ดารินทร์ เคารพพันธุ์ : เรื่องเล่ามะเร็งเต้านม

“โชคดีที่เจอมะเร็ง…
ในวันที่เรายังมีโอกาสรักษาได้ 
และมีโอกาสใช้ชีวิตต่อไป
อย่างมีคุณภาพ”  

หลิง-ดารินทร์ เคารพพันธุ์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 วัย 39 ปี ที่เปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตหลังพบเนื้อร้ายให้กลายเป็นประโยชน์แก่ผู้คนผ่านเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า เรื่องเล่ามะเร็งเต้านม’ พื้นที่ที่เธอใช้ส่งต่อเรื่องราวตั้งแต่วันแรกที่รู้ตัวว่าเป็น ‘มะเร็ง’ กระทั่งเข้าสู่กระบวนการรักษา จวบจนวันนี้แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 4 ปีแล้ว เธอก็ยังคงมีเรื่องราวอีกมากมายที่อยากจะเล่า เล่า และเล่าต่อไป

อ้าว…เราเป็นมะเร็งเหรอ?

“ย้อนหลังกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 หลิงพาคุณแม่ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล แล้วปรากฏว่าคุณแม่พบถุงน้ำที่หน้าอก และผล BIRADS 3 หมายถึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก คุณหมอจึงแนะนำให้แค่มาตรวจติดตามทุกๆ 6 เดือน 

“เหตุการณ์นั้นเหมือนกระตุ้นเตือนให้เราหันมาสนใจตัวเอง โดยเริ่มจากการคลำเต้านมตัวเองเวลาอาบน้ำบ้าง  ซึ่งปรากฏว่าคลำไปคลำมาก็ไปเจอก้อนขนาด 1-2 เซนติเมตร ที่เต้านมด้านซ้ายใกล้รักแร้ ก้อนมีลักษณะแข็ง แต่ไม่ได้มีอาการเจ็บใดๆ เลย ตอนนั้นก็ตัดสินใจไปอัลตราซาวด์ที่คลินิกใกล้บ้านทันที

“พอผลอัลตราซาวด์ออกมา คุณหมอก็แจ้งว่า ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นก้อนอะไร และแนะนำให้เราไปตรวจแมมโมแกรมเพิ่มเติม เราก็ไม่รอช้า รีบไปตรวจแมมโมแกรมที่โรงพยาบาล และหลังจากหมออ่านผลตรวจ ท่านก็ไม่ได้บอกเราตรงๆ ว่าเป็นอะไร เพียงแต่ถามเราว่า วันนี้จะพบหมอศัลยกรรมเลยไหมคะ

“บอกตามตรงว่าตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นมะเร็ง จึงได้แต่ตอบไปว่า ‘ไม่เป็นไรค่ะ เดี๋ยวไปหาหมอศัลยกรรมเอง’ ด้วยก่อนหน้านั้นเราเพิ่งผ่าตัดถุงน้ำที่คอมา และอีก 4 เดือนคุณหมอก็จะนัดไปติดตามผล จึงคิดว่าเดี๋ยวไปพร้อมกันเลยดีกว่า แต่ปรากฏว่า ก่อนกลับพยาบาลก็ยังมากระซิบอีกว่า ‘รีบรักษาเลยนะ…อย่ารอ’ ตอนนั้นก็เริ่มเอะใจแล้วว่า อะไรกัน!?!

“ระหว่างทางที่นั่งรถกลับมาบ้านจึงดึงเอกสารผลตรวจออกมาดู เราก็ไปสะดุดที่คำว่า Malignant ซึ่งหมายถึง เนื้อร้าย และคำว่า BIRADS 5 ก็เก็บความสงสัยจนไปถึงบ้านและรีบเสิร์ช google ดูทันที ปรากฏว่า BIRADS 5 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ – อ้าว…เราเป็นมะเร็งเหรอ?

30 บาท รักษามะเร็งได้

“พอรู้ว่าเป็นมะเร็งแน่ เราก็ไปปรึกษาเพื่อนที่เป็นหมอ เขาก็แนะนำให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพหรือสิทธิบัตรทอง ซึ่งวันแรกคุณหมอก็ขอตรวจอัลตราซาวด์และแมมโมแกรมอีกครั้ง ก่อนจะคลำที่รักแร้ ซึ่งพบว่ามีเม็ดเล็กๆ คล้ายลูกปัดอยู่เม็ดหนึ่ง สันนิษฐานว่ามะเร็งน่าจะลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว หลังเจาะชิ้นเนื้อที่เต้านมและใต้รักแร้ไปตรวจ ผลก็เป็นไปตามคาด คือ มะเร็งได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้วจริงๆ

