดมะเร็งของบุคคลหนึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบกับอีกบุคคลหนึ่งได้ เช่น ฉันมีค่าเลือดมะเร็ง 20 ส่วนเธอมีค่าเลือด 10 ฉันเป็นมะเร็งหนักกว่าเธอ เปรียบเทียบอย่างนี้ไม่ได้ แต่ค่าเลือดมะเร็งนั้นสามารถนำมาเปรียบเทียบในคนคนเดียวได้ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งท่านหนึ่งเคยมีค่าเลือดมะเร็ง 100 แล้วหลังทำการรักษา ค่าเลือดมะเร็งลดลงเหลือเพียง 5 นั่นแสดงว่า มะเร็งตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องยืนยันผลโดยการตรวจสแกนร่วมด้วย

มาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมคุณหมอยังตรวจค่าเลือดมะเร็ง? เนื่องจากในบางโรค ค่าเลือดมะเร็งสามารถบอกแนวโน้มการตอบสนองต่อการรักษาได้ หรือค่าเลือดที่ผิดปกตินั้นทำให้คุณหมอส่งตรวจเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมได้ เช่น หากคนไข้มีประวัติเรื่องของมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นและรักษาครบแล้ว มักจะมีการตรวจติดตามค่าเลือดมะเร็ง CEA หรือ CA153 หากค่าเลือด 2 ตัวนี้ปกติมาโดยตลอด แต่พอมาตรวจติดตามครั้งล่าสุด มีแนวโน้มที่สูงขึ้น คุณหมออาจจะมีการส่งตรวจอัลตราซาวด์และแมมโมแกรม หรือซีที สแกน (CT Scan) เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุว่ามีสิ่งผิดปกติในร่างกายหรือเปล่า

ดังนั้น ค่าเลือดมะเร็งเหมือนเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่คุณหมอเอาไว้ประเมินหรือตรวจติดตามว่า มะเร็งนั้นมีการตอบสนองต่อการรักษาหรือเปล่า หรือมีความผิดปกติในร่างกายหรือเปล่า ทั้งนี้ หมอขอยกตัวอย่างค่าเลือดมะเร็งที่มักตรวจติดตามผลบ่อยๆ ในผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น

มะเร็งเต้านม มักจะตรวจ CEA, CA15-3
มะเร็งรังไข่ มักจะตรวจ CEA, CA125
มะเร็งตับ มักจะตรวจ AFP (Alpha-fetoprotein)
มะเร็งในช่องท้องและมะเร็งตับอ่อน มักจะตรวจ CEA, CA19-9
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งเม็ดเลือดต่างๆ มักจะตรวจ LDH
เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ในมะเร็งบางชนิดนั้น คุณหมอจะมีการตรวจติดตามค่าเลือดมะเร็ง เพื่อดูแนวโน้มการตอบสนองต่อการรักษา รวมถึงดูแนวโน้มว่ามีสิ่งผิดปกติอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเลือดมะเร็งจะไม่เป็น 0 ในคนปกติจะมีค่าปกติอยู่ในระดับหนึ่ง และค่ามะเร็งแต่ละตัวก็จะมีค่าปกติที่แตกต่างกัน เช่น CEA ค่าปกติเท่ากับ 0-5, CA153 ค่าปกติเท่ากับ 0-35 เป็นต้น

ในกรณีผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 และมีค่าเลือดมะเร็งที่สูงขึ้น พอมีการตอบสนองต่อการรักษา ค่าเลือดมะเร็งลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว แต่ไม่ได้ลดลงเพิ่มเติมก็อาจจะมีความกังวลว่า ยังมีมะเร็งเหลืออยู่ ข้อสันนิษฐานนี้ไม่จริงนะคะ

ยกตัวอย่าง คนที่มีค่าเลือด CEA สูง 300 หลังจากรักษาไปแล้ว ลงมาปกติเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 2 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว แต่คนไข้อาจจะมีความกังวลว่า ทำไมไม่ลงมาเป็น 0 ก็อธิบายได้ว่า โดยปกติแล้ว ค่าเลือดมะเร็งจะไม่เป็น 0 ถ้าค่าเลือดมะเร็งอยู่ในเกณฑ์ปกติ นั่นหมายถึงว่า มีการตอบสนองที่ดีและอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมีค่าเลือดเป็น 0

สรุปได้ว่า การตรวจค่าเลือดมะเร็งไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะวินิจฉัยเรื่องของมะเร็งได้ บางคนเจาะเลือดมาแล้วอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ได้หมายความจะไม่มีมะเร็ง เพราะการวินิจฉัยมะเร็งจะต้องดูหลายอย่างประกอบกัน ทั้งเรื่องประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจค่าเลือดต่างๆ, การตรวจอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีที สแกน หรือ PET Scan เพื่อที่จะตรวจวินิจฉัย และสุดท้ายต้องมีการเจาะชิ้นเนื้อตรวจ เพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งหรือเปล่า

เช่นเดียวกัน ค่าเลือดมะเร็งเป็นเพียงมุมมองหนึ่งในการตรวจติดตามว่า มะเร็งตอบสนองต่อการรักษาหรือเปล่า เพราะสุดท้ายแล้ว การวัดการตอบสนองต่อการรักษานั้นจะต้องดูจากหลายมุมมอง เช่น ตรวจทางรังสีวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นเอกซเรย์, ซีที สแกน หรือ PET Scan สำคัญที่สุดคืออาการผู้ป่วยว่า มีอาการผิดปกติหรือเปล่า หลังจากรักษาไปแล้วอาการดีขึ้นหรือเปล่า พูดง่ายๆ คือ ค่าเลือดมะเร็งนั้นเป็นเพียง ‘ผู้ช่วย’ ตัวหนึ่ง ซึ่งจะช่วยคุณหมอในเรื่องของการตรวจติดตาม วินิจฉัย การดูการตอบสนองต่อการรักษา แต่ไม่ใช่ตัวเดียวที่จะวินิจฉัยได้ว่า ผู้ป่วยท่านนั้นเป็นมะเร็งหรือเปล่า หรือมะเร็งตอบสนองต่อการรักษาหรือเปล่า

พญ.รัตน์กวิน จิตตวัฒนรัตน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และจิตตะไลฟ์เซ็นเตอร์
คุณหมอเจ้าของเพจ หมอซัง สุขภาพดีมีคำตอบ

แชร์ไปยัง
Scroll to Top