รวบรวมคำถามและคำตอบเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมที่ผู้หญิงควรรู้
1. จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมแค่ไหน?
>> มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตายอันดับที่สองของสตรีไทย โดยทั่วไปผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป 1 คนใน 54 คน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมและมีโอกาสสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น มะเร็งเต้านมพบได้ตั้งแต่อายุ 19 ปี ! จนถึงอายุ 90 ปี
2. ทราบว่ามะเร็งหลายชนิดรักษาได้แล้ว มะเร็งเต้านมรักษาได้หรือไม่ ?
>> รักษาได้ ! ถ้าเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น ที่ยังไม่ลุกลาม หรือกระจาย รักษาไม่ได้ ! ถ้าเป็นมะเร็งระยะท้าย ๆ หรือมีการกระจายไปแล้ว
3. สาเหตุของมะเร็งเต้านมคืออะไร มีวิธีการหลีกเลี่ยง หรือป้องกันไม่ให้เกิดได้หรือไม่?
>> ปัจจุบันวงการแพทย์ยังถือว่า เป็นมะเร็งที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงไม่มีวิธีการป้องกันวิธีใดเลย พบว่าสตรีบางกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนทั่วไป
4. ปัจจัยเสี่ยงที่ว่าคืออะไร ปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการเกิดมะเร็งเต้านมคือ?
– อายุที่มากขึ้น – เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน – ญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม
– เป็นโรคกรรมพันธุ์บางชนิด
– เคยมีก้อนเต้านมที่ผลทางพยาธิแปลก ๆ
ปัจจัยเสี่ยงรองลงมาคือ
– การมีบุตรหลังอายุ 30 ปี
– การมีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี
– การหมดประจำเดือนช้า หลังอายุ 55 ปี
– การไม่มีบุตร
– การได้รับฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน ๆ
5. อาการของโรคมะเร็งมีอะไรบ้าง ?
>> อาการเริ่มแรกของมะเร็งเต้านมเกือบจะไม่มีให้เห็น แต่อาการที่พบ อาจแสดงว่ามีขนาดโต และไม่ใช่เริ่มเป็น เช่นคลำพบก้อนรูปร่างหรือผิวเปลี่ยนแปลง ปวดที่เต้านม หรือมีน้ำออกมาจาก หัวนมโดยเฉพาะสีคล้ายเลือด
6. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือโดยแพทย์สามารถค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ได้หรือไม่ ?
>> อาจจะไม่ได้ ! การตรวจเต้านมด้วยการคลำ แม้จะทำโดยแพทย์ก็ไม่สามารถค้นหามะเร็งระยะเริ่มต้นได้ เพราะการคลำ อาจตรวจพบมะเร็งที่มีขนาดโตพอสมควรแล้ว หรืออาจตรวจพบก้อนเนื้อความผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็งเป็นส่วนใหญ่
7. แล้วจะทำอย่างไรเพื่อค้นหามะเร็งระยะเริ่มต้นได้ ? >> การเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรม คือวิธีที่ดีที่สุด และได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐาน ทั่วโลก สามารถตรวจพบมะเร็งที่มีขนาดเล็กมาก หรือที่เพิ่งจะเห็นเป็นหินปูนอยู่ในเต้า นม ซึ่งมะเร็งในระยะนี้จะทำการรักษาให้หายขาดได้
8. เอกซเรย์เต้านมคืออะไร ปลอดภัยหรือไม่ ?
>> เป็นการตรวจเต้านมโดยใช้เครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษ ที่ใช้รังสีในปริมาณที่ต่ำ (น้อยกว่าการเอกซเรย์ทั่วไปมาก) โดยทำการตรวจเต้านมข้างละ 2 ท่า รวม 4 ภาพ โดยจะใช้อุปกรณ์ช่วยในการกดเต้านม ให้เนื้อเต้านมกระจายออก และเอกซเรย์ภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยไม่ทำอันตรายใด ๆ แก่เต้านม จึงมีความปลอดภัยมาก (แม้ผู้ที่ได้รับการเสริมเต้านมแล้วก็สามารถทำการตรวจได้)
9. เมื่อไหร่จึงควรไปตรวจเอกซเรย์เต้านม ?
>> ผู้หญิงทุกคนเมื่ออายุ 35 ปีควรตรวจ 1 ครั้ง จากนั้นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรทำการตรวจอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ ปี อย่างไรก็ตามถ้าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็ง (ดูข้อ 4) ต้องตรวจทุกปี โดยไม่ต้องพิจารณาอายุ
10. ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมจะรักษาอย่างไร ?
>> การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันสมารถทำได้ โดยการตัด เฉพาะก้อนออก โดยไม่ต้องตัดเต้านมทั้งข้างทิ้งก็ได้ นอกจากนี้มักจะต้องให้ยาเคมีบำบัด เพื่อฆ่ามะเร็งร่วมด้วย และอาจใช้ การฉายรังสีร่วมด้วยในบางราย
ขอบคุณข้อมูลจาก: http://med-ed.psu.ac.th/tips/tip11.htm