“คุณหมอก็นัดคิวผ่าตัดราวๆ ต้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งถือว่าเร็วมาก ครั้งนั้นเป็นการผ่าตัดทิ้งทั้งเต้า และเลาะต่อมน้ำเหลืองออก หลังพักฟื้นคุณหมอก็ส่งเราไปตรวจร่างกายเพิ่มเติม ซึ่งโชคดีมากที่มะเร็งไม่ได้ลุกลามไปที่อวัยวะอื่น นอกเหนือจากต่อมน้ำเหลือง 1 ต่อม ใต้รักแร้ นั่นเองทำให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยได้ว่า เราเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเพศ

“จากนั้นก็ถูกส่งไปรักษาตัวต่อกับ ‘คุณหมอเคมีบำบัด’ ยอมรับว่าช่วงนั้นกลัวและเครียดมาก ด้วยภาพจำของเราจากสื่อต่างๆ หรือจากคนรอบข้างที่เคยเป็นมะเร็ง บางคนพอรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่นานก็ทรุดลงและจากไปอย่างรวดเร็ว บางคนแม้จะรักษาผ่านมาได้ แต่ก็มีชีวิตอยู่แบบประคับประคองเพียง 4-5 ปีก็จากไป ทำให้เราไม่อยากจะให้เคมีบำบัดเลย

“แต่คุณหมอก็พยายามอธิบายว่า แม้ก้อนมะเร็งจะถูกผ่าตัดออกไปแล้ว แต่การให้เคมีบำบัดและการฉายแสงนั้นเป็นเสมือนการกำจัดสิ่งที่เรามองไม่เห็น ซึ่งอาจจะเล็ดลอดอยู่ในร่างกายเราแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และลดโอกาสที่จะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำอีกครั้ง นั่นทำให้เรายอมรักษาด้วยเคมีบำบัดแต่โดยดี”

จาก 4 กลายเป็น 8 

“ถ้าถามว่า อะไรที่ยากที่สุดในการก้าวข้ามมะเร็งครั้งนี้ คำตอบก็คือเคมีบำบัดเข็มแรกนี่แหละ ส่วนหนึ่งก็เพราะความกลัวจากความไม่รู้ที่มีอยู่เดิม บวกกับร่างกายของเราที่ไม่เคยได้รับเคมีบำบัดมาก่อน พอโดนไปเข็มแรก จำได้ว่าทรมานมาก เพราะนอกจากอาการพะอืดพะอมอยากอาเจียนแล้ว คืนแรกนั้นนอนแทบไม่ได้เลย เพราะร้อนวูบวาบทั้งตัว 

“พอเข็มต่อๆ มา อาการแพ้ก็เหมือนจะเบาลง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะรู้ว่าการให้เคมีบำบัดคืออะไร ให้อย่างไร และเราต้องเจอกับอาการแพ้ประมาณไหน พอรู้ก็ไม่กลัว พอไม่กลัวก็พร้อมที่จะรับมือกับมัน กอปรกับในครั้งแรกนั้นคุณหมอแจ้งว่า เราให้เคมีบำบัดแค่ 4 ครั้ง ทำให้ยิ่งรู้สึกว่าไม่เป็นไร 4 ครั้งเอง เดี๋ยวก็จบแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างที่คิด  

“พอเคมีบำบัดเข็มที่สอง คุณหมอก็ถามเราว่า เอ๊ะ! หรือจะเพิ่มอีก 4 ครั้งดี (หัวเราะ) เพื่อให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปเลย ยอมรับว่าในใจตอนนั้นได้แค่ภาวนาว่า ‘อย่าเลย แค่ 4 ครั้งเถอะ’ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายก็ต้องทำตามคำแนะนำคุณหมอ โดย 4 ครั้งแรกนั้นเป็นเคมีบำบัดสูตร AC เป็นยา Doxorubicin และยา Cyclophosphamide ส่วน 4 ครั้งหลังเป็นสูตร Paclitaxel รวมทั้งหมดก็ 8 ครั้ง ก่อนจะถูกส่งตัวไปฉายแสงต่ออีก 25 ครั้ง และจบกระบวนการรักษาทั้งหมดราวกลางเดือนพฤศจิกายน 2561” 

เรื่องเล่ามะเร็งเต้านม

“ที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตอย่างไม่เคยคิดถึงเรื่องความตายเลย แต่เมื่อมะเร็งเข้ามา มันเหมือนมาเคาะประตูเตือนสติให้เราตระหนักว่า วันหนึ่งเราก็ต้องตาย ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า ไม่มีใครมีชีวิตอยู่นิรันดร์ ฉะนั้น อย่าใช้ชีวิตอย่างประมาท หรือใช้ชีวิตทิ้งๆ ขว้างๆ ไปวันๆ หลังจากการรักษามะเร็งผ่านไป เราก็หันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น รู้จักใช้คำว่า ‘ช่างมัน’ บ่อยขึ้น เพราะเรารู้ว่าการจมอยู่กับเรื่องบางเรื่องนานๆ นั้น ไม่ได้ให้ประโยชน์กับชีวิตเราเลย   

“ยิ่งไปกว่านั้น เราเริ่มมีเป้าหมายที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่นมากขึ้น อย่างเพจ ‘เรื่องเล่ามะเร็งเต้านม’ จากเดิมที่เราตั้งขึ้นเพื่อเป็นแค่ไดอารี่ส่วนตัวที่เราต้องการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ระหว่างการรักษาตัวไว้อ่านเอง แต่ ณ วันนี้ มันไม่ใช่การเขียนเพื่อตัวเองอีกแล้ว เราอยากแบ่งปันเรื่องราวให้คนอื่นรู้ว่า โรคมะเร็งนั้นรักษาหายได้ และแม้เราจะเป็นมะเร็ง เราก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ 

“กว่า 4 ปีที่ผ่านมาในบทบาทของผู้ให้ข้อมูล ข่าวสาร และการแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ รวมถึงกำลังใจไปสู่ผู้ป่วยและผู้ไม่ป่วยทั้งหลาย มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ทุกการให้…ไม่เคยสูญเปล่า เพราะสิ่งที่เราได้รับกลับมา เกินความคาดหมายทุกครั้ง

“เราได้รู้จักกัลยาณมิตรมากมายผ่านพื้นที่แห่งนี้ หรือขณะที่เราส่งต่อกำลังใจให้ใครต่อใครที่ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้า เราก็จะได้รับกำลังใจมากมายจากใครก็ไม่รู้กลับมาเสมอ ทุกคำขอบคุณ ทุกการกดไลก์ คือกำลังใจที่ทำให้เรายังคงอยากจะแบ่งปันต่อไปเรื่อยๆ

“เพราะโรคมะเร็งนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย  ในแต่ละปี มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และเชื่อว่าวันแรกที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งนั้นยากเสมอสำหรับทุกคน ความไม่รู้มันทำให้เรากลัว และเมื่อไรที่เรารู้ ความกลัวก็จะเริ่มหายไป นี่คือเหตุผลที่เรายังอยากอยู่ตรงนี้ ทำหน้าที่แบ่งปันความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรง รวมถึงเป็นกำลังใจให้พวกเขา”

ขอบคุณโรคภัย

“หลิงคิดเสมอว่า เราโชคดีที่พบมะเร็งในยุคที่โลกโซเชียลเบ่งบาน การมีเพจมากมายนั้นเป็นข้อดี นอกจากข้อมูลข่าวสารที่เราเลือกสรรหาอ่านได้แล้ว มันยังมีต้นแบบที่ก้าวผ่านมะเร็งมาได้ และยังสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขให้เราเห็น ไม่ว่าจะเป็น คุณเบลล์ (ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์) แห่งเพจ เรื่องจริงกะเบลล์ JingaBel หรือ คุณน้ำปั่น (ภริมธารา ภัทรเทศสกุล) แห่ง Smoothie’s Diary บันทึกของน้ำปั่น ฯลฯ ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่า เขาผ่านมาได้ เราก็ต้องผ่านได้สิ 

“ยิ่งเราได้ผ่านมะเร็งมาจนถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้เลยว่ามะเร็งก็เป็นแค่โรคโรคหนึ่ง ที่หากเราเจอเร็วก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดได้ ทั้งยังมีโอกาสใช้ชีวิตได้ยืนยาวเหมือนคนปกติทั่วไป ฉะนั้น มันไม่สำคัญหรอกว่า วันนี้เราป่วยเป็นอะไร แต่รู้แล้วรีบรักษา นั่นสำคัญกว่า

“ฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ
เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง
ก็คือ ยอมรับมันซะ
อย่าพยายามปฏิเสธหรือหนีความจริง
เพราะมันหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น

แต่การยอมรับและมองทุกอย่าง
ตามความเป็นจริงต่างหาก
ที่จะทำให้เรากล้าเผชิญหน้ากับทุกสิ่ง

“อย่างตัวหลิงเอง วันแรกที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง เราก็ยอมรับตั้งแต่วันนั้นเลย ถามว่า ทำไมง่ายจัง ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณโรคภัยไข้เจ็บที่แวะเวียนเข้ามา และขอบคุณตัวเราเองที่พยายามเรียนรู้มัน ไม่ได้ปล่อยผ่านไปเฉยๆ ด้วยความที่เราไม่ใช่คนที่แข็งแรง มักจะป่วยเป็นโน่นเป็นนี่อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นช็อกโกแลตซีสต์มาซ้ำๆ 2-3 ครั้ง พบถุงน้ำที่คอและต้องผ่าตัดใหญ่ ฯลฯ เหล่านี้มันทำให้ชีวิตเราได้เรียนรู้และทำความคุ้นชิน (ยิ้ม) พอมะเร็งเข้ามาในชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร…” 

แชร์ไปยัง
Scroll to Top